สัมภาษณ์ "เมตตา ไตรรัตน์" : ปิดคดี 14 ปี หมอรักษาพลาด หลอกซ้ำ ปฏิเสธการรักษา


 

 

สืบเนื่องจากคดีที่นางเมตตา ไตรรัตน์ อายุ 45 ปี เป็นโจทก์ ฟ้องคดีแพ่ง บริษัทการแพทย์สยาม จำกัด กับพวกรวม 6 คน กรณีแพทย์รักษาผิดพลาด ทำให้ถูกตัดสิทธิกองทุนเงินทดแทนและประกันสังคม ส่งผลให้การรักษาไม่ต่อเนื่องจนทุพพลภาพ ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา โดยเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,800,000 บาท ซึ่งหลังจากชนะคดีในศาลอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 5 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยระบุว่า นางเมตตาโกหกว่าป่วย

 

ล่าสุด วานนี้ (3 เม.ย.) เวลา 13.30 น. ที่ศาลแพ่ง รัชดา ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,381,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่มีการละเมิด (7 มี.ค.2537) และชำระค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 20,000 บาท และค่าทนายความชั้นฎีกาอีก 20,000 บาทแทนโจทก์

 

"ประชาไท" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ "เมตตา ไตรรัตน์" หลังจากชนะคดีที่เธอต่อสู้มาเป็นเวลา 14 ปี

 

 

000

 

 

 

 

เมตตา ไตรรัตน์

 

 

 

"ไม่ได้คิดถึงผลกระทบว่า ฟ้องหมอแล้วจะเจอหมอปฎิเสธการรักษา
มันยากมากเลย การฟ้องหมอในขณะที่เรารักษาตัว

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คงไม่ฟ้องแล้ว
 ทุกวันนี้แผ่เมตตาให้เขาทุกวัน ไม่ว่ากรรมที่เขาสร้าง หรือเราสร้างก็ตาม
 ก็โกรธที่เขาเขียนใบรับรองแพทย์ไม่ตรงกับสังขารร่างกายเรา
สิทธิตรงที่เราจะได้ก็ไม่ใช่สตางค์เขา
มันเป็นของกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนเงินทดแทน ไม่เกี่ยวกับเขาเลย
เขาไม่จำเป็นต้องเอาใจใคร ทำตามหน้าที่ก็จบแล้ว
"

 

 

 

เกิดเหตุได้อย่างไร

ขณะนั้น (ก.พ.2537) เป็นพนักงานทำความสะอาดของบริษัทรับเหมาทำความสะอาดตามห้าง โดยบริษัทจะส่งไปทำความสะอาดตามห้าง ทั้งกลางวัน-กลางคืน ทำตั้งแต่ตีห้าถึงเที่ยงวัน สองทุ่มถึงตีห้า ถ้าได้ควงก็ต่อตีห้าถึงเที่ยงวัน

 

มาเกิดปัญหา ตอนที่ทำงานช่วงกลางคืน ซึ่งต้องยกเครื่องขัดพื้น หรือถังน้ำยาแกลลอนใหญ่ๆ ทีนี้เจ้าของห้างไม่ให้ใช้ลิฟท์ของห้าง พวกแม่บ้านทำความสะอาดจะให้ใช้ลิฟท์ขนของ ซึ่งพนักงานขนของก็มักจะปิดลิฟท์ เราไปใช้ไม่ได้ ก็ต้องแบกของขึ้นบันไดหนีไฟ

 

ขณะที่ยกเครื่องขัดพื้นไปเก็บแล้วเกิดผิดท่า กระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท พอเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากบาดเจ็บจากการทำงาน โรงพยาบาลจึงไม่ให้สิทธิตามกองทุนประกันสังคม แต่เรียกเก็บจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีวงเงินสามหมื่นบาท

 

 

ตอนที่ทำงาน มีการอบรมด้านความปลอดภัยหรือไม่

ตอนที่สมัครสมัยปี 2535 ยังไม่มีอบรม แต่พอเกิดเหตุเมื่อปี 37 เป็นข่าวแล้ว กระทรวงแรงงานก็เข้ามาตรวจสอบ จึงมีการอบรม และพนักงานทำความสะอาดก็ได้ใช้ลิฟท์

 

 

การรักษาจากนั้นเป็นอย่างไร

กระดูกสันหลังเคลื่อนจากการยกของหนัก แล้วไปกดทับเส้นประสาท ตอนนั้น หมอจะให้ฉีดรังสี ด้วยความไม่รู้ก็ถามหมอว่า ตั้งท้อง 3 เดือน หากฉีดรังสีจะมีผลกับลูกในท้องไหม หมอกระดูกที่ดูแลก็ประมาท ไม่ได้ไปประสานกับหมอสูติฯ ว่ามีผลกระทบมั้ย ต้องตรวจอะไร หมอบอกว่าไม่มีผลกระทบ เพราะฉีดใส่หลัง ไม่ได้ฉีดใส่ท้อง เราเป็นประชาชน เราก็เชื่อหมอ พอเขาส่งไปฉีดรังสี ก็ฉีด

 

จากนั้น ก็เริ่มตกเลือด พอให้หมอช่วยดูว่าเป็นผลจากการฉีดรังสีไหม หมอก็ส่งไปตรวจฉี่ เมื่อหมอตรวจปัสสาวะทราบว่าตั้งครรภ์มาแล้ว 3 เดือน ก็ส่งมาพบหมอสูติฯ ของโรงพยาบาลเดียวกัน หมอสูติก็จะไล่เราให้ไปทำแท้งที่สุขุมวิท 12 ก็โกรธมากเพราะตั้งใจจะมีลูกอีกคน และรู้ว่าบัตรประกันสังคม คลอดก็เบิกได้ ได้สิทธิดีๆ ก็ตั้งใจจะมีลูก แล้วก็ถามหมอแล้ว หมอก็บอกว่าจะไม่มีผลกระทบ แต่พอมี ก็จะไล่เราไปตรงไหนก็ไม่รู้ ที่เราไม่รู้จัก ก็รู้สึกเหมือนถูกผลักไสไล่ส่ง ก็เลยโวยวายเถียงกับหมอ จนหมอสูติฯ ยอมที่จะทำแท้งขูดมดลูกให้เนื่องจากตกเลือดมาก่อนหน้านั้นแล้ว ถ้าไม่ทำแท้ง ก็จะตกเลือดจนเสียชีวิตได้

 

 

ตอนนั้นยังทำงานอยู่ไหม

ยังถือว่าเป็นพนักงานอยู่ แต่อยู่ในช่วงลาหยุด ตั้งแต่บาดเจ็บ 11 ก.พ. 2537 ก็ลาป่วย เพื่อรักษาตัวตลอดมาจนถึง 7 มี.ค. พอขูดมดลูกเพื่อทำแท้งเสร็จ วันต่อมา พอปลดสายน้ำเกลือ เขาก็ให้กลับบ้าน แม้เรายังเพลียอยู่และมีอาการตกเลือด ช่วงนั้นอยู่ในช่วงดูอาการ เลือดก็ไม่หยุด และรู้สึกเพลีย ขาเริ่มไม่มีแรงลงเรื่อยๆ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเดินได้ แต่ต้องใช้ไม้ช่วยค้ำ แต่หลังจากขูดมดลูก ขามันเริ่มเปลี้ยลงๆ

 

จากนั้น โรงพยาบาลก็ไม่ทำเรื่องเบิกค่ารักษาต่อ เหมือนว่า เขารักษาผิดพลาด ฉีดรังสีจนแท้งลูก และขูดมดลูกทำแท้ง เสร็จแล้วก็รีบไล่เราออกจากโรงพยาบาล โดยเขาเอา 2 โรคมารวมกันในงบเดียวกัน และบอกว่า งบ 30,000 บาทหมดแล้ว

 

เมื่อไปถามเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน กองทุนเงินทดแทนว่าในกรณีนี้จะทำอย่างไร เขาก็บอกว่า งบรักษา เรียกเก็บเงิน 30,000 บาทหมดแล้ว ให้ไปติดต่อหมอที่รักษา หากประเมินว่า เดินไม่ได้ จะได้จ่ายเงินทดแทนเป็นกรณีทุพพลภาพจากการทำงาน

 

พอไปพบคุณหมอให้สรุปการรักษา จะได้นำเงินไปเยียวยารักษาต่อ หมอก็เขียนใส่ซองจดหมายยาวๆ ก็ถือไปให้เจ้าหน้าที่คนเดิมที่กระทรวงแรงงาน ตอนนั้น เราไม่ได้อ่านก่อน มันกลายเป็นการฆ่าเราทางอ้อม ในนั้นเขียนว่า หมอแนะนำให้ส่งไปรักษาโรคจิตกับจิตแพทย์

 

เจ้าหน้าที่อ่านเสร็จก็ให้คณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทน จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ก็ออกมาบอกว่า สิทธิที่จะได้รับการประเมินความสูญเสียหมดแล้ว เพราะหมอแนะนำให้ส่งไปรักษาโรคจิต ซึ่งไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน

 

ขณะนั้น บริษัทที่ทำงานด้วย ก็ส่งจดหมายแจ้งมาว่าจะเลิกจ้าง เจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้ไปหานายจ้าง เพื่อให้นายจ้างจ่ายชดเชยเลิกจ้าง 3 เดือน ก็ได้เงินมา 10,000 กว่าบาท ด้วยความไม่ค่อยรู้ ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ไปถามหมอคนเดิมว่า โรคจิตที่ว่านี่ให้ไปรักษาที่ไหน หมอก็บอกให้ไปโรงพยาบาลสวนดอก บังเอิญมาจากอุตรดิตถ์ รู้จักโรงพยาบาลนี้ และด้วยความอยากหายจากโรค ก็เลยเหมาแท็กซี่ไปเชียงใหม่ อยากทำงานได้เงิน ก็เลยเหมาแท็กซี่ไปคนเดียว

 

เมตตา ในวันฟังคำพิพากษา

เธอมากับลูกสาวและลูกเขย 

 

 

ตอนนั้น ต้องรับผิดชอบอะไรในครอบครัวบ้าง

มีลูกสาวที่อายุ 9 ขวบ กำลังเรียนอยู่ มีสามีคนหนึ่ง โดนรถชนกระโหลกแตกเพิ่งผ่าตัด ยังไม่มีงานทำ เอ๋อๆ หน่อย อยู่บ้านเช่า ก็มีค่าเช่าบ้าน ก็ตัดสินใจไปโรงพยาบาลสวนดอกคนเดียว ให้ลูกอยู่กับพ่อเขา คิดว่าหมดเงินรักษาครึ่งหนึ่ง หายแล้วจะได้มาทำงานต่อ

 

ทีนี้พอไปถึงหมอก็เรียกไปนั่งคุยอยู่หลายชั่วโมง เขาก็สอบถามรายละเอียด และบอกว่าคุณป้าโดนหลอกแล้ว หมอเขารักษาคุณป้าผิดพลาดก็เลยปฎิเสธการรักษาด้วยการเขียนว่าคุณป้าโรคจิต เราโกรธแค้นมากเลย เสียดายตังค์แล้วก็เสียเวลา หมอก็แนะนำให้มารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ขอสงเคราะห์เป็นผู้ป่วยอนาถา

 

พอไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ด้วยความไม่รู้ ก็เล่าให้หมอฟังตามตรงว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ถูกส่งไปหานักสังคมสงเคราะห์เพื่อสงเคราะห์อนาถา แต่ปรากฎว่า สิทธิประกันสังคมเรามี เลยไม่ได้รับการสงเคราะห์ จึงไปที่มูลนิธิเพื่อนหญิง ก็ได้รับความช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิคืน ด้วยการพิสูจน์ตัวเองว่าเราไม่ได้เป็นโรคจิต จะได้สิทธิประกันสังคม

 

ทีนี้ช่วงที่ไปมูลนิธิเพื่อนหญิง ก็ได้ไปพูดออกวิทยุที่จุฬาฯ พอออกอากาศไป ตอนเช้า ไพฑูรย์ แก้วทอง รมว. แรงงานขณะนั้น ก็ให้เลขาฯ โทรมาตามไปพบ ก็ไปกันกับอาจารย์ที่จุฬา และมูลนิธิเพื่อนหญิง เมื่อเขาตรวจพบว่าไม่ได้เป็นโรคจิตจริง ทำให้ได้สิทธิประกันสังคมกลับคืนมา

 

 

จากนั้น รักษาต่ออย่างไร

หลังจากได้รับการบริจาคเงินทั้งทางตรงและผ่านทางมูลนิธิ ก็ได้ไปขูดมดลูกอีกครั้งหนึ่ง เพราะตั้งแต่ขูดมดลูกไปก็ยังมีเลือดออก โดยพบว่ามีก้อนเลือดตกค้างอยู่ จากนั้นก็ถูกส่งไปรักษากระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แต่ก็เกิดปัญหาอีก เพราะหลังจากไปพบ รมว. แรงงาน ก็มีเรื่องแทงไปที่โรงพยาบาลเดิม แพทยสภาก็เริ่มทำงาน ตรวจสอบโรงพยาบาลกับหมอ พวกเขาก็เริ่มเจ็บใจว่าเราทำให้พวกเขาถูกตรวจสอบ

 

 

ช่วงเวลาระหว่างนั้น มีรายได้จากทางไหน

ตอนนั้นใช้ไม้ค้ำเดิน ออกจากงานไม่มีรายได้ ได้ทางโรงเรียนช่วยเรื่องอาหารกลางวันฟรี ไม่ต้องจ่ายเดือนละ 150 บาท สามีก็ได้ทำงานคนสวน ดูแลตัดแต่งต้นไม้หน้าห้างอิมพีเรียลสำโรง โดยผู้ว่าสมุทรปราการให้ความช่วยเหลือ

 

สภาทนายความก็มาช่วยเรื่องคดี มอบหมายให้ทนายอาสาดูแลคดี เป็นคดีอนาถา ระหว่างศาลยังไม่ได้รับฟ้อง เราก็ต้องดำเนินการรักษาต่อ กว่าศาลจะรับฟ้อง ระหว่างนี้แพทยสภาสอบโรงพยาบาล สอบหมอ แต่ก็เข้าข้างโรงพยาบาลตามหลักฐานที่เขาสร้างกันได้ และก็บอกว่า หมอกับโรงพยาบาลรักษาถูกต้องตามวิธีการของเขาแล้ว ซึ่งเขาวินิจฉัยว่าเราเป็นโรคจิต เราอาจจะเป็นได้ เนื่องจากป่วยมากๆ ก็เป็นโรคจิตได้ ก็เลยกลายเป็นว่าหมอไม่ผิด

 

และหมอก็ถือกระเป๋าเอกสารตามเราไป โรงพยาบาลต่างๆ ตลอด เรารักษาที่จุฬา ก็ตามไป ราชวิถีก็ตามไป ต้องย้ายโรงพยาบาลหนีเรื่อยๆ ปัญหาคือเราเป็นผู้ป่วยที่ฟ้องหมอ เขาก็สืบได้ว่าเราไปรักษาโรคกระดูกที่ไหน และเข้าไปพบหมอ เพื่อนๆ ของเขา และก็อาจจะให้ข้อมูลอะไรในทางลบ หมอก็ปฎิเสธเราตลอด

 

มีหลายครั้งที่หมอจะผ่าตัด อย่างเช้าพรุ่งนี้จะผ่าตัด หมอก็มาบอกยกเลิก ให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านหรือกายภาพ เราก็งง จริงๆ ก็ไม่ได้อยากถูกผ่าตัด แต่เมื่อวางตารางว่าจะผ่าตัด และจะหาย ก็ดี แต่พอหมอคนนี้มา เราก็ไม่รู้ว่าเขาเข้าไปคุยอะไร แต่เราเห็นว่าเขาเข้าไปคุยกัน การรักษามันก็เปลี่ยนไป ก็ต้องย้ายโรงพยาบาลแล้วก็ไปเริ่มต้นใหม่

 

เมื่อย้ายโรงพยาบาลก็ต้องขอเวชระเบียน แต่ปัญหาคือ เวลาไปขอเวชระเบียน โรงพยาบาลจะไม่ค่อยให้เรา ทั้งที่เราสิ้นสุดการรักษาแล้วจะไปรักษาที่ไหนก็ต้องมีเวชระเบียน จะได้รู้ว่ารักษาอะไรไปบ้างแล้ว จะได้ไม่ต้องมาฉีดรังสี หรือเอ็กซเรย์อีก แต่เขาไม่ให้โดยบอกว่ามันเป็นเคสอันตราย คำนี้ก็ติดหัวเรามาตลอด 10 กว่าปี เขาบอกว่า มันเป็นการฟ้องร้องกัน ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเวลาเราขึ้นศาล เบิกพยาน เขาต้องมาเป็นพยาน ก็ประสบกับปัญหาแบบนี้มาตลอด ทำให้การรักษาติดๆ ขัดๆ จนท้ายที่สุด กลายเป็นทุพพลภาพถาวร ตอนปี 38

 

ตอนนั้น เราก็ทำหนังสือร้อง โดยมูลนิธิเพื่อนหญิงและอาจารย์ที่เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมให้ความช่วยเหลือ มีการพูดคุยกันกับประกันสังคม ได้รับการวินิจฉัยว่า กรณีนี้เป็นกรณีที่ได้รับการบาดเจ็บจากการทำงาน แต่เกิดปัญหาจากการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เลยระบุเป็นว่า ทุพพลภาพไม่เนื่องจากการทำงาน ซึ่งก็จะได้เดือนละ 2,400 บาท

 

หลังจากนั้นก็มีปัญหาตามมาคือ ในกรณีทุพพลภาพของผู้ประกันสังคม จะมีสิทธิที่เบิกค่ารักษาได้จริง เดือนละไม่เกิน 2,000 บาท แต่อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่มันต้องเบิกมากกว่า นี่ไม่รวมยาสวน หรือค่าเดินทาง ก็เลยปรึกษาว่าเราจะอยู่ในข่ายผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้หรือไม่ ปรากฎว่ากฎหมายอนุมัติว่าได้ ป้าก็เลยเป็นคนทุพพลภาพที่ประกันตนเองด้วย โดยจ่ายค่าประกันตนเองคนเดียว เมื่อก่อนเสียเบี้ยประกันตน 100 กว่าบาท เดี๋ยวนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนนี้ 432 บาท  

 

 

ตอนที่ตัดสินใจว่าจะฟ้องหมอ คิดอย่างไร

ตอนที่ฟ้องไม่ได้คิดอะไรมากเลย เพราะไม่ได้มีความรู้ นึกตามประสาเราว่า สภาทนายความบอกว่า ฟ้องร้องให้ฟรี ถ้าฟ้องร้องชนะ จะได้เอาเงินมาแล้วจะได้รักษา ระหว่างเป็นคดีฟ้อง หลังจากสามีได้ทำงาน ก็ไปเจอผู้หญิงคนใหม่ เราก็เดินไม่ได้ เหลือแค่เรากับลูก เราก็รู้สึกว่าเราต้องฟ้องเพื่อจะได้นำเงินตรงนี้มาเป็นทุนการศึกษาให้ลูก ไม่ได้คิดถึงผลกระทบว่า ฟ้องหมอแล้วจะเจอหมอปฎิเสธการรักษาเรา เรายังไม่รู้ พอฟ้องไปแล้ว ถึงรู้ปัญหา แล้วก็ทำอะไรไม่ได้ เลยอยากออกมาสะท้อนว่ามันยากมากเลยการฟ้องหมอในขณะที่เรารักษาตัว

 

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คงไม่ฟ้องแล้ว ยังเสียใจจนทุกวัน ทุกวันนี้แผ่เมตตาให้เขาทุกวัน ไม่ว่ากรรมที่เขาสร้าง หรือเราสร้างก็ตาม ไม่ตั้งใจจริงๆ ไม่ได้คิดอะไร ช่วงแรกที่ฟ้อง ก็โกรธที่เขาเขียนใบรับรองแพทย์ไม่ตรงกับสังขารร่างกายเรา สิทธิตรงที่เราจะได้ก็ไม่ใช่สตางค์เขา มันเป็นของกองทุนประกันสังคม หรือกองทุนเงินทดแทน ไม่เกี่ยวกับเขาเลย เขาไม่จำเป็นต้องเอาใจใคร ทำตามหน้าที่ก็จบแล้ว

 

 

ทราบมาว่า คดีในศาลชั้นต้นตัดสินในปี 44 ทำไมถึงใช้เวลานานขนาดนั้น

คดีของเราเป็นคดีอนาถา ก็คือฟ้องฟรี ก็ต้องรอศาลไต่สวนความยากจนของเราด้วย ว่าฐานะเป็นอย่างไร ว่าอนาถาจริงหรือไม่ เอาหลักฐานมายื่นยืนยัน พอเห็นว่าจนจริง ทุพพลภาพจริง เจ็บป่วยแล้วจริง ไม่มีรายได้ตรงไหนจริง เขาจึงอนุมัติอนาถา แล้วเวลาสืบพยาน เราเป็นคนป่วย เราก็มีพยานคือเราคนเดียว ส่วนหมอมีทั้งโรงพยาบาล เจ้าของโรงพยาบาล บุรุษพยาบาล เอามาเป็น 20-30 ปาก มาสืบพยาน และ เป็นผลกับเขาทั้งหมด

 

เวชระเบียนก็มีการเขียนต่อเติมในนั้นได้อีก ซึ่งก็กลับไปที่ปัญหาเรื่องเวชระเบียนกับคนไข้ เมื่อโรงพยาบาลปฎิเสธไม่ให้เรา ระหว่างนั้น เขาก็ไปต่อเติมได้ เวลาขึ้นศาลเราเสียเปรียบ เพราะเป็นลายมือของหมอ ไม่รู้ว่าไปต่อเติมเมื่อไหร่

 

 

ช่วงนั้นใช้ชีวิตอย่างไร

ช่วง 7 ปีได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อนหญิง และสมาคมคนพิการพระประแดง ขอโควต้าล็อตเตอรี่ให้ ก็ได้เงินจากประกันสังคม ทุพพลภาพ 2,400 ถูกหักเบี้ยประกันตน 400กว่าบาท เหลือ 1,900 ต่อเดือน เป็นค่าเช่าบ้าน แล้วก็ขายล็อตเตอรี่เลี้ยงตัวกับลูก มูลนิธิเพื่อนหญิงกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ก็เสนอข่าวเวลามาให้ปากคำ ก็มีผู้บริจาคช่วยค่ารถ ค่าเดินทางมาสู้ต่อ ช่วงศาลชั้นต้น 7 ปี นั่งรถมา 500 กว่าครั้ง

 

 

ทำไมถึงตัดสินใจอุทธรณ์ต่อ

ในช่วง 7 ปี เริ่มมีความรู้มากขึ้น เพราะระหว่างที่ขายล็อตเตอร์รี่ ก็รณรงค์เรื่องความปลอดภัยจากการทำงานกับมูลนิธิเพื่อนหญิงและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย เริ่มรู้ปัญหาว่าที่แพ้ในศาลชั้นต้นเกิดจากทนายยังใหม่ ไม่เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และไม่ได้ประสานงานกัน เวลามาขึ้นศาล ศาลจะบอกว่าทนายตั้งประเด็นฟ้องไม่ครอบคลุม ทำให้แพ้

 

คราวนี้ พออุทธรณ์ก็ไปนั่งกับทนายเองเลยว่า คดีที่เราฟ้องไม่ใช่เรื่องหมอรักษาแล้วเราพิการทันที แต่เพราะรักษาแล้วประมาท และปฎิเสธการรักษา ซึ่งไม่มีจริยธรรมทางการแพทย์

 

จากประสบการณ์ในศาลชั้นต้น การที่อยู่เฉยๆ คดีก็เหมือนจะนิ่งๆ เราเลยไม่อยู่นิ่งๆ มาขอเร่งคดี ป่วยยังไงก็มา เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ควรได้ ทำนอกเหนือจากคำสั่งทนายจนบางครั้งก็ทะเลาะกับทนาย แต่เราคิดแต่ว่าเราป่วย ใครจะมาบริจาคให้เราตลอดไป ถ้าไม่ช่วยตัวเองก็อยู่ไม่ได้ เมื่อมีเงินเหลือก็จะมาตามเรื่องเองตลอด จนชนะอุทธรณ์เมื่อ พ.ย. 47

 

 

ต่อมาทางโรงพยาบาลก็อุทธรณ์ในชั้นฎีกา

ตอนนั้น อยากให้เขาไม่ฎีกาต่อ จะได้เอาเงินมารักษาร่างกาย ชนะอุทธรณ์ยังไม่ได้ใส่เผือกคอ แต่เริ่มมีอาการกระดูกต้นคอเสื่อมทับเส้นประสาท และด้วยสถานภาพความจน ก็ไม่ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ต้องทำงาน ก็ไม่ได้พักผ่อน ปรากฎว่า พอให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โรงพยาบาลก็ยื่นอุทธรณ์ฎีกา และฟ้องกลับร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

ตอนนี้สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง

เดินไม่ได้ตั้งแต่ปี 38 ใช้การช่วงล่างไม่ได้ ก็ใช้ช่วงบนแทน ทำให้กระดูกซี่โครงอักเสบ ปวดไหล่และแขนตามมาเรื่อยๆ เวลาไปไหนด้วยรถวีลแชร์ คอเราเริ่มผิดรูปลงเรื่อยๆ แขนก็ชา แล้วก็เริ่มใช้ออกซิเจน ตั้งแต่ปี 45 เพราะหายใจได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับหลังๆ เป็นภูมิแพ้ ไทรอยด์ รักษาตามอาการ ไม่หายซักโรค หลังๆ มันเกี่ยวกับระบบเส้นประสาท ทำให้พูดไม่ชัด บางครั้งเหมือนลิ้นมันค้าง

 

 

จากการต่อสู้ที่ผ่านมา มีความเห็นต่อกองทุนประกันสังคมอย่างไรบ้าง

ในฐานะผู้ประกันตน กองทุนไม่ได้ช่วยอะไร มีแต่ให้สิทธิตามที่เรียกร้อง ส่วนตัวยังร้องเรียนอยู่ทุกวันนี้ว่า ทำไมกองทุนไม่ออกมาช่วยผู้ประกันตนเลย เก็บเงินเราไปใส่โรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลรักษาผิดพลาด พอเกิดฟ้องร้องขึ้นก็ไม่ดูแลเรา ให้เป็นเรื่องฟ้องแพ่ง ไม่เกี่ยวกับประกันสังคม

 

ในความรู้สึกของเรา ถึงไม่ได้เรียนหนังสือมา แต่ก็คิดว่า น่าจะพัวพันกัน เพราะเก็บสตางค์เราไป มีการฟ้องร้องก็ไม่มาดูเราเลยว่า เราเป็นยังไง ต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม มีทนายไหม หรือออกมาเป็นตัวแทนช่วยฟ้องให้ผู้ประกันตนก็ยังดี

 

หรือเรื่องกรณีทุพพลภาพ มีการระบุข้อมูลในคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้วว่า นางเมตตา เลขที่ผู้ประกันตนเท่านี้ เป็นผู้ทุพพลภาพตลอดชีวิต ตั้งแต่ปี 2538 และก็จะมีสิทธิเบิกรถเข็นได้คันละ 3,500 บาท แต่ทุกครั้งที่จะเบิกต้องมีใบรับรองแพทย์กับใบเสร็จรถวีลแชร์ แล้วเราพิการมาตั้งนานแล้ว ก็ต้องไปหาหมอใหม่ทุกครั้ง ทั้งที่มีข้อมูลอยู่แล้ว

 

ค่าประกันตนที่เพิ่มขึ้น เบี้ยประกันตนขึ้น แต่สิทธิกลับไม่เพิ่มขึ้นเลย

 

 

นอกจากตัวของคุณป้าแล้ว เพื่อนที่ทำงานด้วยกัน มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงานไหม

ช่วงแรกๆ ที่พิการใหม่ๆ ก็กลับไปหาเพื่อน แนะนำเขาให้ไปเอาสิทธิเวลาโดนพัดลมตัดมือ นายจ้างจะให้ใช้สิทธิประกันสังคม เพื่อปกปิดเรื่องอุบัติเหตุ เราก็แนะนำให้ไปยื่นเรื่องขอจากกองทุนเงินทดแทน เพราะถือว่าเจ็บป่วยจากการทำงาน

 

 

คิดอย่างไรกับผลคำตัดสินในวันนี้

ถ้าเราชนะ ก็แปลว่า ศาลมีความยุติธรรมจริง ประชาชนเชื่อถือได้ ทำให้คนมีกำลังใจในการต่อสู้ฟ้องร้อง แต่หากแพ้ก็คงรู้สึกว่าโลกนี้พึ่งไม่ได้แล้วเพราะสังขารร่างกายเราก็มีให้เห็นชัดเจน ก็จะได้ให้เป็นกรณีศึกษา ว่าแพ้เพราะอะไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท