บทความ: แรงงานพม่ากับสิทธิในการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ

แรงงานข้ามชาติชาวพม่าจะมีสิทธิในการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญและออกเสียงเลือกตั้งไหม ?

 

ในเมื่อแทบจะไม่มีข้อมูลเลยเกี่ยากับการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญของประเทศพม่า

 

โอกาสในการลงคะแนนเลือกตั้งสำหรับผู้ใช้แรงงานจะมีไหม?

 

ประเทศส่วนใหญ่จะจัดให้มีแบบฟอร์มลงคะแนนล่วงหน้าสำหรับผู้อยู่ต่างประเทศหรือการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ย้ายถิ่นในประเทศที่ไม่สามารถไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามที่อยู่ในภูมิลำเนาในวันที่กำหนดได้ คะแนนเสียงของผู้ย้ายถิ่นสามารถมีพลังในการเปลี่ยนแปลงการทำประชามติ การเลือกตั้งและในบางครั้งสามารถตัดสินผลการเลือกตั้งได้

 

ในประเทศซิมบับเว สภาของสหภาพแรงงานได้มีการเรียกร้องให้แรงงานชาวซิมบับเวียนจำนวน 3 ล้านคนผู้ซึ่งอาศัยและทำงานในอัฟริกาใต้กลับบ้านเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้ง วันที่ 29 มีนาคมที่กำลังจะถึงนี้

 

ในการเลือกตั้งล่าสุดในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พรรคแนวร่วมแห่งชาติได้โยนความผิดจากการที่พรรคพ่ายแพ้คะแนนเสียงเลือกตั้ง ให้กับชาวกะลันตันจำนวนมากที่อาศัยนอกรัฐที่ไม่สามารถกลับไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

 

ในประเทศไทย มาตรา 99 ของรัฐธรรมนูญ พ ศ 2550 ได้ให้สิทธิแก่ผู้มีสัญชาติไทยผู้ซึ่งอาศัยนอกเขตเลือกตั้งหรือนอกประเทศในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งระดับชาติในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หนึ่งอาทิตย์ก่อนการเลือกตั้งจริง ได้มีการจัดให้มีบู๊ธในการลงคะแนนเสียงสำหรับผู้ลงคะแนนเสียงล่วงหน้า สำหรับแรงงานไทยซึ่งต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รัฐบาลได้ประกาศวันหยุดราชการเพื่อให้แรงงานสามารถมีเวลามากขึ้นในการกลับบ้านไปลงคะแนนเสียง

 

ในพม่า...ตามกระบวนการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม  แรงงานข้ามชาติชาวพม่ากำลังสงสัยว่าพวกเขาจะสามารถที่จะใช้สิทธิในการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญได้ไหม ?

 

แรงงานข้ามชาติพม่าไม่เคยมีโอกาสในการออกเสียงเลือกตั้งเลย ถึงแม้ว่าหลายคนจะเติบโตมากับการได้ยินเรื่องราวเล่าขานจากพ่อแม่ถึงการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1990 แต่การใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งนั้นของประชาชนกลับถูกรัฐบาลเผด็จการเพิกเฉย ในขณะที่แรงงานบางคนกลัวว่าเหตุการณ์ซ้ำรอยจะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่พวกเขาจะไม่สามารถรู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จนกว่าว่าพวกเขาจะสามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้

 

แรงงานพม่ายังจะต้องเผชิญความยากลำบากมากมาย หากพวกเขาได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ความลำบากประการแรกคือทำอย่างไรให้รู้ขั้นตอนในการจดทะเบียนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตามปกติสถานทูตจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนของตนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่ใช่งานที่ง่ายเลยในการที่จะขอข้อมูลจากสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ ในพม่าครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ ได้รับการสั่งการให้บอกกล่าวแก่ญาติของตนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศว่าให้เดินทางกลับบ้านอย่างรวดเร็วเพื่อจะได้รวมอยู่ในรายชื่อที่ลงทะเบียนและเพื่อให้บัตรประชาชนดำรงสถานภาพที่จะสามารถลงคะแนเสียงได้

 

หากการดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จ แรงงานต้องเดินทางสองครั้ง ครั้งแรกเพื่อไปลงทะเบียนและครั้งต่อมาคือการกลับไปเพื่อจะออกเสียงลงประชามติว่า รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การเดินทางดังกล่าวจะไม่แค่ทำให้แรงงานต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมากเท่านั้น แต่รวมถึงเวลาที่พวกเขาต้องใช้ในการเดินทาง และอาจจะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียสถานภาพทางกฎหมายในประเทศไทย

 

ในประเทศไทยเมื่อแรงงานข้ามชาติจดทะเบียนทำงานขออนุญาตทำงานชั่วคราว พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้อยู่และทำงานในพื้นที่ที่จดทะเบียนเท่านั้น การข้ามเขตจังหวัดหรือชายแดนอาจจะนำไปสู่การสูญเสียสถานภาพทางกฎหมายและการข้ามชายแดนกลับไปพม่าจะส่งผลให้พวกเขากลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายภายใต้นโยบายปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติพม่า จำนวน 367,834 คนในประเทศไทย ที่มีบัตรอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

 

การจดทะเบียนเพื่อขยายการขออนุญาตทำงานไปอีกหนึ่งปีจะเริ่มในวันที่ 1 มิถุนายน หากแรงงานเหล่านี้เลือกที่จะกลับบ้านไปลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ คำถามคือพวกเขาจะสามารถกลับมาประเทศไทยเพื่อขอขยายการอนุญาตทำงานอีกครั้งได้ไหม แม้กระทั่งหากรัฐบาลไทยตัดสินใจในการสนับสนุนแรงงานข้ามชาติให้มีสิทธิในการลงคะแนนลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญได้และอำนวยความสะดวกให้พวกเขากลับบ้าน แต่แรงงานยังมีอุปสรรคอีกด่านคือนายจ้างของพวกเขา นายจ้างของแรงงานข้ามชาติปกติไม่อยากให้แรงงานมีวันหยุดจากการทำงาน นายจ้างเหล่านี้จะสนับสนุนให้แรงงานมีวันหยุดต่อเนื่องเป็นอาทิตย์เพื่อกลับบ้านลงประชามติไหม และที่สำคัญคือนายจ้างจะยังคงอยากจ้างแรงงานอีกไหมในเวลาที่พวกเขากลับมาทำงาน ?

 

จากบทความล่าสุดในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ นาย นพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวว่า "หากประเทศพม่าประสงค์ความช่วยเหลือใดๆ จากประเทศไทย ในเรื่องการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ในฐานะมิตรประเทศ ประเทศไทยยินดีที่จะช่วยเหลือ    

 

"ดังนั้นความช่วยเหลือจากประเทศไทยเป็นที่ต้องการยิ่งสำหรับแรงงานที่จดทะเบียนทำงาน 360,000 คนและอีกกว่าหนึ่งล้านสองแสนคนที่ไม่ได้จดทะเบียนขออนุญาตทำงาน"

 

หากสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ กลายเป็นกองอำนวยการลงประชามติ ความช่วยเหลือจากประเทศไทยมีความจำเป็นในการออกบัตรเดินทางชั่วคราวให้แรงงานสามารถเดินทางไปออกเสียงเลือกตั้งลงประชามติในกรุงเทพมหานคร

 

รัฐบาลเผด็จการพม่าสามารถที่จะจัดกองอำนวยการลงประชามติ โดยเฉพาะสำหรับแรงงานข้ามชาติใกล้กับชายแดนไทย  เหมือนที่ชายแดนอเมริกาและเม็กซิโกจัดให้มี ในกรณีนี้ประเทศไทยต้องออกบัตรเดินทางหรือการนิรโทษกรรมผู้ละเมิดนโยบายที่จำกัดการออกพื้นที่ เพื่ออนุญาตให้แรงงานออกนอกพื้นที่อย่างปลอดภัย เดินทางไปและกลับมาจากชายแดนได้

 

หากรัฐบาลพม่าต้องการให้แรงงานกลับไปบ้านก่อนเพื่อลงทะเบียนและออกคะแนนประชามติ แรงงานต้องการความช่วยเหลือจากประเทศไทยในส่วนของการออกบัตรเดินทางหรือใบผ่านแดนและมีมาตราการที่จะมั่นใจได้ว่านายจ้างจะอนุญาตให้แรงงานมีวันหยุดจากการทำงานเพื่อไปทำหน้าที่พลเมืองและมีหลักประกันว่าพวกเขาจะยังมีงานทำหลังจากที่กลับมาจากการลงประชามติ

 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการพม่าแทบจะไม่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการลงประชามติหรือ

กระบวนการในการลงประชามติ แม้กระทั่งจำนวนผู้ทีมีสิทธิลงประชามติหรือแม้กระทั่งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ

 

หากประเทศไทยเปิดใจและเต็มใจที่จะช่วยเหลือแรงงานพม่าผู้ที่ต้องการจะลงประชามติ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำการอย่างเร่งด่วน และหากอาเซียนเป็นสังคมแห่งการเอิ้ออาทรจริงๆ อาเซียนก็ควรจะสนับสนุนกระบวนการที่จะให้แรงงานข้ามชาติพม่าในมาเลเซียและสิงคโปร์ให้สามารถที่จะไปลงคะแนนประชามติรับรองรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งได้ และอนาคตของพม่าก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการดังกล่าว

 

แปลและเรียบเรียง โดย ปรานม สมวงศ์ จากบทความของ แจ๊คกี้ พอลล๊อค หนึ่งในผู้ก่อตั้ง โครงการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและเรียนรู้แห่งแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์

http://www.irrawadd y.org/article. php?art_id= 10957

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท