Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.

".. เมื่อพูดถึงการต่อสู้กับศัตรู "ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ ความเจริญที่ไม่เท่าเทียม" มันมักจะพาให้คนที่ต่อสู้กลับไปหาแนวคิดเก่าๆ โดยไม่นึกย้อนมองประวัติศาสตร์ว่าสิ่งเก่านั้นมันเคยกระทำระยำอัปรีย์กับเรามายังไง .."

2.

"..แสนเสียดายที่เสาหลักทางภูมิปัญญาของภาคประชาชนทั้งหลายนั้น งี่เง่าในเรื่องของวิทยาศาสตร์และการพัฒนาอุตสาหกรรม และมันก็ง่ายแสนง่ายเมื่อพวกเขาไม่เข้าใจและฉลาดไม่พอสำหรับการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และการพัฒนาอุดสาหกรรม พวกเขาจึงเลือกที่จะโจมตีแนวคิดเหล่านี้เสีย .." 

3.

".. ความตายของนักอนุรักษ์นั้นยิ่งใหญ่ดุจดั่งการดับสูญของเทวดา แต่ความตายของคนที่ดิ้นรนเพื่อปากท้องมากกว่าการอนุรักษ์ ถูกตีค่าเปรียบเหมือนหมาข้างถนนตัวหนึ่ง .."

 

เมื่อพูดถึงการต่อสู้กับศัตรู "ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ ความเจริญที่ไม่เท่าเทียม" มันมักจะพาให้คนที่ต่อสู้กลับไปหาแนวคิดเก่าๆ โดยไม่นึกย้อนมองประวัติศาสตร์ว่าสิ่งเก่านั้นมันเคยกระทำระยำอัปรีย์กับเรามายังไง เช่น การขุดแนวคิดชาตินิยมขวาจัดมาต่อกรกับการเข้ามาของนายทุนข้ามชาติ เป็นต้น

สายลม แสงแดด การกลับสู่วิถีชุมชน วิถีแห่งธรรมชาติเพื่อค้นหาตัวเองในวิถีพอเพียง การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อต่อต้านระบบทุนนิยม --- แนวคิดเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมสำหรับนักเคลื่อนไหวไทยในปัจจุบัน

ในด้านหนึ่งแนวคิดชุมชนนิยมถูกวาดภาพให้กลับไปหาสังคมสาธารณะร่วมกัน (commune) แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย

ส่วนอีกด้าน นี่คือการกลับไปสู่ลัทธิกีดกัน (protectionism) แบ่งแยกคนใน-คนนอกชุมชน รวมถึงคนที่ไม่มีอุดมการณ์ชุมชนนิยมให้เป็นอื่น แต่ละชุมชนไม่ขึ้นต่อกัน ไม่สัมพันธ์กัน และไม่เท่ากัน เพราะศักยภาพของแต่ละชุมชนย่อมแตกต่างกัน --- และจะมีสักกี่ชุมชนที่มีศักยภาพเลี้ยงคนในชุมชนให้อิ่มหมีพีมันได้ถ้วนหน้าจริงๆ

ทั้งนี้ แนวคิดชุมชนยังเข้าได้ดีกับศาสนาพอเพียง และทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับ "ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ ความเจริญที่ไม่เท่าเทียม" เลย ..หนำซ้ำมันยังเข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย

"ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ ความเจริญที่ไม่เท่าเทียม" จะยอมปล่อยให้เกิดวีถีชุมชนดำเนินต่อ หากมันไม่ไปขวางทางการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแนวคิดชุมชนก็จะไม่ไปยุ่งย่ามกับการปฏิรูปสังคมทั้งระบบอยู่แล้ว มีแต่การปกป้องท้องถิ่นของตนเองเท่านั้น

"มึงสร้างกูเผา" จะไม่แปรเปลี่ยนเป็น "มึงยึดอำนาจกูเผา" หรือ "มึงไม่มีที่ทำกิน เราไปช่วยกันเผานายทุน" เป็นต้น แนวชุมชนป้องกันตนเองจะไม่หาพันธมิตรนอกเหนือการต่อสู้กรณีเดียวกับเขา และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมก็ไม่ได้บรรจุอยู่ในอุดมการณ์เคลื่อนไหวของพวกเขา

รวมถึงวิธีการของแนวอนาธิปไตย --- เครือข่ายยิบย่อย แยกกันตีตอนมีปัญหา สู้แบบไร้กระบวนท่า ฯลฯเหล่านี้คือวิธีการที่แนวชุมชนนิยมนำมาใช้ และได้พิสูจน์แล้วว่ามักจะถูกปราบปรามได้อย่างง่ายแสนง่าย รวมถึงยืนระยะได้ไม่นานนัก

จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในมุมมองหนึ่ง วิถีชุมชนยังได้สร้าง "สวนสัตว์มนุษย์" เพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางเลือก ให้ผู้บริโภคในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี้ได้รับรสชาติที่แปลกใหม่ การอนุรักษ์ความกันดาร การอนุรักษ์ชาวเขาในเชิงการค้าแบบท่องเที่ยว เป็นต้น

การพยายามสตัฟบรรยากาศดีๆ ไว้ให้ชนชั้นกลางเสพย์ (NGO"s นักวิจัย หรือกลุ่มดูงาน) ในชุมชนจะต้องมีการสร้างมาตรฐานเดียวกัน (normalization) ใครบังอาจที่จะแตกต่าง อาทิ ใส่กางเกงยีนส์ขณะที่คนอื่นใส่เสื้อผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือใช้มือถือ บริโภคความเจริญทั้งหลายแหล่ ก็จะถูกมองว่าเป็นคนอื่น เป็นคนโง่ คนงี่เง่า คนไม่เจียมตัว เป็นทาสทุนนิยม!

อย่างในบ้านผม ดูตัวอย่างได้จากสิ่งที่ชนชั้นกลางนักเคลื่อนไหวได้เข้ามาบุกเบิกไว้ เช่น โฮมสเตย์ NGO"s, บ้านพักนักเขียน, ร้านอาหารคนกรุงเทพฯ รักเชียงใหม่ ฯลฯ สถานก่อสร้างบรรยากาศล้านนาที่ผุดขึ้นอย่างดอกเห็ด และเมื่อจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ สร้างงานสร้างอาชีพให้คนยากจนจำนวนมาก คนเหล่านี้จะออกมาคัดค้านการทำลายธรรมชาติ ทำลายความเป็นล้านนาอันเนิบนาบ ทำลายวิถีชุมชนที่เขาหวงแหน และตราหน้าว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือสิ่งที่ไม่ยั่งยืน

สิ่งที่ยั่งยืนแท้จริงคือการทำตามแบบวิถีชุมชนวิถีธรรมชาติแบบพวกเขา --- ผมจะไม่เถียงเรื่องความยั่งยืน แต่คนที่ได้ประโยชน์จากความยั่งยืนแบบพวกคุณจะมีสักกี่คน และขอโทษ---การซื้อหาทำเลที่ตั้งแบบวิถีชุมชนวิถีธรรมชาตินั้นมันแพงชะมัดยาก!

นอกจากนี้ยังมีการสร้างผลผลิตในอุตสาหกรรม fair trade ที่ชุมชนผลิต และมีแต่นักช็อปกระเป๋าหนักเท่านั้นที่อุดหนุนผลิตภัณฑ์เขียวและราคาแพงไว้สะสมในคอลเล็กชันผู้บริโภคที่มีคุณธรรมของพวกเขาเพราะสิ่งของเหล่านั้นไม่ได้ผลิตซ้ำในคราวละมากๆ แบบที่ทุนนิยมผลิตของให้คนจนส่วนใหญ่ใช้ -- การตลาดแบบชนชั้นชอบมากที่จะจัดระดับของหายากนี้ไว้อยู่ในหมวดสินค้าทรงคุณค่า

ผมจำได้ว่ามีรายการทีวีรายการหนึ่งชอบที่จะนำอัครสาวกของศาสนาพอเพียงหลายๆ คนมานำเสนอ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่ผิดหวังจากการต่อสู้ในระบบทุนนิยม แต่โชคดีมหาศาลที่หลายคนมีต้นทุนอย่างที่ทำกิน ที่ซุกหัวนอนที่สุดวิเศษ พวกเขายังมีศักยภาพในการสร้างวิมานที่ปฏิเสธการแข่งขัน  --- บางคนถึงกับวางอนาคตให้ลูกหลาน ตัดสินให้ลูกหลานออกจากระบบการแข่งขัน แล้วให้มาปฏิบัติตนตามเขา

และอุดมการณ์เช่นนี้ได้ครอบงำชนชั้นกลางบางส่วนให้ทำงานเก็บเงินเก็บทอง เพื่อแสวงหาที่ดินในต่างจังหวัด ปลูกผัก ปลูกไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำโฮมสเตย์ ในบั้นปลายชีวิต โดยใช้เงินสะสมที่เก็บมาตลอดชีวิต

ส่วนลูกหลานของชาวบ้านที่ถูกชนชั้นกลางเหล่านี้ซื้อที่ดินไป ก็ต้องเดินหน้าสู่เมืองใหญ่ ดิ้นรนหาทางรอดในป่าคอนกรีตแห่งนั้น

รากเหง้าของการโปรแนวคิดชุมชนอย่างไม่บันยะบันยัง อย่างน้อยก็ต้องให้เครดิต "เสาหลักทางภูมิปัญญาของภาคประชาชน"

แสนเสียดายที่เสาหลักทางภูมิปัญญาของภาคประชาชนทั้งหลายนั้นงี่เง่าในเรื่องของวิทยาศาสตร์และการพัฒนาอุตสาหกรรม และมันก็ง่ายแสนง่ายเมื่อพวกเขาไม่เข้าใจและฉลาดไม่พอสำหรับการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และการพัฒนาอุดสาหกรรม พวกเขาจึงเลือกที่จะโจมตีแนวคิดเหล่านี้เสีย

แนวคิดทางสังคมศาสตร์ที่พวกเขาพร่ำสอนมันจึงไม่ได้เรื่องนักในสถานการณ์ที่เป็นจริง แนวคิดของเขามันคงจะมีประโยชน์แค่การเป็นคลังความรู้ในการทำวิทยานิพนธ์ที่อ่านยาก แต่นำมาใช้อะไรไม่ได้ของบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ หรือไม่ก็พิมพ์พ็อกเกตบุ๊คทิ้งไว้จนปกซีด กินเงินเดือนมหาวิทยาลัยและรอบำเหน็จบำนาญในตอนเกษียน

ซึ่งจะว่าไปก็น่าสงสารคนเหล่านี้ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักจะทำอะไรได้ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน นอกเหนือจากสิ่งที่ได้กล่าวไป

เราจะรับรองได้อย่างไรว่าในชุมชนหนึ่งๆ ทุกคนจะเท่าเทียมกันหมด ทุกคนจะมีความสุขดีเหมือนกันหมด

ในอีกด้านหนึ่งคนจนในชุมชนที่ไม่ได้รับผลประโยชน์กับสิ่งที่เป็นอยู่ ผิดไหมที่เขาจะหาสิ่งที่ดีให้กับชีวิต ผิดไหมที่เขาจะดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อมีชีวิตอยู่ไปวันๆ --- ผิดไหมที่สนับสนุนการพัฒนาทางอุตสาหกรรม? ซึ่งเป็นความหวังครั้งใหม่ของพวกเขา

คนเหล่านี้จะไม่เคยถูกกล่าวถึง หรือถ้าจะมีการพูดถึงก็มักจะเป็นการกล่าวหาว่า "โดนนายทุนหลอก" โดนนายทุนซื้อ เป็นคนงี่เง่า เป็นอันธพาลก่อกวน --- น่าเศร้าใจที่ความตายของนักอนุรักษ์นั้นยิ่งใหญ่ดุจดั่งการดับสูญของเทวดา แต่ความตายของคนที่ดิ้นรนเพื่อปากท้องมากกว่าการอนุรักษ์ ถูกตีค่าเปรียบเหมือนหมาข้างถนนตัวหนึ่ง!

ปัญหาที่ซ้อนทับกับการทำลายสิ่งแวดล้อมการทำลายชุมชน ก็คือ ปัญหาชนชั้นและความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งมันมีอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะในหมู่บ้านหรือเมืองใหญ่ …และแนวคิดชุมชนไม่เคยไปไกลกว่าในเรื่องของชุมชนของพวกเขาเอง!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net