Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 ธ.ค. ที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แถลงถึงการจัดกิจกรรมปิดสภาครั้งที่ 2 ว่า การปิดสภาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ถือว่าประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและเป็นตัวแทนประชาชน จึงไม่ควรพิจารณากฎหมายสำคัญที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราสนับสนุนการเลือกตั้งและไม่ได้เป็นเครื่องมือใคร ซึ่งขณะนี้เสียงสะท้อนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเรา แต่อาจไม่เห็นด้วยกับวิธีกระทำ ส่วนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช. บอกว่าให้เราพยายามเจรจากันนั้น ยืนยันว่าตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา เราขอพบนายมีชัย เพื่อยื่นหนังสือถอนกฎหมาย 11 ฉบับ เพื่อรอสภาสมัยหน้าพิจารณา แต่นายมีชัย ไม่พร้อมพบเรา จะหาว่าเราไม่เจรจาล่วงหน้าไม่ได้


"ราจะไม่ยอมเป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มผลประโยชน์ อำนาจทางการเมือง ไม่ว่ากลุ่มที่เชียร์หรือต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง เราจะคัดค้านถึงที่สุด หากมีกลุ่มที่จะล้มการเลือกตั้ง เพราะเราต้องการสภาใหม่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกกฎหมาย ดังนั้น เราจะจัดการชุมนุมใหญ่ที่หน้ารัฐสภาเป็นครั้งที่ 2 วันที่ 19 ธ.ค. เวลา 08.00 น. จึงขอเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยกับเรามาร่วม เราจะจัดระบบลูกโซ่มนุษย์เพื่อปิดกั้นการเข้าสภา เป้าหมายคือให้ สนช.หยุดพิจารณากฎหมาย 8 ฉบับที่กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน ทั้งนี้ เราไม่กลัวว่าจะเกิดความรุนแรง เพราะเราชุมนุมโดยสันติวิธีไม่มีอาวุธ โดยจะดูแลทุกส่วน สกัดคนแปลกหน้าไม่ให้เข้ามาสร้างความวุ่นวายได้" นายจอนกล่าว


นายไพโรจน์ พลเพชร รองประธานกป.อพช.กล่าวว่า ยืนยันว่าเราจะต่อต้านการออกกฎหมาย 8 ฉบับ คือ ร่างกฎหมายความมั่นคง ที่แปรรูปประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจรัฐทหาร คุกคามสิทธิเสรีภาพและหลักนิติธรรม ร่างกฎหมายกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ขยายอำนาจรัฐ ราชการ ทหารผูกขาดคลื่นความถี่ ร่างกฎหมายจุฬาลงกรณ์ฯ ม.เชียงใหม่ พระจอมเกล้าลาดกระบัง ที่แปรรูปมหาวิทยาลัยเข้าสู่กลไกตลาด การศึกษาราคาแพง ลิดรอนอิสรภาพทางราชการ ร่างกฎหมายแปลงสหภาพรัฐวิสาหกิจ ร่างกฎหมายสภาการเกษตรแห่งชาติ ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ ที่ สนช.บางคนบอกว่า สนช.ออกกฎหมายที่ดี คิดว่าไม่เกิน 10 ฉบับ ซึ่งแลกไม่ได้กับการสูญเสียอิสรภาพ แลกไม่ได้กับความดีความชั่ว ส่วนที่ประธานสนช.ระบุหากกฎหมายไม่ดีก็ไปเสนอแก้ในสภาหน้า ทำไมต้องให้สภาชุดหน้ามารับผิดชอบความไม่ดีของตัวเอง


ขณะที่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายมีชัยได้เรียกประชุม สนช.เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน ระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องด่วน 3 เรื่องคือ 1.อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 2.การสมัครเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม และ 3.สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านสิทธิบัตร


 


