ประชาไทพักยก: เขาและเธออ่านอะไร


นักคิดตะวันตกท่านหนึ่ง กล่าวว่า การไม่อ่านหนังสือนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นอนุรักษ์นิยม (conservative) ดังนั้นแล้วถึงแม้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติของปีนี้กำลังจะจบลงในวันนี้ (7 เม.ย.) แต่เราก็เชื่อว่า หนังสืออ่านได้ทุกเมื่อ (แถไปเรื่อย...) "ประชาไท" ขอเกาะกระแสหนอนหนังสือฟีเวอร์ด้วยการตามไปคุยกับบุคคลต่างๆ ที่มีบทบาทโดดเด่นในช่วงนี้ ว่าพวกเขาที่พูดแล้วเป็นข่าวให้เราๆ ท่านๆ อ่านนั้น เขาอ่านอะไร และอยากแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีจากหนังสือเล่มไหนให้เราอ่านกันบ้าง

 

 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักศึกษาปริญญาเอกคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวายอิ

เล่มที่เพิ่งอ่านจบ คือ Nonkilling Global Political Science เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 มี.ค.) เล่มนี้พยายามจะบอกว่า วิธีการสร้างวิชารัฐศาสตร์ที่เคารพชีวิตมนุษย์- ที่เอาชีวิตมนุษย์เป็นตัวตั้งคืออะไร เพราะวิชารัฐศาสตร์ กลายเป็นศาสตร์สนับสนุนการทำลายชีวิต โดยใช้ความกลัวและการฆ่าเป็นเครื่องมือในการปกครองคน

 

เล่มที่แนะนำ คือ War of Position ซึ่งรีวิวความเคลื่อนไหวทางความคิดของปัญญาชน ในอเมริกันในช่วง 60-70 -80 ถึงปัจจุบันว่า ปัญญาชนสาธารณะทั้งหลายที่ทำเป็นพูดเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสาธารณะ เรื่องส่วนรวม ได้สร้างวาทกรรมทางการเมืองขึ้นมาใหม่ ซึ่งถึงที่สุดแล้วได้ทำลายประชาธิปไตยอย่างไร คล้ายๆ เมืองไทย

 

 

สุริยะใส กตะศิลา

ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

หนังสือที่อยากแนะนำให้อ่านชื่อ "โลกหลังยุคบรรษัท" ของสำนักพิมพ์คบไฟ เป็นหนังสือแปลซึ่งเป็นของนักวิจัยท่านหนึ่งที่เดินทางทั่วโลก โดยพูดถึงบทบาทของบรรษัทข้ามชาติที่มีส่วนทำลายล้างโลก สังคมโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดนที่ตักตวงสิ่งต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก และเราจะข้ามพ้นภาวการณ์นี้ได้อย่างไร ทั้งตัวเอง และสังคม นอกจากนี้ในหนังสือยังได้ยกตัวอย่างการพึ่งพาตัวเองของมนุษยชาติ ในสังคมเล็กๆ ที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายในหลายทวีปทั่วโลก

 

อยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะมันเป็นตัวอย่างของแนวทางในการสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ๆ ของสังคม ที่จะนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ยั่งยืน และก้าวข้ามการกดขี่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ส่วนหนังสือที่ผมอ่านอยู่ตอนนี้มีชื่อว่า "เปลี่ยนคำถามที่ชีวิต" ของคุณกานต์ ธงไชย ลูกชายของคุณพิภพ ธงไชย ซึ่งเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง หนังสือเล่มนี้พูดถึงการตั้งคำถาม ซึ่งคำถามอาจสำคัญมากกว่าคำตอบเพราะมันถอดความคิดความเข้าใจของผู้ถามว่ามีต่อเรื่องนั้นๆ มากแค่ไหน อย่างไร แต่บางทีคนเราก็มุ่งเน้นที่จะได้คำตอบจนมากเกินกว่าเนื้อหาของคำถาม

 

ล่าสุด เพิ่งอ่านจบไปสัปดาห์ที่แล้วเป็นเรื่อง "ถอดรหัสไฟใต้" ของ กิ่งอ้อ เล่าฮง นักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ปี 2539 สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เรื่องภาคใต้อ่านแล้วจะช่วยคลีคลายปมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างละเอียดลออ ทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อ เชื้อชาติ และความรุนแรงจากอำนาจทั้งในและนอกระบบในพื้นที่

 

สำหรับผมจะมีโทนการอ่านหนังสือที่เปลี่ยนไปบ้าง จากทศวรรษที่แล้วจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับสถานการณ์โลกในชีวิตประจำวัน และการวิเคราะห์ของนักคิดนักเขียนที่อธิบายเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลง เช่น เหตุผลการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 40 หรือการก่อกำเนิดของระบอบทักษิณาธิปไตย แต่ 2-3 ปีมานี้ผมพยายามที่จะอ่านหนังสือที่มองไปข้างหน้ามากกว่า เช่น หนังสือโลกหลังยุคบรรษัทก็เป็นเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ อย่างหนังสือพิมพ์จากเมื่อก่อนผมอ่านแทบทุกหน้า และอ่านวันละ 5-6 ฉบับ แต่ตอนนี้ผมเลือกอ่านเฉพาะในบางคอลัมน์ เพราะเนื้อหามันจำเจอยู่กับที่ ไม่ได้ออกไปไหนไกล

 

 

รสนา โตสิตระกูล

ส.ว. กทม.

แนะนำหนังสือ "คือเมฆสีขาวทางก้าวเก่าแก่" เป็นวรรณกรรมที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธประวัติในแนวใหม่ ติช นัท ฮันห์ ภิกษุชาวเวียตนาม เป็นผู้แต่ง หนังสือชุดนี้มี 3 เล่ม หนังสือชุดนี้ทำให้มองพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พัฒนาตนเอง ในแง่มุมแบบมนุษย์ปุถุชนธรรมดาซึ่งมีความเรียบง่าย ภาษาไพเราะ ผู้อ่านจึงไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องศาสนามากนัก ก็สามารถดื่มด่ำอรรถรสของวรรณกรรมเรื่องนี้ได้อย่างสนุกสนานและมีสาระ และหนังสือเล่มนี้จะมีมหาเศรษฐีชาวอินเดียนำเรื่องมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในอีกปีสองปีข้างหน้า

 

เหตุผลที่แนะนำเรื่องนี้เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราจะได้ทราบพุทธประวัติและใกล้ชิดพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี สอนให้เราไม่ยึดติดลาภ ยศ

 

[หนังสือที่อ่านจบล่าสุด] อ่านหลายเล่มแต่ยังไม่จบสักเล่ม เล่มที่อ่านอยู่คือ "จักรวาลในหนึ่งอะตอม" เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณเพราะเป็นหลักธรรมะคำสอนตามพุทธศาสนา อะตอมเป็นสิ่งที่เล็กทีสุดสะท้อนกับเราได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราไม่สามารถแยกออกจากสังคมได้ เราจะต้องคอยดูแลสังคมให้อยู่บนความถูกต้อง

 

 

ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล

ผู้ประกาศข่าว

หนังสือที่อ่านตอนนี้ ไม่ค่อยได้อ่านเป็นเล่มๆ แล้วน่ะ ผมอ่านแต่หนังสือพิมพ์ แ่ล้วตอนนี้จะอ่านบทความเยอะ อ่านงานที่อาจารย์ นักวิชาการเขาเขียน อะไรอย่างนี้

 

หนังสือที่ผมอยากแนะนำให้คนอ่าน...ก็มีหนังสือเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่ดีที่สุด ชื่อ "International Economics" ซึ่งเขียนโดย พอล ครุกแมน (Paul Krugman) เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่ดีที่สุด คนไหนที่อยากจะรู้เกี่ยวกับเรื่องของพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เล่มนี้เป็นเล่มที่ดีที่สุด คือมันครบทุกอย่าง แต่เป็นภาษาอังกฤษนะ ผมอ่านตอนผมอยู่ที่จอห์นฮอปกินส์ ที่เรียนปริญญาโท แต่ตอนที่ครุกแมนมาไทย ผมยุ่งๆ อยู่ ทำงาน แ่ต่ครุกแมนปัจจุบันเขาก็สนใจเรื่องการเมืองมากกว่าเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเขาก็เขียนใน New York Times นั่นแหละ มีคอลัมน์อยู่ใน New York Time แต่เล่มนี้น่ะดี International Economics เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุด รู้สึกว่านักเรียนไทยทุกคนก็น่าจะถูกบังคับให้อ่าน อันนี้มันเป็นหนังสือเรียน

 

มีอันหนึ่ง คือ "Native Son" เป็นหนังสือนวนิยายของ ริชาร์ด ไรท์ (Richard Wright) เป็นเรื่องที่ผมอ่านตอนเรียนปริญญาตรี เป็นหนังสือเกี่ยวกับคนผิวดำคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในอเมริกาในยุคที่มีการเหยียดผิวเยอะๆ แล้วก็ต้องต่อสู้กับสังคมที่อยู่รอบข้าง แล้วก็มันเป็นนวนิยายเกี่ยวกับการต่อสู้ของบุคคล ซึ่งก็ดี น่าอ่าน ผมอ่านแล้วผมซึ้งมาก ตอนนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัย อยู่ที่ University of Wisconsin อาจารย์เขาให้อ่าน เป็นนวนิยาย ตอนนั้นเรียนภาษาอังกฤษ แต่ว่ามันไม่ใช่การต่อสู้ของคนผิวดำในแนวเพื่อสิทธิมนุษยชนนะ แต่เป็นการต่อสู้ของคนๆ เดียว ซึ่งเป็นคนผิวดำนี่แหละ มันก็เลยมีอะไรหลายๆ อย่างที่เขาต้องต่อสู้ มันสะท้อนถึงมนุษย์คนเดียวที่้ต้องเอาชนะทุกอย่าง และถ้าเอาชนะไม่ได้ ถ้ามันพ่ายแพ้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งความเป็นคนผิวดำก็ยิ่งไปซ้ำเติมเขาเข้าไปอีก

 

ส่วนหนังสือไทย ผมไม่ได้เป็นคนที่อ่านหนังสือไทย เพราะว่าตอนเรียนผมเรียนเมืองนอก ที่อ่านจนจบและผมคิดว่าเป็นหนังสือไทยที่ดีที่สุดก็คงจะเป็น "สี่แผ่นดิน" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อันนี้บังเอิญอ่านจบ ตอนนั้นไม่สบาย เลยอ่านจบทั้งเล่ม หลายเล่ม แต่ช่วงหลังผมไม่ได้อ่านหนังสือเป็นเล่มแล้วไง เพราะว่าผมอ่่านเฉพาะที่มันเป็นบทความ อย่างมากก็อาจจะเป็น 20 หน้า อะไรอย่างนี้ มันอ่านหนังสือเป็นเล่มไม่ได้แล้วไง มันไม่มีเวลา ต้องมีความตั้งใจมาก แต่ไม่ทันได้อ่านจนจบก็ต้องไปทำงานแล้ว มันไม่มีวินัยด้วยแหละ แต่ผมอ่านเป็นบทความ ซึ่งมี Journal เยอะแยะ แต่สมัยนี้บทความคุณไม่จำเป็นต้องอ่านเป็นเล่มไง อย่างมากก็ 10 - 20 หน้า มันก็โอเคแล้ว ประมาณนี้นะครับ 

 


สุริยันต์ ทองหนูเอียด

ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกลุ่มเพื่อนประชาชน

หนังสือที่อยากแนะนำ คือ "เหมือนจะแพ้แต่ไม่แพ้" เขียนโดย บุญมาก พรมพ้วย มีสมภพ โรจนพันธ์ เป็น บรรณาธิการ เป็นหนังสือแนวจิตวิทยา ซึ่งผมอ่านเมื่อเริ่มทำกิจกรรมใหม่ๆ ในปี 2536 กับชมรมปาฐกถาและโต้วาที ม.รามคำแหง เนื้อหาของหนังสือเป็นเรื่องของการควบคุมความคิดจิตใจภายในของเรา ช่วงนั้นผมมีความสับสนเชิงการทำงาน ทั้งวิธีคิด เป้าหมายชีวิต

 

หนังสือแบ่งจิตใจคนเป็น 3 ประเภท ประเภทแรกเปรียบจิตใจเหมือนปลา คือปลานั้นว่ายทวนน้ำ ว่ายตามน้ำ ว่ายไปว่ายมา ไม่อยู่นิ่ง เปรียบเหมือนจิตใจที่ไม่ชัดเจน ประเภทสองจิตใจเหมือนคนจับปลา คนที่ควบคุมจิตใจได้ และประเภทสาม คือ คนกินปลา ใช้จิตใจได้ อยู่เหนือจิตใจ เอาชนะจิตใจ หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน ในเล่มมีการอธิบายและยกตัวอย่างไว้ด้วย

 

การอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ชีวิตที่มีความสับสน มีความชัดเจน สามารถควบคุมความคิดจิตใจเชิงการทำงานได้ สมัยนั้นผมเอาเล่มนี้ไปคุยกับเพื่อนๆ บ่อย เวลาเพื่อนมีปัญหา ทั้งเพื่อนเป็นนักกิจกรรม และที่ไม่ได้ทำกิจกรรม สามารถช่วยปรึกษาทางความคิดได้

 

หนังสือเล่มนี้ คนที่อยู่ในวัยทำงาน ยังไม่ชัดเจนในเป้าหมายชีวิต ก็น่าแนะนำให้อ่าน

 

ส่วนหนังสือที่อ่านจบล่าสุด คือ "กวีนิพนธ์หลู่ซิน" แปลโดย ทวีปวร เพิ่งซื้อเมื่อเดือนมีนาคม และอ่านจบในเดือนนี้ (เม.ย.) หลู่ซิน (หรือ หลู่ซวิ่น, 1881 - 1936 ชื่อจริงคือ โจวซูเหริน) เป็นกวีที่ผมตามผลงานมาหลายเรื่องแล้ว มีคำพูดสำคัญของหลู่ซินที่ว่า ต่อหน้าศัตรู จิตใจไม่หวาดกลัว ต่อหน้าประชาชน เราก้มกราบเหมือนงัวงาน

 

หลู่ซินเป็นนักเขียนในยุคปฏิวัติของเหมา เจ๋อ ตุง งานของเขาสะท้อนพัฒนาการทางความคิด มีความชัดเจน และมีจุดยืนของหลู่ซินอยู่ในนั้น ทั้งการวิจารณ์วัฒนธรรมครอบครัว ปฏิเสธวัฒนธรรมเก่า สังคมเก่า และล้มความคิดทางวรรณกรรมแบบเก่า

 

งานของหลู่ซิน เป็นงานเขียนที่เปลี่ยนงานกวีนิพนธ์ในจีน เป็นงานเขียนเกี่ยวกับสังคมใหม่ หลู่ซิน เปรียบเทียบความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาคิว ซึ่งเป็นเรื่องเด่นของหลู่ซิน หรือเรื่อง การสูญเสียของมิตรสหายระหว่างการปฏิวัติอันยาวนานในเมืองจีน

 

อีกบทหนึ่งของหลูซินที่ผมชอบ คือบท "การต่อสู้อย่างทรหดไม่ลดละ" หลูซินเขียนว่า "ถ้าไม่มีการต่อสู้กันให้ถึงที่สุด ระหว่างความมืดกับความสว่าง พวกคนซื่อก็จะต้องทำความผิดพลาด ในการเอาการให้อภัยมาปะปนกับการให้ความชั่วได้มีอำนาจทำอะไรได้ตามอำเภอใจ โดยให้อภัยแก่คนเลวๆ อยู่ร่ำไป ถ้าเป็นเช่นนั้น ความยุ่งยากจะต้องมีไม่มีวันจบสิ้น"

 


 

 

 

 

ธีระ สุธีวรางกูล

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนตัวผมคิดว่าหนังสือชุดธรรมโฆษณ์เรื่อง" อิทัปปัจจยตา" ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เป็นหนังสือที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง

 

หนังสือเล่มนี้แสดงความเป็นวิทยาศาสตร์โดยแท้ในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะในระดับอนุภาคหรือระดับจักรวาล จะเป็นเรื่องจิตหรือเรื่องวัตถุ ล้วนแล้วแต่มีความเป็นไปภายใต้ "กฎแห่งอิทัปปัจจยตา"ทั้งนั้น สำหรับความหมายของกฎนี้ที่ว่า "เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ย่อมเกิดมีขึ้น" ทำให้ผมนึกอยู่เสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดผลได้ก็เนื่องจากเหตุ เหตุเหมาะสม ผลก็เหมาะสม ถ้าผลไม่เหมาะสม ก็เนื่องมาจากความไม่เหมาะสมของเหตุ หนังสือเล่มนี้จึงให้ความคิดอ่านกับผมมากในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล

 

ผมเป็นคนอ่านหนังสือเปรอะมาก สำหรับเล่มล่าสุดที่เพิ่งจะอ่านจบแต่เป็นรอบที่สามแล้วก็คือหนังสือที่ชื่อว่า "เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ" ( As the future catches you ) ของ Juan ENRIQUEZ ที่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็เพราะผมต้องการรู้ความเป็นไปของโลกในวันข้างหน้าว่าเราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง หนังสือเรื่องนี้ให้ข้อมูลและความคิดที่ควรนำมาตรึกตรองอย่างมากว่า เราควรจะรับมือหรือปรับตัวให้เข้ากับโลกในอนาคตยังไง โดยเฉพาะเมื่อจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้แต่จริยธรรม อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ด้วยข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ ผมจึงเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า "ความสำเร็จของเมื่อวานนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จของวันพรุ่งนี้" โดยเฉพาะกับสถานการณ์ของโลกที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นทุกวัน

 


ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แนะนำ "สัญญาประชาคม หรือ หลักแห่งสิทธิทางการเมือง (Du Contract Social)" ของฌองค์ ยาร์ค รุสโซ่ ที่ล่าสุดแปลโดยวิภาดา กิตติโกวิท เพราะปัญหาหนึ่งซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2475 หรือช่วงที่เปลียนผ่าน คือความคิดทางอุดมการณ์ที่คณะราษฎรพยายามปลูกฝังลงบนแผ่นดินไทยนั้นยังไม่มั่นคง และผมคิดว่าสิ่งที่บ้านเราขาดไปโดยวัฒนธรรม หรือโดยลักษณะของคนไทยก็คือว่า แนวความคิดในการชี้นำ สภาพการณ์ของเมืองไทยอย่างหนึ่งซึ่งบ้านเราไม่ได้มีเหมือนตะวันตก แต่ไม่ได้หมายถึงว่าตะวันตกดีนะ คือการต่อสู้ทางอุดมการณ์ เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา นั้นเข้ามาแล้วก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วตามสภาพการณ์ของสถานการณ์เอง แต่ถามว่ามันตกผลึก อย่างที่สังคมไทยเรียนรู้ไหม มันยังไม่มั่นคงนัก

 

ผมสนใจรุสโซ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นชาวต่างชาติ อย่างหนึ่งที่คนไทยอาจไม่ทราบคือ ในความคิดทางการเมืองไทย เราก็มีความคิดคล้ายๆ กับสัญญาประชาคมอย่างที่นักวิชาการหรือนักปรัชญาชาวตะวันตกคิด อยู่ในพระไตรปิฎกด้วย ถ้าผมสันนิษฐานไม่ผิด ความคิดนี้ในพระไตรปิฎก นำมาสู่ความคิดซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในสมัย ร.4 คือ แนวคิดอเนกนิกรสโมสรสมมติ ซึ่งโดยสภาพการณ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ต้องอธิบายแบบนั้น เพราะรัฐศาสตร์ก็คือความชอบธรรมกับอำนาจการปกครอง

 

แต่ผมคิดว่า จริงๆ แล้วถ้าเกิดเราดูดีๆ อุดมการณ์ในเรื่องสัญญาประชาคม ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นพุทธวัจนะด้วยนะ มันไม่ได้อธิบายในแง่อเนกนิกรสโมสรสมมติเพียงฝ่ายเดียว แต่คุณลืมไปว่า คุณขึ้นมาเป็นอย่างนี้ปุ๊บ คุณมีสัญญา มีหน้าที่บางอย่างกับคนที่อยู่ใต้ปกครองด้วย ซึ่งอันนี้เราไม่ได้อธิบายกันเลย เพราะฉะนั้น ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันเป็นการอธิบายข้างเดียวหรือเปล่า โดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรืออัคคัญญสูตร ในพระไตรปิฎกพูดถึงเรื่องการเลือกผู้ปกครอง ที่พอเลือกผู้ปกครองแล้ว ก็เกิดการแลกเปลี่ยน ผมสนับสนุนคุณ ให้คุณปกครอง แต่คุณก็มีหน้าที่ที่ต้องทำให้ผมเหมือนกัน มันเป็นเรื่องสัญญาประชาคม ซึ่งน่าสนใจมาก ซึ่งพุทธวัจนะนี้ ต้องมีมาก่อนตะวันตกอยู่แล้ว แล้วนักวิชาการตะวันตกเพิ่งมาอธิบายช่วงไม่ร้อยปีมานี่เอง จริงๆ แล้วผมไม่ได้สนใจรุสโซคนเดียว แต่สนใจทั้งโทมัส ฮอบบ์ ทั้งจอห์น ลอค เพราะเป็นกระแสความคิดที่พยายามอธิบาย justify สภาพการปกครองการเมืองให้เป็นแบบวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุดในยุคของแต่ละคน นอกจากนี้ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็พูดเรื่องสัญญาประชาคม โดยบอกว่า ร.7 ทรงพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้กับปวงชนชาวไทยมาตั้งแต่ 2475 แล้วซึ่งปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 อ.ปรีดีก็อธิบายว่านี่คือสัญญาประชาคม ท่านเรียกว่า สังคมสัญญา ระหว่างสถาบันมหากษัตริย์กับประชาชน แล้วเรียกคืนไม่ได้ นี่คือสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ผมก็ไม่เห็นว่าใครจะหยิบประเด็นนี้มาพูด มันไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเรา แล้วมันจะเป็นจุดที่ย้อนกลับไปถึงความคิดอันแรกที่เราตกลงว่าจะอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตย

 

ส่วนที่อ่านจบล่าสุด คือ "เดินทางค้นหาวิวัฒนาการชีวิตตามเจ้าทฤษฎี ชาร์ลส์ ดาร์วิน" (ครองแผน ไชยธนะสาร บก.) เมื่อสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มจากผมได้อ่านหนังสือ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน อัจฉริยะผู้ลังเล ตัวตนที่แท้จริงและที่มาของทฤษฎีวิวัฒนาการ" (อุทัย วงศ์ไวศยวรรณ แปลจาก The Reluctant Mr. Darwin An Intimate Portrait of Charles Darwin and the Making of His Theory of Evolution ของ David Quammen) โดยบังเอิญ

 

ความคิดของดาร์วินมีอิทธิพลมากในเรื่องของชีววิทยา วิวัฒนาการในโลกตะวันตก แต่อย่าลืมว่าความคิดของดาร์วินถูกตีความในทางสังคมศาสตร์ด้วย ที่เรียกว่า Social Darwinism ผมเลยอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร แล้วก็พบว่าน่าทึ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์คนนี้

 

ต่อมาเลยอยากรู้ว่า ในช่วงต้นตอนที่ดาร์วินเป็นหนุ่ม ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาอย่างมาก เพราะถูกส่งขึ้นไปบนเรือ Beagle ซึ่งเป็นเรือที่เดินทางรอบโลก โดยขึ้นไปในฐานะนักธรรมชาติวิทยา ก็เลยอยากรู้ว่าเขาเจออะไรมาบ้าง ตลอดเวลา 5 ปี ก็เลยอ่านเล่มนี้ ("เดินทางค้นหาวิวัฒนาการชีวิตตามเจ้าทฤษฎี ชาร์ลส์ ดาร์วิน")

 

 


 

 

