Skip to main content
sharethis

โดย วิทยากร  บุญเรือง


 


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ได้มีการชุมนุมอย่างสงบของแรงงาน บริษัทโฮย่า กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งได้สร้างความแปลกประหลาดใจและตื่นเต้นให้กับขบวนการแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งประเด็นจำนวนมวลชนที่มีจำนวนมาก ความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม รวมถึงเป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องจากแรงงานในภาคผลิตที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก


โดยเมื่อวันที่ 11.. ที่ผ่านมา ตัวแทนแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูนได้ยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อ พร้อมลงลายมือชื่อกว่า 3,286 รายชื่อ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานให้กับนายจ้างและตัวแทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน โดยเนื้อหาของข้อเรียกร้องนั้นประกอบไปด้วยการเพิ่มสวัสดิการและค่าแรงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นสาธารณูปโภคในโรงงาน


จากนั้นในเย็นวันเดียวกัน และเย็นวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา แรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน กว่า 2,000 คนจึงได้ชุมนุมเรียกร้องอย่างสงบและถูกต้องตามสิทธิทางกฎหมาย เพื่อต่อรองและเป็นการส่งกำลังใจแลกเปลี่ยนข่าวสารกับตัวแทนเจรจา ซึ่งผลการเจรจาล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นั้น ประเด็นในเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานในโรงงานที่มีปัญหา นายจ้างก็ได้รับพิจารณาแก้ไขแล้ว ส่วนประเด็นการเพิ่มสวัสดิการและค่าแรงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ ยังคงต้องมีการเจรจากันต่อไป


สำหรับการเคลื่อนไหวของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองทางเศรษฐกิจหลายอย่าง รวมถึงประเด็น "มายาคติ" เกี่ยวกับความเข้าใจผิดในเรื่องของมิติการลงทุน ที่มักจะมีคำขู่เสมอว่าหากมีการต่อรองกับนายจ้างเมื่อใด นายจ้างก็จะย้ายโรงงานหนีไปยังประเทศอื่น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่ตื้นเขินและไม่ลึกซึ้ง


โดยในประเด็นที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้จากกรณีการต่อสู้ของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ผู้เขียนขอนำเสนอดังนี้


 



การพัฒนาคุณภาพชีวิตในโรงงาน และปัญหาของฝ่ายบริหารงานบุคคล


จากข้อเรียกร้อง พบว่าประเด็นด้านสาธารณูปโภคในโรงงาน เช่น การขอให้บริษัทปรับปรุงที่จอดรถของพนักงานโดยการลาดซีเมนต์คอนกรีตบริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์และทำหลังคาลานจอดรถยนต์ทั้งหมด การขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค บริเวณที่เป็นจุดน้ำดื่มซึ่งแต่เดิมมีแต่ระบบน้ำเย็นขอให้เปลี่ยนเป็นเครื่องที่มีระบบทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน  เปลี่ยนก๊อกน้ำที่เป็นแบบเซ็นต์เซอร์ให้เป็นแบบมือกด ปรับปรุงสภาพโรงอาหารและเพิ่มจำนวน TV พร้อมติด UBC


สิ่งเหล่านี้นั้น เป็นประเด็นยิบย่อยที่แทบจะไม่ต้องให้แรงงานฝ่ายผลิตร้องขอเอง แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายสนับสนุนส่วนอื่นที่มีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการผลิตอยู่ตลอดเวลา


การลุกฮือขึ้นมาครั้งนี้ของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ทำให้เราได้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายการบริหารงานทรัพยากรบุคคลและผู้บริหารระดับกลาง ที่ละเลยปัญหาของแรงงานส่วนใหญ่ และทำให้ปัญหานี้ระเบิดออกมาในรูปของการยื่นข้อเรียกร้องจากแรงงานภาคการผลิตไปถึงผู้บริหารระดับสูงโดยตรง


และถ้าหากว่าความผิดพลาดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมและการบีบรัดภายในโรงงาน การปรับปรุงครั้งใหม่ของบุคลากร ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายการผลิต แต่ลูกจ้างนั่งโต๊ะอย่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลจะต้องถูกพิจารณาเป็นอันดับแรก


เพราะไม่ใช่ที่โฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน แห่งเดียวที่ปัญหาระหว่างฝ่ายการผลิตและพนักงานนั่งโต๊ะฝ่ายและบริหารระดับกลาง


เพราะโดยส่วนใหญ่พนักงานนั่งโต๊ะและฝ่ายบริหารระดับกลางมักจะไม่เห็นความสำคัญของแรงงานภาคการผลิต หนำซ้ำในบางครั้งพนักงานนั่งโต๊ะและฝ่ายบริหารระดับกลางเหล่านี้ โดยเฉพาะฝ่ายบุคคล มักจะทำตนเสมือนเป็นเจ้านายเจ้าของโรงงานเสียเอง ปัญหาการสร้างระบบชั้นวรรณะขึ้นมาในโรงงานจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถ้าไม่อยากให้เกิดการลุกฮือของแรงงานฝ่ายผลิตโดยตรง เช่นนี้


 


ความกลัวเรื่องการย้ายฐานการผลิต


หากติดตามข่าวสารและข้อมูลทางเศรษฐกิจ จะพบได้ว่าอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยยังคงมีอนาคตสดใสอยู่ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ


คำขู่เรื่องการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศคู่แข่งที่สำคัญโดยเฉพาะเวียดนามและจีนภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น จึงเป็นเรื่องที่เหมือนว่านำมาหลอกเด็กที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่เสียมากกว่า


เพราะว่าอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์นั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนในการผลิตในสัดส่วนสูง (capital intensive) เช่น เครื่องจักรราคาแพง หากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมบางสาขา เช่น อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเน้นการใช้แรงงานในการผลิตในสัดส่วนสูงกว่าทุน (labor intensive) การย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์ เพื่อไปยังประเทศที่มีแรงงานราคาถูก ในระยะสั้น เช่น เวียดนามหรือจีนนั้น จึงมีความเป็นไปได้ต่ำ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาคนี้


รวมถึงปัจจัยทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม กฎระเบียบข้อกฎหมาย ของประเทศไทยนั้นยังเอื้อประโยชน์ให้กับการลงทุนจากต่างชาติมากกว่าคู่แข่งรายอื่น ในบางกรณี


และเมื่อมองไปถึงภาพรวมการลงทุนจากญี่ปุ่นในภูมิภาค จะพบได้ว่าการลงทุนจากญี่ปุ่นจะเน้นการกระจายตัวมากกว่าการลงทุนแบบกระจุกตัวไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น กรณีของการทำข้อตกลงการค้าเสรีที่ญี่ปุ่นมีแนวทางที่จะทำทีละหลายประเทศ


ซึ่งแน่นอนว่าจีนและเวียดนามรวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนนั้น ญี่ปุ่นจะเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่จะเป็นการลงทุนในโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่การโยกย้ายจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ดังที่ได้กล่าวไปในขั้นต้น


ทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้นแตกต่างจากทุนนิยมในอดีตที่เน้นสูบและขโมยทรัพยากรแต่ละที่แล้วย้ายฐานการผลิตไปยังที่ใหม่ แต่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์คำนึงถึงความโยงใยของการผลิตชิ้นส่วนสินค้าในที่ที่ต่างกัน กระจายความเสี่ยงไปในแต่ละที่ ไม่มีการกระจุกตัวอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งถึงแม้ว่าประเทศนั้นจะมีค่าแรงต่ำสักเพียงใดก็ตาม


แล้วยิ่งคำขู่เรื่องการย้ายฐานการผลิตภายในระยะเวลาอันสั้นหลังจากการเรียกร้องของแรงงานเกิดขึ้นแล้วนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากการวางแผนและการก่อสร้างฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องคำนึงในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบทางข้อกฎหมาย แหล่งวัตถุดิบ ความสามารถของแรงงาน เป็นต้น ไม่ใช่สักแต่ว่าจะย้ายไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกเพียงอย่างเดียว


ดังนั้นประเด็นย้ายโรงงานหนีออกจากประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการลงทุนนั้นยังมาจากประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นเหมือนมายาคติที่ผู้มีส่วนเสียกับการเรียกร้องของแรงงานนำมาเป็นคำลวงลอยๆ เท่านั้น


 


ขบวนการแรงงานและภาคประชาชน



เนื่องจากข้อตกลงหลายอย่างที่ไทยได้ทำกับต่างชาตินั้น ในเรื่องของการลงทุนทางอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มีการสร้างข้อกำหนดเงื่อนไขจำกัดที่ทำให้องค์กรภาคประชาชนสามารถออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านได้ยากกว่าเดิม


เช่น กรณีของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งมีการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับไทย (JTEPA) ประเด็นหนึ่งที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวต่อสู้กันมากก่อนจะมีการลงนามคือบทว่าด้วย การลงทุน ซึ่งคุ้มครองนักลงทุนญี่ปุ่นในปริมณฑลที่กว้างขวางและขัดขวางการประท้วงต่อต้านในพื้นที่ เพราะมีการอนุญาตให้ตีความการต่อต้านเป็นการริบทรัพย์เอกชนทางอ้อมได้ เปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องและรัฐไทยอาจต้องเสียค่าเชยแก่นักลงทุน  เป็นต้น


ในประเด็นนี้ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ไม่เป็นธรรม จะมุ่งหวังกับกลุ่มจัดตั้งของ NGOs หรือขบวนการต้านความเจริญทางอุตสาหกรรมในท้องถิ่นดังเช่นในปัจจุบันไม่ได้อีกแล้ว


แต่แรงงานท้องถิ่นในประเทศถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือข้อจำกัดที่ได้กล่าวไป และเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติจำเป็นต้องพึ่งพาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะการลงทุนจากต่างชาติจะมีเพียงการนำทุนและเทคโนโลยีเข้ามาเท่านั้น อย่างไรเสีย การลงทุนจากต่างชาติยังคงต้องใช้แรงงานในท้องถิ่นอยู่ดี


ดังนั้น แรงงานจึงจะเป็นความหวังใหม่ของภาคประชาชนไทยในการต่อกรกับกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ไม่เป็นธรรม การต่อรองภายในโรงงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ จะต้องไม่มีเพียงประเด็นส่วนได้ส่วนเสียของแรงงานเท่านั้น แต่หากจะต้องมีการนำประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อมที่โรงงานและโครงการนั้นๆ เข้าไปสร้างปัญหา บรรจุอยู่ในข้อต่อรองของขบวนการแรงงานด้วย


การสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งและเชื่อมโยงกับภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อไปในอนาคต


 


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


พนักงานโรงงานโฮยานิคมลำพูนยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ, ประชาไท, 11/12/2550


คนงานนิคมจ.ลำพูนรวมใจสู้-ร้องนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ-สภาพการทำงาน, ประชาไท, 12/12/2550


บทความ: เมื่อคนงานโฮย่ากลาสดิสก์ลำพูนรวมใจสู้: ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้, ประชาไท, 13/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมรอฟังการเจรจานัดแรก แต่ผลยังไม่คืบหน้า, ประชาไท, 14/12/2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net