Skip to main content
sharethis


ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 


เสียดายที่เวลาย้อนกลับไปไปในวันที่ 7 ธันวาคม 2548 ไม่ได้ จึงไม่ได้เห็นภาพลักษณ์ของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหนุ่มที่มีบุคลิกของคนมีวิสัยทัศน์ยาวไกลจาก "พรรคประชาธิปัตย์" ที่ดูเป็นที่ยอมรับของ "ชุมชนป้อมมหากาฬ" อย่างมากในวันนั้นกันอีกแล้ว เป็นภาพของผู้บริหารที่มีเหตุผล รู้จักรับฟังปัญหาและข้อเสนอของชาวบ้านรวมไปถึงการรู้จักนำองค์ความรู้ทางวิชาการมาเป็นประโยชน์ในการดำเนินนโยบายจนสามารถเข้าไปจัดการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านใน "ชุมชนป้อมมหากาฬ" กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ด้วยเวลาไม่นานทั้งที่ปัญหานี้ยืดเยื้อมากว่า 13 ปี เพราะการบังคับใช้คำสั่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน พ.ศ. 2535 ให้เวนคืนที่บริเวณรอบๆป้อมมหากาฬมาทำเป็น "สวนสาธารณะ"


 


 


ใต้เงาต้นไทรอันเก่าแก่ หน้าบ้านโบราณร่วมร้อยปี หลังกำแพงพ่อปู่ป้อมปราการของเมืองหลวงที่สถิตย์สถานกว่า 200 ปี และท่ามกลางสายตาสาธารณะนับร้อยคู่เป็นพยาน กลางลานเอนกประสงค์ 7 ธันวาคม 2548 นายอภิรักษ์ จรดปากกาลงนามอย่างเป็นทางการในปฏิญญาร่วมกับนายธวัชชัย วรมหาคุณ ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ และนายวิวัฒน์ชัย อัตถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น เพื่อยืนยันการร่วมกันสร้างโครงการ "ชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ"


 


 



 


"ในอดีตกรุงเทพมหานครมีแนวคิดเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว โดยหวังให้คนเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีการใช้กฎหมายในการจัดการพื้นที่ทำให้มีปัญหากับชุมชนในเรื่องการไล่รื้อเพื่อเวนคืนที่มาทำสวนสาธารณะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง แต่ถ้า กทม.ยังยึดหลักการที่จะเดินตามกรอบกฎหมายดังกล่าวเพียงอย่างเดียวจะทำให้ไม่มีทางออกในการแก้ปัญหาและเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริง จึงหันมามองการพัฒนาที่มีชุมชนเป็นแกน" นี่คือคำกล่าว ของนายอภิรักษ์ ผู้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันนั้น


 


เขาพูดต่อไปอีกว่า ชุมชนป้อมมหากาฬต่อสู้เพื่อยืนกรานในสิทธิที่อยู่อาศัยมากว่า 13 ปี ในระหว่างนั้นทำให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งเดิมทีมีความผูกพันกับพื้นที่และรู้จักประวัติศาสตร์ของชุมชน จากการศึกษาของมหาวิทยาลับศิลปากร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และมีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม พบว่า ชุมชนป้อมมหากาฬมีจุดเด่นในเรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างบ้านด้วยไม้ติดต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นที่เดียวที่เหลือในกรุงเทพฯ อีกทั้งชุมชุมชนยังเด่นทางวัฒนธรรมดั้งเดิมเช่น การเป็นพื้นที่กำเนิดของลิเกที่เรียกว่า "ลิเกพระยาเพชร" ทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเสนอแนวทางจัดการออกมาเป็น "โครงการชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ" ซึ่ง ทาง กทม.เห็นว่าการพัฒนาแบบนำวิถีชีวิตชุมชนมามีส่วนร่วมเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงมาลงนามในปฏิญญาเพื่อร่วมมือกัน


 


แต่แล้วเวลาไม่ทันจะผ่านล่วง 3 ปีไปให้เต็มขวบ กทม. ชุดที่มีนายอภิรักษ์ เป็นผู้ว่าฯ ก็กลับมาอิหรอบเดิมที่พูดจากับประชาชนด้วย "กฎหมาย" และ "ไม่มีชุมชนเป็นแกน"


 


วันที่ 3 เมษายน 2551 ทาง กทม. มีท่าทีชัดเจนออกมาผ่าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าฯว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความออกมาแล้ว กทม.ไม่สามารถที่เวนคืนที่ดินเพื่อนำไปสร้างโครงการพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตได้ (แนวทางการจัดการพื้นที่ที่ร่วมกันคิดออกมาหลังปฏิญญา 7 ธ.ค. 48) จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักการโยธา (สนย.) สำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) และสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ไปจัดทำแผนแต่ละฝ่าย เช่น สสล. จะต้องนำเสนอรูปแบบในการก่อสร้างสวนสาธารณะ  โดยเฉพาะ สนย. จะต้องจัดทำแผนการรื้อย้ายทั้งหมดให้เสร้จเรียบร้อยก่อน และต้องนำเสนอแผนการรื้อย้ายไม่เกินภายในเดือนเมษายน โครงการดังกล่าวถือเป็นการทำตามเจตนารมณ์เดิมที่จะเวนคืนที่ดินเพื่อทำ "สวนสาธารณะ"


 


ทั้งนี้ ทางกทม. จะนำประกาศรื้อย้ายเข้าไปติดในพื้นที่ ชาวชุมชนมีเวลา 30 วัน เพื่อย้ายออกจากพื้นที่ จากนั้น สนย.จะเข้าไปรื้อย้ายทันที โดย กทม.ระบุว่ามีชาวบ้านพร้อมและโอนบ้านมาให้กทม.แล้ว 27 หลังคาเรือน และสนย. จะดำเนินการรื้อย้ายในส่วนนี้ก่อน (ที่มาจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 3 เมษายน)


 

ปัจจุบัน ชุมชนป้อมมหากาฬมีผู้อาศัยอยู่ 212 คน มีบ้านจำนวน 63 หลัง ซึ่งบ้าน 27 หลังที่กทม.ระบุว่ามีการโอนกรรมสิทธิแล้วเป็นบ้านไม้โบราณแทบทั้งสิ้น โดยเจ้าของเดิมเป็นผู้ให้เช่าแต่ไม่ได้อยู่ภายในชุมชนตั้งแต่ดั้งเดิม ในขณะที่ผู้เช่าเป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนมานานและรู้จักกันกับคนอื่นๆเป็นอย่างดี


มีบ้านอีก 13 หลัง เป็นบ้านที่มีกรรมสิทธิชัดเจนและยืนยันว่าจะไม่ย้ายออกจากชุมชุม ในขณะที่มีบ้านจำนวน 5 หลังไม่มีบ้านเลขที่ และอีก 8 หลังยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับกรณีการไล่รื้อครั้งนี้


 


หลังวันที่ 7 ธันวาคม 2548 ชุมชนป้อมมหากาฬได้พยายามปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแสดงจุดยืนว่าสามารถอยู่อาศัยและทำงานพัมนาพื้นที่ร่วมกันกับ กทม.ได้ เริ่มต้นจากการซ่อมแซมบ้านโดยเฉพาะบ้านไม้โบราณ มีการสร้างกระบวนการฟื้นฟูภูมิปัญญาและทำเป็นศูนย์ข้อมูลในชุมชน เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชนในฐานะที่เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานแบบชานพระนครริมน้ำแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ลิเกในฐานะที่ "ลิเกพระยาเพชรปราณี" เป็นต้นกำเนิดของลิเกในประเทศไทย รวมไปถึงวิถีชีวิตอย่างการทำกรงนกเป็นธุรกิจสำคัญของชุมชน เป็นต้น


 


อีกโครงการหนึ่งที่เป็นรูปธรรมและเป็นการทำงานร่วมกันด้วยดีมาตลอดระหว่าง ชุมชน กรุงเทพมหานครและมหาวิทยาลัยศิลปากร มาตลอดคือแนวคิดในการทำชุมชนป้อมมหากาฬเป็น "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" ซึ่ง การที่ กทม. เลือกนำวิธีการตีความกฎหมายตามตัวบทมาจัดการกับชุมชนอีกครั้ง จึงดูเหมือนเป็นการละทิ้งการทำงานกับชุมชนที่พร้อมทำงานด้วยและเดินจากการวางนโยบายด้วยองค์ความรู้ไปอย่างไม่แยแส


 


ทิศทางของ กทม. ในการไล่รื้อชุมชนดูเหมือนจะชัดเจนมาตั้งแต่เมื่อต้นปี ในเวทีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทางกทม. เคยกล่าวในเวทีนั้นอย่างสวนทางกับคำพูดของนายอภิรักษ์ เมื่อปี 2548 ว่า ชุมชนป้อมมหากาฬไม่ใช่ชุมชนโบราณ และคนไม่สามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้


 


นอกจากนี้ อีกทั้งในแง่กฎหมาย กฤษฎีกาได้ตีความมาแล้วในการให้อำนาจโดยชอบแก่ กทม.ในการสร้างสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์เก่าแก่ที่มีมาก่อนปี 2535 เสียอีก


 



 


ปลายเดือนมกราคม 2551 ทางชุมชนป้อมมหากาฬจึงได้เชิญคณะกรรมาธิการที่อยู่อาศัยของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายวิจิตร อยู่สุภาพ เป็นประธาน ลงพื้นที่ชุมชน เมื่อคณะกรรมาธิการชุดลงพื้นที่แล้ว มีเห็นว่า ชุมชนป้อมมหากาฬมีคุณค่าที่ควรรักษา จึงได้เตรียมจัดทำข้อเสนอทางด้านกฎหมายแก่ กทม. เพื่อให้แนวทางการจัดการร่วมเป็นไปได้ ล่าสุดกำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ


สำหรับผลสะท้อนจากฝั่งชุมชน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2551 ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจัดประชุมกันภายใน นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่มาจากภายนอก "เขากำลังทำลายความเป็นพี่น้อง ความเป็นชุมชน ความเป็นเชื้อสาย แล้วเราจะทำอย่างไรถ้าเราถูกขโมยแผ่นดิน"


 


นายธวัชชัย เล่าให้คนในชุมชนฟังรับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครเวลานี้ว่า การไล่รื้อชุมชนมีเกิดขึ้นหลายแห่ง ชุมชนย่านวัดกัลยาณมิตรก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน บ้าน 17 หลังกำลังถูกไล่รื้อและดำเนินการไปแล้ว 8 หลัง ในขณะที่ชุมชนหวั่งหลี ย่านวัดยานนาวาถูกไล่รื้ออกไปหมดแล้ว ครั้งหนึ่งเขาเคยเจอคนในหวั่งหลีที่รู้จักกันจึงถามเขาว่าตอนนี้ไปอยู่ที่ไหน เขาร้องไห้แล้วบอกว่า ตอนนี้เช่าบ้านอยู่แถวสุขาภิบาล 3 เมื่อก่อนนี้ตอนยังอยู่ที่หวั่งหลี เขาไปไหนคนก็รู้จักกันทั้งชุมชน แต่บ้านที่สุขาภิบาล 3 ก็เหมือนคุก เพราะไม่รู้จักใคร ตอนกลางวันลูกไปทำงานก็ต้องปิดประตูไว้ให้อยู่แต่ในบ้าน


 


"สำหรับชาวป้อมมหากาฬ เขาเตรียมที่ไว้ให้เป็นแฟลตที่บางบอน แต่เราจะยอมหรือไม่ " เป็นคำถามที่ นายธวัชชัย โยนลงมาให้คนในชุมชนตอบเพื่อกำหนดจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนร่วมกันในอนาคต และคำตอบที่กลับมาเป็นไปเช่นเดียวกันกับเป้าหมายในตลอด 16 ปีที่ผ่านมา


 


นั่นคือ "การอยู่ในที่ดินเดิม"


 



 


ดังนั้น ถ้า กทม. ยืนกรานการจะสร้าง "สวนสาธาณะ" ต่อไป สิ่งที่รออยู่ข้างหน้า คือ ความขัดแย้งระลอกใหม่ที่เริ่มตั้งเค้าอีกครั้ง ในขณะที่ กทม. ยังมีทางเลือกที่สามารถเดินไปกับชุมชนได้ เพราะกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ดูเหมือนจะยังไม่ได้พลวัตรไปกับประชาชนในชุมชน แต่เป็นกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ กทม.ยังไม่เคยทำงานร่วมกับชุมชนเลย ซึ่งเหมือนเป็นการนำข้อบังคับเก่าแก่ตั้งแต่ปี 2535 หรือนำข้อบังคับที่เป็นรากเหง้าความขัดแย้งเมื่อ 15 ปีที่แล้วที่ยังไม่ได้แก้ไขมาบังคับใช้


 


หาก กทม. ซึ่งมีผู้ว่ามาจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลือกจะเดินไปกับประชาชน ท่าทีที่น่าจะแสดงออกหลังกฤษฎีกาตีความก็ยังสามารถเป็นไปในทางเดียวกันกับคณะกรรมาธิการสภาที่ปรึกษาฯ ที่กำลังคิดทำงานด้านกฎหมายเพื่อหาข้อเสนอและความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่เป็นทางออกให้ประชาชนอย่างเป็นกระบวนการมากกว่าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างทื่อๆด้านๆ


 


การเลือกทางบังคับใช้กฎหมายตอนนี้และทันที ทำให้ กทม. ในภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงในการต้องตอบคำถามสำคัญจากคนในชุมชน "ป้อมมหากาฬว่า ปฏิญญาที่นายอภิรักษ์ เคยลงนามไว้ และการทำงานร่วมกันที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี แท้จริงแล้วมีความหมายเพียงแค่การสร้างภาพและยื้อเวลาในการ "ไล่" และ "รื้อ" เท่านั้นหรือ ?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net