ม.นเรศวรชะงักออกนอกระบบ เลื่อนเข้า สนช. 1 สัปดาห์ - จุฬาฯประท้วงด้วย

คณาจารย์-นิสิตจุฬาฯ เรียกร้องหยุดการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าวันนี้ (29 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณ 10 คน และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือต่อสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอให้ถอดถอนร่าง "พ.ร.บ.จุฬาฯ พ.ศ. ..." ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ ที่กำลังพิจารณาตามรายมาตรา

 

ด้านแกนนำคณาจารย์ที่เข้ายื่นหนังสือในวันนี้ คือ รศ.ชูชาติ ธรรมเจริญ ในฐานะกรรมการเฉพาะกิจสภาคณาจารย์ ทำหน้าที่พิจารณา พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนอกระบบ และอดีตกรรมการร่างกฎหมายลูกของมหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการทำประชามติเรื่องถอดถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ผลปรากฏว่าประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยต่อการนำมหาวิทยาลัยนอกระบบสูงถึงร้อยละ 82 แต่ทางมหาวิทยาลัย ไม่เคยนำรายละเอียดของการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวมาแจ้งให้แก่ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า มีข้อใดบ้างที่ประชาคมไม่เห็นด้วยในการนำมหาวิทยาลัยนอกระบบ ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชัดเจน

 

แกนนำคณาจารย์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ที่ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งคณาจารย์ นิสิต พนักงาน ตลอดจนลูกจ้างและบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยินดีจะยอมรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว หากทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้จัดทำประชาพิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาและผลออกมาว่าประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยนอกระบบ แต่ที่ผ่านมามีผู้ไม่เห็นด้วยที่จะนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบมากถึง 82%

 

"คือ เราต้องการเพียงให้มหาวิทยาลัยทำประชาพิจารณ์ที่เปิดเผยรายละเอียดอย่างชัดเจนโปร่งใสอีกครั้ง ไม่ว่าผลจะออกมาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ถ้าผลนี้มาจากประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยแท้จริง ต่อให้ผลออกมาว่าเห็นด้วยที่จะออกนอกระบบ เราก็พร้อมจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ วันนี้ที่มายื่นหนังสือก็เพื่อมาเรียกร้องให้ถอดถอนร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯออก ซึ่งถ้าทางสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงไม่ถอดถอน ทางประชาคมก็คงจะต้องเดินขบวนประท้วง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากทำเลย แต่เราจำเป็นต้องทำ แล้วถ้าถึงที่สุด ก็คงต้องรบกวนเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงตรงนั้นก็ต้องทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา" รศ.ชูชาติ กล่าว

 

สำหรับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มาร่วมเดินขบวนแสดงความไม่เห็นด้วยกรณีนำมหาวิทยาลัยออกนอกกำกับของรัฐบาลนั้น เดินถือป้ายผ้าประท้วงอย่างสงบ มีแกนนำนักศึกษาบอกล่าวรายละเอียดข้อเสียในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นระยะ สำหรับข้อความบนป้ายผ้าที่นิสิตได้เขียนและนำมาถือประท้วงนั้น มีอาทิ

 

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นของพระเจ้าอยู่หัว อย่านำมาเป็นของส่วนตัว", "อย่าทำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นธุรกิจ", "คนจนต้องเรียนจุฬาฯได้" นอกจากนี้ ยังได้อัญเชิญพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เคยพระราชทานเอาไว้เมื่อ พ.ศ.2427 ความว่า "เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไปจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสให้เล่าเรียนได้เสมอกัน"

 

ด้านนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกชมรมสังคมวิจารณ์ หนึ่งในแกนนำนิสิต เปิดเผยว่า ต้องการให้มหาวิทยาลัยจัดทำประชาพิจารณ์อย่างชัดเจนและโปร่งใส ในขณะที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่มาช่วยเรียกร้อง เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยนอกระบบ ส่วน น.ส.ยุวรัตน์ ผลทรัพย์ จากคณะรัฐศาสตร์ เปิดเผยว่า ตอนแรกมางาน "รัดสาดแฟร์" ที่จัดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่พอทราบข่าวว่ามีการประท้วงคัดค้านเรื่องนอกระบบก็ได้ตกลงใจมาร่วมเดินขบวนเรียกร้องด้วยทันที

 

อย่างไรก็ตาม ด้านสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่ง ศ.พีระศักดิ์ จันทรประทีป กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนลงมารับเรื่องเรียกร้องดังกล่าว โดย ศ.พีระศักดิ์ ได้กล่าวขอบคุณผู้ที่มาเรียกร้องถอดถอนร่างดังกล่าว และกล่าวว่าจะนำเรื่องเสนอต่อศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยต่อไป

 

สำหรับขณะนี้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลังกำลังอยู่ระหว่างการประชุม ซึ่งหากการประชุมเสร็จสิ้นหรือมีรายละเอียดความคืบหน้าใดๆ จะรายงานให้ทราบต่อไป

 

สำหรับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว มีใจความดังนี้

 





"คณาจารย์ บุคลากร นิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยถอนร่างพ.ร.บ.จุฬาฯ ฉบับที่...พ.ศ.... ออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องการนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ด้วยเหตุผลดังนี้

 

1. การนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในสาระสำคัญ จากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชุดที่ คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานฯ

 

2. ไม่เป็นไปตามรายงานการวิจัยลงวันที่ 21 ก.พ.2545 โดย รศ.ดร.พรชุลี อาชาวอำรุง ที่เสนอสถานภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้เป็น 2 ทางเลือก คือ เป็นส่วนราชการโดยปรับปรุงบางมาตราใน พ.ร.บ.ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือเป็นมหาวิทยาลัยไม่อยู่ใต้พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย แต่เป็นการบริหารใต้พ.ร.บ.ของตนเอง ฯลฯ ผู้ทำงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีสภาพเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีความมั่นคงในการทำงาน ซึ่งจะเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้บุคลากรเป็น "ข้าราชการ" มิใช่ "พนักงาน" ในส่วนราชการ และมิใช่เป็น "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล" หรือ "มหาวิทยาลัยนอกระบบ"

 

 3.ไม่เป็นไปตามผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับ พ.ร.บ.จุฬาฯ...พ.ศ.... โดยอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาคมฯ แต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ...ฉบับที่...พ.ศ....สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ผลสรุปว่า 70% ไม่เห็นด้วยกับการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบ

 

 4.กฎหมายประกอบร่าง พ.ร.บ....จุฬาฯ...ฉบับที่.. ยังไม่สมบูรณ์และมิได้มีการผ่านพิจารณาของประชาคม

 

 5.ผลจากการเปลี่ยนสภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล" หรือ "มหาวิทยาลัยนอกระบบ" ที่จักเกิดขึ้น อาจมีดังต่อไปนี้ (1) "บุคลากรของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" เป็นเพียงพนักงานตามสัญญาจ้าง ที่มีความรู้สึกไม่มั่นคง ส่งผลให้ไม่กล้าแสดงออก เพื่อชี้นำสังคม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาคมและประเทศชาติ (2) แม้ว่ากองบริหารมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ผู้บริหารจะมีความคล่องตัวในด้านการจัดการและบริหารงาน แต่ขาดความโปร่งใสในการมีส่วนร่วมของประชาคมจุฬาฯ และการตรวจสอบข้อมูลถ่วงดุลในด้านต่างๆ

 

 (3) ผู้เรียนจะต้องลงทุนเรียนมากขึ้น ฉะนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ปกครองจะต้องมีฐานะยากจนรวมถึงฐานะปานกลาง จะไม่มีศักยภาพส่งเสียบุตรให้เข้าศึกษาต่อในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขัดต่อปณิธานการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้โอกาสปวงชนได้มีโอกาสเข้าศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน (4) มีผลให้ "บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ในอนาคตขาดจิตสำนึกความรับผิดชอต่อสังคมและประเทศชาติ อันจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อชาติบ้านเมืองในอนาคต

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือให้กับสภามหาวิทยาลัยแล้ว กลุ่มนิสิตและอาจารย์ก็ได้รอฟังผลการประชุมอย่างใจจดใจจ่อที่บริเวณอาคารจามจุรี 4 จากนั้นมีข่าวเข้ามาว่า สภามหาวิทยาลัยประชุมเสร็จไปประมาณ 20 นาทีแล้ว แต่ไม่ยอมลงมาแจ้งให้ทราบ กลุ่มนิสิตจึงได้ส่งเสียงตะโกนเรียกลงมาและร่วมกันบูมเพื่อคัดค้านการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบ

 

ต่อมานายจรัล ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้ลงมาข้างล่างและกล่าวกับกลุ่มนิสิตว่า ขออย่าหลงประเด็น โดยเฉพาะการนำประเด็นการนำทรัพย์สินของจุฬาฯ มาเชื่อมโยงกับการออกนอกระบบ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน พร้อมทั้งขอให้นิสิตและผู้บริหารพยายามหาทางรอมชอมกันเพื่อให้เกิดผลดีกับทุกๆ ฝ่าย

 

จากนั้น ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัย ได้ลงมาพบกับกลุ่มนิสิตพร้อมทั้งกล่าวว่า หลังจากได้รับเรื่องจากกลุ่มนิสิตและคณาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยก็ได้นำจดหมายแจกจ่ายให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยพิจารณาทุกเรื่องที่ร้องขอนั่นก็คือการขอให้สภามหาวิทยาลัยถอนร่างกฎหมายออกจากการสภานิติบัญบัญญัติแห่งชาติ

 

ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าการถอดถอนร่างกมออกจากสนช. ไม่สามารถกระทำได้ เพราะได้ผ่านวาระแรกและเข้าสู่วาระ 2 แล้ว ซึ่งถือว่าพ้นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยไปแล้ว และถือเป็นเรื่องของประเทศชาติที่รัฐบาลและสนช.จะต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ

 

จากนั้นนักศึกษาคนหนึ่งได้ซักถามโดยแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องค่าเทอมที่อาจแพงขึ้นหลังการออกนอกระบบ ซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยได้คำถามและยืนยันว่าจุฬาฯ จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ทุกคนจะได้เรียน ไม่ใช่เฉพาะคนมีเงินอย่างเดียว โดยถ้าเป็นนิสิตที่ยากจน ทางมหาวิทยาลัยจะเข้ามาดูแลและให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

 

 

หลักถูกต้านหนัก  ม.นเรศวร ชะงักออกนอกระบบ เลื่อนเข้า สนช. 1 สัปดาห์

 

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่าง "พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. …" ในวาระ 1 โดยมี นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างดังกล่าว

 

ทั้งนี้ นายวัลลภ ตังคนานุรักษ์ สมาชิก สนช.อภิปรายว่า เนื่องจากตนได้รับหนังสือจากกลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อขอให้มีการชะลอการพิจารณาออกไปก่อน และทราบว่า เมื่อวันที่ 2 และ 15 พ.ย. คณะกรรมการสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ประชุมวิสามัญและทำหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ สนช.ให้ชะลอการพิจารณาร่างดังกล่าวออกไปก่อน ตนจึงเกิดข้อสงสัย 3 ข้อ คือ

 

1.รมว.ศึกษาธิการได้รับหนังสือนี้ด้วยหรือไม่ 2.ในการประชุมคณะกรรมการสภาอาจารย์ ในวันที่ 23 พ.ย นั้นคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้บอกกับตนว่าสาเหตุที่ได้ลงนามหนังสือการประชุมไปเพราะประธานสภาอาจารย์ (นางรัตนา สนั่นเมือง) ไม่อยู่ แต่การลงนามดังกล่าวถูกต้องตามระเบียบราชการหรือไม่ และ 3.เข้าใจว่าทางมหาวิทยาลัยได้ทำประชาคมกับนิสิต แล้วบอกว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ขึ้นค่าหน่วยกิต 10 ปีต่อจากนี้ และอธิการบดี ยืนยันว่า จะไม่เป็นอธิการบดีอีกต่อไปนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

 

ด้าน นายวิจิตร ชี้แจงว่า ประเด็นแรกประธานสภาอาจารย์ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และตนก็ได้รับหนังสือฉบับนั้น โดยสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบให้ ในหนังสือต้องการให้มีการชะลอการพิจารณา ด้วยเหตุผลว่า ได้มีการทำสอบถามความคิดเห็น แล้วรับประเด็นไปปรับปรุง แต่ว่าทางประชาคมอ้างว่ายังไม่ได้เห็นว่าข้อปรับปรุงนั้นเป็นอย่างไร ตนจึงนำหนังสือนั้นแจ้งทันทีไปยังนายกสภามหาวิทยาลัย (คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ) ทันทีโดยขอให้พิจารณาข้อร้องเรียน และขอทราบผลด่วน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ตนขอเลื่อนวาระเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อให้นายกสภาฯได้มีโอกาสไปทำความเข้าใจ และทราบว่า นายกสภาฯบินไปในวันที่ 23 พ.ย.และมีการประชุมสภาอาจารย์ โดยมีคนเข้าประชุม 16 คน และมีมติออกมา 9 ต่อ 7 โดย 9 คน เห็นว่าไม่ควรชะลอ แต่อีก 7 คน เห็นว่าควรชะลอ

 

ส่วนการประชุมดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยก็มีหลักฐานว่าผู้เชิญประชุม คือ ตัวประธานสภาอาจารย์ เป็นผู้ทำหนังสือเชิญประชุม แต่เรื่องใครนั่งเป็นประธานการประชุมตนไม่ทราบ และในแง่ของการส่งหนังสือถึงตนนั้น นายกสภาฯไม่ได้เซ็นผลการประชุม แต่เซ็นแจ้งการประชุมว่าได้มีการประชุมสภาแล้วว่าผลออกมาเป็นอย่างนี้ จึงขอให้ดำเนินการต่อไปในฐานะนายกสภาฯ ทั้งนี้ ตนบอกว่า อยากให้นายกสภาฯกับอธิการบดี ขอให้คนที่เขียนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ถ้าพอใจแล้วตกลงกันได้ก็น่าจะเขียนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ว่า ที่ทำหนังสือให้ชะลอ ซึ่งได้หารือกันเรียบร้อยแล้วไม่จำเป็นต้องชะลอ แต่ทราบว่าไม่มีการทำหนังสือดังกล่าว ดังนั้น ตนจึงคุยกับคนที่เขียนหนังสือทางโทรศัพท์ ว่า อะไรเป็นอะไร แต่ทางสภาอาจารย์ได้ทำหนังสืออีกฉบับถึงประธาน สนช.ว่า เมื่อรับหลักการฉบับนี้ขอให้ตั้งสภาอาจารย์เข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วย ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าถ้าชะลอไม่ได้เขาก็อยากจะขอเข้าเป็นกรรมาธิการเพื่อมาช่วยกันดู ซึ่งปกติแล้วจะมีการตั้งอธิการบดีและประธานสภาอาจารย์มาเป็นกรรมาธิการอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ของ ม.นเรศวร ก็รอเรื่องนี้อยู่ เพราะมีร้อยละ 70 เป็นผู้ที่ไม่เป็นข้าราชการ จึงเห็นว่า ควรรับหลักการแล้วตั้งกรรมาธิการ โดยให้มีประธานสภาอาจารย์เข้าร่วม แล้วจะลองดูว่าเมื่อถึงขั้นนั้นเป็นอย่างไรหากมีข้อทักท้วงอยู่ก็อยู่ในขั้นกรรมธิการ

"ถ้ามีปัญหาและมีเวลาผมอยากจะเห็นแนวทางที่ว่า ปรึกษาหารือให้เป็นที่เรียบร้อยก่อนรับหลักการเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะว่าเมื่อเข้าไปสู่กรรมาธิการแล้วเราจะมีโอกาสได้น้อยเนื่องจากเวลาเป็นข้อจำกัด ไม่เหมือนกับพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีเวลา 7 เดือน ผมเชื่อว่า ฉบับนี้ไม่มีโอกาสทำได้ในขั้นกรรมธิการขอให้ทางสภาตัดสิน ว่า ถ้ายังมีความต้องการให้หารือเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ทั้งภายในม.นเรศวร และกระทรวงศึกษาธิการก็ยินดีจะรับไปทำ โดยตั้งกรรมธิการขึ้นศึกษาก่อนรับหลักกการ จึงขอเลื่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้ไป 1 สัปดาห์" นายวิจิตรกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่วาระในสภา นายสมโภชน์ แนบเนียน นายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มายื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้นิสิตมีส่วนร่วมในร่างนี้ และยังถูกคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยปิดกั้นการแสดงความเห็นของนิสิต ตลอดจนสั่งห้ามเคลื่อนไหวและตั้งเวทีไฮปาร์ก ดังนั้น จึงขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับมาทำความเข้าใจตกลงร่วมกันกับประชาคมภายในมหาวิทยาลัยให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันก่อน โดยมี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือไว้

 

ที่มาของข่าว: เรียบเรียงจาก

อ.จุฬาฯ-นิสิตเดินขบวนค้านสภามหา'ลัย จี้ถอน พ.ร.บ.นอกระบบ, ผู้จัดการออนไลน์, 29 พ.ย. 2550

กม.ดัน ม.นเรศวร ออกนอกระบบชะงัก "วิจิตร" ขอถอนกลับไปตั้งหลักใหม่, ผู้จัดการออนไลน์, 29 พ.ย. 2550

 

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

สนช.ผ่านวาระแรกดัน "ลาดกระบัง-มช." ออกนอกระบบ, ประชาไท, 22 พ.ย. 2550

สุรยุทธ์เมินพบนศ.มช.ยื่นหนังสือระงับ พ.ร.บ.ม.นอกระบบ, ประชาไท, 23 พ.ย. 2550

นศ.มช.ตั้งเวทีอภิปราย ถาม-ตอบ พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ผู้บริหารยันไม่เกี่ยวขึ้นค่าเทอม, ประชาไท, 24 พ.ย. 2550

สภา อ.จุฬาฯ พิพากษา ม.นอกระบบวันนี้ - ส่วนพุธนี้คิวผู้บริหาร มช.เปิดเวทีชี้แจง, ประชาไท, 27 พ.ย. 2550

นศ.มช.เดินสายตามหอพักกระตุ้นการรับรู้เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550

นิสิต ม.นเรศวร ประท้วงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเงียบกริบ ไม่มีประชาพิจารณ์, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550

บทความ: สรุปบทเรียนการต่อสู้คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ผ่านมา, โดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ประชาไท, 29 พ.ย. 2550

"คุณตอบไม่ตรงคำถามเรา หรือเราถามไม่ตรงคำตอบคุณ" เสียง นศ. มช. ถึงเวทีผู้บริหาร เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 30 พ.ย. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท