บทความ: ม็อบพันธมิตรฯ ศัตรู และปัญหาการคิดแบบขาว-ดำ

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

เมื่อผู้เขียนมีโอกาสไปสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันเสาร์ที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีโอกาสพูดคุยสอบถามด้วยนั้นรู้สึกว่า ตนเองอยู่ฝ่ายธรรมะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็รอคอยให้มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมทั่วไป 3-4 คนที่ได้พูดคุยด้วย ดูเหมือนจะรู้สึกหมดความอดทนมากขึ้นทุกที เพราะหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ คราวที่แล้ว กลุ่มพรรคพวกนายทักษิณ ชินวัตร ก็ยังสามารถกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีก

 

"พวกคนที่ไม่มา [ร่วมชุมนุม] คือพวกเห็นแก่ตัว" ผู้ร่วมชุมนุมวัย 64 ชาวกรุงเทพฯ ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจสิ่งทอ แต่ขอสงวนนามกล่าวกับผู้เขียนในเย็นวันนั้น พอผู้เขียนถามต่อไปว่าถ้ามีรัฐประหารอีก แล้วหลังจากนั้นมีเลือกตั้งอีก แล้วนักการเมืองอย่างพวกนายเนวิน ชิดชอบ หรือนายทักษิณ ยังกลับมาได้อีก แล้วจะทำอย่างไร เจ้าของธุรกิจซึ่งถือบุหรี่ติดที่กรองกล่าวต่อว่า ถ้าเช่นนั้นก็คงผลักดันให้นักการเมืองผู้ใดก็ตามที่โดนจ่ายใบแดงโดย กกต. ต้องโทษประหารชีวิตสถานเดียว

 

"หรือคุณไม่เห็นด้วย" เขาถามกลับมายังผู้เขียน

 

ชุมพล ทองเจริญ การ์ดพันธมิตร อายุ 26 ปี จากจังหวัดระยอง พูดถึงการ "กำจัด [ทักษิณ] ให้สิ้นซาก" ให้ผู้เขียนฟัง พร้อมทั้งออกตัวว่าตนนั้นมีความเชื่อมั่นในบรรดาแกนนำพันธมิตรฯ เต็มร้อย และก็คิดว่า รัฐประหารจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน

 

แน่นอนแกนนำพันธมิตรฯ อาจยืนยันว่า การชุมนุมของพวกตนเป็นไปอย่างสันติ และยืนกรานว่าพวกตนไม่ได้เรียกร้องให้มีรัฐประหาร แต่หากผู้ใดมีโอกาสไปสอบถามพูดคุยกับบรรดาผู้เข้าร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ ทั่วๆ ไป ก็น่าจะได้คำตอบอีกอย่างที่เป็นจริงกว่า

 

รัฐประหารถือเป็นความรุนแรงที่ละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนทั้งประเทศ และการที่ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีแกนนำคนใดของพันธมิตรฯ ออกมาแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่า หากเกิดรัฐประหารกลุ่มพันธมิตรฯ จะออกมาต่อต้านหรือไม่อย่างไร ย่อมเป็นดัชนีชี้ชัดให้เห็นว่า ม็อบพันธมิตรฯ มีจุดยืนที่แท้จริงต่อรัฐประหารอย่างไร และสันติวิธีจริงหรือไม่

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเมื่อได้มีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์ อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักรัฐศาสตร์ รั้วจุฬาฯ ผ่านหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ว่า บรรดาผู้ที่พูดบนเวทีพันธมิตรฯ ได้เรียงหน้าขึ้นเวที ใช้คำหยาบคาย ยุยงให้เกิดความเกลียดชังประหนึ่งมีการประกวดแข่งกันใช้คำหยาบคาย เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ประภาสยังได้กล่าวต่อไปว่า พันธมิตรฯ ได้กลายพันธุ์ไปเป็น "ขบวนการล้าหลังคลั่งชาติ" เสียแล้ว

 

คำวิจารณ์เหล่านี้ทำให้เกิดปฎิกิริยาจากฝ่ายพันธมิตรฯ โดยนายพิภพ ธงไชย ตอกกลับอย่างขัดหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยว่า : "เราคิดต่างได้ แต่ยุทธศาสตร์ต้องไปด้วยกัน อย่ามาทำลายกัน ถ้าเอ็นจีโอ หรือนักวิชาการเหล่านั้น จะติพันธมิตรฯ ให้มาคุยกับตนหลังเวที อย่าไปติผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ อย่ามาทำลายเราที่กำลังเดินหน้าสู้กับทักษิณ" (ผู้จัดการรายวัน หน้า 2, 3 มิ.ย.51, "ชำแหละนักวิชาการสีขาว ความเป็นกลางบนหอคอยงาช้าง")

 

มาดูอีกด้านสถานการณ์ก็เลวร้ายมิน้อยไปกว่ากัน เพราะมีการขู่ใช้กำลังสลายม็อบพันธมิตรฯ โดยตัวนายกฯ สมัคร สุนทรเวช โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการชุมนุมของประชาชน แถมมีมอเตอร์ไซค์กว่าร้อยคัน พร้อมท่อแป๊บและไม้แวะเวียนไป ก่อกวนผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ในคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายสมัครยังได้ขู่ว่าจะใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน มาจัดการกับพันธมิตรฯ เรื่องนี้เป็นตลกร้าย เพราะกฎหมายนี้ถูกผ่านในยุคสภา สนช. ที่ทหารผู้ก่อรัฐประหาร 19 กันยาฯ แต่งตั้ง โดยที่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยอมรับสนับสนุนทหาร คมช. แถมยังมีแกนนำระดับกลางของพันธมิตรฯ บางคนได้รับการแต่งตั้งตบรางวัลไปอยู่ในสภาหุ่นกระบอกแห่งนี้ด้วย

 

เช่นเดียวกันบนโลกไซเบอร์สเปซ เว็บไซต์ประชาไทตัดสินใจปิดเนื้อที่แสดงความเห็นชั่วคราว เพราะมีคนเข้ามาโพสต์ข้อความในทำนองยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มพันธมิตรฯ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่แปลกใจว่าทำไมในระยะหลัง จึงมีเสียงของคนหลายกลุ่มเรียกหาทางที่สาม หรือทางที่สี่ มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่า จะเป็นกลุ่มนักวิชาการ 137 คนที่เรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กลุ่มพรรคแนวร่วมภาคประชาชน เครือข่ายส้มขอร้อง และล่าสุดคือกลุ่มกลุ่มรณรงค์ใส่ชุดขาว ที่เรียกตนเองว่า "เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง" (ซึ่งกลุ่มขาวเพิ่งถูกนายสุริยะใส กตะศิลา แสดงความเห็นโต้กลับว่า หากมารณรงค์แถวม็อบพันธมิตรฯ ตนไม่แน่ใจว่าควรให้ขึ้นไปพูดบนเวทีหรือไม่ "เพราะเกรงว่าประชาชนจะเกิดความสับสน" (ข่าวสด 5 มิ.ย. 51, หน้า 14) ซึ่งการที่นายสุริยะใสพูดว่า กลัวผู้ชุมนุมพันธมิตรจะ "สับสน" นั้นสะท้อนถึงทัศนคติที่ว่าประชาชนไม่สามารถคิดแยกแยะตัดสินอะไรเองได้ ต้องคอยถูกป้อนข้อมูลแบบเดียวเสมอ) 

 

ในสถานการณ์เช่นนี้ ความพยายามที่จะสร้างทางเลือกที่สาม หรือแม้กระทั่งทางเลือกที่สี่หรือห้า ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะดูเหมือนว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน มักคิดเป็นขาวเป็นดำ มองว่า ถ้านายไม่ใช่พวกฉัน นายก็คือศัตรู ซึ่งเป็นความคิดแบบ dichotomic หรือ binary thinking (ทวิคติ หรือความคิดแบบขาวดำ) ซึ่งเป็นวิธีคิดที่เป็นปัญหามากและมีรากจากการใช้อำนาจสั่งและแก้ไขปัญหาที่พบได้ทั้งในครอบครัวและโรงเรียนประถมอนุบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท