Skip to main content
sharethis

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ


ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้


ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้


www.deepsouthwatch.org


 


ชื่อบทความเดิม วิเคราะห์การรบชายแดนใต้ "ยิ่งรุกทางทหาร ยิ่งตั้งรับทางการเมือง" แนวโน้มความรุนแรงเชิงคุณภาพปี 2551


 



"แม้งานด้านการทหารจะรุดหน้าไปมาก แต่ก็เป็นเฉพาะงานยุทธการ งานกิจการพลเรือนที่เป็นฝ่ายการเมืองของกองทัพ ก็ยังขยับไม่ออก การต่อสู้ในสงครามก่อความไม่สงบลักษณะเช่นนี้ หากไม่สามารถช่วงชิงเป็นฝ่ายรุกทางการเมือง โดยการเอาชนะทางความคิดให้ได้แล้ว จะถือว่าฝ่ายรัฐอยู่ในฐานะรุกทางยุทธศาสตร์ก็ไม่ได้เช่นกัน"


 



"การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัจจัยทางการเมืองที่เกื้อหนุนต่อยุทธศาสตร์แบ่งแยกดินแดนตลอดเวลา"


 



"สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องคำนึงในสนามการต่อสู้ก็คือการสะสมชัยชนะทางด้านการเมือง เนื่องจากการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาดผลแพ้ชนะของสงครามทั้งสงคราม มิใช่การทหาร การทหารเป็นเพียงเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองในขั้นต่างๆ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น"


000


สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วง 4 ปี (2547-2550) ที่ผ่านมา แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานความมั่นคงโดยตรง อย่าง "กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4" (กอ.รมน.ภ.4) ส่วนหน้า จะวิเคราะห์ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบกำลังเพลี่ยงพล้ำทางการทหาร ทำให้เสียขวัญ กำลังใจ และจิตวิทยา จึงต้องเร่งก่อเหตุรุนแรงให้มากขึ้นในช่วงต้นรัฐบาลใหม่ เพื่อรักษาระดับความเชื่อมั่นแก่พลพรรค และแนวร่วม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงภาวะจนตรอกทางการทหารของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งจะค่อยๆ ลดระดับความรุนแรงลง จนเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่


แต่หากพิจารณาสถานการณ์โดยรวมจะพบว่า ยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในแต่ละปีกลับสูงขึ้น ดังเช่นในปี 2547 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวน 1,438 คน ปี 2548 มี 1,643 คน ปี 2549  มี 1,877  คน  และในปี 2550  มีถึง 2,295 แม้ว่าในปี 2550 ทหารจะเปิดยุทธการขนาดใหญ่เพื่อสลายโครงสร้างองค์กรก่อความไม่สงบ แต่จำนวนตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตกลับเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกปี ซึ่งแสดงว่าความรุนแรงมิได้ลดระดับลงไปด้วย


นี่คือสิ่งที่หน่วยงานรับผิดชอบทุกฝ่ายควรต้องตระหนัก และเห็นถึงระดับความร้ายแรงของปัญหาให้มาก อย่าได้ดูเบาในศักยภาพของขบวนการก่อความไม่สงบเป็นอันขาด เพราะหมากที่จะเดินต่อไปนี้ ผิดตาเดียว ก็จะล้มทั้งกระดาน ไม่มีวันกลับมาเริ่มต้นเล่นใหม่ได้อีกตลอดไป


 


สถานการณ์ฝ่ายรัฐ


ในห้วงเวลา 4 ปี (2547-2550) ภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีสองคนคือ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ผู้เป็นสัญลักษณ์คนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งในงานอาชีพและงานการเมือง และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เป็นต้นแบบของทหารอาชีพ ผู้มีวัตรปฏิบัติสันโดษและเคร่งครัดในคุณธรรมนายกรัฐมนตรีคนแรกเน้นความรวดเร็ว การรวบรวมข้อมูล วินิจฉัยปัญหาและตัดสินใจ ทุกขั้นตอนใช้รูปแบบเดียวกับงานธุรกิจ ยึดเป้าหมายและผลลัพธ์เป็นสำคัญ ผลปรากฏว่าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น แนวรบขยายกว้างออกไปหลายมิติจนเกือบจะควบคุมไว้ไม่ได้


ส่วน พล.อ.สุรยุทธ์ ใช้ความเยือกเย็น รอบคอบ และจริงใจ มุ่งยอมรับผิดชอบ ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าใครคือคนผิด และความจริงคืออะไร มุ่งทำดี เพื่อเอาชนะความไม่ดี ยึดแนวทางสมานฉันท์ และสันติวิธีในการแก้ปัญหา โดยเชื่อว่าการเอาคนส่วนใหญ่เป็นพวกเพื่อโดดเดี่ยวคนส่วนน้อยที่นิยมความรุนแรงจะทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบเฉาตายไปเอง ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่และประชาชนบาดเจ็บล้มตายไปกว่า 2,200 คน มากกว่าสมัยนายกทักษิณเสียอีก


ถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็คงต้องพูดว่าถูกหลอกมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกหลอกให้ยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 ครั้งที่สองหลอกให้หลงประเด็น แล้วยุให้กล่าวขอโทษ จนมีข่าวว่ากลุ่มก่อความไม่สงบได้นำภาพไปทำแผ่น CD แจกให้คนดู แล้วย้ำให้เห็นว่ารัฐไทยทำผิดจริง ขนาดผู้นำรัฐบาลยังออกมายอมรับผ่านสื่อ ซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลก


มาวันนี้ นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 คือ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองยาวนานมากที่สุดคนหนึ่ง จึงควรพิจารณาบทเรียนของสองรัฐบาลที่แล้วมา ว่ามีจุดเด่น จุดด้อย ตรงไหน ควรจะกำหนดแนวทางแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร ทำไมการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างลงไปอย่างมากมายมหาศาล อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงไม่ได้ผล


ในฐานะคนพื้นที่ซึ่งเกาะติดสถานการณ์มานานกว่า 30 ปี ขอแสดงความเห็นว่าสถานการณ์ฝ่ายรัฐขณะนี้ยังเสียเปรียบอยู่มาก รัฐยังรู้จักคู่ต่อสู้ไม่ลึกซึ้งเพียงพอ แนวความคิดทางยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ว่าจะดำเนินการปรับความคิดความเชื่อของประชาชนให้เห็นเจตนาดีของรัฐบาลไทย ที่พยายามทุกอย่างด้วยความจริงจังและจริงใจ และให้เข้าใจถึงความห่วงใยของพี่น้องคนไทยภาคอื่นๆ ทั้งประเทศ ที่ให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านวัตถุ กำลังใจ และความปรารถนาดีอยู่ตลอดเวลา ก็ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนที่ชัดเจน


การบังคับใช้กฎหมายยังมีช่องโหว่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการหาพยานหลักฐานมัดตัวผู้ต้องหา การปฏิบัติการทางทหาร ก็ถูกกล่าวหาอยู่บ่อยๆ ว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน การต่อสู้ทางความคิด ซึ่งเป็นงานการเมืองที่สำคัญที่สุด ยังไปไม่ถึงไหน ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ตลอดระยะเวลา 4 ปี


แม้งานด้านการทหารจะรุดหน้าไปมาก แต่ก็เป็นเฉพาะงานยุทธการ งานกิจการพลเรือนที่เป็นฝ่ายการเมืองของกองทัพ ก็ยังขยับไม่ออก การต่อสู้ในสงครามก่อความไม่สงบลักษณะเช่นนี้ หากไม่สามารถช่วงชิงเป็นฝ่ายรุกทางการเมือง โดยการเอาชนะทางความคิดให้ได้แล้ว จะถือว่าฝ่ายรัฐอยู่ในฐานะรุกทางยุทธศาสตร์ก็ไม่ได้เช่นกัน


 


สถานการณ์ของฝ่ายกลุ่มก่อความไม่สงบ


แม้จะถูกฝ่ายรัฐบาลใช้ปฏิบัติการรุกทางทหารอย่างหนักในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จนสามารถนำไปสู่การปิดล้อม ตรวจค้น เชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปยังศูนย์ซักถาม จับกุมผู้ปฏิบัติการก่อเหตุ และแนวร่วมได้จำนวนมาก อีกทั้งสามารถขยายผลล่วงรู้ถึงเครือข่ายการจัดตั้ง มองเห็นผู้บัญชาการระดับกองกำลังประจำถิ่นได้จำนวนมาก การเปิดยุทธการในหลายๆ พื้นที่ แม้ฝ่ายรัฐประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจทำให้ฝ่ายกลุ่มก่อความไม่สงบเสียขบวน


สิ่งที่ปรากฏชัดว่ากลุ่มก่อความไม่สงบยังสามารถกุมสภาพภายในขบวนการได้ก็คือ ความสามารถยึดกุมงานมวลชน เช่น การสร้างสภาวะน่าสะพรึงกลัวให้ดำรงอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และข้าราชการ พนักงาน ตลอดจนลูกจ้างของรัฐ ทั้งที่เป็นพุทธ และมุสลิม ยังไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ต้องคอยระวังตนเองอยู่ตลอดเวลา นานเข้าก็เกิดความเครียด ทนไม่ไหว ต้องหาทางอพยพออกนอกพื้นที่ไป


การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัจจัยทางการเมืองที่เกื้อหนุนต่อยุทธศาสตร์แบ่งแยกดินแดนตลอดเวลา เช่น ปริมาณผู้บาดเจ็บล้มตาย จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่นำไปสู่การแทรกแซงขององค์กรระหว่างประเทศ การปฏิบัติการที่โหดเหี้ยมไร้ขีดจำกัดทางศีลธรรม จะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่สงครามกลางเมือง การก่อวินาศกรรมที่ครอบคลุมพื้นที่จะทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและสังคมสั่นคลอน เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การต่อรองประเด็นทางการเมืองและสังคมกับรัฐบาลได้


หากติดตามประเมินอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จะพบว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังมีความได้เปรียบในการรักษาสถานะทางยุทธศาสตร์เอาไว้ได้ ขณะที่ฝ่ายรัฐยังไม่อาจเปิดเกมรุกในเชิงยุทธศาสตร์ได้เต็มที่ ส่วนเกมรุกทางยุทธวิธีก็ส่งผลให้เกิดการตีกลับ ซึ่งมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เพราะอาจกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ๆ ทางการเมือง เช่น แนวความคิด เรื่องเขตปกครองพิเศษ แนวความคิดการให้ทหาร ตำรวจ ถอนตัวออกจากพื้นที่แล้วจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ตนเองให้เต็มพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ตลอดถึงเรื่องการให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปลอดอาวุธ


 


สถานการณ์การต่อสู้


หากติดตามสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้อย่างใกล้ชิด จะเห็นรูปการของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐและกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างคร่าวๆ ดังนี้


 


ฝ่ายรัฐบาล


            ยังคงใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบทั้งระบบ แต่การปฏิบัติในแต่ละพื้นที่นั้น ยังมีการแยกเฉพาะว่า จะใช้การเมืองหรือการทหารนำ


หากเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังผู้ก่อความไม่สงบ ฝ่ายรัฐบาลก็จะใช้ปฏิบัติการทางทหารนำ การปฏิบัติดังกล่าว งานยุทธศาสตร์เฉพาะส่วนจะเน้นการปรับความคิดความเชื่อของประชาชน ให้กลับมาเชื่อมั่นการต่อสู้โดยสันติวิธี ประการต่อมา คือการบังคับใช้กฎหมายที่เสมอภาค และเป็นธรรม ประการสุดท้ายสำหรับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ยอมรับแนวทางดังกล่าว ฝ่ายรัฐก็จะใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าแก้ปัญหา


สำหรับแนวทางยุทธการนั้น ใช้วิธีการวางกำลังทหารหลักให้คลุมพื้นที่ จัดกองหนุนเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการหนุนช่วยทหารหลักในกรณีจำเป็น ถัดมาคือการควบคุมความรุนแรงมิให้ขยายวง และสุดท้าย คือการสร้างความปลอดภัยแก่ชุมชน ทั้งในเมืองและในชนบท การปฏิบัติจะเน้นการกดดัน ตรวจค้น จับกุม นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนทั่วไป หรือสมาชิกของกลุ่มก่อความไม่สงบทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาโดยถ้วนหน้ากัน


 


ฝ่ายกลุ่มก่อความไม่สงบ  


ในทางยุทธศาสตร์ยังคงใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธ ก่อความรุนแรง เพื่อกดดันรัฐบาลให้ยอมรับการดำรงอยู่ของกลุ่ม ประชาสัมพันธ์ให้องค์กรระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลจับตามองเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐไทยให้เดินไปสู่กับดักทางการเมืองทีละขั้น จนสามารถทำแนวร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศได้ พัฒนาพลังต่อรองอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้มีสถานภาพเท่าเทียมกับรัฐบาลไทย


หากขั้นตอนนี้บรรลุได้เมื่อใด เมื่อนั้นรัฐไทยก็จะเข้าสู่ภาวะจำยอมในการเข้าสู่กระบวนการเจรจา ซึ่งอาจใช้ประเด็นทางการเมืองที่สอดคล้องกับแนวทางขององค์กรระดับสากล เช่น สหภาพยุโรป องค์กรเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ องค์กรอาเซียน ไปจนถึงองค์การสหประชาชาติ เช่น ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นวัฒนธรรม และสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เป้าหมายคือการเพิ่มแนวร่วม เพื่อสร้างพลังต่อรองทางสากลให้เหนือกว่ารัฐไทย


ส่วนด้านยุทธวิธีนั้น พิจารณาจากศักยภาพของกองกำลังที่ไม่อาจเทียบได้กับรัฐไทย เชื่อว่านับจากนี้ไปกลุ่มก่อความไม่สงบมีแนวโน้มที่จะเน้นการต่อสู้ทางด้านการเมือง และด้านข้อมูลข่าวสารในระดับต่างๆ มากขึ้น จากสถานการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ส่งผลสะเทือนต่อรัฐไทยมากที่สุด พิจารณาได้จากการก่อเหตุที่ไม่เน้นการปะทะแตกหักกับรัฐ แต่จะลอบซุ่มโจมตี เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐไร้ประสิทธิภาพในการคุ้มครองตนเอง การทำร้ายประชาชน เพื่อให้เห็นว่ารัฐล้มเหลวในการทำหน้าที่รักษาความสงบ


ขณะเดียวกัน ยุทธวิธีกดดันทางการทหารของรัฐ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็กลับกลายเป็นเงื่อนไขเชิงบวกให้กับขบวนการใต้ดิน ซึ่งจะเห็นว่ามีหลายองค์กรสะท้อนปัญหาในประเด็นนี้อย่างกว้างขวางหลายระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และสังคมโลก บทบาทตามธรรมชาติขององค์กรเหล่านี้ แม้จะเป็นการตรวจสอบเพื่อให้รัฐใช้ความระมัดระวัง แต่ก็ส่งผลสะเทือนในเชิงการเมืองของรัฐไม่น้อย ซึ่งกลับกลายเป็นว่า ยิ่งรัฐรุกทางการทหารเท่าไหร่ ก็ต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น


 


เปรียบเทียบสถานการณ์การต่อสู้


ในสนามการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น สามารถเห็นได้ทั้งในระดับยุทธศาสตร์และระดับยุทธวิธี ทั้งในทางการเมือง และทางการทหาร


ระดับยุทธศาสตร์ ด้านการเมือง ฝ่ายรัฐพยายามเน้นการเปลี่ยนความคิดความเชื่อของประชาชน ให้เชื่อมั่นในรัฐบาลและกลไกอำนาจรัฐด้วยชุดความคิดสันติวิธี อ้างอิงบทบัญญัติทางศาสนาในเชิงบวก เน้นการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค โปร่งใส และเป็นธรรม


ฝ่ายก่อความไม่สงบใช้ยุทธวิธีสร้างความเกลียดชังและหวาดกลัว ระหว่างกลุ่มคนไทยเชื้อสายมลายูกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ใช้ประวัติศาสตร์สงครามในอดีตกับความศรัทธาในศาสนาเป็นเครื่องมือ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง


ที่สำคัญพวกเขาได้ใช้จุดอ่อนของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเกิดจากปฏิบัติการทางทหาร เป็นประเด็นขยายผล ขยายพื้นที่ด้านข้อมูลข่าวสาร เช่น เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเบียดบังงบประมาณ แม้แต่เรื่องชู้สาวของกำลังพล เพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากพวกเขายังคงดำรงความมุ่งหมายทางยุทธศาสตร์ 3 ขั้นตอนอยู่อย่างมั่นคง คือ การบ่มเพาะแกนนำด้านการเมืองและการทหาร, การสร้างสภาวการณ์ให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมแห่งความน่าสะพรึงกลัว และสร้างเงื่อนไขให้องค์กรระดับสากลเห็นความจำเป็นของการมีรัฐใหม่ที่มีลักษณะจำเพาะทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม จนสามารถบรรลุเป้าหมายสุดท้ายคือ การแบ่งแยกดินแดนออกเป็นรัฐอิสระได้ในที่สุด


ถ้าเปรียบเทียบความได้เปรียบเสียเปรียบในการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย ขณะนี้กล่าวได้ว่า ฝ่ายรัฐไทยได้เปรียบในสนามการต่อสู้ทางสากล และได้เปรียบทางปริมาณด้านการยุทธ์ ตลอดถึงการโฆษณายุทธศาสตร์ทางด้านการเมือง


ส่วนฝ่ายก่อความไม่สงบมีความได้เปรียบในทางยุทธวิธี เนื่องจากรู้พื้นที่ รู้มวลชน มีแนวร่วมที่แน่นอน สามารถหลบหลีก จู่โจม ถอนตัวได้รวดเร็ว โดยเฉพาะระดับชี้นำทางการเมือง ทหารหลัก หรือหน่วยรบพิเศษ คอมมานโด จะเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์มั่นคง พร้อมสละชีวิตเพื่อภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ตลอดเวลา


ในยุทธศาสตร์การทหาร ขั้นที่หนึ่ง พวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมาย การบ่มเพาะแกนนำ และกองกำลังได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับบัญชาการไปจนถึงระดับปฏิบัติขั้นพื้นฐาน ขั้นที่สอง พวกเขาสามารถสร้างสภาวการณ์ให้สังคมเกิดความน่าสะพรึงกลัวจนคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธในชนบทห่างไกล ต้องอพยพไปอยู่ในเมือง หรือไม่ก็ย้ายออกนอกพื้นที่ไปเลยทีเดียว


กล่าวได้ว่าในขณะนี้ แม้ดูเหมือนว่าขบวนการก่อความไม่สงบจะพ่ายแพ้ แต่ผลที่เกิดในทางปฏิบัติกลับเป็นฝ่ายได้ชัยชนะทีละขั้นๆ และหากขบวนการก่อความไม่สงบสามารถปรับยุทธวิธีทางด้านการเมือง เพื่อบรรลุผลในขั้นที่สาม ดึงองค์กรระดับโลกให้เข้ามาแทรกแซงกดดันรัฐไทย นี่คือสิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นที่จะให้องค์กรเหล่านั้นสนับสนุน เห็นความจำเป็นของการมีรัฐใหม่ที่มีลักษณะจำเพาะทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม จนสามารถบรรลุเป้าหมายสุดท้ายทางยุทธศาสตร์ คือการแบ่งแยกดินแดนออกเป็นรัฐเอกราชได้ในที่สุด


ยุทธศาสตร์สามขั้นนี้ ถือได้ว่าสามารถดำเนินการจนบรรลุเป้าหมายได้แล้วสองขั้น ในขั้นที่สามนั้น สิ่งชี้ขาดอยู่ที่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐเอง หมายความว่า หากฝ่ายรัฐปฏิบัติการทางทหารมากจนลืมงานการเมือง เช่น การตั้งอยู่ในความประมาทเกี่ยวกับการปฏิบัติในมิติทางวัฒนธรรม ย่ามใจจนเข้าขั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน อ่อนประชาสัมพันธ์ พ่ายแพ้ในด้านข้อมูลข่าวสาร เมื่อนั้นฝ่ายก่อความไม่สงบจะเป็นต่อทางด้านการเมือง และจะรุกคืบจนบรรลุเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ในขั้นตอนที่สามได้ทันที


 


ข้อพิจารณา


การพิจารณาสถานการณ์ต่อสู้ทุกแนวรบในบทความนี้ มุ่งเน้นพิจารณาทั้งในด้านการเมืองและด้านการทหารว่า การต่อสู้ที่เป็นจริงระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ กับกลุ่มก่อความไม่สงบนั้น มีปมเงื่อนอะไรที่น่าสนใจ และเป็นพื้นฐานแนวโน้มสำคัญของสถานการณ์ในอนาคต


ในด้านการเมือง สิ่งสำคัญที่สุด คือการต่อสู้ทางความคิด ชุดความคิดที่เจ้าหน้าที่รัฐควรนำมาเป็นประเด็นในการต่อสู้ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นรัฐไทย การอยู่ร่วมกันในพหุสังคม ประวัติศาสตร์ และแนวทางสันติวิธีที่สามารถบรรลุเป้าหมายทางสังคมได้จริง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นงานการเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐทำน้อยมาก แม้จะยึดนโยบายการเมืองนำการทหารก็ตาม


ต่างจากฝ่ายก่อความไม่สงบ การเคลื่อนไหวทางด้านความคิดเกี่ยวกับรัฐไทย ล้วนประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ข่มเหง ซึ่งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์และความอยุติธรรม การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่แนวความคิดการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนได้รับการปลูกฝังแก่มวลชนมาตั้งแต่เด็ก ต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ ที่พร้อมจะแบกรับภารกิจการต่อสู้ต่อจากคนรุ่นก่อนได้อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งก็คืองานด้านความคิด หรืองานการเมือง กลับเป็นสิ่งที่ฝ่ายก่อความไม่สงบให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก


ในด้านการทหาร จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียน เห็นว่ารัฐบาลไทยได้ทุ่มเททรัพยากรด้านการทหารลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และเงินงบประมาณ อาจพูดได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของกองทัพไทยเลยทีเดียว แต่สถานการณ์ความรุนแรงกลับไม่ได้ลดลงเท่าที่ควร ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ กลับเพิ่มมากขึ้นในปี 2550 เมื่อเทียบกับปี 2547-2549 รัฐบาลและกองทัพน่าจะหยุดคิดทบทวน ทั้งระดับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีใหม่หมดทั้งระบบ เพื่อการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ปี 2551 นี้เป็นต้นไป


ส่วนฝ่ายก่อความไม่สงบ นับว่าปฏิบัติการด้านการทหารในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ในทางปริมาณสามารถเพิ่มความสูญเสียแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้มาก แต่ก็เป็นเพียงผลของการสู้รบแบบกองโจร ซึ่งความหมายของผลลัพธ์แห่งสงครามชนิดนี้ หากไม่สามารถนำไปยกระดับสร้างเงื่อนไขทางการเมืองเชิงบวกแก่ฝ่ายตนได้แล้ว ปริมาณความสูญเสียของฝ่ายตรงกันข้ามก็จะเป็นตัวเร่ง ลดระดับการเมืองของฝ่ายก่อการเองอย่างรวดเร็วเป็นเงาตามตัว และหากการต่อสู้เป็นไปในลักษณะยิ่งรบ ยิ่งเสียการเมือง ก็จะเป็นสัญญาณของความพ่ายแพ้ทางการทหารในอนาคตอย่างแน่นอน และหากแพ้ทั้งทางการเมืองและการทหารเมื่อใด เมื่อนั้นจะเป็นการแพ้ทั้งระบบ และแพ้อย่างราบคาบ ไม่อาจลุกขึ้นมาต่อสู้ได้อีก อย่างน้อยก็ในช่วงประวัติศาสตร์นั้นๆ


ดังนั้นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องคำนึงในสนามการต่อสู้ก็คือการสะสมชัยชนะทางด้านการเมือง เนื่องจากการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาดผลแพ้ชนะของสงครามทั้งสงคราม มิใช่การทหาร การทหารเป็นเพียงเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองในขั้นต่างๆ เท่าที่จำเป็นเท่านั้น


 


ข้อเสนอ


สำหรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่ต่างจากที่เคยเสนอต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายความมั่นคงเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ยังคงยึดนโยบายเดิม เหมือนรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงใคร่ขอเสนอไว้เฉพาะประเด็นการแก้ไขปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วน โดยสรุป ดังนี้


ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสงครามที่ไม่ประกาศเป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เป็นการต่อสู้ที่มีอุดมการณ์ยึดโยงกับความเชื่อ ความศรัทธาอย่างเหนียวแน่น มีเครือข่ายการจัดตั้งทางการเมืองและการทหาร กว้างขวางและลึกซึ้ง การเอาชนะความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องต่อสู้ด้วยความระมัดระวัง ใช้สติปัญญา และสุขุมรอบคอบอย่างยิ่ง ทุกนโยบาย ทุกยุทธศาสตร์ และทุกยุทธวิธีจึงต้องมีลักษณะรอบคอบ รอบรู้ และรอบด้านตลอดเวลา การสำรวจสภาพลักษณะทั่วไปและลักษณะเฉพาะของสังคม ศึกษาจุดเด่น จุดด้อย เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การต่อสู้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในทุกๆ พื้นที่ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล และทุกหมู่บ้าน เพื่อให้แต่ละสนามการปฏิบัติการ มีสภาพสอดคล้องกับเงื่อนไขที่ดำรงอยู่จริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็คือในแต่ละหมู่บ้านนั่นเอง


การต่อสู้ของฝ่ายรัฐ ควรเริ่มต้นจากการต่อสู้ทางความคิด รัฐควรผลิตชุดความคิดขึ้นมาชุดหนึ่ง ในกระบวนการผลิตดังกล่าว ประเด็นหลักๆ ควรมาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ปัญญาชน และผู้นำธรรมชาติทั่วไป ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ควรกำหนดไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะ และอยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์ใหญ่โดยรวม


สำหรับการต่อสู้ทางการเมืองนั้น ทุกระดับต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และประสานสอดคล้องกัน ถ้าถามว่าอะไรคือการเมือง ตอบง่ายๆ ได้ว่าการต่อสู้ทุกๆ อย่างที่ไม่ใช้อาวุธและความรุนแรง คือการต่อสู้ทางการเมืองทั้งสิ้น การต่อสู้ทางความคิด การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การเยียวยาช่วยเหลือประชาชน หรือแม้แต่การให้บริการที่ดี ก็ล้วนอยู่ในบริบทของการต่อสู้ทางการเมือง


ส่วนการต่อสู้ทางการทหารนั้น จะต้องใช้วิถีทางของนักการทหารเป็นการเฉพาะเช่นกัน การใช้มาตรการทางทหารต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลการข่าวที่แม่นยำ ถูกต้อง และทันเวลา การใช้กำลังทุกรูปแบบต้องทำอย่างจำกัด และเมื่อทำแล้วต้องส่งผลเชิงบวกต่อการยกระดับให้แก่งานการเมือง ยิ่งใช้ปฏิบัติการทางทหารต้องยิ่งได้การเมือง เพราะงานการทหารคือเครื่องมือในการทลายจุดอับทางการเมือง เมื่องานการเมืองเดินหน้าต่อไปได้ การปฏิบัติการทางทหารก็ต้องลดลง คงไว้ได้เพียงระดับการป้องปรามเท่านั้น


สำหรับประเด็นยุทธวิธีเฉพาะหน้าที่รัฐบาลต้องรีบทำทันที คือ


ประการแรก  คือ การเร่งสร้างความเป็นเอกภาพ ด้านอุดมการณ์ยุทธศาสตร์ และนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่


ประการที่สอง ต้องเร่งรัดคดีที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ปรากฏผลโดยเร็ว และเมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็ควรประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รับรู้อย่างกว้างขวาง กรณีที่จำเป็นต้องเยียวยา ก็ต้องดำเนินการโดยทันที


ประการที่สาม คือ การหาช่องทางจัดสรรงบประมาณแก่กลุ่มผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชนชนทุกประเภท ให้ได้เข้ามามีบทบาทร่วมในการแก้ปัญหาในชุมชนให้มากขึ้น


ประการสุดท้าย คือ การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ให้แก่ทุกอำเภออย่างเพียงพอ เนื่องจากการขับเคลื่อนงานมวลชนสัมพันธ์ระดับอำเภอ เป็นการสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับงานการเมืองระดับพื้นที่ได้ดีที่สุด


 


แนวโน้มของสถานการณ์ในปี 2551


สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2551 หากพิจารณาจากพัฒนาการของสถานการณ์ และสภาวะแวดล้อมในห้วงเวลาปัจจุบัน ก็อาจคาดการณ์ได้ว่า กลุ่มก่อความไม่สงบจะยังคงปฏิบัติการทางทหารอยู่ต่อไป และจะยกระดับความรุนแรงในเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยหวังผลความสูญเสียที่ใหญ่โต และกว้างขวาง สังเกตได้จากการวางระเบิดในระยะหลัง มักหวังผลความเสียหายในวงกว้าง การซุ่มโจมตีก็ยกระดับเป้าหมายที่มีตำแหน่งสำคัญในราชการสูงขึ้น


ในทางการเมืองคาดว่า กลุ่มก่อความไม่สงบน่าจะใช้ความพยายามทำงานแนวร่วมกับองค์กรสากลเพิ่มขึ้น โดยใช้เงื่อนไขการปราบปราม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเงื่อนไขหลัก ประสานกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในระบบระดับต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนบางองค์กรที่ได้รับข้อมูลซึ่งไม่ชัดเจนเพียงพอทั้งทางตรงและทางอ้อม


หากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับยังไม่ปฏิบัติการต่อสู้เชิงรุก ไม่ทำงานด้วยเข้มแข็ง จริงจัง ทั้งงานการเมืองและการทหารแล้ว ก็เชื่อได้ว่าเหตุรุนแรงจะยังคงมีอยู่ต่อไป และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขนาด และปริมาณความเสียหายที่ใหญ่โตมากขึ้นในห้วงปี 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net