Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และองค์กรประชาสังคมต่างๆ ในเชียงใหม่ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา "วิกฤตการเมืองไทย รัฐประหาร และทางออก?" ที่ห้องประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดยนายสืบสกุล กิจจนุกร นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


โดยเมื่อวานนี้ประชาไทได้นำเสนอการอภิปราย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นายสมศักดิ์ โยอินชัย กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อนหญิง ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปแล้ว (ดู ตอนที่ 1 เรากำลังอยู่ในภาวะ "ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู")


 


และต่อไปนี้เป็นการอภิปรายของผู้ร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่ง คือ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่เตรียมหัวข้อการอภิปรายที่ชื่อว่า "พันธมิตรกับพลังประชาชนผ่านแนวพินิจปรากฏการณ์วิทยา" ซึ่ง รศ.สมเกียรติเสนอว่าการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นเพียงคณะลิเกของอภิสิทธิ์ชน เป็นเกมที่ไม่จบด้วยการถอยคนละก้าว ไม่ใช่ริบบิ้นสีขาว เพราะเป็นเรื่องของคนที่มีความแค้นส่วนตัวเนื่องจากถูกถีบตกจากขบวนรถไฟสาย "โลกาภิวัฒน์"


 


โปรดติดตาม


 


000


 


สมเกียรติ ตั้งนโม


อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


"เหตุการณ์ประท้วงที่สะพานมัฆวานฯนั้นไร้ความหมาย เพราะคนที่อยู่ในเกมนี้ ยังไม่รู้ว่าตัวเองว่า ตัวเองอยู่ในเกมที่มันพัวพันสูงกว่ารัฐชาติที่เรียกว่าประเทศไทย มันเป็นความพัวพันที่คุณไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการประท้วงเพราะคุณตกจากขบวนรถไฟ เกมนี้ไม่จบครับ เกมนี้ไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการถอยกันคนละก้าว เกมนี้ไม่ใช่ริบบิ้นสีขาว เกมนี้เป็นเกมของความไม่พอใจเพราะถูกถีบตกจากขบวนรถไฟ เป็นความแค้นส่วนตัว"


 


"ที่สะพานมัฆวานฯ นั้นไม่ใช่เป็นลิเกบ้านนอกครับ


 


แต่เป็นลิเกอภิสิทธิ์ชนยึดสามารถพื้นที่สาธารณะ และแสดงลิเกได้ไปวันๆ โดยเปลี่ยนบทประพันธ์ไปได้เรื่อยๆ บทประพันธ์แรกคืออย่าแก้รัฐธรรมนูญ บทประพันธ์ที่สอง อย่าหมิ่นเจ้า บทประพันธ์ที่สาม คือ ล้มรัฐบาล ซึ่งจะมีบทประพันธ์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ต่อไปอีก นี่คือลิเกอภิสิทธิ์ชนที่ไม่มีใครกล้าจัดการ


 


ขอโทษ ถ้าสมัชชาคนจน กลุ่มต่อต้านท่อก๊าซ กลุ่มที่ดินลำพูน ยึดถนน ผมคิดว่าไม่เกินสามวันถูกตีแล้ว แน่นอนเจ็บตัวแน่นอน และคุณก็เลือดอาบไปโรงพยาบาลโดยไม่เป็นข่าว


 


ลิเกอภิสิทธิ์ชนเล่นได้ไปวันๆ แต่ลิเกฉากนี้มันไม่จบด้วยพล็อตเรื่องง่ายๆ ว่าความดี ชนะความชั่ว เพราะมันไปเกี่ยวกับจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ด้วย ทางออกไม่สั้น ยาวแน่ ความขัดแย้งนี้มีต่อไปแน่ อย่าฝันถึงสังคมอุดมคติที่เป็นเอกภาพเพราะมันไม่มีแล้ว"


 


000


 


1.


 


ขอเริ่มต้นการพูดคุยการพูดคุยวันนี้ ด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้


 


วันนี้ผมเตรียมมาพูดเรื่อง "พันธมิตรกับพลังประชาชนผ่านแนวพินิจปรากฏการณ์วิทยา" โอ้โห...


 


ผมเล่าให้ฟังต่อครับ แนวคิดปรากฏการณ์วิทยา เป็นแนวคิดที่มองปรากฏการณ์เฉพาะหน้า โดยพยายามค้นไปถึงแก่นของปรากฏการณ์นั้นว่าเกิดอะไรขึ้น อ.เกษียร เตชะพีระ เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ในหนังสือสารคดีว่า "เลิกฝันกันเสียที เลิกคิดแบบอุดมคติว่าสังคมเป็นเอกภาพ" [1] ซึ่งผมเห็นด้วย


 


สังคมไทยเริ่มแตกออกเป็นสองฝ่าย ตั้งแต่ พ.ศ.2475 โดยกษัตริย์แตกกับขุนนาง


 


14 ตุลา หลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแบบที่ อ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์บอก เกิดชนชั้นกลางเกิดขึ้น เกิดการแตกแยกครั้งที่สองเรียกว่าการแตกแยกระหว่างขุนนางกับชนชั้นกลาง หลังจากนั้นมาสิบกว่าปี คุณจะเห็นว่า นายพลใหญ่ๆ ที่เคยมีชื่ออยู่ในรัฐวิสาหกิจ ธนาคารถอนตัวไปเยอะหลัง 14 ตุลา


 


การแตกครั้งที่สองนี้คือ 14 ตุลา จนถึงพฤษภา 35 คือจุดสิ้นสุดของการรบกันระหว่างขุนนางและชนชั้นกลาง เกิดกรณีใหม่ของความขัดแย้งที่สะสมเพิ่มศักยภาพของตัวมันเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ทุนโลกาภิวัฒน์ปะทะทุนโลกาภิวัฒน์ด้วยกันเอง ตอนนี้เราอยู่ในช่วงของความขัดแย้งชุดปัจจุบันคือระหว่างทุนนิยมที่ตกขบวนรถไฟสายโลกาภิวัฒน์ กับทุนนิยมที่สามารถโดยสารขบวนรถไฟสายโลภาวัฒน์ได้


 


ใครที่ตกขบวนรถไฟสายนี้ คนที่ตกขบวนรถไฟสายนี้คือกลุ่มของสนธิ ลิ้มทองกุล


 


ก่อนหน้านี้เขาโดยสารรถไฟขบวนนี้หรือไม่ โดยสารครับ ถ้าคุณเห็นทักษิณ 1 คุณจะเห็นว่าการเจรจาต่างประเทศเกือบทุกครั้ง สนธิ ลิ้มทองกุล ถูกหนีบภายใต้วงแขนของทักษิณไปในต่างประเทศหลายครั้ง มีรายการในสถานีโทรทัศน์เป็นกระบอกเสียง สนธิประกาศนานแล้วว่าสื่อไม่เคยเป็นกลาง ยกตัวอย่างสถานี FOX TV ที่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแจ้งชัด


 


ผมกำลังเล่าให้คุณเห็นภาพให้ชัดเจนว่า ภายใต้ปรากฏการณ์ของพันธมิตรที่สะพานมัฆวานฯ มันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เหตุการณ์นี้แก่นแท้ของมันคือทุนนิยมที่โดยสารรถไฟขบวนนี้ คนๆ หนึ่งเคยโดยสารไปด้วย แต่อยู่มาวันหนึ่งอยากได้ที่นั่งที่ดีขึ้นในขบวนรถไฟนี้ จึงถูกทักษิณถีบตกจากรถไฟ


 


หลังจากที่ถูกถีบตกจากรถไฟแล้ว ก็คือคนที่ไม่สามารถไปกับขบวนรถไฟสายโลภาภิวัฒน์ได้อีก


 


ผมขอเล่าย้อนให้ฟังว่า รถไฟสายโลกาภิวัฒน์คืออะไรและกระบวนการประชานิยมเกิดขึ้นได้อย่างไร


 


000


 


2.


ต่อไปนี้คือฉากที่สอง ภายใต้กระบวนการโลภาวิวัฒน์ เราตีขลุมผู้นำอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งขอเรียกว่าจักรวรรดิทุนนิยม ขอโทษไม่ใช่รัฐชาตินะครับ ไม่ใช่สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่เป็นจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่รวมตัวกันเกิด WTO เกิด IMF เกิด World Bank เกิด FTA เกิดอะไรอีกหลายอย่างเต็มไปหมด กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลของจักรวรรดิโลกาภิวัฒน์ ที่เรียกว่า G8


 


G8 คือประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นแนวหน้าของมหาวอำนาจ ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีพลังทางเศรษฐกิจระดับโลกเท่านั้น แต่มีพลังทางการเมืองระดับโลกด้วย เพราะ 7 ใน 8 ของ G8 นั้นมีมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งสิ้น


 


ทักษิณอยู่ที่ไหน ทักษิณอยู่ในโบกี้รถไฟของขบวนการทุนนิยมโลกาภิวัฒน์นี้ คนถูกถีบตกลงมาคือสนธิ ลิ้มทองกุล


 


สถานีรถไฟที่คนเหล่านี้จะไปถึงคือจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัฒน์


 


ถามว่าทักษิณทำสิ่งใดให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำไมทักษิณจึงเรียกหามวลชนที่เป็นรากหญ้า อันที่จริงทักษิณไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่เดินตามกระบวนการและกลไกสายทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่ระบุไว้ว่า "คุณควรทำอะไรบ้าง"


 


G8 ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ไม่ชอบประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไร้ความสงบ เพราะสังคมใดไร้ความสงบมันทำให้ทุนที่ไปลงทุนประเทศนั้นเสี่ยง วิธีการสยบให้สังคมสงบและปราศจากความเสี่ยงคือการป้อนอาหารให้กับคนที่มีแนวโน้มจะวุ่นวาย "หลักการประชานิยม" คือหลักการของการให้เหล้าไวน์ และขนมปังแบบจักรวรรดิโรมันเคยทำ


 


อะไรคือเหล้าไวน์ คือความมัวเมาบนช่องสัญญาณทีวีและสื่อสาธารณะ ซึ่งจะเห็นว่า ในยุคของทักษิณได้ปลดรายการเจิมศักดิ์ สุทธิชัย หยุ่น สมเกียรติ อ่อนวิมล รายการสาระทางการเมืองออกทั้งสิ้น เหลือแต่รายการเกมโชว์ ทศกัณฐ์พันหน้า ห่าเหวเฮงซวยอะไร ไม่รู้จัก ไม่เคยดู แต่เกิดรายการแบบนี้


 


นี่คือเหล้าไวน์


 


ขนมปังคือประชานิยม นี่คือแบบฉบับของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัฒน์เก็บมาใช้


 


หลักการประชานิยม คือข้างล่างประชานิยม ข้างบนโลกาภิวัฒน์


 


ทักษิณและกลุ่มสมัครพรรคพวกได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ โดยกลุ่มที่ผมเรียกซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า "แก๊งค์สี่คน" ของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย แก๊งค์อะไหล่รถยนต์ แก๊งค์สื่อมวลชน แก๊งค์ทีวี และแก๊งค์อาหารสัตว์


 


ข้างล่างได้อะไรครับ FTA คือแก๊งอาหารสัตว์และเกษตรได้ประโยชน์ หอมกระเทียมที่ภาคเหนือเป็นอย่างไรครับ เห็นไหมครับ ประชานิยมข้างบนโลกาภิวัฒน์ ข้างล้างต้องราบคาบอยู่ภายในระบบ ข้างบนจะค้าขายได้คล่อง


 


นี่คือภาพที่ผมทำให้พวกเราเห็นทั้งหมดว่า เหตุการณ์ประท้วงที่สะพานมัฆวานฯนั้นไร้ความหมาย เพราะคนที่อยู่ในเกมนี้ ยังไม่รู้ว่าตัวเองว่า ตัวเองอยู่ในเกมที่มันพัวพันสูงกว่ารัฐชาติที่เรียกว่าประเทศไทย มันเป็นความพัวพันที่คุณไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการประท้วงเพราะคุณตกจากขบวนรถไฟ เกมนี้ไม่จบครับ เกมนี้ไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการถอยกันคนละก้าว เกมนี้ไม่ใช่ริบบิ้นสีขาว เกมนี้เป็นเกมของความไม่พอใจเพราะถูกถีบตกจากขบวนรถไฟ เป็นความแค้นส่วนตัว


 


ทั้งหมดนี้ ใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างในเกมนี้ ผมขอยกตัวอย่างว่า เกมนี้ไม่อาจสิ้นสุดด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือใช้คำตอบแบบตรรกะเชิงเดี่ยว เพราะตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเกมนี้มีอยู่อย่างน้อย 5 ฝ่าย


 


หนึ่ง พันธมิตรฯ สอง พลังประชาชน หรือ รัฐบาล สาม สื่อมวลชนที่ประโคมข่าว สี่ ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ห้า นักวิชาการ


 


คุณเอาตัวละครเหล่านี้ทั้งหมดมาอยู่บนเวที ตัวละครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ขยับตัวย่อมมีผลต่อตัวละครตัวอื่นทั้งสิ้น


 


เช่น รัฐบาล วันที่ 31 พ.ค. เวลา 9 โมงเช้า จะขยับไปที่สะพานมัฆวานฯ เกิดอะไรขึ้น พันธมิตรฯ ขยับ สื่อประโคม นักวิชาการตื่นเต้น เหยื่อหวาดกลัว เห็นไหมครับว่าเรื่องไม่จบง่ายๆ มันพัวพันกับตัวละครเยอะมาก และละครเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อตัวละครตัวอื่นทั้งสิ้น


 


000


 


3.


ฉากที่สาม ชื่อว่า ลิเกอภิสิทธิ์ชน


 


คุณจะเห็นว่าที่สะพานมัฆวานฯ นั้นไม่ใช่เป็นลิเกบ้านนอกครับ


 


แต่เป็นลิเกอภิสิทธิ์ชนยึดสามารถพื้นที่สาธารณะ และแสดงลิเกได้ไปวันๆ โดยเปลี่ยนบทประพันธ์ไปได้เรื่อยๆ บทประพันธ์แรกคืออย่าแก้รัฐธรรมนูญ บทประพันธ์ที่สอง อย่าหมิ่นเจ้า บทประพันธ์ที่สาม คือ ล้มรัฐบาล ซึ่งจะมีบทประพันธ์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ต่อไปอีก นี่คือลิเกอภิสิทธิ์ชนที่ไม่มีใครกล้าจัดการ


 


ขอโทษ ถ้าสมัชชาคนจน กลุ่มต่อต้านท่อก๊าซ กลุ่มที่ดินลำพูน ยึดถนน ผมคิดว่าไม่เกินสามวันถูกตีแล้ว แน่นอนเจ็บตัวแน่นอน และคุณก็เลือดอาบไปโรงพยาบาลโดยไม่เป็นข่าว


 


ลิเกอภิสิทธิ์ชนเล่นได้ไปวันๆ แต่ลิเกฉากนี้มันไม่จบด้วยพล็อตเรื่องง่ายๆ ว่าความดี ชนะความชั่ว เพราะมันไปเกี่ยวกับจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ด้วย ทางออกไม่สั้น ยาวแน่ ความขัดแย้งนี้มีต่อไปแน่ อย่าฝันถึงสังคมอุดมคติที่เป็นเอกภาพเพราะมันไม่มีแล้ว


 


ทางออกของผมหลังจากที่พูดมาทั้งหมด มันมีทางออกไหม มีครับ และเป็นทางออกหนึ่งในหุ้นส่วนของสังคมประชาธิปไตยซึ่งอาจมีทางออกอื่นๆ อยู่ด้วย มีทางออก ผมในฐานะพวกเรามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ 137 นักวิชาการมีคำตอบ


 


คำตอบมีอย่างไร


 


000


 


4.


 


ฉากที่ 4


 


ทางออกที่หนึ่ง ผมย้อนกลับไปที่ข้อเสนอของ อ.เกษียร เตชะภีระ ที่ว่า เราควรมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่มีอยู่ 3 มาตราหลักๆ มาตราที่หนึ่ง งดเว้นการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไปนี้ต้องฟ้องจากคณะรัฐมนตรีและต้องรับผิดชอบ ข้อสองที่ อ.เกษียรเสนอคือ ทหารต้องถูกกันออกไปจากเกมการเมืองนี้อย่างเด็ดขาด รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมข้อที่สามคือ เสรีภาพและประชาธิปไตยต้องเป็นพื้นที่เปิด และไม่มีใครสามารถย่ำยีได้


 


นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่อาจารย์เกษียรเสนอ


 


ทางออกที่สอง ในขณะที่เราอยู่ในโลกที่มันไม่ใช่รัฐชาติที่เป็นเจ้าของอธิปไตยอีกต่อไป แต่มาจากจักรวรรดิทุนนิยมโลกาภิวัฒน์


 


ทางออกของเราข้อนี้คือ เราต้องเตรียมพร้อมสังคมเราให้เป็นรัฐสวัสดิการ


 


รัฐสวัสดิการจะขยายสวัสดิการไปถึงภาคประชาชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูงในกลุ่มชนชั้นล่างต้องไม่ป้อนอาหารให้เกษตรกรอิ่มท้องเท่านั้น แต่หมายถึงผู้ใช้แรงงานด้วย เมื่อมันขยายไปถึงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ทางสังคม เศรษฐกิจขั้นต่ำที่ไม่อดตาย มีการศึกษา ได้รับการรักษาพยาบาล นี่คือทางออกที่สอง


 


ทางออกที่สาม รัฐธรรมูญจะต้องไม่ระบุเหมือนปี 2540 ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สยบยอมกับลัทธิทุนนิยม เท่านั้น เราต้องระบุให้สังคมไทยเป็นสังคมที่จะเลือกเศรษฐกิจทางเลือกได้ ทั้งหมดนี้คือทางออกที่ถาวรของสังคมไทย


 


ลิเกอภิสิทธิ์ชนที่สะพานมัฆวานฯไม่อาจเป็นคำตอบสำหรับทางออกของสังคมไทยได้ การเชิญชวนปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือการข่มขืนประเทศชาติซ้ำแล้วซ้ำแล้ว สิ่งที่เราได้คือทายาทปีศาจ เพราะเกิดขึ้นมาจากการข่มขืน ปี 2549 เราได้ทายาทปีศาจมา 2-3 ตัว ตัวที่หนึ่ง คือรัฐธรรมนูญปี 2550 ตัวที่สองคือ เราได้ คตส. คตส. คือกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกระบวนการไต่สวน คำถามง่ายนิดเดียว คือกระบวนการยุติธรรมที่ไหนในโลกที่โจทย์และจำเลยเป็นฝ่ายไต่สวนกันเอง เพราะ คตส. หลายคน เป็นคนที่มาจากเวทีสนามหลวงก่อน 19 ก.ย. หลายคน นี่คือทารกปีศาจอีกหนึ่งตัว


 


ส่วนตัวที่สาม สี่ ห้า ผมทำโพยหายจึงขอยุติแต่เพียงเท่านี้


 


หมายเหตุ


[1] "สัมภาษณ์: ดร. เกษียร เตชะพีระ เราจะฝ่าความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างไร" ใน นิตยสารสารคดี, ปีที่ 24 ฉบับที่ 279 พฤษภาคม 2551.


 


รายงานย้อนหลัง


เสวนาที่เชียงใหม่ (ตอนที่ 1): เรากำลังอยู่ในภาวะ "ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู", ประชาไท, 5 มิ.ย. 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net