Skip to main content
sharethis

ธีรเชนทร์ เดชา
นักสังคมสงเคราะห์


ภาพประกอบ : www.thaingo.org


 


 



 


1.


 


"คุก" อาจเป็นสถานที่ที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์สำหรับใครต่อใครในสังคม ใช่ …เช่นเดียวกับผมและนักโทษชายหญิงหลายคนในสถานที่แห่งนี้ แต่ถึงกระนั้น ในทุกๆ วัน ผมยังคงมองเห็นผู้คนเดินเข้าสู่ประตูเรือนจำในฐานะผู้ต้องขัง ไม่เว้นวัน แม้กระทั่งวันหยุดราชการ หรือวันเสาร์ - อาทิตย์ ซ้ำร้าย… บางครั้งบางคนที่เข้ามายังเป็นอดีตผู้ต้องขังซึ่งเคยต้องโทษมาแล้ว


 


"แล้วทำไมพวกเขาเหล่านี้ยังคงวนเวียนกลับมากระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า…" ผมเฝ้าเอ่ยถามตัวเอง


 


ในคำถามนั้น ผมพบคำตอบมากมายสะท้อนก้องอยู่ในความคิด… แต่ผมว่าคนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด คือคนในสังคมนั่นเอง เพราะปัญหานั้น มันล้วนเกิดขึ้นจากบริบททางสังคมที่เขาเหล่านั้นอาศัยอยู่ใช่หรือไม่


 


จิตแพทย์คนหนึ่งบอกว่า ยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก มนุษย์กำลังอยู่ในยุควัตถุนิยมสุดโต่ง จึงต้องการจะมีเงินทอง ตำแหน่ง อำนาจ ชื่อเสียง ความเด่น ความดังให้มากที่สุด รวมทั้งเรื่องการกิน กาม เกียรติ ให้เกินหน้าคนอื่นๆ ด้วย จึงพยายามหาทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง


 


บางคนใช้วิถีทางสุจริต มีคุณธรรม แต่บางคนเลือกใช้วิถีทางทุจริตหรือขาดคุณธรรมนำมาซึ่งปัญหาสังคมในที่สุด


 


แน่นอน หลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบเชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ส่งผลทำให้สถาบันสำคัญต่างๆ ที่ถือว่าเป็นหน่วยย่อยทางสังคม อาทิ สถาบันครอบครัว ศาสนา และสถาบันการศึกษา เป็นต้น ต่างไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มสมบูรณ์อย่างแท้จริง แต่กลับปล่อยปละละเลยลดทอนบทบาทหน้าที่ลงอย่างน่าใจหาย


 


บวกเข้ากับสภาวะสังคมที่เป็นปัจเจกเช่นนี้ ทำให้ทุกวันนี้ เราอาจจะพบเห็นคนเห็นแก่ตัวกันมากขึ้นจนชินตาก็ว่าได้ และบางครั้งบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนกลับมองข้ามผ่าน หรือมองปัญหาเหล่านั้นออกเป็นประเด็นส่วนตัว มากกว่าประเด็นส่วนรวม ไม่คิดที่จะร่วมกันป้องกัน แก้ไข ต้นตอแห่งปัญหาอย่างแท้จริง มุ่งเน้นเพียงแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุเพียงเท่านั้น


 


ผมจึงไม่ค่อยแปลกใจ ที่พบเห็น ข่าววัยรุ่นขโมยน็อตเสาไฟฟ้า แก๊งค์ลักสายไฟฟ้า หรือเด็กนักเรียนถูกรุมโทรมพร้อมกับถ่ายคลิปวิดีโอ มากขึ้นเรื่อยๆ


 


และเช่นกัน... จำนวนนักโทษที่เดินเข้าสู่เรือนจำ ก็ล้วนเพิ่มมากขึ้นๆ ทุกวัน


 


หลายคนอาจคิดว่าเมื่อคนเหล่านี้ถูกจับกุมแล้ว "ทุกอย่างก็จบ" แต่การคุมขังในเรือนจำนั้นยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแห่งปัญหา อย่าลืมว่า… วันหนึ่งพวกเขาเหล่านี้ต้องพ้นโทษกลับออกไปอยู่ร่วมกับสังคมอยู่ดี


 


....เช้าวันนี้อากาศไม่ค่อยสดใสนัก ผมละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ออกมานั่งมองเหม่อไปทางด้านทิศตะวันตกของเรือนจำ ภายใต้เมฆสีเทาขุ่นนั้นแลเห็นอาคารเรือนนอน 4 ชั้นสีขาวที่ถูกสร้างเพิ่มเติมตั้งตระหง่านอยู่ เป็นการขยายอาณาเขตของเรือนจำเพิ่มเติม... เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขัง รวมทั้งเตรียมพื้นที่สำหรับการระบายนักโทษที่มาจากเรือนจำกลาง ผมเห็นแล้วทำให้อดถอนหายใจไม่ได้...


 


จริงอย่างที่ผู้คุมอาวุโสคนหนึ่งเคยบอกกับผมแบบปลงๆ ให้ได้ยินว่า "ทุกวันนี้วัดกำลังจะร้าง คุกกำลังจะล้น ประตูวัดออกจะกว้างขวาง แต่ไม่มีคนนิยมเข้า ประตูคุกแคบนิดเดียว แถมยังมี อยู่ตั้ง 4 ประตู กว่าจะผ่านเข้าไปได้ ทำไมถึงมีคนเข้ากันทุกวันก็ไม่รู้"


 


นั่น, คือสิ่งที่ได้พบเจอ ตั้งแต่ผมเริ่มต้นทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ณ สถานที่แห่งนี้ ผมได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า- -ไม่มีวันไหนที่คนในโลกใบนี้จะไม่การกระทำความผิด… และไม่มีวันไหนที่คนจะไม่ถูกกุมขัง


 


และที่สำคัญผมรู้สึกว่า หัวใจผมด้านชาขึ้น…เท่านั้นเอง 


 


 


 


2.


 


วันนี้เป็นวันครบรอบ 2 ปี สำหรับการทำงานในเรือนจำของผม


ณ ที่นี้ เรา- -ต่างมาพบเจอกันโดยไม่ได้นัดหมาย เส้นทางที่มุ่งสู่เรือนจำของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน ทั้งเหตุผลและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคนๆ นั้น แต่ถ้าจะมองโลกในแง่ดีบ้าง อย่างน้อยๆ มันก็คงไม่ทำให้เส้นทางสายนี้เปล่าเปลี่ยวเกินไปนัก ถึงแม้ว่า "บนถนนสายนี้จะเป็นเพียงเส้นทางของคนที่หลงทางเท่านั้น"


 


สำหรับบางคนแล้ว… ที่นี้อาจจะเป็นปลายทางแห่งชีวิต แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ต้องขังในเรือนจำที่นี่มีโทษไม่สูง เนื่องจากเป็นเรือนจำจังหวัดที่รองรับผู้ต้องขังในอัตราโทษไม่เกิน 15 ปี เมื่อครบกำหนดโทษ ผู้ต้องขังก็ต้องออกไปอยู่ร่วมกับสังคมเสมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป


 


ผมสัมผัสได้ว่า ท่ามกลางกรอบกำแพงสี่เหลี่ยมสูงทะมึนแห่งนี้ ยังคงมีประกายแห่งความหวังปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนอยู่ทุกครั้งคราที่มองย้อนออกไป…


 


ใช่ ความหวัง ทำให้คนเรายังอยากหายใจต่อไป ไม่ใช่หรือ


 


การได้เข้ามาอยู่ท่ามกลางชีวิตผู้คนในเรือนจำนั้น…ทำให้ผมได้มองเห็นโลกอีกด้านหนึ่งในมุมมองใหม่ๆ ถึงแม้จะเคยมีคนเคยเปรียบเปรยไว้ในหนังสือเรื่อง "คุก และพันธนาการ" ของ "อรสม สุทธิสาคร" ว่า "ชีวิตในเรือนจำนั้น มองไกลแค่ฟ้า มองใกล้แค่กำแพง" จริง ! แต่ …สำหรับผมแล้วนอกจากการมองฟ้าและกำแพง ยังได้มองเห็นชีวิตและสังคมอีกส่วนหนึ่งที่ถูกตัดขาดจากสังคมภายนอก


 


และประสบการณ์ได้สอนให้ผมเริ่มฝึกการอ่านคน มากกว่าการอ่านหนังสือ สัมภาษณ์ชีวิตผู้ต้องขังและทำกิจกรรมต่างๆ แทนการทำแบบฝึกหัด


 


ที่นี้จึงคือมหาลัยชีวิตที่ดีแห่งหนึ่งของผม เพราะด้วยสภาพแวดล้อม, ผู้คน สังคมและวัฒนธรรมเรือนจำ มักจะบีบให้เห็นสัญชาติญาณความเอาตัวรอดของคนออกมาได้ชัดเจนกว่าสังคมภายนอก ซึ่งมีการแอบแฝงซ่อนเร้นเต็มไปด้วยหน้ากากจอมปลอมหลายชั้นมากหลายเท่านัก


 


ใช่... นกที่บินอยู่บนท้องฟ้าเหนือเรือนจำเท่านั้นที่มีอิสระบินไปไหนๆ ก็ได้ตามใจชอบ


แต่ชีวิตผู้ต้องขังคงเหมือนกับนกที่อยู่ในกรงมากกว่า...


 


จากความเอือมระอาสู่ความด้านชาของหัวใจ…ทุกครั้งที่เห็นข่าวอาชญากรรมบนหน้าหนังสือพิมพ์ ที่กลาดเกลื่อนในแต่ละวันนั้น หลายคนอาจจะรู้สึกแย่ และมองคน, สังคมในแง่ร้ายเพิ่มมากขึ้น


 


แต่หลังจากที่ผมมีโอกาสพูดคุย สัมภาษณ์ และทำกิจกรรมกับบุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรทางสังคมนั้น หลากหลายในชีวิตและมากมายของคดี ทำให้ผมเข้าใจชีวิตผู้คนมากขึ้น การได้เห็นประวัติภูมิหลัง ที่มาที่ไปในชีวิตคนบนเส้นทางที่นำมาสู่วังวนของเรือนจำแห่งนี้ ทำให้ผมเข้าใจหัวอกของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เคยพลาดพลั้งจนต้องอาญาแผ่นดิน แต่ผมคงไม่กล้าที่จะบอกว่าเข้าใจอย่างแท้จริง ถ้าผมไม่ได้ตกอยู่สถานการณ์เดียวกับเขาเหล่านี้


 


2 ปี ที่ผ่านมา ผมอ่านคนได้ดีขึ้น จากที่เคยมองอย่างหยาบและฉาบฉวย ทุกสิ่งเรียนรู้ด้วยตัวของมันเอง สุดท้ายผมเข้าใจแล้วว่า… หัวใจผมเองไม่ได้ด้านชาอย่างที่คิดไว้…จริงสิ, ครั้งหนึ่งในอดีต พ่อเคยบอกผมเสมอว่า "เราไม่ควรจะมองต้นไม้เพียงต้นเดียวแต่ควรมองป่าทั้งป่า"


 


 



 



 


3.


 


เหนือขึ้นไปบนกำแพงเรือนจำสีเก่าคร่ำคร่า วันนี้ท้องฟ้าไม่เป็นสีฟ้าเหมือนวันวาน ฟ้าสีเทาและอาจดูหม่นเศร้าสำหรับใครบางคน ลมร้อนหอบหมอกควันและเศษไม้เถ้าถ่านที่เกิดจากการเผาและไฟไหม้ป่าลอยเคว้งคว้างมาแต่ไกล


 


"หัวหน้าครับ… ทุนการศึกษาลูกผมที่หัวหน้าทำเรื่องขอไปให้ได้เรื่องยังไงบ้างครับ… เห็นเงียบหายไปนานเลย" เสียง.. ขยัน (นามสมมติ) เอ่ยถามด้วยความกังวลใจ พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวในจดหมายที่ลูกชายเขียนมาหานักโทษชายให้ผมได้ฟัง…


 


"ผู้ต้องขัง" ที่ต้องโทษในเรือนจำ ส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้าครอบครัว และเมื่อหัวหน้าครอบครัวต้องโทษ ภรรยา บุตร และบุคคลในครอบครัวมักจะประสบความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุตรต้องออกจากโรงเรียน เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์และอุปกรณ์การเรียน ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ต้องขังที่ต้องโทษอยู่ เกิดภาวะความกังวล ความเครียด นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ตามมา


 


ในแต่ละปี จึงมีผู้ต้องขังจากเรือนจำยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือทุนการศึกษาให้บุตรเป็นจำนวนมาก


 


ใช่... พวกเขาเหล่านี้ล้วนมีหัวใจเฉกเช่นปุถุชนธรรมดา แม้กายจะถูกคุมขัง ไม่อาจพบเจอครอบครัวได้ แต่ใจยังคงโบยบินไปในสายลมของความห่วงใย สายใยแห่งความรัก มิอาจทำใครบางคนหล่นหายไปจากชีวิตได้


 


..ขยัน เป็นอีกคนหนึ่งที่เขียนคำร้องขอความช่วยเหลือ เรื่องทุนดังกล่าว...


 


"ยังเลย ทางกรมเขายังไม่แจ้งมาเลย คิดว่าคงกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอยู่" ผมตอบคำถาม น.ช.ขยัน


 


จำได้ว่า นี่เป็นคำถามครั้งที่ 3 ในรอบ 1 เดือน แต่ครั้งนี้รู้สึกว่า เขาจะร้อนรน และดูกังวลใจมากกว่าทุกครั้ง เมื่อมองผ่านสีหน้าและแววตาคู่นั้น ลูกชายคนโตเขียนจดหมายมาบอกผมว่า เขาคงต้องลาออกหรือพักการเรียนไว้ก่อน เพื่อจะได้ออกมารับจ้างทำงานแบ่งเบาภาระของแม่ นักโทษชายบอก พร้อมกับยื่นจดหมายให้ผมอ่าน…


 


ผมมอง น.ช.ขยันด้วยความเห็นและเข้าใจ พร้อมกับยื่นมือตบไหล่เบาๆ ก่อนยื่นซองจดหมายกลับคืนโดยไม่ได้เปิดอ่าน


 


"ฝากบอกลูกด้วยนะว่า ขอให้เป็นทางออกสุดท้าย ให้อดทน และพยายามหาทางอื่นดู ผมจะช่วยตามเรื่องทางนี้ให้ ที่เหลือขึ้นอยู่กับตัวลูกนายแล้วล่ะ" ผมบอกพร้อมกับแนะนำหน่วยงานที่พอจะเข้าไปขอความช่วยเหลือได้


 


ผู้ต้องขังเข้าใหม่หลายคนมักจะประสบปัญหาด้านการปรับตัวเข้ากับเรือนจำ บ้างนอนไม่หลับเพราะกังวลใจ หรืออาจเพราะแสงไฟนีออนหลายหลอดจากภายในห้องขังที่ต้องเปิดไว้สว่างจ้าตลอดเวลาเพื่อป้องกันเหตุร้ายต่างๆ และการหลบหนีของนักโทษ


 


น.ช.คนหนึ่งบอกผมว่า "ต่อให้เป็นคนนอนหลับเก่งแค่ไหน คืนแรกในคุกนั้น ยากที่จะหลับตาลง"


 


เช่นกัน จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับ น.ช.ขยัน ทำให้รับรู้ว่า นับตั้งแต่วันที่ นายขยัน เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อใหม่ เป็น น.ช. หรือนักโทษชาย ผู้ต้องหาในคดี "พยายามฆ่า" นั้น เขาไม่เคยเลยที่จะหลับลงได้อย่างสนิทใจ


 


สำหรับเขานั้น...กลางคืนมันช่างยาวนานเหลือเกิน…


 


และเขามักโทษตัวเองเสมอว่า เป็นต้นเหตุให้ชีวิตของคนในครอบครัวต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง


 


จากนายช่างก่อสร้างบ้านกลายเป็นผู้ต้องหา จากผู้ต้องหากลายเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ ทิ้งสมาชิกในครอบครัวอีกสามคน คือ ภรรยา และบุตรชายทั้งสอง ไว้เผชิญชะตากรรมในโลกภายนอก ด้วยอารมณ์ชั่ววูบด้วยแรงกดดันจากภายในผสมผสานด้วยฤทธิ์ของแอกกอฮอล์ ภายหลังการทะเลาะกันกับคนข้างบ้านและถูกท้าให้ฟัน


 


ขวานที่เคยใช้สร้างบ้าน สร้างชีวิต... สุดท้าย กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ทำลายชีวิตผู้อื่นและตัวเขาเอง


 


จากนี้ชีวิตเขา ครอบครัวจะดำเนินต่อไปเช่นไร นั่นคือสิ่งที่ น.ช.ขยัน ครุ่นคิดและเป็นกังวลอยู่อย่างนั้น


 


ผมมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านครอบครัวเขา เพื่อดำเนินเรื่องขอทุนการศึกษาให้กับบุตร น.ช.ขยัน พบว่าสภาพบ้านอยู่ในสภาพกลางเก่ากลางใหม่ บริเวณบ้านขาดการดูแลหญ้าขึ้นรกสูง ทราบจากภรรยาว่า น.ช.ขยันกำลังเริ่มสร้างบ้านให้กับตัวเองและครอบครัว ภายหลังจากเก็บเงินที่ได้จากการรับจ้างสร้างบ้านให้กับคนอื่น แต่ในขณะที่สร้างได้เพียงไม่นานก็ต้องมาต้องโทษในเรือนจำก่อน บ้านในฝันจึงยังคงเป็นแค่ความฝันต่อไป และเหลือไว้เพียงความจริงที่โหดร้ายเข้ามาแทนที่


 


ส่วนภรรยาของเขาจำต้องออกมาประกอบอาชีพรับจ้างเย็บผ้าทั่วไป จากที่แต่ก่อนมีหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลลูกทั้งสองเท่านั้น เพราะรายได้หลักที่เคยได้จากการรับสร้างบ้านของสามีนั้นหายไป จากไม่เคยเป็นหนี้ ก็ต้องเป็นหนี้ ทรัพย์สินที่เคยมี ถูกขายและนำไปจำนำ เพื่อนำมาใช่จ่ายภายในครอบครัว และยิ่งตอนนี้ใกล้จะถึงเวลาเปิดเทอมของลูกทั้งสองแล้ว ความมืดดำยังคงเข้าปกคลุมครอบครัวของเขาต่อไป


 


คงเหมือนกับหมอกควันที่ปกคลุมเรือนจำในตอนนี้กระมัง


 


จริงอยู่ ที่นี่อาจเป็นสถานที่ที่รวบรวมอาชญากร... ผู้ต้องขังส่วนหนึ่งที่มีลักษณะกระทำผิดติดนิสัย เป็นอาชญากรโดยสันดาน ไม่สำนึกผิดและมีลักษณะร้าย เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสังคมภายหลังพ้นโทษ แต่สังคมภายนอกก็ไม่ควรมองแบบเหมารวม ยังมีอีกหลายชีวิตที่อยากเริ่มต้นใหม่…. หลายชีวิตที่ต้องนอนร้องไห้คิดถึงลูก… บางคนที่ต้องกลับออกไปดูแลแม่ซึ่งพิการ เพียงเพราะความรู้สึกต่างๆ นั้น สังคมไม่ควรทอดทิ้งพวกเขา… บุคคลที่มืดมน สังคมส่วนด้อย ที่ยังหวังเพียงจะได้รับการสวมกอดจากแสงตะวันอีกครั้งในชีวิต


 


ใช่หรือไม่ ที่กล่าวกันไว้ว่า "เราไม่มีสิทธิคิดหรือไปกำหนดว่าคนๆ นั้นสมควรอยู่หรือตาย ถ้าเรายังไม่ได้รู้จักเขาครบทุกด้าน"


 


ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สังคมก็ไม่ควรจะตีตรา ใครก็ตามที่เคยพลาดผิด ว่าเขาคนนั้นจะเป็นคนชั่วตลอดไปโดยไม่ให้โอกาสเขาได้แก้ตัว ผมเชื่อว่า... ไม่มีใครหรอกอยากเป็นคนเลวในสายตาของคนอื่นหรืออยากเป็น "ไอ้ขี้คุก" พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย… เหมือนที่นักโทษชายคนหนึ่งบอกให้ผมฟัง


 


"ผมไม่หวัง ไม่ขอ… ให้สังคมให้อภัย เพราะผมเชื่อว่าถ้าคิดจะเป็นคนดีแล้วต้องเริ่มต้นที่ตัวเองโดยไม่ต้องรอโอกาสมาถึงก่อน ผมพร้อมรับผิด รับการลงโทษชดใช้ในสิ่งที่ผมทำ… แต่ผมขอให้สังคมเข้าใจผมบ้างก็พอ"


 


ผมบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า ในผู้ต้องขังร้อยคน ถ้าเราสามารถช่วยให้เขากลับตัวได้เพียงแค่คนเดียวก็ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แล้ว


 


เพราะคนหนึ่งคนที่กลับตัวและใจได้ อาจช่วยชีวิตใครต่อใครอีกมากมายในสังคม


 


 


4.


 


"...พยากรณ์อากาศวันนี้ ภาคเหนือตอนบนจะมีฝนตกและลมกรรโชกแรง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากพายุฤดูร้อนนั่นเองค่ะ" คำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ผ่านเสียงของผู้ประกาศข่าวสาวสวยเมื่อเช้านี้แว่วมาให้ได้ยินก่อนมาทำงาน


 


"อืมม...ช่างแม่นยำจริงๆ" ผมพูดกลับตัวเองพร้อมมองฝ่าสายฝนที่โปรยปรายอย่างไม่ขาดสายจากประตูห้องทำงาน เสียงฟ้าร้องบวกกับเสียงต้นไม้ในเรือนจำเอนลู่ลมดูน่ากลัว ลมหอบใบไม้ปลิวว่อน กิ่งไม้บางกิ่งต้านแรงไม่ไหวจึงหักร่วงหล่นลงมา ผู้ต้องขังต่างพากันวิ่งหลบฝน บางคนวิ่งไปเก็บผ้าที่ตากไว้หลังเรือนนอน


 


ในขณะที่ผมกำลังมองภาพที่ว้าวุ่นคุ้นเคยอยู่นั้น จู่ๆ มีเสียงเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ตะโกนโหวกเหวกแหวกสายฝนเข้ามา ท่ามกลางเสียงซู่ซ่า จับใจความได้ว่า... ให้ผมไปรับโทรศัพท์ภายในฝ่ายควบคุมและรักษาการณ์ ผมรีบหาร่มก่อนจะรีบเดินไป


 


"ที่ฝ่ายฯ มีสายนอกโทรมาหา" เจ้าหน้าที่บอกก่อนที่ผมจะเอื้อมมือไปหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา


 


"ค่ะ โทรจากกรมฯ นะค่ะ ทุนการศึกษาบุตรผู้ต้องขังที่ขอมาสี่ราย ได้แล้วค่ะ ยังไงทางกรมฯ จะจัดส่งเช็คของขวัญและรายชื่อผู้ได้รับทุนไปให้อีกทีนะค่ะ"


 


ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย ผมรู้สึกถึงความชุ่มชื่นในหัวใจขึ้นมาในทันที ภายหลังจากที่วางโทรศัพท์ ผมวิ่งถามหาใครคนหนึ่ง ก่อนจะวิ่งฝ่าสายฝนออกไปอีกครั้ง


 


"ขยัน...มีข่าวดีมาบอก! นายเขียนจดหมายบอกลูกนายได้เลยว่าอย่าเพิ่งลาออก ค่าเทอมกำลังจะมาแล้ว"


 


วันนั้น ผมมองเห็นรอยยิ้ม และเห็นน้ำไหลออกมาจากตา ของผู้ที่ถูกเรียกว่า "อาชญากร"


ฝนเริ่มซา... ผมบอกลา น.ช.ขยันแล้วเดินกลับออกมาด้วยหัวใจที่อิ่มเอมพองโต พร้อมกับรอยยิ้มที่มุมปาก ก่อนเข้าห้องทำงาน ผมแหงนมองข้อความที่ติดไว้เหนือประตูหน้าห้อง


 


"สิ่งสำคัญ ขอจงให้รู้จักเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในชีวิต ไม่ใช่อยู่ที่คำพิพากษา"


 


ใช่, วันนั้นทั้งวัน ผมมองเห็นภาพรอยยิ้มของความหวัง และหยาดน้ำตาแห่งความสุข ของผู้ที่ถูกเรียกว่า "อาชญากร" ลอยวนไปมาอยู่อย่างนั้น


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net