สารี อ๋องสมหวัง

ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริภค

แนะนำหนังสือ วารสารฉลาดซื้อ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วารสารฉลาดซื้อเราจะนำสินค้ามาเปรียบเทียบคุณสมบัติและเปิดเผยยี่ห้อ เช่นเราทดสอบปลั๊กไฟ เราจะนำมาเผาเลยว่ายี่ห้อไหนทนไฟ ยี่ห้อไหนมีความแข็งแรง ไม่เกิดอันตราย เราจะนำมาทดสอบกันจริงๆ แล้วเราก็จะบอกยี่ห้อเลย ซึ่งเป้าหมายหลักๆ ของฉลาดซื้อคือ ส่วนที่หนึ่งคือเราจะบอกว่าผู้บริโภคควรจะบริโภคอย่างไร ส่วนที่สองคือเงินที่เราซื้อของไปอาจจะไม่มีค่าสำหรับเราคนเดียว อาจจะมีค่าสำหรับคนอื่น มีค่าในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ส่วนที่สามคือลดการบริโภค ที่เราเจอวิกฤตหลายๆ เรื่อง ในเรื่องของปัญหาการบริโภคในปัจจุบัน อยากแนะนำให้คนสนใจที่จะมีข้อมูลจัดการตัวเองได้ในยุคบริโภคนิยม ควรจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเอง

 

และอีกเรื่องคือผู้บริโภคเสียงยังไม่ดังพอเช่นเรื่องที่พี่ไปประท้วงบริษัทแอ็บบอต ถ้าเรามีสมาชิกวารสารสักแสนคน บริษัทจะหนาวถ้าเราบอกผู้บริโภคให้หยุดซื้อหยุดใช้สินค้าของบริษัทนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของเราว่าถ้าเรามีสมาชิกเยอะๆ เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองได้

 

จุดเด่นของหนังสือคือเราไม่รับโฆษณา ซึ่งท้าทายการอยู่รอดของหนังสือในตลาดทั่วไป ที่อยู่ได้ด้วยโฆษณา ฉลาดซื้อท้าทายว่าหนังสือจะอยู่ด้วยโฆษณาจริงหรือเปล่า โดยฉลาดซื้อเราจะต้องอยู่ได้ด้วยสมาชิก

 

หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่านจบ เรื่อง "ไม่ครบห้า" (เขียนโดย โอโตทาเกะ ฮิโรทาดะ แปลเป็นภาษาไทยโดย พรอนงค์ นิยมค้า จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ส.ส.ท. เยาวชน) อ่านจบเมื่อไม่นาน เป็นเรื่องของเด็กพิการในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีคนแนะนำให้อ่าน ที่อ่านก็เพราะได้พูดคุยกับน้องที่ทำงาน เรื่องการทำงานของคนพิการในประเทศไทยซึ่งสังคมไทยยังไม่โตพอว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างเช่นเรื่องการเข้าถึงกายภาพของคนพิการในเรื่องต่างๆ อย่างเช่นเรื่องคุณไปศาล ถ้าคุณเป็นผู้พิการ คุณสามารถเดินไปด้วยตัวคุณเองแทนที่จะมีคนช่วยพาคุณเดิน ถ้าคุณเป็นคนพิการทางกาย รถเข็นของคุณสามารถเข้าถึงศาลได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการทำให้คนเกิดการเข้าถึงอุดมการณ์กายภาพได้ทุกกลุ่ม แม้จะมีปัญหาความพิการ แต่สังคมไทยจะมองมิตินี้เป็นเรื่องของความสงสาร ไม่ได้มองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

 

สมศักดิ์ โกศัยสุข

ที่ปรึกษา สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แนะนำหนังสือเกี่ยวกับธรรมของอาจารย์พุทธทาส ชื่อ "ธรรมิกสังคมนิยม" ซึ่งเป็นหนังสือที่มีอกมานานแล้ว แต่ยังคงความเป็นอมตะ หากอ่าน ทำความเข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติจะทำให้สังคมดีขึ้น ทำให้คนไม่เห็นแก่ตัว ถือเป็นหนังสือที่ทันสมัยเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะต้องหยุดยั้งการใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบ ขูดรีด แก่งแย่งแข่งขันกันในสังคมที่เป็นทุนนิยมในทุกวันนี้

 

หนังสือที่เพิ่งอ่านจบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นหนังสือของ อ.วิทยากร เชียงกูล ชื่อ "หยุดวิกฤติซ้ำซากด้วยระบบสหกรณ์" เพราะทำงานเกี่ยวกับสหกรณ์ พยายามอ่านหนังสือทุกเรื่องเกี่ยวกับสหกรณ์ และคิดว่าระบบสหกรณ์นี้จะช่วยให้สังคมไม่เอารัดเอาเปรียบ ช่วยกระจายรายได้ และเพิ่มอำนาจการต่อรอง ส่วนหนังสือที่กำลังอ่านอยู่คือ "สัญญาประชาคม" ซึ่งเป็นหลักแห่งสิทธิทางสังคม แปลมาจากงานของ "ฌอง ชาค รุสโซ" ส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทำให้ต้องการเห็นสังคมที่มีสันติภาพ ไม่โลภ และบูชาศีลธรรม

 

 

ขวัญสรวง อติโพธิ

ประธานกรรมการนโยบายชั่วคราวขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS)

นอกจากจะอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และเยอรมัน เพื่อรับรู้ความเป็นไปขอบ้านเมือง และมีการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปของสังคม อีกส่วนก็หลบไปอ่านนิยายเลย หนังสือที่ผมอ่านเป็นหนังสือกำลังภายในจีน อ่านตั้งแต่เด็กๆ นิยายแปลของตะวันตก อีกอันเป็นพวกสารคดีที่ฝรั่งเศสเขียนถึงประวัติศาสตร์ไทย

 

ส่วนเล่มล่าสุดที่ถืออยู่ในมือ เป็นจินตนิยาย เรื่อง "The Assassin : ปลุกดิบอำมหิตข้ามโลก" หนังสือแปล เกี่ยวกับเหตุจารชนในอเมริกา อ่านได้ครึ่งเล่มยังไม่จบเลย ที่อ่านก็เพราะอยากปลีกตัวไปพบจินตนาการของเราเอง อ่านพวกกำลังภายใน นิยายตะวันตก เพราะวันๆ ในชีวิตมีเรื่องวุ่นวายมากพอแล้ว

 

 

พิภพ ธงไชย

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

สำหรับผมหนังสือเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์ได้ ตั้งแต่วัยเด็กเราได้รับการเปลี่ยนแปลงจากการอ่านหนังสือมาก แต่มันต้องอาศัยปัจจัยภายในด้วยเหมือนกัน หากจะแนะนำหนังสือคงบอกไม่ได้ว่าเล่มไหนจะเปลี่ยนแปลงให้คนมองโลกอย่างมีคุณค่า และทำประโยชน์เพื่อสังคมได้มากขึ้น แต่หนังสือปรัชญาข้อเท็จจริง หนังสือเกี่ยวกับศาสนา คงเป็นหนังสือที่แนะนำให้ต้องอ่านให้มากสำหรับวัยผม

 

แต่ในวัยรุ่นคงแนะนำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะชีวิตยังไม่ได้ผ่านเรื่องซับซ้อนและไม่มีเรื่องราวให้คิดมาก และการอ่านหนังสือบางครั้งมันก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นต้องใช้ด้วย

 

ตอนนี้ผมอ่านหนังสือไม่จบเล่มมาเป็นปีแล้ว ไม่มีเวลา อ่านจนจบบางครั้งมันไม่ทัน และบางเล่มเราไม่ได้เคร่งเครียดกับการที่ต้องอ่านให้จบเราก็อ่านเพื่อพอจับประเด็นสำคัญได้ แต่ทุกเวลาที่ว่างก็จะถือหนังสือติดตัวไว้

 

สำหรับวัยนี้แล้ว เราผ่านอะไรมาเยอะ ตอนนี้จะอ่านเพื่อจับประเด็นของเรื่องมากกว่า เพราะไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่จะอ่านเพื่อให้มีความเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น อย่างหนังสือประวัติศาสตร์ และหนังสือวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลก จักรวาล และชีวิตพืชและสัตว์ มีหนังสือหลายเล่มที่ทำให้เรามีทัศนคติใหม่ๆ อย่างหนังสือของนักเขียนรุ่นใหม่

 

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนังสือที่ผมอ่านจบเล่มล่าสุด ในส่วนภาษาฝรั่งเศส คือ L"Etat de droit เขียนโดย Jacques Chevallier ศาตราจารย์กฎหมาย มหาวิทยาลัยปารีส 2 จริงๆ เริ่มอ่านมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่อ่านข้ามไปมา ไม่จบเล่มเสียที จนปีนี้มาอ่านรวดเดียวใหม่หมดอีกครั้งหนึ่ง แม้จะอ่านจบไปแล้ว แต่ก็ยังหยิบมาอ่านซ้ำอีกบ่อยครั้ง หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับหลักนิติรัฐ

 

ผู้เขียนแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรกว่าด้วยความเป็นมาทางทฤษฎี หลักนิติรัฐมีพัฒนาการอย่างไร หลักนิติรัฐในยุโรปกับหลัก Rule of Law ในแองโกล-แซกซอนต่างกันอย่างไร ส่วนที่สองว่าด้วยเนื้อหาสาระของหลักนิติรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย การใช้อำนาจต้องมีที่มาจากกฎหมาย ใช้อำนาจต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย มีองค์กรตุลาการทำหน้าที่ควบคุม มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพ และส่วนที่สามว่าด้วยการเบ่งบานของวาทกรรม "นิติรัฐ" เป็นการวิเคราะห์ว่าเหตุใดหลักนิติรัฐจึงเบ่งบานไปทั่วโลก จนดูราวกับว่าเป็นสิ่งที่ขาดไปเสียมิได้ในรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย และวิเคราะห์ต่อไปถึงผลกระทบของการเบ่งบานของวาทกรรม "นิติรัฐ" อันได้แก่ สภาวะ "กฎหมายเฟ้อ", บทบาทของศาลมีมากขึ้นและเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องความชอบธรรมในยามที่ปะทะกับรัฐบาลและรัฐสภา, วาทกรรม "นิติรัฐ" ถูกพวกโพสต์-โมเดิร์นและนิติศาสตร์แนววิพากษ์ท้าทาย

 

หนังสือไม่หนามากเล่มนี้ได้ไล่เรียงหลักนิติรัฐตั้งแต่จุดกำเนิดมาจนถึงข้อเรียกร้องของหลักนิติรัฐใหม่ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้พูดถึง นิติรัฐประชาธิปไตย ที่เจอร์เก้น ฮาร์เบอมาส เสนอเอาไว้ รวมถึงผลกระทบของการเบ่งบานของหลักนิติรัฐ ซึ่งตำรากฎหมายมักละเลยในส่วนนี้

 

ในส่วนภาษาไทย ผมเพิ่งอ่าน "ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา" ของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์จบไป ผมเป็นแฟนประจำงานเขียนของศิโรตม์อยู่ งานหลายชิ้นในหนังสือเล่มนี้ ผมเคยอ่านมาแล้ว แต่เมื่อโอเพ่นเอามารวมเล่ม จึงเป็นโอกาสดีที่ผมได้อ่านแบบรวดเดียวอีกครั้งหนึ่ง ผมเห็นว่างานของศิโรตม์ชิ้นนี้วิพากษ์ปัญญาชนสาธารณะและพันธมิตรฯ ต่อกรณี 19 กันยาฯ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุกให้สังคมไทยได้พิจารณาเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย ท่ามกลางสถานการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ชนชั้นนำยังโจมตีการเลือกตั้งและการเมืองในระบบรัฐสภาว่าเป็นของ "นำเข้า" ไม่เหมาะกับประชาธิปไตย "แบบไทยๆ"

 

ด้วยสถานการณ์การเมืองของบ้านเรา ทั้งฝ่ายพันธมิตร-ฝ่ายค้าน-ขุนนาง-อำมาตย์ และทั้งฝ่ายรัฐบาล-รากหญ้า ต่างช่วงชิงการนิยาม "ประชาธิปไตย" และ "นิติธรรม-นิติรัฐ" เพื่อใช้เป็นฐานความชอบธรรมในการครองอำนาจของตนเอง หนังสือที่ผมอยากแนะนำให้อ่านจึงเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ในภาษาต่างประเทศ ก็เช่นงานของ Hans Kelsen "General Theory of Law and State" (ในภาษาฝรั่งเศสมีงานที่วิเคราะห์ถึงความคิดของเคลเซ่นได้ดีมากและพูดถึงการโต้แย้งจากทั้งฝ่ายอำนาจนิยมอย่างคาร์ล ชมิทท์ ทั้งฝ่ายเสรีนิยมสุดขั้วอย่างฮาเย็ก และทั้งจากฝ่ายสังคมนิยม คือ งานของ Carlos-Miguel Herrera "Théorie juridique et politique chez Hans Kelsen") งานของ Claude Lefort "L"invention démocratique" งานของ Jürgen Habermas "Between Facts and Norms: Contributions to a Discourse Theory of Law and Democracy"

