Skip to main content
sharethis

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการควบคุมสัตว์ แหล่งรังโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ว่า ปัญหาจำนวนประชากรหนูที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากจะก่อปัญหาในแง่ของการแพร่เชื้อโรคแล้ว ยังสร้างความวุ่นวายและก่อความรำคาญเป็นอย่างมาก เฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขเอง หนูได้ออกมาเพ่นพ่านกัดสายไฟ สายคอมพิวเตอร์ กัดแทะเอกสาร สิ่งของต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนถึงช่วงที่เกิดอุทกภัยในหน้าฝน อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้น เช่น โรคระบาด จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการกำจัดหนูอย่างเป็นรูปธรรม


 


นพ.ไพจิตร์กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะประชากรหนูล้นโลก ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น สภาพอากาศที่รุนแรง แผ่นดินทรุดต่ำ ภาวะน้ำท่วม น้ำทะเลหนุน และการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น สัตว์อพยพไร้ที่อยู่ การเคลื่อนย้ายของประชากรหนู ผลที่ตามมาคือการเจ็บป่วยและการตายของโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคเลปโตสไปโรซีส เป็นต้น


 


กระทรวงได้ออกคำสั่ง การควบคุมสัตว์แหล่งรังโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้อนุมัติให้สำนักโรคติดต่อทั่วไป จัดทำโครงการเตรียมความพร้อม ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนก่อนการเกิดอุทกภัยปี 2551 โดยเน้นการกำจัดแหล่งรังโรค โดยเฉพาะหนู ในกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานรอบๆ กระทรวง เช่น สำนักงาน ก.พ. สำนักงานประกันสังคม ศูนย์สิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันทันตกรรม รพ.บำราศนราดูร ตลาดสด โรงฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีหนูอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานต่างๆ นำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมป้องกันแหล่งรังโรค ที่จะเกิดก่อนเกิดอุทกภัย โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงหลังสงกรานต์ ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อตัดวงจรของการแพร่โรค และจะให้มีการขยายผลโดยนำรูปแบบการกำจัดหนูไปใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศด้วย ในอนาคตนอกจากหนูอาจจะขยายผลไปถึงการกำจัดแมลงสาบ ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งด้วย 


 


ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุที่จำเป็นต้องกำจัดหนูก่อน เพราะหนูเป็นสัตว์ที่นำโรคร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง เช่น กาฬโรค ซึ่งปัจจุบันแม้จะไม่มีในประเทศไทย แต่ก็ยังพบผู้ป่วยโรคนี้ประปรายในประเทศอินเดีย ในประเทศไทยที่เป็นปัญหามาก ได้แก่โรคเลปโตสไปโรซีส ซึ่งหนูติดเชื้อโรคแต่ไม่ตาย และสามารถแพร่เชื้อโรคให้กับคนได้ ตั้งแต่เกษตรกร ถึงคนเมือง โดยเฉพาะในภาวะน้ำท่วมที่ประชาชนต้องลุยน้ำท่วมขัง อย่างเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ อ.หาดใหญ่ในอดีต ประชาชนติดโรคกันมาก เพราะมีสภาพเป็นตลาด หนูจึงออกมาแพร่เชื้อ มีทั้งอุจจาระร่วง เลปโตสไปโรซีส ฯลฯ


 


ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไปกล่าวด้วยว่า เฉพาะใน กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าน่าจะมีประชากรหนูมากกว่า 1 หมื่นตัว ขนาดที่สำนักโรคติดต่อทั่วไปแค่ 2 ชั้นของตึก ดักจับหนูเพียง 1-2 วัน ได้หนูถึงเกือบ 50 ตัว ถ้าดักจับ ทุกตึก ทุกกรม และหน่วยงานรอบๆกระทรวง  คาดว่าจะได้หนูมากกว่าหมื่นตัวแน่นอน ขนาดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนหน้านี้ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค ไปช่วยดักจับหนู ยังได้หนูถึง 3 หมื่นตัว สาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนูมีปริมาณมากจนน่าตกใจ มาจากการทิ้งเศษอาหารโดย ไม่มีการเก็บให้มิดชิด หนูจึงออกมาคุ้ยเขี่ย ร้านอาหารในหน่วยงานทิ้งเศษอาหารลงท่อ กลายเป็นแหล่งอาหารที่ดี เหมือนกับเป็นภัตตาคารของหนู ทำให้หนูแพร่พันธุ์ ได้มากขึ้น กลายเป็นแหล่งรังโรคที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาที่เกิดจากหนูที่นอกจากการแพร่เชื้อโรคแล้ว ล่าสุด หนูได้ออกมากัดสายไฟจนลิฟต์หลายตัวขัดข้อง ลิฟต์ค้างบ่อย เป็นอันตรายมาก


 


ขณะที่ นายสัตวแพทย์พลายยงค์ สักการะเศรณี นายสัตวแพทย์ 9 สำนักโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการควบคุมสัตว์แหล่งรัง โรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หนูเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์เร็วมาก ตั้งท้องแค่ 14 วัน ก็ออกลูกมา ครอกหนึ่งๆ นับสิบตัว และอีกไม่นานก็ตั้งท้องใหม่ ปีหนึ่งๆหนู สามารถตั้งท้องได้หลายครั้ง  จึงแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว อย่างในประเทศจีน มีรายงานว่า มีการอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรหนูกันอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะในช่วงที่เกิด อุทกภัยในจีน การเคลื่อนย้ายของหนูไปกันเป็นกองทัพ นับล้านตัว สร้างปัญหาอย่างมาก ปัญหาที่จะตามมาอีกอย่าง หนึ่งหลังจากมีแหล่งรังหนูคือ งูจะออกมามาก โดยเฉพาะงูเหลือม งูหลาม ที่มากินหนูซึ่งเป็นอาหารอันโอชะ


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาหนูก่อความรำคาญใน กระทรวงสาธารณสุข เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยหนูได้ออกหากินตามห้องทำงาน และตามตึกต่างๆ อย่าง สบายใจ แม้แต่ในห้องผู้สื่อข่าว หนูก็ออกมาเดินหากินอย่างไม่กลัวคน ทำให้บริเวณพุ่มไม้ข้างๆ ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ใกล้ๆ กับที่จอดรถของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข มีงูเหลือมมานอนขดรอกินหนู โดยไม่กลัวคน สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้สื่อข่าวและข้าราชการอย่างมาก นอกจากนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีการขายอาหารบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล และพ่อค้าแม่ค้าชอบทิ้งเศษอาหาร หรือเทน้ำซุปที่เหลือจากหม้อก๋วยเตี๋ยวลงท่อ ทำให้เกิดปัญหาหนูมีจำนวนมาก และขึ้นไปก่อความรำคาญ กัดสายไฟ ข้าวของ จนถึงกัดแทะเฝือกหรือข้าวของของเจ้าหน้าที่และ ผู้ป่วยถึงบนหอผู้ป่วย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องหาวิธีกำจัดอย่างเร่งด่วน


 


 


ที่มา: ไทยรัฐ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net