Skip to main content
sharethis

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากากรทำงานฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ แถลงข่าว รวมพลังล่า 10,000 รายชื่อ เพื่อผลักดัน พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา


ทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สมัชชาคนจน ได้เสนอกฎหมายฉบับนี้ เนื่องมาจากสาเหตุไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และการดูแลควบคุมของรัฐบาล ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ก่อน พ.ร.บ. นี้ ขบวนการแรงงาน ภาคประชาชน เคยล่ารายชื่อมาแล้ว 50,000 รายชื่อแต่ก็มีปัญหาอุปสรรค เนื่องด้วยไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน กับสำเนาบัตรประชาชน เพราะเราทำการล่ารายชื่อตอนกฎหมายลูกยังไม่ออก ปัจจุบัน มาตรา 163 เปิดโอกาสให้เข้าชื่อ 10000 ชื่อ เสนอกฎหมายได้ และให้โอกาสเข้าไปชี้แจงในรัฐสภาได้ ตอนนี้อยากจะทราบว่ากฎหมายลูกจะออกมาอย่างไร


จะเด็จ เชาน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง ผู้ดำเนินการอภิปราย กล่าวว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ ร่วมกันเคลื่อนไหวมามาตั้งแต่การยื่นข้อเสนอเรียกร้อง ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการยกร่าง พ.ร.บ. จากทุกฝ่าย มาถึงการเข้าชื่อตั้งแต่ 50,000 ชื่อ ในปี 2541 - 2542 และเพื่อล่ารายชื่อตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 จึงอยากเชิญชวนรวมพลังร่วมกันอีกครั้ง


บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้จัดการมูลนิธิ อารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า ครั้งแรก เป็นร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ แต่หลังจากนั้นได้รวมกันเป็น พ.ร.บ. ส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ร่างฉบับนี้ไม่ได้รับความสนใจจากกระทรวงแรงงาน จึงอยากจะปรับปรุงใหม่และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง โดยอยากให้สถาบันนี้เป็นองค์กรอิสระ ไม่อยากให้เป็นรูปแบบของราชการ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น คล่องตัวในการบริหาร


สถาบันนี้เราได้คิดกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ถ้าพูดไปแล้วก็ดูเหมือนกับ สปสช. ซึ่งมีความเป็นอิสระ และกรรมการบริหารก็มาจากหลายฝ่าย ผ่านกระบวนการสรรหา เพื่อให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง แต่รัฐมนตรีไม่มีอำนาจ และท่านลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงาน ปี 2545 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ พิจารณา 2 ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองฯ กับ พ.ร.บ. ส่งเสริมฯ ได้บูรณาการเข้ามาใหม่จนเป็นข้อตกลงกับฝ่ายเรียกร้อง


ปัญหาขัดแย้งกันก็คือ เรื่องของการโอนกองทุนเงินทดแทน แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล กระทรวงแรงงานก็ย้อนกลับไปทำแบบเดิมใหม่ คือ ออก พ.ร.บ. มาใหม่ พ.ร.บ. ความปลอดภัย ตอนนี้ พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริม ได้รวมร่าง ความปลอดภัย ของกระทรวงแรงงานแล้ว ตอนนี้กระทรวงแรงงานได้ออก กฎหมาย พ.ร.บ. ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้สถาบันความปลอดภัยอยู่ในมาตรา 52 ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดเวทีหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความชอบธรรม


แต่ผู้เรียกร้องก็ขอตัด มาตรา 52 แล้ว ขณะนี้ เข้าไปเสนอใน สนช. และ สนช. ได้ออกกฎหมายล่าสุดถึง 4 ฉบับ และมีข่าวดีของพวกเราคือ พรรคประชาธิปัตย์ถ้าได้เป็นรัฐบาล จะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองฯ ฉบับดั้งเดิม แต่ก็ต้องรอดูว่าจะเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งพวกเราก็ได้พยายามเสนอชื่อ ซึ่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญที่มีการเข้าชื่อ จาก 50,000 เหลือ 10,000 ชื่อ


สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า จากเดิมที่คนงานที่ป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนได้ การเจ็บป่วยทำให้คนงานจากหลายโรงงานนับร้อยคนต้องรวมตัวกันร่วมชุมนุม 99 วันกับสมัชชาคนจนถึงได้รับสิทธิ์ค่าทดแทนค่ายารักษาตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทนมาจำนวนเงิน 11 ล้านบาท ในปี 40 และเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันอิสระมาดูแลคุ้มครองคนงานจนเกิดคณะกรรมการยกร่าง และ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย


คนป่วยมองเห็นปัญหาว่าหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลคุ้มครองคนงาน ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ มีคนป่วยหลายรายต้องถูกปฎิเสธ ต้องต่อสู้คดีในศาลที่ต้องอาศัยระยะเวลายาวนาน คนงานโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายต้องสู้คดีกับนายจ้างมาจนทุกวันนี้รวมเวลาถึง 12 ปีคดีก็ยังไม่สิ้นสุด ระบบการเข้าไปใช้สิทธิที่กองทุนเป็นระบบที่คนป่วยจากการทำงานเข้าถึงยาก เช่น มีกรรมการกองทุน มีคณะกรรมการแพทย์ วินิจฉัยโรคซ้ำซ้อนกับแพทย์ที่รักษาอาการคนงานที่ป่วยเบื้องต้น แม้แพทย์คนแรกจะบอกว่าเนื่องจากการทำงาน คณะกรรมการแพทย์ก็มาวินิจฉัยว่าไม่ใช่ การตรวจสอบสถานประกอบการก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพยังขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของคนงานสหภาพแรงงาน 1O ปีที่เราพยายามผลักดัน พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานทุกวิถีทางไม่ว่าจะเป็นการร่วมชุมนุมสมัชชาคนจน การล่ารายชื่อ เข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ การเคลื่อนไหวรณรงค์ผลักดัน การประสานกับสมานฉันท์แรงงานไทย และการลงไปทำงานประสานกับผู้นำกลุ่มสหภาพแรงงานในพื้นที่ต่างๆ จนบรรจุเข้าไปเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานยื่นต่อรัฐบาลในระดับชาติ


แต่รัฐก็แสดงความบ่ายเบี่ยง พ.ร.บ. ฉบับการมีส่วนร่วม จนปัจจุบัน เป็น พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับบูรณาการ) ต้องตกไป ฉบับราชการกระทรวงแรงงานเสนออยู่ในมือ สนช. ดิฉันเห็นว่าระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราเหนื่อยยาก มีค่าใช้จ่าย เราพึ่งและไว้วางใจหน่วยงานภาครัฐไม่ได้เลยในการนำเสนอกฎหมายทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ตกลงร่วมกันแล้วร่วมกันอีก แต่ดิฉันเชื่อและยังคิดว่าพลังงานของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน องค์กรพันธมิตรต่างๆ และภาคประชาชน นั้นสำคัญกว่า โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 นี้ให้ใช้การเข้าชื่อกันแค่ 10,000 รายชื่อเท่านั้น เราน่าจะสามารถเสนอกฎหมาย พ.ร.บ. ของเราต่อประธานรัฐสภาได้


คมสัน โพธิ์คง อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ผมถูกล้อมอยู่ในรัฐสภาเข้ายากออกยาก ส่วน สนช.ก็มีทั้งกฎหมายที่ควรจะออก และไม่ควรออก การเสนอชื่อ 10,000 รายชื่อ ค่อนข้างทำยาก ส่วนเอกสารผมเห็นด้วย ว่าต้องมี แต่จะให้เอาสำเนาทะเบียนบ้านแนบมาด้วยผมก็ว่าไม่สมควร การเข้าชื่อรัฐธรรมนูญเก่ากับใหม่ ก็มีความแตกต่างกัน ปี 50 ให้ลดเหลือ 10,000 รายชื่อ และให้ผู้เสนอได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจง 1 ใน 3 ที่ผ่านมามีเพียงแค่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ฉบับเดียวเท่านั้นแต่เขามีองค์กรสาธาธารสุขสนับสนุนมีแพทย์แข็งอยู่ ฉะนั้นในส่วนกฎหมายของพวกท่าน พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่วนประเด็นการเสนอกฎหมายของพวกท่าน คือ การตั้งองค์กรอิสระ กฎหมายของพวกท่านมันอาจไปสอดคล้อง กับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญเดิมไม่มี มีนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาพูดถึงอยู่ในหลักวิชาการ ก็มีกฎหมายที่สอดคล้องกับกฎหมายท่านอยู่ ลองประสานงานกัน


ในทางการเมืองผมเรียนรู้เรื่องกฎหมายแรงงานน้อยมาก มันอยู่ที่ความพอใจและรับได้ขั้นต่ำอยู่ตรงไหน การพูดขอความเป็นธรรมไม่ใช่เรื่องที่เท่ากัน ปัจจุบันมีกฎหมายเข้ารัฐสภามาก องค์กรภาครัฐมีความเข้มแข็งมาก ไม่อยากให้ฝากความหวังไว้ที่ภาครัฐมากเกินไป ตอนนี้ผมคิดว่าควรใช้หลักการเก่าไปก่อน เสนอไปใช้รายชื่อและแบบฟอร์มเดิมเมื่อครบเสนอต่อรัฐสภา ข้อจำกัดมีอยู่บ้าง ขณะเดียวกันมันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ต้องให้รัฐบาลรับรอง ความเป็นธรรมมันเป็นอยู่ที่ความพอใจของทั้งสองฝ่าย เช่น ลูกจ้าง นายจ้าง การเสนอกฎหมายของภาคประชาสังคมยากมากขึ้นทุกวันนี้ แต่ผมไม่อยากให้ฝากไว้กับ สนช. ให้ท่านใช้พลังของประชาชน ผลักดันไปทาง พรรคการเมือง ส่วนผมไม่ชอบพรรคการเมืองเก่าแก่ เขาเข้าไปเขาก็ฟังแต่พวกตน ท่านจะมีสิทธิมีเสียงกับการชุมนุมแต่มันไม่พอ คุณต้องมีการต่อรองเมืองไทยด้อยพัฒนามากเพราะการซื้อเสียงมีมากมาย แต่ก็จะมีองค์กรปฎิรูปกฎหมายของประชาชน ตาม พ.ร.บ. 308 เกิดขึ้น ก็ควรเสนอไปทั้ง 2 ทางทั้ง สนช. แต่เขาต้องส่งให้กระทรวงแรงงาน เรื่องสุขภาพเป็นหนึ่งในมาตรฐานการทำงานที่สำคัญ ผมว่ามันติดอยู่ในกระแส เราจะทำอย่างไร เราดูจาก สนช. ส่วนการเข้าชื่อ 10,000 ชื่อผมสนับสนุน


รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันคนงานเจ็บป่วยตาย ปีละ 200,000 คน แต่ไม่มีสถิติในกองทุน จึงอยากปฏิรูป ให้คนงานเข้าไปจัดการในปัญหาของเขา ให้รัฐเข้าไปทำไม่มีทาง ถามว่า ใครได้จากกระแสการเรียกร้อง ทุกคนได้ ถ้ารัฐจัดการเสียทั้งหมด รัฐก็ได้แรงงานที่มีคุณภาพ ตอนนี้รัฐขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพไม่ต้องมีใครสูญเสีย คนงานก็มีความปลอดภัยทำงานอย่างดี นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ประเด็นนี้เป็นประเด็นในเชิงบวก มันไม่มีใครได้ใครเสีย


เหตุการณ์โศกนาฎกรรม เคเดอร์ประเทศไทย ผ่านมา 10 ปี แล้วทำให้เรื่องสุขภาพความปลอดภัยอยู่ในกระแสมาโดยตลอด มาตรฐานแรงงานของ ILO มีการพูดถึงสุขภาพความปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องค่าจ้างเพียงอย่าเดียว สินค้าหลายยี่ห้อ มีการพูดถึงเรื่องสุขภาพความปลอดภัย ท่านวิทยากรท่านพูดให้เราฟังแล้วว่ารัฐบาลจะมามีอิทธิพลมาก แล้วพวกเราล่ะจะทำอย่างไร ไม่ให้เรื่องสุขภาพความปลอดภัยเงียบเหมือนเดิม 10 ปีโศกนาฏกรรมเคเดอร์ ทำไมเงียบเช่นเดิม ผมเพิ่งมาจากไปดูงานที่เขมร เขารับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ 87, 98 แล้ว แต่ไทยเราไม่ยอมรับ เราต้องใช้มาตรการรวม ส.ส. 20 คน เสนอ  


 


อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่า การล่ารายชื่อควรจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนมีนาคม เพื่อให้ทันกับวันครบรอบ 15 ปี โศกนาฎกรรมเคเดอร์ไฟไหม้ตึกถล่ม (ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม 2551)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net