 

สำหรับภาษาไทย นอกจากงานของศิโรตม์ที่ผมบอกไปแล้ว ก็มี "การเมืองของไพร่" ของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เป็นรวมบทความหลายชิ้นเกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยสำนวนอ่านง่าย-ไม่เครียด สไตล์นายเพี้ยน นักเรียนนอก ในแง่มุมทางนิติปรัชญา มีหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของจรัญ โฆษณานันท์ "นิติปรัชญาแนววิพากษ์" พูดถึงกฎหมายในมุมมองของสำนัก Critical legal studies สำนักโพสต์-โมเดิร์น และความคิดทางกฎหมายของฮาเบอร์มาส

 

อาจดูเครียดและหนักไปอยู่บ้าง เพราะทั้งหนังสือที่ผมเพิ่งอ่านจบไปและทั้งหนังสือที่ผมแนะนำให้อ่าน มีแก่นกลางอยู่ที่ การให้ความหมาย การรื้อความหมาย การตีความหมายใหม่ ของคำใหญ่โตจำพวก "ประชาธิปไตย" "นิติธรรม-นิติรัฐ" "ความชอบธรรม"

 

 

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนะนำ "แกะรอยทรราช" ของ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน เป็นหนังสือคัดสรรบทความที่พิมพ์ก่อนหน้านี้ เปนพ็อกเก็ตบุคที่อ่านง่าย อธิบายสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นที่มาของวิกฤตการเมือง 49 ในมุมมองของอาจารย์เจิมศักดิ์

 

ส่วนหนังสือที่อ่านจบ เมื่อเดือนสองเดือนก่อน คือ Taxing the Hard-to-Tax เป็นหนังสือที่ได้จากการรวมบทความจากการประชุมวิชาการ เรื่องการเก็บภาษี ปัญหาเก็บภาษียาก พิมพ์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาสำรวจว่า ประเทศต่างๆ เก็บภาษีได้ดี หรือไม่ดีอย่างไร อธิบายว่าประเทศที่เก็บภาษีได้ไม่ดี เกิดจากระบบเศรษฐกิจเทียบเท่านอกระบบ หรือใต้ดิน มีการค้าขายผิดกฎหมาย

 

อย่างไทยมีเศรษกิจนอกระบบ คิดเป็น 52.7% ของเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าทุกประเทศในเอเชีย แม้แต่ฟิลิปปินส์ที่เศรษฐกิจแย่กว่าเรา ซึ่งนี่ทำให้นักการเมืองโกง ใช้ช่องทางเศรษฐกิจ จนร่ำรวยได้ ทำให้รู้สึกว่า ประเทศไทยแย่กว่าที่เราคิดตั้งเยอะ ก็น่าสนใจว่าจะแก้ปัญหายังไง

 

 

ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หนังสือที่อยากแนะนำให้อ่าน มีหนังสืออยู่ 2 สองเล่ม ที่ผมชอบมาก คือมาร์โควัลโด (Marcovaldo) โดย อิตโล (Italo Calvino) เป็นเรื่องของคนจนที่มาใช้ชีวิตอยู่ในเมือง มองเรื่องต่างๆ ในเมืองด้วยสายตาของคนชนบท เขาเองก็เป็นคนดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เห็นแก่ตัวบ้าง มันทำให้เห็นมุมมองของคนที่อยู่ในอีกบริบทมาอยู่ในที่หนึ่งได้ดี เป็นหนังสือที่เขียนในช่วงที่อิตาลีกำลังเปลี่ยนแปลง

 

อีกเล่มคือ โมโม่ (Momo) แต่งโดย มิชาอิล เอ็นเด้ (Michael Ende) เป็นเรื่องราวของจอมโจรที่มาขโมยเวลาของผู้คน เรื่องนี้คนเขียนต้องใช้จินตนาการในการเขียนมาก เขาจั่วหัวว่าเป็นวรรณกรรมเยาวขน แต่ผมเห็นว่าไม่เป็นวรรณกรรมเฉพาะเยาวชนอย่างเดียว แต่เรื่องนี้สะท้อนชีวิตของคนเราในปัจจุบันได้ เช่น เราถูกขโมยเวลา ในหนังสือ จอมโจรจะมาขโมยเวลาในชีวิตเราแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น ทำให้เราเห็นว่าเวลามีค่าต้องเอาไปแลกกับอย่างอื่น ห้ามปล่อยเวลาให้สูญเปล่า ใครใช้ชีวิตอย่างสูญเปล่า โจรจะบอกว่าแบบนี้ไม่ถูกต้อง ต้องใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า สร้างเป็นเงินเป็นทอง เล่มนี้เป็นเล่มที่ผมอ่านมานานแล้ว และชอบมานาน

 

หนังสือที่อ่านจบล่าสุด ในแต่ละเดือนมีนิตยสารสองสามเล่มที่อ่านประจำ คือ ฟ้าเดียวกัน วิภาษา และ กฎหมายใหม่ ฟ้าเดียวกัน มีบทความ มีประเด็นของการเมืองร่วมสมัย การเมืองเชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะการเมืองไทย อีกเล่มที่อ่านอยู่และอาจเป็นทฤษฎีมากหน่อยคือ วิภาษา อีกเล่มหนึ่งคือ กฎหมายใหม่ เป็นวารสารรายเดือน ติดตามประเด็นทางกฎหมาย สามเล่มนี้อ่านเป็นประจำ นอกนั้นจะอ่านไปเรื่อยๆ

 

ที่กำลังอ่านและอ่านไม่จบมีสองเล่ม คือ นิติศาสตร์แนววิพากษ์ โดย จรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดทางกฎหมายใหม่ๆ ในเมืองไทยในทัศนะของ อ.จรัญ โดย อ.จรัญ เป็นคนติดตามทฤษฎีทางกฎหมายใหม่ๆ ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ

 

อีกเล่มที่อ่านไม่จบ คือ ความรู้ท้องถิ่นเรื่องพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง อันนี้เป็นงานวิจัยชาวบ้าน หนังสือเล่มนี้มีรูปแบบ วิธีการในการศึกษา เหมือนงานวิจัยไทบ้าน คือ ให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัย เรื่องพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง งานศึกษายังรวมถึงระบบสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร และนำเสนอผลกระทบการใช้ทรัพยากรแม่น้ำโขง เล่มนี้ ผมได้มาการเป็นวิทยากรอภิปรายในงานครบรอบ 100 วันคุณวนิดา ตอนนี้เป็นเล่มที่ผมกำลังพลิกอ่าน

 

 

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ

นักสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่

ล่าสุดที่อ่านคือ Underground Buleteen 3/2548 ประจำเดือนมกราคม - มีนาคม 2548 เป็นหนังสือวิจารณ์วรรณกรรม หนังสือแนวนี้ เมื่อก่อนก็จะมีช่อการะเกด Underground Buleteen เป็นเล่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ ซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้า มีความหลากหลาย และวิจารณ์วรรณกรรมต่างประเทศด้วย

 

แนะนำหนังสือ Sorrow of War ของ Bao Ninh เพราะหนังสือภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ที่เขียนเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม มักจะมองจากมุมมองของอเมริกา ว่าได้รับผลกระทบอะไรจากสงครามบ้าง หรือรายงานตัวเลขต่างๆ แต่ไม่ได้พูดถึงความรู้สึกของมนุษย์ เล่มนี้คนเขียนพูดถึงตัวเองสมัยที่เป็นคนหนุ่มที่เพิ่งจบจากนายร้อยทหาร โดยเป็นหนึ่งในห้าคนที่รอดชีวิต จากทหารทั้งหมด 600 คน จากเดิมที่มองไม่เห็นถึงความรู้สึกของปัจเจกในสงคราม หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่า คนที่อยู่ในความขัดแย้ง ไม่ว่าฝ่ายรัฐ ฝ่ายก่อการร้าย หรือคนที่ต่อต้านการรุกราน ต่างก็มีความรู้สึกสับสน หรือคิดถึงครอบครัว ซึ่งปกติแล้วเราไม่ค่อยได้รับการสะท้อนในส่วนนี้

 

 

 

 

ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนะนำให้อ่าน "ลับ ลวง พราง" เพราะอ่านแล้วจะได้รู้ว่า บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา ส่วนเล่มที่เพิ่งอ่านจบ คือ "ลับ ลวง พราง" เมื่อวันจันทร์ (31 มี.ค.) อ่านเพราะทำให้รู้ว่า บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา

 


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนังสือที่อ่านแล้วประทับใจที่สุดในระยะหลายปีมานี้คือ "The Wealth of Nations" โดย Adam Smith (ชื่อเต็มคือ An Enquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1776) เพราะเป็นหนังสือที่บรรยายถึงการพัฒนาของระบบทุนนิยม และการทำงานของระบบตลาดได้อย่างชัดเจน ลึกซึ้ง และตรงไปตรงมามากที่สุด ยิ่งกว่าสมการคณิตศาสตร์หรือรูปภาพที่เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ใช้อยู่

 

ความเชื่อของคนจำนวนมาก ทั้งนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ได้ศึกษาหรืออ่านอาดัม สมิธกันอย่างจริงจัง แล้วประณามอาดัม สมิธว่า เชิดชูความเห็นแก่ตัวและเป็นพวกสนับสนุนนายทุน แต่ความจริงแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ อาดัม สมิธมีจุดยืนที่ชัดเจนอยู่เคียงข้างประชาชนคนเดินถนน คนยากจน กรรมกร และเกษตรกร แต่ประณามเสียดสีประชดประชันความละโมบโลภมากและเห็นแก่ตัวของพวกพ่อค้านายทุน

 

โดยที่อาดัม สมิธเชื่อว่า ระบบตลาดแข่งขันของทุนนิยมต่างหากที่เป็นกลไกที่ดีที่สุดในการจำกัดอำนาจและความเลวร้ายของพ่อค้านายทุนและนักการเมืองข้าราชการ แต่นำความอยู่ดีกินดีและมาตรฐานชวิตที่สูงขึ้นมาให้แก่ประชาชนคนเดินดิน หาเช้ากินค่ำ อันเป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม โดยที่อาดัม สมิธได้ถกเถียง วิเคราะห์ และยกตัวอย่างประวัติศาสตร์มากมายให้เห็นว่า ระบบทุนนิยมแบบตลาดแข่งขันเป็นประโยชน์ต่อมหาชนจำนวนมากและเป็นผลเสียต่อพ่อค้านายทุนมากกว่า

 

หนังสือเล่มนี้อ่านจบเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังหยิบอ่านและใช้ประกอบการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่เสมอ


 

 

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่านจบ คือ "ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่งี่เง่า" ของสำนักพิมพ์คบไฟ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (สัมภาษณ์เมื่อ 2เม.ย.) หนังสือเล่มนี้ให้ภาพวิวัฒนาการของมนุษยชาติเอาไว้ ทำให้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์มนุษย์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน บทที่ชอบคือ บทที่พูดถึงว่า พอเกิดเมือง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่ากันก็เกิดขึ้นทันที และมนุษย์ก็ไม่สามารถหนีได้จนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้มีเกร็ดประวัติศาสตร์โลกมากมาย ซึ่งไม่โฟกัสเฉพาะยุโรป หรืออเมริกา แต่มีทั้งของเอเชียและแอฟริกาด้วย

 

ถ้าจะแนะนำ ก็ต้องเป็นหนังสือที่ผมอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่ผมอ่านตำรากฎหมาย ภาษาเยอรมัน ... ผมแนะนำ "ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่งี่เง่า" แล้วกัน เพราะอ่านสนุก ผ่อนคลาย หลังจากเครียดกับบ้านเมืองมาเยอะแล้ว ... อาจซึ้งสัจธรรมว่า เรามีชีวิตอยู่แค่จุดเล็กๆ ของกาลเวลาอันยาวนานเท่านั้น

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท