สัมภาษณ์ "น.พ.เหวง โตจิราการ " : แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เคลียร์ใจเพื่อใครกัน?

ในฟากฝั่งของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก.เดิม ได้มีความเคลื่อนไหวเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ โดยมีการก่อตั้ง คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) เมื่อ 31 มีนาคม 2551 ซึ่งมีแนวร่วมขยายมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่า อดีต ส.ส.ร. อดีต ส.ว.และองค์กรอื่นๆ รวมแล้ว 35 องค์กร

 

และในวันนี้ (4 เมษายน) มีการจัดชุมนุมกันเป็นครั้งแรก เพื่อรวบรวมพลังและประกาศแผนการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 โดยให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นตัวตั้ง

 

นพ.เหวง โตจิราการ ยังคงเป็นหัวหอกเช่นเคย ท่ามกลางสถานการณ์การเมือง 2 ข้างที่เริ่มชุลมุนวุ่นวายอีกครั้งเมื่อพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องหลักการและประเด็นเฉพาะหน้าพันกันอีรุงตุงนัง .... เขาเห็นเช่นไร แก้รัฐธรรมนูญเพื่ออะไร แก้อย่างไร ฯลฯ 

 

 

00000

 

 

น.พ.เหวง โตจิราการ

แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ

 

 

จุดประสงค์ของการรวมตัวกันครั้งนี้ ?

ก็คือเอารัฐธรรมนูญ 50 คืนไป เอารัฐธรรมนูญ 40 คืนมา แต่รัฐธรรมนูญ40 ก็ต้องแก้ไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย

 

เช่น อะไรบ้าง ?

เช่น อภิปรายรัฐบาลยาก เราต้องการให้อภิปรายรัฐบาลง่ายๆ เลย อาจจะ 40 คนอภิปรายนายกฯ ได้ 20 คนอภิปรายรัฐมนตรีได้ ตัวเลขอาจไม่แน่นอน แต่ประมาณนี้ แล้วก็ต้องบังคับว่านายกฯ และรัฐมนตรีต้องตอบกระทู้สด

 

องค์กรอิสระต้องให้ประชาชนตรวจสอบ หรืออาจต้องมีที่มาจากรัฐสภาโดยตรง และรัฐธรรมนูญ 40 องค์กรอิสระยังสลับซับซ้อน และไปให้อำนาจกับอภิสิทธิ์ชน มีกรรมการไปคัดเลือก และมีเรื่องมีราวที่ว่าพรรคการเมืองไปแทรกแซงได้ อย่างนั้นก็ให้มาจากรัฐสภาเลย แล้วยังตรวจสอบไม่ได้ด้วย ถ้าให้รัฐสภา ซึ่งมีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านคัดเลือกองค์กรอิสระ อาจจะเป็นจุดยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางหนึ่ง

 

ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ40 มีจุดอ่อน ?

มีจุดอ่อน แต่เอา 2540 คืนมา เพราะมันมีความชอบธรรมในกระบวนการ ใช้มาแล้ว 10 ปี พิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง มีจุดอ่อนข้อบกพร่องก็ต้องแก้ไข ประเด็นสำคัญที่สังคมเห็นร่วมกันคือรัฐบาลแข็งเกินไป เราก็ต้องกำหนดให้รัฐบาลอ่อน ตรวจสอบง่ายกว่านี้ ถ้ารัฐบาล รัฐมนตรี ซื่อสัตย์สุจริตและบริหารบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ประชาชน ก็ไม่ต้องกลัวการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนอย่างอื่นเมื่อเอารัฐธรรมนูญ 40 กลับมามันก็จะเป็นไปอัตโนมัติ เช่น ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

ถ้าเอา 40 คืนมามันจะยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของการรัฐประหารที่ผ่านมา ?

ถูกต้อง การปฏิวัติรัฐประหารต้องไม่เกิดขึ้นอีก

 

อย่างนั้นก็เข้าใจได้ว่าฝ่ายที่รัฐประหารอาจจะกลัวถูกเช็คบิล มีการล้างบาง ?

ไม่มีหรอกครับ มีแต่คณะปฏิวัตินี่แหละที่ทำลายหลักนิติธรรม กฎหมายไม่สามารถที่จะส่งผลร้ายย้อนหลังได้ แต่ส่งผลที่เป็นคุณย้อนหลังได้ นี่เป็นหลักนิติธรรม

 

แสดงว่าจุดยืนของกลุ่มไม่ต้องการล้างบาง ?

โน โน โน โน เราต้องการระบอบประชาธิปไตยคืนมาเท่านั้น แล้วอย่างที่บอกว่าคนที่ทำผิดพลาดอะไรไป ถ้าเขาสำนึกแล้วกลับมายึดหลักประชาธิปไตย เราก็ต้อนรับ แต่วันนี้ต้องสู้กับคุณทั้งระบบ เพราะวิธีคิดของคุณมันผิด แล้วคุณก็โจมตีฝ่ายเราอย่างดุเดือดรุนแรง เราไม่ได้โกรธเคืองกันเป็นการส่วนตัว ผมไม่ได้โกรธเคืองคุณสนธิ ลิ้ม (ทองกุล) หรือ คุณสนธิ บุญ (ยรัตกลิน) เป็นการส่วนตัว เราต้องการระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่จะล้างบางใคร แต่พวกเขาไม่ทำตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม กฎหมายลงโทษย้อนหลังไม่ได้ เราใช้ตรงนี้อย่างเข้มงวดที่สุด ถ้าสมมติเราได้รัฐธรรมนูญ 40 คืนมาวันที่  1 มิถุนายน เราจะไปลงโทษใครย้อนหลังก็ไม่ได้ เพราะเราเคารพหลักนิติรัฐและนิติธรรม

 

สังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา มันมีความแตกแยกทางความคิดสูงมาก โดยเฉพาะเรื่อง "ระบอบทักษิณ" และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้มข้น ตอนนี้คุณหมอพูดถึงหลักการก็จริง แต่มันเข้าทางกลุ่มคุณทักษิณ คุณหมอมองยังไง แคร์ตรงนั้นไหม ?

ถ้าคุณทักษิณชั่ว ลงโทษไปเลย ผมไม่ได้ไปปกป้องคุณทักษิณ แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำชั่ว ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา แล้วชะตากรรมของประเทศอย่าเอาคนคนเดียวมากำหนด คุณไปเอาคุณทักษิณมากำหนดชะตาของประเทศได้อย่างไร กล่าวหาทุกอย่างว่าเป็นไปเพื่อทักษิณ ไม่ใช่เลยครับ มาตรา 309 ผมขายหน้าคนทั้งโลก เพราะบอกว่า การใดๆ ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กรณีใดๆ ที่เป็นไปตามการนั้นให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 50 ก่อนและหลังการประกาศใช้ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยุบพรรค หรือ 111 คนเลย มันขัดแย้งกับทุกๆ มาตราในรัฐธรรมนูญ 50 ด้วยซ้ำ เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า การปกครองประเทศไทยเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ และจะใช้สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญนี้ไปล้มล้างระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ดังนั้น มาตรา 309 ขัดแย้งกับทุกมาตรา

 

309 เป็นแค่กรณีตัวอย่าง แต่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อัปลักษณ์ ไปปกป้องรัฐประหาร เพราะตราไว้เลยว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่มีใครในโลกนี้ยอมรับ

 

แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างมาก ที่มาของ ส.ว. คุณเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนไทยไปไว้ที่คน 7 คนที่ทำการสรรหา ขออนุญาต ผมไม่ได้ตำหนิ 7 ท่านนั้น ผมตำหนิระบบ แล้วการเลือก ส.ว.จังหวัดละคนเป็นหลักคิดของสหพันธรัฐ กรุงเทพฯ มี 10 ล้านคน ระนองมีแค่ 1 แสน 5 หมื่นคน เลือกได้คนเดียวเท่ากัน แปลว่าหั่นประเทศไทยเป็น 76 ประเทศ มันจึงเป็นปฏิปักษ์มาตรา 1 และ 3

 

การแก้รัฐธรรมนูญช่วงนี้มันโยงกับประเด็นเฉพาะหน้าอย่างเรื่องการยุบพรรค คุณหมอเห็นว่าการยุบพรรคเป็นปัญหาหรือเปล่า และเสนอให้แก้เพื่อจุดนี้ด้วยหรือเปล่า ?

ไม่เกี่ยวเลย ผมยังไม่รู้เลยว่ามันจะไปเสร็จสิ้นตรงไหนสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรื่องยุบพรรคภายใน 2-3 เดือนอาจมีความชัดเจน ดังนั้นมันไม่เกี่ยว เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคเลย ยุบก็ยุบไปถ้าเขาผิดตามกฎหมาย เพียงแต่ความคิดเห็น ข้อมูลของพรรคพลังประชาชนที่เขาเสนอมาควรจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ทั้งเรื่องคดีและการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เขาอธิบายว่า ผิดคนเดียวแล้วลงโทษทั้งพรรคอาจเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อย่างผมมีครอบครัวใหญ่ 200 คน แล้วมีสมาชิกคนหนึ่งเป็นโจรปล้นฆ่าคน ทั้งครอบครัวต้องถูกตัดคอไหม บนฐานคิดว่าครอบครัวผมเลี้ยงดูคนไม่ดี นี่เป็นหลักคิดของเขา แต่เราพ้นไปจากตรงนั้นแล้ว เราแค่ต้องการรัฐธรรมนูญ 40 คืนมา ส่วนไหนที่มีปัญหาเราก็ต้องไปแก้ตรงนั้น

 

เรื่องเอา 2550 คืนไป เอา 2540 คืนมา เราพูดกันตั้งแต่ก่อนจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยซ้ำ เพราะลิงย่อมต้องออกลูกเป็นลิง ยักษ์ต้องออกลูกเป็นยักษ์ คนเผด็จการก็ต้องคลอดรัฐธรรมนูญเผด็จการ เรามองเห็นตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ยังไม่ร่างมาตรา 1 เวลาโหวตลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 19 สิงหา 50 เราก็รณรงค์โหวตโน ไม่ใช่โนโหวตนะ เรื่องนี้เราพูดกันมาตลอด เรื่องประเด็นเฉพาะหน้านี้เกิดขึ้นมาในช่วงหลังๆ มากเลย

 

แต่ตอนนี้ใครพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็นทำเพื่อทักษิณ หรือไทยรักไทยหมด

คำขวัญของเราเป็นที่ประจักษ์ ถ้าได้สื่อสารออกไปคนก็จะรับรู้ เอา 2550 คืนไป เอา 2540 คืนมา ดังนั้นมันไม่เกี่ยวกัน

 

แล้วคุณหมอมองยังไงเรื่องยุบพรรค คิดว่าพลังประชาชนได้รับความเป็นธรรมไหม ?

คือ ประเทศมันต้องมีกติกา ต้องมีครรลอง แล้วตอนนี้ก็ต้องว่าไปตามครรลอง แต่ครรลองจะถูกผิดยังไงก็ต้องว่ากัน ไปแก้กัน แต่ตอนนี้ต้องว่าไปตามครรลองก่อน ถ้ามีครรลองแล้วเราไม่เคารพครรลองเห็นจะไม่ได้ เราก็ต้องทำไปตามครรลองก่อน มันช่วยไม่ได้ เพราะพลังประชาชนเองเวลาหาเสียงก็บอกว่าเอา 2550 คืนไป เอา 2540 คืนมาเหมือนกัน แล้วทำไมไม่ทำเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ตัวคุณเองไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อสัญญาประชาคม

 

และดูจริงๆ แล้วนายกฯ สมัคร ยังซื่อตรงต่อคำมั่นสัญญา เพราะบอกว่า 2550 แก้หมดเลยยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์ แล้วเอา 2540 เป็นตัวตั้ง อันนี้ตรงกัน แต่สมาชิกพรรคพลังประชาชน หรือรัฐมนตรี ผมว่ามันเลอะเทอะแล้ว ทำให้ประชาชนสับสนด้วย แล้วการที่คุณชู 5 ประเด็น เป็นการเปิดช่องโหว่มหาศาลให้กับพวกปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เพราะพวกเขาสัดทัดในการหยิบประเด็นเล็กๆ มาทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ความจริงมันต้องว่ากันทั้งฉบับในเมื่อมันเป็นฉบับอำมาตยาธิปไตย เผด็จการ อย่าไปว่าเป็นมาตรา

 

คำถามของผมก็คือ ประชาธิปไตยนิยม หรือรัฐประหารนิยม อำมาตยาธิปไตยนิยม แล้วขอเรียกร้องให้การต่อสู้ทางการเมืองอย่าไปก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง เพราะมีคนพูดว่าเดี๋ยวแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะไปแก้หมวดสถาบันกษัตริย์ให้เป็นระบบประธานาธิบดี นี่เป็นสิ่งไม่เหมาะสม เราพูดเรื่องประชาธิปไตยดีกว่า

 

ควรทำประชามติไหมว่าจะแก้หรือไม่ เพราะตอนนี้นักวิชาการ ฝ่ายต่างๆ ก็ออกมาคัดค้านการแก้กันมาก ?

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะมันจำกัดแค่ 3-4 ประเด็น ถ้าเอา 2550 คืนไป เอา 2540 คืนมา ผมเชื่อว่าไม่มีใครคัดค้าน เพราะคนมีส่วนร่วมเยอะ เจิมศักดิ์เองก็มีส่วนร่วมร่าง แล้วคุณจะเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าหรือ ถ้าไปชุลมุนเฉพาะมาตรา เป็นไปได้ที่จะหลงทางอยู่ในวังวน แล้วจะกลายเป็นว่ารัฐประหารเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมอีก

 

ในแง่กระบวนการ ควรแก้ยังไง ควรเอากระบวนการช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาด้วยไหม ?

ง่ายๆ เลย สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยแล้ว เมื่อปี 2495 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. ท่านต้องการเอารัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาใช้ ก็มีการเสนอ พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2492 ตอนนั้นใช้ฉบับนี้อยู่ พ.ร.บ.มีแค่ 3 มาตรา มาตราที่หนึ่ง ชื่อพ.ร.บ.นี้คือ พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2492 มาตราที่สองให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2492 มาตราที่สาม ให้นำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาใช้ โดยแก้ไข หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก ..... รัฐสภาก็รับรองแล้วได้รัฐธรรมนูญ 2475 คืนมากลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2495

 

ในกรณีปัจจุบัน เราสามารถวางหลักการใหญ่ไว้ก่อนได้เลย 3 อย่าง คือ รัฐบาลต้องถูกอภิปรายได้โดยง่าย, องค์กรอิสระต้องมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย, ต้องไม่ให้เกิดการแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน และแทรกแซงองค์กรอิสระโดยรัฐบาลอย่างไม่ถูกต้อง

 

ประชาชนจะมีส่วนร่วมตรงไหน ?

เราต้องระดมความเห็นกันเหมือนตอน 40 แล้วก็ยังมีช่อง 50,000 ชื่อเพื่อเอา 2540 คืนมาก่อน

 

ถ้าเอา 40 คืนมามันอาจลำบากและลักลั่นกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไหม เช่น ส.ว.ที่ได้มาแล้ว ?

ก็อาจเขียนบทเฉพาะกาลไว้ ส.ว.ที่ได้รับการเลือกตั้งชุดนี้ให้ดำรงตำแหน่งไปครึ่งวาระหรืออะไรก็ว่าไป เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเขา แต่ปัญหาคือต้องเอาสิ่งที่ทำลายประชาธิปไตยออกไปก่อน

 

คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) มาจากไหน ?

คปพร. เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ 35 องค์กร มีทั้งนักวิชาการอิสระ อดีต ส.ส.ร.40 อดีต ส.ว.43  ฯลฯ เกิดขึ้นเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่าน เราจะทำการรณรงค์เรื่องนี้ทั่วประเทศ พร้อมๆ กับรวบรวมรายชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อผลักดันเรื่องนี้ด้วย ตอนนี้รวบรวมมา 2-3 อาทิตย์แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท