Skip to main content
sharethis


 


อดิศร เกิดมงคล


International Rescue Committee (IRC)


Migrant Working Group (MWG)


 


 


จะเกิดอะไรขึ้น?


หากเช้าอันแสนวุ่นวายของคุณพ่อบ้านแม่บ้านสมัยใหม่ที่ต้องเร่งรีบออกไปทำงาน ฝ่ามรสุมการจราจรที่แสนจะติดขัดโดยไม่มีคนคอยดูแลเรื่องอาหารเช้า รีดเสื้อผ้า ทำความสะอาดบ้าน เลี้ยงดูลูกที่ยังเล็ก บ้านหลังนี้คงวุ่นวายโกลาหล เต็มไปด้วยฝุ่นผงหยากไย่ เสียงลูกๆ ร้องไห้กระจองอแงลั่นบ้าน นี้คงเป็นเหตุผลที่หลายคนต้องหาผู้ช่วยแม่บ้าน คุณแจ๋วหน้าใสมาแบ่งเบาภาระเหล่านี้ไป ทำให้บ้านกลายเป็นบ้านที่น่าอยู่ หลังจากกลับมาจากงานอันแสนเหน็ดเหนื่อยและน่าเบื่อหน่ายในแต่ละวัน


 


จะเป็นอย่างไร?


หากวันนี้เราเดินเข้าร้านอาหารชื่อดังตามห้างสรรพสินค้า หวังจะกินสุกี้ทะเลสักหม้อ แต่ต้องได้รับคำตอบว่าอาหารทะเลในร้าน กุ้งปลาปูทั้งหลายไม่มีแล้วหมดลงแล้ว เนื่องจากไม่มีคนงานหาปลาหากุ้งได้มากพอ คิดไปไกลกว่านั้น กิจการอาหารทะเลแช่แข็งที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย จะทำอย่างไรหากไม่มีแรงงานเข้าไปทำงานในกิจการประมงและกิจการอาหารทะเลแช่แข็งที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นงานที่หนักและสกปรก เงินรายได้ที่เคยเข้าประเทศปีละหลายร้อยหลายพันล้านก็อาจจะหายไปต่อหน้าต่อตา


 


จะทำอย่างไร? 


หากวันนี้การได้มีบ้านของตัวเองสักหลังที่สู้ทนอดออมเก็บเงินหรือกู้ยืมเงินมา แต่ต้องรอแล้วรอเล่า เพราะไม่มีแรงงานมาทำงานก่อสร้าง


 


เรื่องราวทั้งหมดคงไม่เกิดขึ้นจริงในตอนนี้ (หรือเปล่า?)


แต่พอมานั่งคิดดู เราก็จะพบว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นงานผู้ช่วยแม่บ้าน ประมงทะเล หรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาหารทะเล เกษตรกรรม ก่อสร้าง คนที่ทำงานต่างๆเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือ พม่า ลาว กัมพูชา แรงงานเหล่านี้ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญคงมีใครต่อใครหลายคนที่จ้างแรงงานเหล่านี้มาทำงานทั้งในบ้านและสถานประกอบการ


 


คนที่เคยจ้างแรงงานข้ามชาติจะทราบดีว่าการจ้างแรงงานกลุ่มนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น ไม่ใช่แค่การรับลูกจ้างเข้ามาทำงานเท่านั้น จะต้องมีการขออนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานด้วยเช่นกัน แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่าแรงงานข้ามชาติที่ว่ามานี้ส่วนใหญ่ไม่มีหนังสือเดินทาง จะขออนุญาตได้อย่างไร?


 


ที่ผ่านมาประเทศไทยขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในส่วนของภาคกรรมกรและคนรับใช้ในบ้านค่อนข้างมาก ประกอบกับการเคลื่อนย้ายของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาประเทศไทย ทั้งด้วยปัจจัยทางการเมือง เช่น กรณีประเทศพม่าที่มีความขัดแย้งทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนต้องหลบหนีภัยดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทย หรือด้วยสาเหตุของความต้องการแรงงานของประเทศไทยและแรงผลักดันทางเศรษฐกิจจากประเทศต้นทาง ทำให้รัฐบาลไทยในแต่ละยุคจึงมีนโยบายที่อนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ได้เป็นการชั่วคราวปีต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆมาเป็นระยะๆ และมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง


 


ดังเช่น ในปี 2547 ได้มีการเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติจากสามประเทศนี้ทั้งหมด และมีการจัดทำทะเบียนประวัติอย่างเป็นระบบ และพยายามจะให้ประเทศเพื่อนบ้านดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานกลุ่มนี้เพื่อนำไปสู่การมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย และปรับเข้าสู่การนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไปในอนาคต ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ประเทศที่มีปัจจัยทางการเมืองเป็นแรงผลักดันให้เกิดการย้ายถิ่นอย่างประเทศพม่า จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และยังใช้ระบบจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานต่อไป


 


ใครสามารถจดทะเบียนในปีนี้ได้บ้าง?


ปีนี้ก็เช่นเดียวกันรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากสามประเทศ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งในลักษณะของการต่อใบอนุญาตการทำงาน และการลงทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานใหม่ (อีกครั้ง) ซึ่งถ้าแบ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 จะมีแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา ที่สามารถมาขออนุญาตทำงานได้ทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ


 


1. กลุ่มที่บัตรอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2551


2. กลุ่มที่บัตรจะหมดอายุในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551


3. กลุ่มที่จดทะเบียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และจังหวัดสงขลาในเฉพาะอำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งบัตรอนุญาตจะหมดอายุวันที่ 14 มีนาคม 2551


4. กลุ่มที่เคยจดทะเบียนจดทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง (มีเอกสารที่เรียกว่า ทร.38/1) ตั้งแต่ปี 2547 แล้วปีต่อมาไม่ได้มาขอใบอนุญาตทำงานหรือต่อใบอนุญาตทำงาน


 


หากถ้าใครเป็นนายจ้างซึ่งจ้างแรงงานในสามกลุ่มแรก ก็ดำเนินการนำแรงงานข้ามชาติของตนเองไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลของรัฐที่กำหนดไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 กรกฎาคม 2551 หลังจากนั้นก็ไปขอต่อใบอนุญาตทำงานตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ คือ


 


1.       กลุ่มที่บัตรหมดอายุ 28 กุมภาพันธ์ 2551 สามารถไปดำเนินการขอต่อใบอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 1- 28 กุมภาพันธ์ 2551


2.       กลุ่มที่บัตรหมดอายุ 14 มีนาคม 2551 สามารถไปดำเนินการขอต่อใบอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 13กุมภาพันธ์  ถึง 14 มีนาคม 2551


3.       กลุ่มที่บัตรหมดอายุ 30 มิถุนายน 2551 สามารถไปดำเนินการขอต่อใบอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 1- 30 มิถุนายน 2551


ส่วนกลุ่มที่ 4 คือกลุ่มคนที่เคยมีทร.38/1 นั้น ตามหลักการแล้วคนกลุ่มนี้คือคนที่ใบอนุญาตทำงานและสิทธิในการอยู่อาศัยในประเทศไทยได้หมดไปนานแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องมาจัดทำทะเบียนคนต่างด้าวใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยนายจ้างที่จะจ้างแรงงานกลุ่มนี้จะต้องนำแรงงานข้ามชาติพร้อมหลักฐานที่มีอยู่ รูปถ่ายของแรงงานขนาด1 นิ้ว จำนวน 2 รูป และสำเนาบัตรประชาชนของนายจ้าง ไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่อยู่และจะจ้างงานในปัจจุบัน โดยต้องไปดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 21 มกราคม - 19 กุมภาพันธ์ 2551 เมื่อได้รับเอกสารฉบับใหม่แล้ว ก็นำแรงงานข้ามชาติไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลรัฐที่กำหนดไว้ในช่วงระหว่างวันที่ 21 มกราคม - 5 มีนาคม 2551 หลังจากนั้นก็ไปขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 21 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2551


 


จดทะเบียนแล้วมีประโยชน์อย่างไร?


การจดทะเบียนมีประโยชน์ทั้งต่อตัวนายจ้างและตัวแรงงานข้ามชาติเอง เพราะจะทำให้นายจ้างจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกจับกุมในข้อหาให้ที่พักพิงคนต่างด้าว หรือจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนแรงงานข้ามชาติก็จะไม่ถูกจับกุมในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วแรงงานข้ามชาติก็สามารถไปรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ทำประกันสุขภาพไว้ โดยเสียค่าบริการครั้งละ 30 บาท (ซึ่งหากไม่จดทะเบียนก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายตามจริง)


 


อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ เช่น แรงงานข้ามชาติบางคนก็มาเล่าให้ฟังว่ายังถูกเจ้าหน้าที่บางคนจับกุมและเรียกรับเงินแม้พวกเขาหรือเธอจะมีบัตรอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมายก็ตาม ซึ่งจุดนี้เองเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บางส่วน ต้องสร้างช่องทางให้แรงงานข้ามชาติสามารถร้องทุกข์ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ง่ายขึ้น


 


นอกจากนั้นแล้วยังมีปัญหาเรื่องนายจ้างจำนวนมากได้เก็บบัตรของแรงงานข้ามชาติไว้กับตนเอง บางรายก็ให้แรงงานข้ามชาติถือสำเนาเอกสารบัตรไว้ ซึ่งเมื่อแรงงานข้ามชาติต้องออกไปทำกิจธุระนอกสถานประกอบการ แล้วถูกเจ้าหน้าที่ขอดูบัตรประจำตัวก็ไม่สามารถแสดงได้ หรือเอกสารไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้แรงงานถูกจับกุมและส่งกลับได้ นอกจากนั้นแล้วการยึดบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติไว้ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดคดีอาญาได้ และอาจจะต้องวุ่นวายในเรื่องการชี้แจง ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคนด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย


 


ขณะเดียวกันเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื่องสิทธิแรงงานโดยตรง ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็ยังค่อนข้างจะเพิกเฉยต่อปัญหานี้ หากพิจารณากันจริงๆแล้วเรื่องนี้ส่งผลระยะยาวต่อกระบวนการการจ้างแรงงานข้ามชาติและการต่อใบอนุญาตในปีต่อๆไป จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ลดลงไปแทบทุกปีนั้นส่วนหนึ่งเกิดมาจากปัญหานี้


 


อีกประเด็นหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการจดทะเบียนหรือต่อใบอนุญาตทำงานคือ การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่จัดทำทะเบียนกับแรงงานข้ามชาติ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ และข้อมูลที่ได้รับมักจะไม่ถูกต้อง ซึ่งมีผลกระทบทั้งในระยะสั้น คือการดำเนินการล่าช้า เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ในระยะยาวฐานข้อมูลที่มีอยู่จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จะส่งผลเมื่อต้องการจะอ้างอิงยามมีภาวะที่ต้องใช้ข้อมูลอย่างฉุกเฉิน ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิในพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา ทำให้ญาติของแรงงานที่เสียชีวิตไม่สามรถสืบค้นหรืออ้างอิงข้อมูลของตัวผู้เสียชีวิตกับข้อมูลที่หน่วยงานรัฐมีอยู่ได้


 


ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะจัดหาอาสาสมัครช่วยแปลภาษาสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับแรงงานข้ามชาติที่มาจดทะเบียนหรือต่อใบอนุญาตทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติ ก็สามารถช่วยเหลือสนับสนุนในประเด็นดังกล่าวได้ ในหลายพื้นที่ หากได้มีการประสานในการร่วมมือกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการในครั้งนี้อย่างยิ่ง


 


นอกจากนั้นแล้วยังต้องเร่งประชาสัมพันธ์เรื่องการดำเนินการจดทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานครั้งนี้ ทั้งต่อตัวนายจ้าง และแรงงานข้ามชาติ โดยจัดทำเป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ เพราะที่ผ่านมานายจ้างและแรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่รับรู้ข้อมูลเหล่านี้ และทำให้พลาดโอกาสในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็เป็นการขจัดความเข้าใจผิด หรือป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มจากกระบวนการจดทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงาน ดังที่เคยปรากฎมาโดยตลอด


 


สิ่งที่สำคัญกระบวนการจดทะเบียนขออนุญาตทำงานหรือต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติ เป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นในกระบวนการจ้างแรงงานข้ามชาติเท่านั้น ประเด็นที่ต้องตระหนักในกระบวนการจ้างแรงงานข้ามชาติก็คือ การเคารพและปกป้องสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติ การปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และการสร้างกลไการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่สอดคล้องกับข้อจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติ เพราะนี้คือพื้นฐานสำคัญในกระบวนการจ้างแรงงานที่เอื้อต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นตัวแรงงาน นายจ้าง ภาครัฐ หรือสังคมไทยเองก็ตาม แต่ที่ผ่านมาประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานกลับได้รับการสนใจหรือพูดถึงเรื่องนี้ในฟากนโยบายน้อยมาก


 


ในปีนี้แนวนโยบายจดทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานมีลักษณะต่างจากปีที่ผ่านมาบางส่วน นั่นคือ การอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่มาขออนุญาตทำงานสามารถอยู่อาศัยในประเทศไทยได้สองปี (แต่เดิมอยู่ได้ปีต่อปี) น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทบทวนแนวนโยบายเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นจัดทำนโยบายหรือแผนแม่บทเรื่องแรงงานข้ามชาติในระยะยาวที่สอดคล้องกับปรากฎการณ์การย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้ ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ สองปีนี้จะเป็นสองปีแห่งโอกาสหากเราเริ่มต้นมองสถานการณ์ที่เป็นจริง หาสมดุลของนโยบายมิให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งดังที่ผ่านมา และเริ่มต้นเรียนรู้กับสภาวะโลกาภิวัฒน์เรื่องการย้ายถิ่นอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นแล้วสองปีนี้จะกลายเป็นสองปีที่สูญเปล่าและพายเรืออยู่ในอ่างไปอีกนาน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net