Skip to main content
sharethis

มูฮำหมัด ดือราแม


หนึ่งในโครงการขนาดยักษ์ หรือเมกะโปรเจ็คส์ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ คือ โครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา ในพื้นที่อ่าวละงู บ้านปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องการเป็นอย่างมาก เพื่อใช้ขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ แทนที่จะพึ่งพิงท่าเรือของประเทศมาเลเซีย


ดังนั้น ภาครัฐเองซึ่งเป็นผู้สนับสนุนและจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าของประเทศอยู่แล้ว จึงพยายามผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ เห็นได้จากการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ผ่านมา มักเป็นไปเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมหรือผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว


อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังห้องประชุมเทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อเพื่อดูงานด้านโลจิสติกส์ และรับฟังความเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และดูสถานที่ก่อสร้าง โดยมีนายขวัญชัย วงษ์นิติกร ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ นักการเมือง ภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม จำนวนกว่า 50 คน


ในการประชุมครั้งนี้นายขวัญชัย ระบุว่า ท่าเรือนำลึกปากบาราเป็นที่ต้องการของชาวจังหวัดสตูล เพราะจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดสตูลและยังส่งผลดีต่อประเทศด้วย


ขณะที่ทางด้านตัวแทนบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท รับออกแบบท่าเรือน้ำลึกปากบารา จากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการว่า ขณะนี้รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ซึ่งได้มีการนำเสนอร่างรายงานไปแล้วหลายครั้ง และทาง สผ.ได้มีข้อท้วงติงและมีการปรับแก้แล้วในหลายประเด็น


โดยในการนำเสนอร่างรายงานครั้งล่าสุด ทาง สผ.ได้มีข้อท้วงติงในประเด็นเรื่องสมุทรศาสตร์ นั่นจึงยังทำให้การดำเนินโครงการยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก


นอกจากนี้ยังมีข้อพิจารณาว่า เนื่องจากโครงการนี้ต้องมีการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปยังท่าเรือด้วย ดังนั้นควรจะรวมค่าก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปในโครงการด้วยหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ


ส่วนในประเด็นอื่นๆ จากการที่บริษัทฯ ได้เข้าไปพบกับชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็น พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้คัดค้านโครงการ แต่เป็นห่วงว่า จะกระทบกับพื้นที่ทำมาหากิน เนื่องจากที่ตั้งท่าเรือตั้งอยู่ในพื้นที่จับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน


ดังนั้น ในประเด็นนี้ ได้เสนอให้มีการส่งเสริมกิจกรรมอย่างอื่น เพื่อเป็นการชดเชย เช่น การวางปะการังเทียมในทะเลในจุดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน โดยชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ทะเลยังมีอีกกว้าง สามารถออกไปจับสัตว์น้ำได้อีก


นอกจากนี้ยังให้ทางประมงจังหวัดสตูลดำเนินการให้มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำมากขึ้น โดยเฉพาะปู รวมทั้งยังส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องมืประมงประเภทอวนปู เนื่องจากเป็นเครื่องมือประมงประจำที่แทนการวางอวนลอย ซึ่งอวนอาจลอยเข้าไปในบริเวณก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกได้


นอกจากนี้ในระหว่างการก่อสร้างโครงการ จะรับคนในพื้นที่เข้าทำงานด้วย ซึ่งรวมถึงหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยจะรับลูกหลานของคนในพื้นที่เข้าทำงาน จะมีการฝึกอบรมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่รับเข้ามาเป็นยามรักษาความปลอดภัย ซึ่งในการฝึกอบรมนั้น ในงบโครงการได้จัดแบ่งไว้ส่วนหนึ่งด้วย


ในเรื่องการรับคนในพื้นที่เข้ามาทำงานนั้น ทางชาวประมงพื้นบ้านบอกว่า เนื่องจากมีอายุมากแล้ว คงไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ก็ไม่เป็นไร ถึงจะทำงานไม่ได้ แต่ลูกหลานคนในพื้นที่สามารถทำงานได้ ก็จะรับลูกหลานเขามาเข้ามาทำงาน


นอกจากนี้ชาวประมงพื้นบ้านยังเป็นห่วงในเรื่องน้ำเสีย ทั้งจากเรือบรรทุกสินค้าและจากท่าเรือน้ำลึกนั้น เรื่องนี้ทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีมีความเข้มงวดมาก โดยเฉพาะน้ำเสียจากท่าเรือน้ำลึกนั้น ต้องมีการบำบัดก่อนที่จะปล่อยลงสู่ทะเล


ส่วนน้ำเสียจากเรือบรรทุกสินค้านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเรือต่างชาติ จึงมีมาตรฐานสากลคอยควบคุมอยู่แล้ว อย่างเช่นที่ท่าเรือสิงคโปร์ดำเนินการอยู่


โครงการนี้หากจะเริ่มดำเนินการ จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อติดตามตรวจสอบในแต่ละเรื่อง โดยจะมีรอผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยหากเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างการดำเนินการสามารถร้องเรียนมายังคณะกรรมการชุดนี้ได้


หลังจากการรายงานความคืบหน้าของโครงการแล้ว นายวิรุฬ ได้กล่าวสนับสนุนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยรับปากจะผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว ด้วยเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีท่าเรือน้ำลึกด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน เพราะจะทำให้สามารถขนส่งสินค้าไปต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านท่าเรือปีนังของมาเลเซีย


ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ 1 วัน นายวิรุฬพร้อมคณะได้เดินทางไปดูท่าเรือปีนังของประเทศมาเลเซีย ซึ่งกำลังขยายท่าเรือเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าที่ที่ส่งออกผ่านท่าเรือปีนังส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มาจากประเทศไทย


เชื่อได้ว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราคงจะเกิดขึ้นแน่นอนในไม่ช้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net