Skip to main content
sharethis

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2551 ระบุพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใช้ปัญหาปากท้องของประชาชน เป็นเครื่องมือระดมมวลชนจากกลุ่มองค์กรประชาชนในภาคอีสาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย สร้างเงื่อนไขการรัฐประหาร เพื่อโค่นรัฐบาล


 


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) เรียกร้องให้ทุกเครือข่ายองค์กรที่ได้รับผลกระทบ ยุติการนำเอามวลชนไปเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ โดย สนนอ. สนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่มีเบื้องหลังและเป็นอิสระ


 


นอกจากนั้นทาง สนนอ. ยังได้กล่าวประณาม นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ ว่าได้กระทำการย่ำยีประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยการร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยยังมีสถานะเป็น ส.ส.อยู่ด้วย ในแถลงการณ์ระบุว่าในกรณีดังกล่าว มีผลทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาระดับประเทศตามวิถีทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภาถูกลดความสำคัญลง และยังเท่ากับเป็นการประจานพันธมิตรฯ ด้วยว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเลย


 


ท้ายแถลงการณ์ สนนอ.ได้เรียกร้องให้นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ลาออกจากเป็น ส.ส. เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อคำพูดของเขา ที่ได้ปราศรัย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2551 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "เมื่อชุมนุมใหญ่ผมจะลาออกจากสภา... กระโดดลงมาร่วมกับพี่น้อง"


 


ทั้งนี้ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) จะร่วมกับกลุ่มอิสระซุ้มยอป่า จัดกิจกรรมนิทรรศการ "รัฐธรรมนูญ" และวงเสวนาเรื่อง "ม.237, ม.309 มีปัญหาอะไร" ในวันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2551 ณ หอประชุมองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป


 


 


แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสานฉบับที่ 2 / 2551


"พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหยุดชุบมือเปิบแย่งชิงมวลชน"


ท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรงไม่ลดราวาศอก ระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลล้มครืนลง การชุมนุมบนท้องถนนจึงเกิดขึ้นและยืดเยื้อมาหลายวัน ปัจจัยชี้ขาดของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ คือการเพิ่มปริมาณมวลชนให้มากขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการต่อสู้ให้มีพลัง สอดรับกับปรากฏการณ์ "สารพัดม็อบ" ที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อทวงถามรัฐบาลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาข้าวยากหมากแพง ฯลฯ ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนคนชั้นล่าง กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ควรฉวยโอกาสช่วงชิงมวลชนด้วยวิธีการหันมาโจมตีรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจเพื่อเอาใจมวลชน "สารพัดม็อบ" อันเป็นการ "จับฉ่ายประเด็นโจมตี" ไม่ได้เนื้อหาสาระอะไรเพียงเพื่อเป้าหมายสูงสุดการคือการเช็คบิล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สิ้นซาก กลุ่มพันธมิตรฯ อย่าเอามวลชนไปเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเอง เพราะนั่นนอกจากจะเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวแล้ว มันยังไม่ใช่วิธีการที่จะแก้ปัญหาให้มวลชนได้จริง เพราะกลไกการแก้ปัญหาตามรัฐสภาได้ถูกพันธมิตรฯ ทำลายมันลงไปแล้ว ดังเช่นในกรณีของนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ ได้กระทำการย่ำยีประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยการร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยยังไม่ลาออกจากการเป็น ส.ส. กรณีดังกล่าวนี้มีผลทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาระดับประเทศตามวิถีทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภาถูกลดความสำคัญลง และยังเท่ากับเป็นการประจานพวกพันธมิตรฯ ด้วยว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเลย ใช้ "กฎหมู่เหนือกฎหมาย" สร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การรัฐประหารรอบที่สอง และเศรษฐกิจจะตกต่ำลงอีก


 


            สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ขอให้กลุ่มประชาชนที่ชุมนุมในประเด็นเศรษฐกิจ ทุกเครือข่าย อย่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยการไม่นำมวลชนไปเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ขอให้ชุมนุมตามข้อเรียกร้องของตนเองอย่างเป็นเอกเทศ และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ขอให้นักศึกษาภาคอีสานออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่านักศึกษาในยุคปัจจุบันไม่ได้หลับใหล ยังพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างประชาชน


 


ข้อเรียกร้องของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน(สนนอ.)


1. ให้นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ลาออกจากเป็น ส.ส. เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเองที่ได้ปราศรัยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2551 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรายการยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ ความว่า "เมื่อชุมนุมใหญ่ผมจะลาออกจากสภา... กระโดดลงมาร่วมกับพี่น้อง"


 


2. ให้เครือข่ายประชาชนบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นปัญหาเศรษฐกิจต่อรัฐบาล ทั้งที่เข้าร่วมและกำลังจะเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ให้พิจารณาตัวเองโดยการลาออกจากกลุ่มพันธมิตรฯ แล้วเคลื่อนไหวตามข้อเรียกร้องของตนเองอย่างเป็นเอกเทศ


 


            3. ให้พันธมิตรฯ หยุดการเคลื่อนไหวกดดันองค์กรอิสระและข้าราชการประจำในการปฏิบัติหน้าที่ ควรใช้การแก้ปัญหาตามครรลองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาคือให้ ส.ว.เข้าชื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และปล่อยให้องค์กรอิสระดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม


           


 


 


ด้วยความสมานฉันท์


  


สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net