Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


สุภัตรา ภูมิประภาส 


                                                                            


การนำเสนอรายงานข่าวการเลือกตั้งและการล้มระบอบกษัตริย์ในเนปาลกำลังถูกทำให้เป็นประเด็นการเมืองของประเทศไทย และเป็นการเมืองที่กำลังคุกคามสื่อด้วย


           


เป็นการคุกคามที่กระทำโดยสื่อและนักการเมือง


 


เป็นสองประสานของการคุกคามที่ใช้การลากโยงประเด็นไปสู่สถาบันกษัตริย์เหมือนกับที่สื่อและนักการเมืองบางกลุ่มช่วยกันสร้างกระแสจนนำไปสู่เหตุการณ์การฆ่าหมู่นักศึกษาและประชาชนกลางกรุงเทพมหานครเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 


           


19 เมษายน 2551 คำนูณ สิทธิสมาน แห่งรายการยามเฝ้าแผ่นดิน สื่อในเครือผู้จัดการเปิดประเด็นต่อการนำเสนอรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ช่อง 11 โดยอ้างว่าเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาเล่าให้ฟัง


 


"เสียดายที่ผมไม่ได้ดูข่าวชิ้นนั้น


 


ข่าวแพร่ภาพอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับวันหยุดสงกรานต์ อยู่ในส่วนของข่าวต่างประเทศ แต่น่าจะเป็นช่วงวิเคราะห์หรือรายงานพิเศษที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเลือกตั้งในประเทศเนปาล ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ พูดง่าย ๆ ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังจะถูกลบล้างไปจากโครงสร้างระบบการเมืองการปกครองหลังชัยชนะของพรรคการเมืองนิยมลัทธิเหมา หรือที่นิยมเรียกทับศัพท์กันว่าเหมาอิสม์"


 


คำนูณ ซึ่งเป็นทั้งสื่อมวลชนอาวุโสและนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ให้ความเห็นต่อไปว่า"จริงอยู่แหละที่เป็นเรื่องของเนปาล แต่เรื่องพรรค์นี้มีความละเอียดอ่อนมาก ผมสงสัยว่าทีวีของรัฐบาลใช้วิจารณญาณไตร่ตรองรอบคอบเพียงพอแล้วหรือ ผ่านหูผ่านตาผู้ใหญ่แค่ไหน แปลผิดแปลถูกอย่างไร..."


 


เขายังได้กล่าวย้อนไปถึงการรายงานข่าวสถานการณ์การเมืองเนปาลของหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2549 ว่า "กรณีที่หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2549 นำมาขึ้นปก แล้วขึ้นพากหัวว่า "Case study กรณีเนปาล" ซึ่งคุณสนธิ ลิ้มทองกุลเคยนำไปตั้งข้อสังเกตในรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ที่เวทีลีลาสสวนลุมพินีว่านักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนคุมเนื้อหาหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่เคยเข้าป่าจับปืนสมาทานลัทธิเหมามาก่อนมีเจตนาซ่อนเร้นพิเศษอะไรหรือไม่"


http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000045831


 


23 เมษายน 2551 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายฝากข้อเสนอไปยังประธานสภาฯ กรณีสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีนำสารคดีเกี่ยวกับการล้มล้างราชวงศ์ต่างๆ มาออกอากาศ ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์เนปาล ฝรั่งเศส และอังกฤษ ตนรู้สึกเศร้าสลดใจกับกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่กลับมาทำอย่างนี้ ขัดกับการปกครองของประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สะท้อนให้เห็นว่า คนปัจจุบันมีความคิดอย่างไร (อ้างจากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 24 เมษายน 2551)


http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=87339


 


คนที่ทำงานอยู่ในวิชาชีพสื่อทั่วโลกต่างรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองในเนปาล หรือการล้มระบอบกษัตริย์ของเนปาลนั้นเป็นปรากฎการณ์ใหญ่ที่เป็นข่าว และเป็นปรากฎการณ์ปกติของสื่อที่ต้องรายงานข่าวนี้  ซึ่งสื่อทุกแขนงทั่วทุกมุมโลกทั้งสื่อแบบจารีต และสื่อทางเลือกก็ทำรายงานข่าวนี้กัน


 


เป็นการรายงานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก เช่นเดียวกับรายงานเหตุกาณ์ต่างๆที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศต่างๆที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น


 


- ข่าวโศกนาฏกรรมสังหารหมู่พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระญาติวงศ์ในพระราชวังนารายัณหิตี ที่กรุงกาฐมันฑุ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544


 


- ข่าวพระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชาสละราชบังลังก์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2547


 


- ข่าวสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก อดีตกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏานสละราชบังลังก์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2548


           


กรณีของเนปาล สื่อทั่วโลกรวมทั้งสื่อไทยทุกแขนงติดตามรายงานความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในประเทศนี้อย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่เกิดโศกนาฎกรรมสังหารหมู่ที่พระมหาราชวังเมื่อปี 2544 ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการเปลี่ยนระบอบการปกครองในที่สุด


 


และโดยธรรมชาติของสื่อ ต่างต้องแข่งขันกันนำแง่มุมต่างๆมานำเสนอต่อสาธารณชนทั้งในรายงานข่าว และรายงานเชิงสารคดี


 


นี่คือหน้าที่ของสื่อในการสื่อสารความเปลี่ยนแปลงในโลกให้ประชาชนได้รับรู้


การที่สื่อนิ่งเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหล่านี้ต่างหากที่เป็นเรื่องควรตั้งคำถาม


 


การพยายามทำให้การทำงานโดยปกติของสื่อในเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ปกติ จึงเป็นการคุกคามทั้งเสรีภาพสื่อ และสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน


 


ที่น่าเป็นห่วงยิ่งคือ เป็นการคุกคามสื่อจากสื่อและนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


 


ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า คือเสียงเงียบจากสถาบันวิชาชีพสื่อ  องค์กรรณรงค์เรื่องเสรีภาพสื่อ  ไม่มีการออกมาท้วงติงกระแสการเมืองที่คุกคามสื่อครั้งนี้


 


ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่เงียบงันต่อการคุกคามดังกล่าวนี้  ไม่มีการแสดงความเห็นทางวิชาการสื่อสารมวลชนต่อประเด็นข่าวที่กำลังถูกกระแสการเมืองทำให้สับสนนี้ 


 


น่าเป็นห่วงว่านักศึกษาที่เลือกเรียนด้านสื่อสารมวลชนจะมีความเข้าใจอย่างไรต่อการทำหน้าที่สื่อในอนาคต


 


ก่อนปิดต้นฉบับชิ้นนี้  เพื่อสื่อมวลชนคนหนึ่งส่งรูปจากการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ทักษินมาให้ดู  เป็นรูปของผู้ชุมนุมหญิงที่ใช้สัญลักษณ์ธงชาติไทยมาทำผ้าเกาะอกเก๋ไก๋ สวมใส่กับกางเกวเอวต่ำ มีข้อความบนผ้าผืนนั้นว่า "ออกไป" และ "กู้ชาติ"


 


เขาส่งมาให้เปรียบเทียบดูกับรูปบรรยากาศเชียร์บอล ที่มีชื่อ THAKSIN ปรากฎบนธงชาติไทย


 


และฝากบอกผู้อ่านมาว่า "เสรีภาพของสื่อในไทย ถูกตัดตอน"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net