Skip to main content
sharethis

สุรพงษ์ กองจันทึก


            ตะกั่วเป็นสารที่ร่างกายมนุษย์ไม่ต้องการ ดังนั้นการมีตะกั่วในร่างกายแม้น้อยนิด ก็ส่งผลกระทบเป็นพิษต่อร่างกายได้ การนำตะกั่วที่อยู่ใต้ดินลึกขึ้นมาบนบก ก็เสมือนการนำสารพิษขึ้นมานั่นเอง ยิ่งเหมืองแร่ที่ทำเหมืองแร่ระบบเปิด คือปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก ก็เป็นการนำสารพิษมาแพร่สู่ประชาชน


            ปี พ.ศ. 2541 ข่าวการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นลำห้วยในผืนป่าตะวันตก เป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากการตรวจของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า น้ำที่ผ่านโรงแต่งแร่คลิตี้ของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีตะกั่วปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานหลายเท่า และพบตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ราว 15,000 ตัน


            ส่วนสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ และแม่น้ำแม่กลองที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ที่ห้วยคลิตี้ไหลไปบรรจบ มีตะกั่วในเนื้อปลาเกินค่ามาตรฐานนับร้อยเท่า


            น้ำเหล่านี้ได้ผันมาเป็นน้ำประปาให้ชาวกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรีใช้


            หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบและมีข้อสรุปในการแก้ไขปัญหา เป็นลำดับ อาทิ


วันที่ 7 กรกฎาคม 2541 มีมติของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งตกลงร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี, กรมป่าไม้, กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ให้ยกเลิกกิจการเหมืองแร่ทั้งหมดในบริเวณโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร


วันที่ 29 กันยายน 2543 คณะสมาชิกวุฒิสภามีหนังสือถึง รมว.อุตสาหกรรม ให้เพิกถอนหรือยกเลิกกิจการเหมืองแร่ ในจังหวัดกาญจนบุรี


วันที่ 8 กันยายน 2544 คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปศึกษาสภาพปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง บริเวณเหมืองคลิตี้และเหมืองเคมโก้ ต่อมาสรุปเป็นรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีให้เร่งแก้ไขปัญหา และไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรดำเนินกิจกรรมเหมืองแร่


วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยนายเสน่ห์ จามริก ประธาน มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ขอให้ยุติการทำเหมืองแร่ทั้งหมด ในผืนป่าโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และให้ดูแลชาวบ้านในฐานะผู้ได้รับสารตะกั่ว ตลอดจนเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม


วันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 มีมติของที่ประชุมรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ยุติการทำกิจกรรมเหมืองแร่ ทั้งเหมืองแร่และโรงแต่งแร่อย่างเด็ดขาด และเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้รื้อถอนเครื่องจักร อุปกรณ์ บ้านพักคนงาน ออกนอกพื้นที่โดยเร็วที่สุด ตลอดจนดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรอบ


วันที่ 10 มกราคม 2545 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ยกเลิกเหมืองแร่ทั้งหมดโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และขอให้ตรวจสอบการทำผิดกฏหมายของเหมืองเค็มโก้ด้วย


            แม้จะมีหน่วยงานจำนวนมากเห็นสอดคล้องกัน ที่จะยกเลิกเหมืองแร่ทั้งหมดโดยรอบเขตทุ่งใหญ่นเรศวร และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชนให้ดีดังเดิม แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง กลับเป็นไปอย่างเชื่องช้า


            จนชาวบ้านคลิตี้ล่าง กว่า 300 คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต้องให้สภาทนายความช่วยในกระบวนการทางศาล


            ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีที่ ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี รวม 22 คน ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมาย ในการฟื้นฟูและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนตะกั่วจากการทำแร่ของโรงแต่งแร่ของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด


            ตุลาการศาลปกครองพิพากษาว่า "ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ กรณีไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟู หรือระงับการปนเปื้อนของสารตะกั่วล่าช้าเกินควร และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง ยี่สิบสองคน แต่ละรายเป็นเงิน 33,783 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 743,226 บาท"


            ก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้พิพากษาให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายในการที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้เจ็บป่วยเสียหาย จากการปล่อยน้ำเสียของการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยที่ชาวบ้านใช้ โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน 8 คนที่ฟ้องเป็นเงิน 4 ล้านบาท


            และชาวบ้านที่เหลือ 151 คนได้ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท คดีอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลจังหวัดกาญจนบุรี


            ในส่วนการรักษาพยาบาลชาวบ้านคลิตี้ซึ่งเจ็บป่วย มีอาการผิดปกติ และมีตะกั่วในเลือดสูงเกินมาตรฐานเฉลี่ยของคนไทยหลายเท่า ทางกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีการมาตรวจสอบตลอดเวลา ผ่านมา 10 ปีแล้ว ก็ยังไม่วินิจฉัยว่าชาวบ้านคลิตี้เป็นโรคพิษตะกั่วหรือไม่


เมื่อไม่มีการวินิจฉัยก็ทำให้ไม่ไปสู่การรักษาชาวบ้าน


โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ซึ่งดูแลโดยตรงกับการทำเหมืองแร่ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี กลับอนุญาตให้เหมืองแร่เค็มโก้ ซึ่งกระบวนการแต่งแร่เป็นระบบปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก กรรมการและเจ้าของเป็นชุดเดียวกับบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำกองแร่จากคลิตี้มาแต่งได้อีก ในปี 2550


ทั้งๆ ที่กองแร่ต้องมีการฝังกลบตามมติของที่ประชุมรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย 4 กระทรวง ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 ว่า การอนุญาตให้เก็บกองแร่ครอบครองในประทานบัตรของบริษัท กาญจนบุรี เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง (เค็มโก้) ไม่ให้ถือเป็นเหตุผลในการเสนอขอต่ออายุโรงแต่งแร่ของบริษัท ในกรณีที่บริษัทฯ ไม่สามารถทำการแต่งแร่ครอบครองที่เก็บกองไว้ให้หมดสิ้นลงไปได้ และบริษัทต้องจัดเก็บและกลบฝังแร่ในครอบครองที่คงเหลือตามวิธีการที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดต่อไป โดยได้ให้โอกาสบริษัทฯ แต่งแร่ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2545 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดประทานบัตร


นอกจากนี้บริษัท กาญจนบุรี เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง (เค็มโก้) จำกัด ดำเนินกิจกรรมทำเหมืองแร่และแต่งแร่เถื่อนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2545 เป็นเวลาเกือบ 10 ปี แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่ดำเนินคดีและลงโทษ


ไม่เลิก ไม่หยุด ไม่ลงโทษ ไม่รักษา ไม่ฟื้นฟู แต่กลับฟื้นการทำแร่ขึ้นใหม่


ลมหายใจของประเทศไทย ไม่ไร้พิษสารตะกั่ว


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net