นอกจากนี้ ยังมีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 7 และ 12 ธันวาคม จำนวน 21 ฉบับ เช่น เรื่องที่ 3-5 ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ..., ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ... รวมทั้งมีเรื่องกระทู้ถาม 5 เรื่อง เช่น การขายหวยออนไลน์ ที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.เป็นผู้ตั้งถามนายกรัฐมนตรี


 


ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน และนายสมชาย แสวงการ โฆษก กมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช. ร่วมกันแถลงผลการประชุมวิป สนช.โดยนายคำนูณกล่าวว่า กรณีหลายกลุ่มต้องการให้ สนช.หยุดการพิจารณาร่างกฎหมายทันที วิปได้หารือโดยมีนายมีชัยร่วมประชุมด้วย ได้ผลสรุปว่า สนช.จะหยุดการพิจารณากฎหมายทั้งปวงในวันที่ 21 ธันวาคม ส่วนหลังเลือกตั้งอาจมีการประชุม สนช.แต่ไม่เกี่ยวข้องกับวาระพิจารณากฎหมาย


 


'การประชุม สนช.สัปดาห์นี้ จะไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมายที่เข้าสภาวาระแรก แต่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่เข้าสภาวาระ 2 และ 3 และร่าง พ.ร.บ.ที่เข้าสภาวาระแรก แต่ค้างมาจากวาระการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว รวม 21 ฉบับ ซึ่งจะเอามาพิจารณาเป็นกลุ่มแรก จากนั้นจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กลุ่มที่ 2 จำนวน 43 ฉบับ ที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม และจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กลุ่มที่ 3 จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม' นายคำนูณกล่าว และว่า ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ที่มีความขัดแย้งประมาณ 10 ฉบับ เช่น กฎหมายความมั่นคง กฎหมายน้ำ กฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อยู่ในกลุ่ม 2 อันดับ 8-11


 


นายคำนูณกล่าวว่า สนช.ชุดนี้แตกต่างจากสภาชุดอื่น เพราะรัฐธรรมนูญให้คงอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้ ส.ว. แต่วิปฟังเสียงประชาชน ยึดความเหมาะสมของสภาที่เคยปฏิบัติมาคือ ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายถึงก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น โดยวันที่ 19-20 ธันวาคม สนช.จะประชุมถึงเวลา 20.00 น. ส่วนวันที่ 21 ธันวาคม อาจมีการประชุมเกิน 20.00 น. แต่ไม่เกิน 24.00 น. ซึ่งการพิจารณาได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น


 


เช้าวันเดียวกัน ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุชุมชนประมาณ 20 คน เดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยระบุว่า จะส่งผลให้วิทยุชุมชนไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้ประธาน สนช.ตั้งกรรมการสอบสวนการทำหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญ ที่มีทหารและผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ซึ่งมีส่วนได้เสียร่วมเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณา ว่ามีความไม่ชอบมาพากล หรือผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ โดยให้สอบสวนแล้วเสร็จภายใน 7 วัน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีตำรวจท้องที่และตำรวจปราบจลาจล ประมาณ 150 นาย มาคอยรักษาความปลอดภัยทั้งด้านในและนอกรัฐสภา เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าจะมีเครือข่ายภาคประชาชนและเอ็นจีโอมาชุมนุมคัดค้านไม่ให้ สนช.พิจารณร่างกฎหมายจำนวนมาก


 


ด้าน พล.ต.ต.เจตน์ มงคลหัตถี รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงเหตุม็อบบุกรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า คณะพนักงานสอบสวนจะประชุมพิจารณาเพื่อจะเอาผิดกับใครอีกครั้งในวันที่ 25-26 ธันวาคมนี้ แต่ที่พบหลักฐานชัดเจนและทราบว่าเป็นใคร มีแกนนำ 5-6 คน หนึ่งในนั้นมีนายจอนรวมอยู่ด้วย แต่จะมีการดำเนินคดีข้อหาอะไรยังตอบไม่ได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะออกหมายเรียกให้มาพบในสัปดาห์หน้า


 


ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์มติชนและข่าวสด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net