Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดแถลงผลการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อรอบที่ 20 ในประเด็น "หนังสือพิมพ์กับเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาล" ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแบบแผนการรายงานข่าวการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ของสื่อหนังสือพิมพ์ว่ามีส่วนสร้างเสริมความเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ หรือไม่ อย่างไร โดยศึกษาในประเด็นข่าว คุณค่าข่าว การรายงานข่าวแบบประชาธิปไตย และลักษณะการนำเสนอข้อมูล


 


การศึกษาครั้งนี้ได้คัดเลือกหนังสือพิมพ์รายวัน 8 ฉบับ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเน้นการรายงานข่าวแบบเสนอข้อมูล 4 ฉบับ ได้แก่ กรุงเทพธุรกิจ, โพสต์ทูเดย์, มติชน และผู้จัดการรายวัน และกลุ่มเน้นการรายงานข่าวแบบเล่าเรื่อง 4 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ข่าวสด และคมชัดลึก โดยระยะเวลาที่ศึกษามี 3 ช่วงวัน รวมทั้งหมด 26 วัน ดังนี้     


 


ช่วงที่ 1 ช่วงหลังเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 คือ วันที่ 24-31 ธันวาคม 2550 (8 วัน)


ช่วงที่ 2 ช่วงระหว่างจัดตั้งรัฐบาล คือ วันที่ 24-31 มกราคม 2551 (8 วัน)


ช่วงที่ 3 ช่วงก่อนแถลงนโยบายรัฐบาล คือ วันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ 2551 (10 วัน)


 


ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ กล่าวรายงานผลการศึกษาว่า  โดยภาพรวมพบปริมาณเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาลในหนังสือพิมพ์กลุ่มเน้นเสนอข้อมูล (กรุงเทพธุรกิจ, โพสต์ทูเดย์, มติชน และผู้จัดการ) มากกว่า หนังสือพิมพ์กลุ่มเน้นรายงานข่าวแบบเล่าเรื่อง (ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ข่าวสด และคมชัดลึก)


 


1. รูปแบบการเขียน (Format) พบว่าหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 กลุ่ม นำเสนอเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบข้อเขียนแบบข่าว มากกว่ารูปแบบข้อเขียนอื่นๆ ได้แก่ คอลัมน์ รายงานพิเศษ/สกู๊ป บทความ/บทวิเคราะห์ และบทบรรณาธิการ ตามลำดับ


 


2. ประเด็นเนื้อหา (Content) เมื่อจัดลำดับจากมากไปน้อย ของการเสนอเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาลโดย หนังสือพิมพ์ทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า  อันดับ 1 คือ ปัญหา ความท้าทายและภารกิจของแต่ละกระทรวงหลังจัดตั้งรัฐบาล, อันดับ 2 เป็น เนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องหลังของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง, อันดับ 3  คุณสมบัติของนักการเมืองที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการแต่ละกระทรวง, อันดับ 4 เนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลผลประโยชน์ของสาธารณะ  และ น้อยที่สุดคือ อันดับ 5 เนื้อหาเกี่ยวกับแนวความคิดทางการเมือง


 


พิจารณาในแต่ละประเด็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล


ประเด็นแรก ปัญหา ความท้าทายและภารกิจของแต่ละกระทรวงหลังจัดตั้งรัฐบาล


ประเด็นนี้พบมากในรูปแบบ บทความ รายงานพิเศษ และ สกู๊ป ส่วนกระทรวงที่ได้รับการนำเสนอปัญหา ความท้าทายและภารกิจมากที่สุด คือ กระทรวงด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ แหล่งข่าวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 กลุ่ม มักเน้นภาคธุรกิจเอกชนจากส่วนกลางและภูมิภาค เช่น ภาคการเงิน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงแหล่งข่าวจากรัฐบาลชุด "สุรยุทธ์" ที่ฝากภารกิจสำคัญของแต่ละกระทรวง


แหล่งข่าวที่เป็น กลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  รวมทั้งผลการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือโพลล์ต่างๆ นั้นพบว่ามีน้อย และบางส่วนก็นำเสนอทัศนคติของดาราคนดังว่าอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง


กระทรวงที่ได้รับความสำคัญรองลงมาคือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม และ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ


อาจสรุปได้ว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่หนังสือพิมพ์นำเสนอคือสภาพเศรษฐกิจของประเทศปัจจุบัน และเน้นมิติเฉพาะหน้า (3-4 เดือน) ข้อมูลที่นำมาเสนอยังขาดความลึกรอบด้านและความหลากหลาย อีกทั้งยังยากต่อการทำความเข้าใจ เพื่อเชื่อมโยงกับปัญหาในมิติอื่นๆ


 


ประเด็นที่ 2 คุณสมบัติของนักการเมืองที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการแต่ละกระทรวง


ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะการนำเสนอเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ที่แสดงถึงคุณสมบัติของว่าที่รัฐมนตรี  เมื่อเรียงลำดับจากมากไปน้อย สรุปได้ดังนี้


1) หนังสือพิมพ์เน้นนำเสนอในลักษณะ ความคาดหวังถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงโดยเฉพาะกระทรวงด้านเศรษฐกิจ จากมุมมองทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักธุรกิจและภาคเอกชน


2) สำหรับคุณสมบัติส่วนบุคคลของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เนื้อหาที่ปรากฏส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์เพื่อให้เห็นสายสัมพันธ์ทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร  ทั้งนี้มีการตั้งฉายาให้กับคณะรัฐมนตรี ที่สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับ "อำนาจเก่า" เช่น "ครม.หุ่นเชิด" "ครม.ผัวเมีย-พ่อลูก-พี่น้อง-นายบ่าว" "ชุดนางโลม" เป็นต้น


อย่างไรก็ดี เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์ทางการเมือง และประวัติเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในอดีต รวมถึงคดีความที่ยังไม่ได้ตัดสินที่ติดตัวมา พบว่ามีนำเสนอบ้างแต่ไม่มากนัก


3) เนื้อหาเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการบริหารประเทศพบเป็นลำดับสุดท้าย


อาจสรุปได้ว่า หนังสือพิมพ์เน้นการนำเสนอ ความคาดหวังถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง โดยเน้นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ สำหรับคุณสมบัติส่วนบุคคลของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์เพื่อให้เห็นสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่ ส่วนน้อยมาก เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์ทางการเมือง ประวัติเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในอดีต  รวมทั้ง เนื้อหาเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในการบริหารประเทศ ที่มีการนำเสนอน้อยมาก เช่นกัน


 


ประเด็นที่ 3 เนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องหลังของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง


เนื้อหา ส่วนมากมักเกี่ยวกับการต่อรองตำแหน่งของกลุ่ม ก๊วนการเมืองต่างๆ  หรือการต่อรองของกลุ่มสส.ภาคอีสาน ที่เป็นคนของนายเนวิน ชิดชอบ  หรือกลุ่ม สส.ภาคเหนือของพรรคพลังประชาชน หรือเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางไปพบอดีตนายกฯทักษิณ รวมถึงการคาดการณ์ตำแหน่งของว่าที่รัฐมนตรีต่างๆ สัดส่วนและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในการแบ่งเค้กกระทรวงตามระดับเกรดต่างๆ นอกจากนี้ ยังปรากฎเนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องหลังของการเมืองและการทหาร จากกรณีสรรหาผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย


อาจสรุปได้ว่า หนังสือพิมพ์เน้นการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อรองตำแหน่งของกลุ่ม ก๊วนการเมืองต่างๆ การคาดการณ์ตำแหน่ง และผลประโยชน์จากการแบ่งเค้กกระทรวงตามระดับเกรดต่างๆ รวมทั้งข้อมูลเบื้องหลังของการเมืองและการทหาร


 


ประเด็นที่ 4 เนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลผลประโยชน์ของสาธารณะ


เป็นเนื้อหาที่พบได้น้อยในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ส่วนมากเน้นเปิดเผยให้เห็นผลประโยชน์ที่กลุ่มการเมืองจะได้รับมากกว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนหรือสาธารณะควรได้รับ ที่พบในบทวิเคราะห์/บทความ ที่มักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ "ว่าที่รัฐบาล" ที่จะส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม การวิพากษ์วิจารณ์ส่วนมากพยายามชี้แนะ และเตือนรัฐบาลล่วงหน้าว่าควรดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างรัดกุมรอบคอบ มากกว่าการบริหารประเทศโดยมุ่งเน้นเรื่องฐานเสียงและความนิยม


อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างขาดเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของประชาชนในกรณีที่ "ว่าที่รัฐมนตรี" นั้น ๆจะมาคุมกระทรวงต่างๆ   และยังพบการนำเสนอเนื้อหาผลประโยชน์ของประชาชนจากการรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยเอแบคโพลล์ เกี่ยวกับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไข


ข้อสังเกต สาเหตุหนึ่งที่ประเด็นข่าวด้านนี้ขาดหายไปอย่างมากอาจเป็นเพราะขาดแหล่งข่าวในส่วนของภาคประชาชน-ประชาสังคมที่จะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ


อาจสรุปได้ว่า เนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นเนื้อหาที่พบได้น้อยในข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แต่พบในบทวิเคราะห์/บทความ ที่มักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ "ว่าที่รัฐบาล" โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม ที่จะส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะ และ ค่อนข้างขาดเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของประชาชนในกรณีที่ "ว่าที่รัฐมนตรี" นั้น ๆจะมาคุมกระทรวงต่างๆ


 


ประเด็นที่ 5 แนวความคิดทางการเมือง


เนื้อหาด้านแนวคิดทางการเมือง ในที่นี้ หมายถึงแก่นปรัชญาความคิดทางการเมืองหรือประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลในอดีต  จากการศึกษาพบว่า เนื้อหาที่ปรากฏและตรงตามคุณสมบัติในข้อนี้กลับมุ่งเน้นที่ข้อมูลความรู้ทางการเมืองในมิติประเด็นที่ซับซ้อนน้อยกว่า อาทิ กระบวนการและธรรมเนียมปฏิบัติในการจัดตั้งรัฐบาล การอธิบายความหมายของ "รัฐบาลเงา" โดยเปรียบเทียบกับระบอบการเมืองประเทศอังกฤษ, การเปรียบเทียบวาระการดำรงตำแหน่งของ สส.และเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศอังกฤษกับ ประเทศอเมริกา, การให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน, การอธิบายเพิ่มเติมมาตรา 182 และมาตรา 174 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี เป็นต้น   


 อาจสรุปได้ว่า เนื้อหาแนวคิดทางการเมืองยังมีจำนวนน้อยและไม่ใช่เนื้อหาเชิงลึกที่ทำให้เกิดการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์มากนัก


 


3. วิธีการนำเสนอเนื้อหา (style of writing) แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ และการคาดการณ์


พบว่า โดยทั่วไป หนังสือพิมพ์มักนำเสนอข่าว/เนื้อหาผ่านการบรรยายบอกเล่ารายละเอียดตามเรื่องราวเหตุการณ์ทั่วไป ซึ่งปรากฏในรูปแบบข่าวต่อเนื่องจากข่าวพาดหัว โดยนำเสนอบทสัมภาษณ์แหล่งข่าว หรือการไล่ตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ในแต่ละวัน หรือรูปแบบคอลัมน์ที่เน้นการวิจารณ์เหตุการณ์หรือตัวบุคคลมากกว่าที่จะไล่เรียงตามประเด็นข่าว โดยกลวิธีการนำเสนอส่วนมากเป็นการบอกเล่า


ขณะที่การรายงานข่าวเชิงสืบสวน/เจาะลึกมักปรากฏในรายงานพิเศษ หรือคอลัมน์ ซึ่งต้องอาศัยปริมาณและความลึกของข้อมูล  และจำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลนั้นด้วยกลวิธีการเขียนแบบวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และที่สำคัญคือต้องคาดการณ์ถึงสภาวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ผู้อ่านได้รับทราบ


ผลการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบเนื้อหาที่ใช้กลวิธีทั้ง 3 ลักษณะ พบว่า หนังสือพิมพ์ทั้ง 2 กลุ่มนำเสนอเนื้อหาแบบการวิเคราะห์มากที่สุด โดยแสดงให้เห็นรายละเอียดขององค์ประกอบต่างๆ เหตุ-ปัจจัยในสถานการณ์ทางการเมืองเรื่องการต่อรองเชิงอำนาจของกลุ่มการเมืองต่างๆ จากนั้นจึงใช้วิธีการแบบการคาดการณ์ โดยนำเสนอผลที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต  หรือผลที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่วิเคราะห์  ขณะที่วิธีการนำเสนอข้อมูลแบบการเปรียบเทียบเป็นวิธีการที่พบน้อยมาก  เพราะไม่ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ที่ศึกษามีการวิเคราะห์เปรียบเทียบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรีหรือนโยบายพรรคการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลต่างพรรค  แต่กลับให้น้ำหนักกับการเปรียบเทียบความมั่นคงทางการเมืองที่มาจาก "สัดส่วนตัวเลขส.." และ "ความลงตัวของผลประโยชน์ทางการเมือง" มากกว่าที่จะเปรียบเทียบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรีที่เป็นคู่แข่งกัน หรือการเปรียบเทียบวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ หรือแม้แต่การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา สิ่งนี้นอกจากสะท้อนพฤติกรรมของนักการเมืองไทย แล้ว อาจสะท้อนว่าสื่อมิได้คำนึงถึงบทบาทการชี้นำทางความคิดให้ผู้คนในประเทศว่า การจัดตั้งรัฐบาลควรจะมีทิศทางอย่างไรจึงจะสามารถช่วยกันพัฒนาระบอบความคิดแบบประชาธิปไตย


            อาจสรุปได้ว่า หนังสือพิมพ์มักนำเสนอข่าว/เนื้อหาผ่านการบรรยายบอกเล่ารายละเอียดตามเรื่องราวเหตุการณ์ทั่วไป ซึ่งปรากฏในรูปแบบข่าวต่อเนื่องจากข่าวพาดหัว ขณะที่การรายงานข่าวเชิงสืบสวน/เจาะลึกมักปรากฏในรายงานพิเศษ หรือคอลัมน์  และ หนังสือพิมพ์ทั้ง 2 กลุ่มนำเสนอเนื้อหาแบบการวิเคราะห์มากที่สุด โดยเสนอองค์ประกอบต่างๆ ทั้งเหตุ-ปัจจัยในสถานการณ์ทางการเมืองเรื่องการต่อรองเชิงอำนาจของกลุ่มการเมืองต่างๆ จากนั้นใช้วิธีการแบบคาดการณ์ ผลที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือจากสิ่งที่วิเคราะห์  ขณะที่วิธีการนำเสนอข้อมูลแบบการเปรียบเทียบเป็นวิธีการที่พบน้อยมาก  โดยเฉพาะการเปรียบเทียบ คุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรีหรือนโยบายพรรคการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลต่างพรรค การเปรียบเทียบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรีที่เป็นคู่แข่งกัน หรือการเปรียบเทียบวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ หรือแม้แต่การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา แต่กลับให้น้ำหนักกับการเปรียบเทียบความมั่นคงทางการเมืองที่มาจาก "สัดส่วนตัวเลขส.." และ "ความลงตัวของผลประโยชน์ทางการเมือง" มากกว่า


 


4. คุณภาพของเนื้อหาข่าวที่ส่งเสริมประชาธิปไตย (Democratic Quality of News) แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การให้รายละเอียดภูมิหลังของเหตุการณ์ลงในข่าว การทำให้สถานการณ์การเมืองมีความน่าสนใจในสายตาของประชาชนทั่วไป และ การอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวที่เกิดขึ้น


ผลการศึกษาพบว่า


4.1 กลุ่มหนังสือพิมพ์เน้นการรายงานข่าวแบบเสนอข้อมูล


คุณภาพที่พบมากที่สุดคือ การให้รายละเอียดภูมิหลังของเหตุการณ์ลงในข่าว   ด้วยการสรุปเหตุการณ์ย้อนหลังรอบสัปดาห์สั้นๆ ก่อนเริ่มนำเสนอเนื้อหาที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ  รองลงมาคือ การอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาลที่พบในข่าว/บทความ/คอลัมน์  มีความสำคัญ/ มีผลกระทบ/ต่อคนจำนวนมาก มีแง่มุมที่สำคัญและน่าสนใจ ที่อาจสร้างความขัดแย้งทางสังคม หรือเป็นเรื่องราวที่สังคมควรให้ความสนใจ และอันดับสุดท้ายคือ การทำให้สถานการณ์การเมืองมีความน่าสนใจในสายตาของประชาชนทั่วไป เช่นการอธิบายเรื่องราวที่มีความสลับซับซ้อนทางการเมืองให้ง่าย ด้วยการใช้คำศัพท์ คำสรรพนาม คำวิเศษณ์ขยายเรื่องราวต่างๆ การอธิบายคำต่างๆ ให้ง่าย  


4.2 กลุ่มหนังสือพิมพ์เน้นการรายงานข่าวแบบเล่าเรื่อง


คุณภาพที่พบมากที่สุด คือ การให้รายละเอียดภูมิหลังของเหตุการณ์ลงในข่าว โดยอาจจะเป็นการสรุปเหตุการณ์ย้อนหลังรอบสัปดาห์สั้นๆ รองลงมาคือ การทำให้สถานการณ์การเมืองมีความน่าสนใจในสายตาของประชาชนทั่วไป  เช่น  การอธิบายเรื่องราวที่มีความสลับซับซ้อนทางการเมืองให้ง่าย   ด้วยการใช้คำศัพท์   คำสรรพนาม คำวิเศษณ์ขยายเรื่องราวต่างๆ การอธิบายคำต่างๆ ให้ง่าย และสุดท้ายคือ การอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาลที่พบในข่าว/บทความ/คอลัมน์ที่อ่านนั้นๆ มีความสำคัญ/มีผลกระทบ/ต่อคนจำนวนมาก มีแง่มุมที่สำคัญและน่าสนใจ ที่อาจสร้างความขัดแย้งทางสังคม หรือเป็นเรื่องราวที่สังคมควรให้ความสนใจ


 


อาจสรุปได้ว่า หนังสือพิมพ์ทั้งสองกลุ่มเสนอเนื้อหาที่ส่งเสริมประชาธิปไตยด้วยการให้ภูมิหลังของเหตุการณ์ลงในข่าว   ด้วยการสรุปเหตุการณ์ย้อนหลังรอบสัปดาห์สั้นๆ ก่อนเริ่มนำเสนอเนื้อหาที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ วิธีการรองลงมา ในกลุ่มเน้นการรายงานข่าวแบบ เสนอข้อมูล ใช้การอธิบายให้เห็นความสำคัญของเรื่องราว โดยแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาลในข่าว/บทความ/คอลัมน์  มีความสำคัญ/ มีผลกระทบ/ต่อคนจำนวนมาก มีแง่มุมที่สำคัญและน่าสนใจ  และอันดับสุดท้ายคือ การอธิบายเรื่องราวที่มีความสลับซับซ้อนทางการเมืองให้ง่าย ด้วยการใช้คำศัพท์ คำสรรพนาม คำวิเศษณ์ขยายเรื่องราวต่างๆ ในขณะที่ ระดับรองลงมาของกลุ่มหนังสือพิมพ์เน้นการรายงานข่าวแบบเล่าเรื่อง คือ การทำให้สถานการณ์การเมืองมีความน่าสนใจในสายตาของประชาชนการด้วยการอธิบายเรื่องราวที่มีความสลับซับซ้อนทางการเมืองให้ง่าย และสุดท้ายคือ การอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวที่เกิดขึ้น


แม้จะพบว่าเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาลดูเหมือนจะมีคุณภาพจากทั้ง 3 ข้อ แต่ผลการศึกษาโดยรวมกลับชี้ให้เห็นว่า เนื้อหาที่นำเสนอส่วนมากยังเป็นเพียงการให้ข้อมูลพื้นฐานรายวันทั่วไป (to inform) และทำได้แค่เพียงการบอกว่าเกิดอะไรขึ้น โดยใคร เมื่อไร ที่ไหน (What Who When Where) แต่ไม่บอกว่าทำไม และอย่างไร (Why and How) เช่น ข่าวต่อเนื่องจากข่าวพาดหัว ที่นำเสนอบทสัมภาษณ์แต่ละแหล่งข่าว หรือไล่ตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ในแต่ละวัน หรือ คอลัมน์ที่เน้นการวิจารณ์เพื่อแสดงทัศนคติส่วนตัวของผู้เขียนต่อเหตุการณ์หรือตัวบุคคล


 


บทส่งท้าย


สถานการณ์ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปนั้น กล่าวได้ว่า สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ เป็นตัวแปรสำคัญในการร่วมพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เพราะข้อมูลที่สื่อหนังสือพิมพ์นำเสนอนอกจากสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพจะนำไปผลิตซ้ำ และขยายผลแล้ว ข้อมูลนั้นๆ ยังมีส่วนในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้ง ความตระหนักในความสำคัญของ การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการประชาธิปไตย ที่มิใช่เพียงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เท่านั้น


หนังสือพิมพ์จึงควรเป็นสื่อกลาง สะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาบ้านเมืองที่รอการแก้ไข รวมทั้งแนวทางการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ที่รัฐบาลโดยนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง ต้องตระหนักและรับผิดชอบ บทบาทสื่อในการตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ด้วยการเสนอข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังของนักการเมือง การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน  และการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก รอบด้าน ที่เป็นประโยชน์และเข้าใจได้ง่าย การวิเคราะห์ เปรียบเทียบและคาดการณ์สถานการณ์ทางการเมืองที่มีสาระ มิใช่เพียงแค่อ่านสนุก หรือ เพื่อแสดงการวิเคราะห์ การคาดการณ์ได้แม่นยำ แต่จะต้องชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองเป็นสำคัญ มากกว่า เพียงรายงานข่าวความคิด-ความเห็นของนักการเมือง


การนำเสนอประเด็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องหลังของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและ เนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลผลประโยชน์ของสาธารณะ นับว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่านทั้งสิ้น แต่จำเป็นจะต้องมีความสมดุลกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลรอบด้าน เกิดการรู้เท่าทันทางการเมือง


แต่จากการศึกษา พบว่า หนังสือพิมพ์เน้นการเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องหลังของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ ถึง 2-3 เท่า ผลจากการนำเสนอเช่นนี้อาจทำให้ผู้อ่านมองการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมือง และไม่เห็นความสำคัญในการมีส่วนร่วมสร้างการเมืองคุณภาพของประชาชน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศในที่สุด


กล่าวได้ว่า ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า สื่อหนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ได้ดีในเชิงปริมาณเนื้อหาที่มากและหลากหลาย แต่อาจมีข้อด้อยในเรื่องทัศนคติการคัดเลือกประเด็นเนื้อหา ที่ยังไม่เปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมๆ คือเน้นการนำเสนอเนื้อหาการจัดตั้งรัฐบาล โดยเน้นที่ตัวบุคคล-นักการเมือง แทนที่สื่อหนังสือพิมพ์จะเป็นผู้นำในประเด็นเพื่อสังคมว่า "การจัดตั้งรัฐบาลควรมาจากอุดมการณ์ทางการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง ที่ประกาศหาเสียง" ขณะที่วิธีการนำเสนอข้อมูลก็พบว่าเนื้อหาโดยมากเป็นข่าวเล่าเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวแบบรายวันมากกว่าเนื้อหาข่าวเชิงวิเคราะห์เจาะลึกหรือข่าวเชิงตีความ


 


            ความเห็นเพิ่มเติมจากวิทยากร


ด้านวิทยากรที่เข้าร่วมการแถลงผลการศึกษานำโดย รศ.ดร.พีระ จิระโสภณ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า  การศึกษาครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนวาทกรรมของนักการเมืองเท่านั้น แต่สื่อก็มีส่วนสร้างวาทกรรมจนกลายเป็นการสร้างวิวาทกรรมได้  ผลการศึกษาน่าจะเป็นผลดีต่อสื่อในแง่ที่มีกระจกมาสะท้อนให้เห็นว่าสื่อเป็นอย่างไร อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ทางวิชาการและสังคมส่วนรวมด้วย เพราะหากสื่อนำไปปรับปรุงการทำงานในวิชาชีพของตน ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย


ในส่วนผลการศึกษาที่พบเนื้อหาการตรวจสอบคุณสมบัติเชิงจริยธรรมของนักการเมืองไม่มากนั้น ดร.พีระ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะสังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับจริยธรรมมากพอ จึงอยากให้เรื่องจริยธรรมเป็นประเด็นสำคัญบทบาทควบคู่ไปกับการรายงานข่าวทางการเมืองให้มากกกว่านี้ นอกจากนี้ รศ.ดร.พีระ กังวลเกี่ยวกับ การทำข่าวให้เป็นละครซึ่งอันตราย เพราะเป็นการทำให้เรื่องราวที่จริงจังกลายเป็นเรื่องสนุกไปเสียหมด


สำหรับนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์มติชนและอุปนายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่า การทำงานของสื่อในปัจจุบันยังขาดการเชื่อมโยงกับแหล่งข่าวภาคประชาชนมาก เพราะสื่อคุ้นเคยกับแหล่งข่าวที่เป็นองค์กรต่างๆ ส่วนภาคประชาชนนั้นเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาใหม่ มีความหลากหลาย สื่อเลยไม่รู้ว่าตัวแทนกลุ่มต่างๆ นั้นคือใคร จึงสืบค้นให้มาเป็นแหล่งข่าวค่อนข้างยาก ดังนั้นภาคประชาชนต้องจัดกิจกรรมทางการเมือง ให้ต่อเนื่อง เพื่อให้สื่อรู้จักคุ้นเคยมากขึ้น เช่น ก่อนการเลือกตั้ง มีการจัดกิจกรรม "ติดดาว"พรรคการเมือง แต่พอหลังเลือกตั้ง กิจกรรมเช่นนี้ก็หายไป


ทั้งนี้ นายประสงค์ อธิบายว่าสาเหตุที่การรายงานข่าวในปัจจุบันยังขาดความลึกและรอบด้านเป็นเพราะวิธีการทำงานของสื่อและสังคมด้วย ในส่วนของสื่อ นักข่าวภาคสนามของไทย ส่วนใหญ่อายุน้อย ขาดประสบการณ์ และความร่วมในสถานการณ์สำคัญทางการเมือง เช่นเหตุการณ์ตุลา 19 นอกจากนั้น ยังมีวิธีการทำงานเป็นกลุ่ม แบ่งกันหาข่าวจากแหล่งข่าว แล้วมาเขียนข่าวด้วยกัน ก่อนส่งไปที่ต้นสังกัดของแต่ละคน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทำข่าวแบบหมู่ ไม่ยอมตกข่าว ผลคือ ข่าวส่วนใหญ่ที่ออกมา ไม่แตกต่างกันนัก


ในส่วนของสังคมไทย  ตอนนี้ถูกวาทกรรมสมานฉันท์ครอบงำ ส่งผลให้สื่อมักโดนตำหนิเสมอว่าไม่มีส่วนในการสร้างความสมานฉันท์  หากจะเสนอเนื้อหาขุดคุ้ยประวัติเบื้องหลังของนักการเมือง จึงมีส่วนทำให้สื่อไม่อยากทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง


ด้าน นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตผลการศึกษาว่า การที่สื่อนำเสนอเนื้อหาในประเด็นคุณสมบัติของนักการเมืองอาจถือเป็นการตรวจสอบคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองในทางอ้อม แต่ทั้งนี้น่าจะนิยามความหมายของ "คุณธรรมจริยธรรม" ให้ชัดเจน พร้อมเสริมว่า สื่อควรนำเสนอประเด็นกลุ่มผลประโยชน์เบื้องหลังทางการเมืองให้มาก แต่อาจพบความท้าทายที่ไม่สามารถสื่อสารจูงใจให้ผู้อ่านมาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงได้  ส่วนที่ว่า สื่อนำเสนอเนื้อหาที่ส่งเสริมประชาธิปไตย อย่างไปไมถึง "ทำไม อย่างไร" นั้น เห็นว่าเป็นเพราะคนทำข่าวก็ตกอยู่ในกระแสร่วมของสังคม(ที่ไม่ตระหนักและสนใจในต้นเหตุ และ กระบวนการ เหมือนกัน) และอาจเพราะข้อจำกัดด้านเวลา


 


      อย่างไรก็ดี  ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า ผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ แม้จะศึกษาในช่วงเหตุการณ์สั้นๆ แต่ส่งผลกระทบสูง เพราะมีหนังสือพิมพ์มาเกี่ยวข้อง ส่วนตัว ยอมรับว่าเป็นกระจกสะท้อนสื่อและ ในฐานะที่ดูแลงานวิชาการขององค์กรวิชาชีพหนังสือพิมพ์ รับว่าจะนำผลการศึกษานี้ไปดำเนินการต่อไป


 


                                                   


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net