บทความจาก "บ้านย่าหมี" แผ่นดินนี้...เพื่อใคร ???

"สภาพป่าต้นน้ำที่ชาวบ้านกับป๊ะเข้าไปสำรวจ มีสภาพไม่เหมือนครั้งก่อนเลย ต้นไม้ใหญ่ถูกตัดเยอะ พื้นที่บนภูเขาถูกปรับสภาพเพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท ไม่เหลือต้นไม้ใหญ่ให้ลูกหลานได้เห็นอีกแล้ว กว่าจะทำให้ป่ามีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมต้องใช้เวลาอีกนาน" 

 

ป๊ะหรม ผู้เฒ่าที่ชาวบ้านย่าหมีให้ความนับถือบอกเล่าแก่ผู้มาเยือน...

 

ภาพที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้า คือพื้นที่ป่าต้นน้ำป่าช่องหลาด-ป่าบ้านย่าหมี ที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 4 ชุมชน คือ บ้านคลองเหีย, บ้านช่องหลาด, บ้านย่าหมี และบ้านคลองบอน ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา

 

สภาพป่าที่เคยเป็นป่าทึบ ผ่านไปเพียง 1 ปี สภาพป่าแปรเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิมให้จดจำ...

 

ท่ามกลางกระแสการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลโดยการสนับสนุนของรัฐบาลให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อหวังจะกอบโกยเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว โดยเริ่มปูพรมจากการประกาศแนวนโยบายเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง หวังให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเร่งฟื้นฟูบรรยากาศการท่องเที่ยวหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันให้กลับคืนมาเป็นปรกติโดยเร็ว

 

เมื่อสิ้นสุดการประกาศแนวนโยบายสวยหรูแล้ว นายทุนทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติต่างกรูเข้ามาแย่งชิง จับจอง จนทำให้เกิดการซื้อขายพื้นที่ตามแนวชายฝั่งอันดามันกันอย่างคึกคัก ผลที่ตามมาก็คือการบุกรุกพื้นที่ทำลายพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ป่าบก ป่าต้นน้ำอย่างรุนแรง นอกจากนี้ชาวบ้านก็ยังไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม

 

นางสุรัตน์ มาตรศรี หรือ "จ๊ะดำ" แกนนำกลุ่มผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาดูแล ปกป้องทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน จนวันนี้จ๊ะดำกลับต้องกลายเป็น 1 ใน 15 ผู้ต้องหา ที่ทาง บริษัท นาราชา จำกัด เข้าไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเกาะยาว จ.พังงา ดำเนินการออกหมายเรียกชาวบ้านย่าหมี จำนวน 15 คน ในข้อหาร่วมกันบุกรุกหรือเข้าไปทำการใดๆ อันเป็นการรบกวน การครอบครอง อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น โดยปรกติสุข และร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร (ต้นงวงช้าง)

 

"วันนั้น (วันที่ 15 ธันวาคม 2550) ชาวบ้านหลายคนชวนกันขึ้นไปดูพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพราะที่ผ่านมาเห็นคนงานของบริษัทฯตัดต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ชาวบ้านกลัวว่าน้ำจะไม่พอใช้ ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ และอยากรู้ว่าไม้ขนาดใหญ่ที่ตัดไปแล้วนั้นทางบริษัทฯ คนงานนำไปไว้ที่ไหน ซึ่งวันนั้นเอง กลุ่มคนงานซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้ามาขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ที่อ้างว่าบริษัทฯเป็นเจ้าของ จนทำให้มีข้อโต้เถียงกันขึ้น จากนั้นชาวบ้านก็ออกมา แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน โดยที่ไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น" จ๊ะดำเล่า

 

ป่าสงวนบ้านย่าหมี-บ้านช่องหลาด ครอบคลุมพื้นที่ 5 ชุมชน 2 ตำบล คือบ้านคลองเหีย บ้านช่องหลาด บ้านย่าหมีและบ้านคลองบอน ต.เกาะยาวใหญ่ และบ้านโล๊ะโป๊ะ ต.พรุใน ชาวบ้านจึงใช้ประโยชน์จากป่าผืนเดียวกันที่เป็นทั้งแหล่งน้ำกิน แหล่งอาหาร และแหล่งสมุนไพร เป็นต้น สำหรับพื้นที่ป่าสงวนที่บริษัทฯ อ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น บางส่วนได้รับการยืนยันจากชาวบ้านว่าพื้นที่ที่บริษัทได้บุกรุกนั้นคือพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมเอกสารต่างๆ

 

เหตุการณ์ที่ผ่านมานานกว่า 1 เดือน จนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ชาวบ้านย่าหมีที่เดินขึ้นไปสำรวจผืนป่าต้นน้ำ กลับได้รับหมายเรียกถึง 17 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวบ้าน 15 คน ผู้ชาย 11 คน และผู้หญิง 4 คน ส่วนอีก 2 คน คือเจ้าหน้าที่ภาคสนามองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน แต่ที่น่าสงสัยประการสำคัญ คือนางรุ่งนภา ชายเลี้ยง หนึ่งใน 4 ชาวบ้านที่กลายเป็นผู้ต้องหานั้น นอนพักอยู่ที่บ้านในวันเกิดเหตุ ไม่ได้เดินขึ้นไปสำรวจพื้นที่ป่าแต่อย่างใด            

 

นางรุ่งนภาเล่าให้ฟังว่า"ช่วงบ่ายทุกวันจ๊ะต้องดูแลทำความสะอาดเก็บกวาดร้านค้า วันนั้นหลังจากดูแลร้านเรียบร้อยแล้วจ๊ะก็นอนพักเหมือนทุกวัน พอได้รับหมายเรียกของบริษัทฯ จ๊ะก็ตกใจเพราะไม่ได้ขึ้นไปด้วย   ก็ไม่รู้ว่านายประชา อยู่สำราญ คนของบริษัทไปเอาข้อมูลมาจากไหน เพราะตัวนายประชาเองก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เลย"

 

หลังจากที่ชาวบ้านทั้ง 15 คนได้เลื่อนการให้ปากคำออกไปเป็นวันที่ 27 มีนาคม 2551 วันนี้สิ่งที่ชาวย่าหมีต้องการคือกำลังใจ และกลุ่มแนวร่วมที่จะเข้ามาช่วยกันดูแลทรัพยากรมากขึ้น

 

นายชัยวุฒิ ถนอมไถ ชาวบ้านบ้านคลองเหีย หมู่ที่ 1 ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ได้กล่าวว่าสำหรับชาวบ้านย่าหมีทั้ง 15 คนที่กลายเป็นผู้ต้องหานั้น ชาวบ้านในชุมชนต้องไปให้กำลังใจในวันที่ 27 มีนาคมนี้แน่นอน เพราะชาวย่าหมีได้ปกป้องทรัพยากรมานาน ต่อจากนี้จะมีกลุ่มแนวร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรมากยิ่งขึ้น สำหรับตนมีความคิดเห็นว่าเป็นการดีที่ทางบริษัทฟ้องร้องชาวบ้าน เพราะกระตุ้นให้ชาวบ้านให้ความสนใจการดูแล และรักษาทรัพยากรของชุมชนมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านเกาะยาวก็ต้องการความเจริญ แต่หากความเจริญที่มาพร้อมกับความฉิบหายก็คงรับไม่ได้เช่นกัน นายชัยวุฒิกล่าว

 

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะเกิดคำถามจากชุมชนว่า ที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาส่งเสริมการปลูกป่า ส่งเสริมปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนนั้น จะทำไปเพื่ออะไร เพราะวันนี้ชาวบ้านได้ปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนของตนเองไว้อย่างเต็มที่แล้ว แต่กลุ่มนายทุนที่เข้ามาทำลายป่าจนหมดสิ้น ทวนกระแสธรรมชาติ ทวนกระแสสังคม ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพังงากลับไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้ชาวบ้านต้องดูแลชุมชนอย่างโดดเดี่ยวลำพัง แต่เมื่อใดที่ต้องใช้งบประมาณดำเนินกิจกรรมในชุมชนก็เข้ามาปลูกจิตสำนึกให้กับชาวบ้านในชุมชนอีก ปลูกป่าอีกครั้ง ปลูกจิตสำนึกอีกครั้ง แต่เมื่อกลุ่มทุนลงมา ตัดทั้งป่า ตัดทั้งจิตสำนึก แล้วจะให้ชุมชนปลูกไปเพื่ออะไร

 

วันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลเกาะยาวใหญ่ คนของแผ่นดินนี้ ไม่สามารถเดินย่ำตามรอยทางเดิมของบรรพบุรุษได้อีกแล้ว การต่อสู้เพื่อดูแลทรัพยากรก็ยังมีหนทางอีกยาวไกล สิ่งที่ชาวบ้านได้ฝากไว้คือ พวกเราจะดำเนินตามรอยทางบรรพบุรุษที่ได้เฝ้าดูแลทรัพยากรส่งต่อมาให้กับคนรุ่นหลังได้ใช้อยู่ใช้กิน เราจะทำหน้าที่เป็นบรรพบุรุษที่กำลังทำหน้าที่ส่งต่อทรัพยากรให้กับลูกหลานของเราเช่นกัน

 

"ยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่าไร ความล่มสลายของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นก็เกิดขึ้นเป็นทวีคูณ"

 

 






 

หมายเหตุ:  ป๊ะ หมายถึง พ่อ, จ๊ะ หมายถึง พี่สาว

 

 

 

ข้อมูลรายละเอียด

 

กลุ่มชาวบ้านบ้านคลองเหีย บ้านช่องหลาด บ้านย่าหมีและบ้านคลองบอน

องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

www.thaingo.org

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท