ใจ อึ๊งภากรณ์ : การเสนอตัวเป็น ส.ว. แต่งตั้ง ขั้นตอนต่ำสุดในความเสื่อมโทรมของผู้นำภาคประชาชน

ใจ อึ๊งภากรณ์

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน

 

 

 

ถ้าใครคิดว่าการเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อ (รัฐประหาร)ของผู้นำภาคประชาชน เป็นจุดต่ำสุดของขบวนการของเรา ก็คงจะสลดใจที่มีรายชื่อของนักเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน และนักสหภาพแรงงาน ปรากฏในรายชื่อผู้ที่เสนอตนเองเข้าไปเป็น ส.ว. แต่งตั้งของเผด็จการ และผมไม่ได้หมายถึงพวกที่ไม่เคยก้าวหน้า อย่างผู้นำแรงงานน้ำเน่าด้วย

 

นขั้นตอนแรกๆ ของการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ และแม้แต่ในเดือนแรกๆ หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา เราพอจะยกโทษให้ผู้นำภาคประชาชนบางคนที่เกลียดและกลัวทักษิณจนมองอะไรไม่ออก จนหลงยอมรับการเชิดชูมาตรา 7 และรัฐประหาร ซึ่งส่วนใหญ่อ้างว่าทำด้วยความหนักใจ แม้แต่ความคิดปัญญาอ่อนที่นำไปสู่การคิดหนักว่าจะรับรัฐธรรมนูญเผด็จการ เพราะมีบางมาตราที่เขาคิดว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน ก็ยังพอเข้าใจได้บ้าง

 

นอกจากนี้เรื่องท่าทีต่อ สนช. ก็อาจต้องให้เวลาในการคิดของคนที่หลงทาง แต่ในที่สุดการรับตำแหน่งใน สนช. ของคนที่อ้างว่าอยู่เคียงข้างภาคประชาชน ได้ถูกพิสูจน์ไปแล้วว่าไม่มีผลดีแต่อย่างใด และภาคประชาชนหลายกลุ่มก็ประกาศจุดยืนว่าคัดค้านการออกกฏหมายของ สนช. และเรียกร้องให้คนเหล่านั้นลาออก

 

ในเวที "ไทยพูด"  ซึ่งเป็นเวทีของภาคประชาชนที่คุยกันเรื่องการปฏิรูปสังคมหลังสมัชชาสังคมไทย ไม่มีผู้นำภาคประชาชนคนไหนที่ซื่อสัตย์พอที่จะชมการเปลี่ยนระบบ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งไปเป็นการแต่งตั้ง ยิ่งกว่านั้นในหมู่พวกที่เสนอตัวเป็น ส.ว. แต่งตั้งครั้งนี้ มีหลายคนที่พยายามลงสมัครเลือกตั้งในอดีต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ คือพูดง่ายๆ ถูกพิสูจน์ว่าประชาชนในเขตเขายังไม่ยอมรับเขาเพียงพอ

 

ารเสนอตนเองเป็น ส.ว. แต่งตั้ง เป็นการส่งเสริมและพึ่งพาระบบเผด็จการซึ่งเป็นศัตรูหลักของภาคประชาชนและความเจริญทางสังคม ในอดีตเผด็จการใช้วิธีแต่งตั้งทั้ง ส.ว. และ ส.ส. มาตลอด แต่ต้องถูกบังคับให้เปิดพื้นที่ประชาธิปไตยโดยการต่อสู้ของภาคประชาชน

 

รัฐธรรมนูญปี 40 สร้างระบบเลือกตั้ง ส.ว. ขึ้นเป็นครั้งแรก และผู้นำองค์กรภาคประชาชนบางคนก็สามารถถูกเลือกเข้าไปในวุฒิสภาได้ ดังนั้นการหันกลับมาพึ่งพิงการอุปถัมภ์จากส่วนที่ล้าหลังและปฏิกิริยามากที่สุดของชนชั้นปกครอง เพื่อหวังให้เขาอนุญาตให้เข้าไปเป็นไม้ประดับของผู้นำองค์กรประชาชนบางคน เป็นการถอยหลังเข้าคลอง เป็นการทำตัวเสมือนไพร่ที่นั่งไหว้เจ้า วิงวอนให้ผู้เหนือหัวแต่งตั้งตนเข้าไปในสภา และแน่นอนไพร่หลายคนก็คงจะผิดหวังด้วย

 

บางคนอาจใช้ข้ออ้างว่า "ประชาธิปไตยผู้แทน" ถูกพิสูจน์ว่าใช้ไม่ได้โดยนักการเมืองน้ำเน่า แต่พวกนี้ไม่เคยพยายามสร้างพรรคการเมืองอิสระของภาคประชาชนขึ้นมาเลย ดังนั้นข้ออ้างนี้ไม่มีน้ำหนัก ยิ่งกว่านั้นในประเทศไทยยุคก่อน เราสร้างพรรคแบบนี้ได้ และในปัจจุบันในต่างประเทศก็มีพรรคแบบนี้เกิดขึ้นทั่วไป

 

การได้ ส.ว. เอ็นจีโอที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ว่าเราสร้างพรรคของภาคประชาชนได้ ปัญหาของผู้นำที่ต้องการหมอบคลานเข้าสู่สภาโดยการแต่งตั้งคือ เขาจะอ้างว่าเป็นผู้แทนของภาคประชาชนไม่ได้ มีอำนาจต่อรองกับรัฐและกลุ่มทุนต่ำ เพราะไม่มีใครจากขบวนการภาคประชาชนเลือกเขาแต่แรก เขาพูดแทนคนจนไม่ได้เพราะเขาดำรงตำแหน่งจากอำนาจและความกรุณาของฝ่ายเผด็จการต่างหาก

 

ดังนั้นเมื่อพิจารณาบริบททั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงสองปีที่ผ่านมา การเสนอตัวไปเป็น ส.ว. แต่งตั้งครั้งนี้ เป็นจุดต่ำสุดของผู้นำภาคประชาชนบางคน ซึ่งยกโทษและเห็นใจกันไม่ได้อีกแล้ว มันพิสูจน์ว่าเราต้องเร่งสร้างขั้วก้าวหน้าของภาคประชาชน ที่สนับสนุนประชาธิปไตย และผลประโยชน์อิสระอันชอบธรรมของคนจน

 

เราต้องสร้างขั้วนี้ขึ้นมาแบ่งแนวและในที่สุดเอาชนะผู้นำล้าหลังเหล่านี้ ไม่ว่าจะในรูปแบบขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือในรูปแบบพรรค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท