Skip to main content
sharethis

ภฤศ ปฐมทัศน์: รายงาน




ภาพการร่วมลงชื่อสนับสนุนการชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มช.


 


จากที่เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2550 ที่ผ่านมา ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไจัดให้มีการประชุมชี้แจง "ความคืบหน้าในการนำมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" ขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้นสอง สถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีทั้งนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น


 


โดยขณะที่มีการพูดคุย เปิดให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น ได้มีนักศึกษาคนหนึ่งทำการเดินออกจากห้องประชุม และได้กล่าวต่อที่ประชุมก่อนหน้าจะเดินออกจากห้องประชุมว่า นักศึกษาเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่ในพระราชบัญญัติไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับนักศึกษาเลย รวมถึงอาจารย์เองก็แสดงความคิดเห็นวกไปวนมา ตอบไม่ตรงคำถาม  (อ่าน : ผู้บริหาร มช. เตรียมเชิญ "ชัยอนันต์ สมุทวนิช" แจงเรื่อง ม.นอกระบบ) นั้น


 


ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนักศึกษาที่เข้าร่วมเวทีดังกล่าว ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และได้รับข้อมูลมากน้อยเพียงใดจากเวทีนี้ โดย  น.ส.ประภัสสร ซึงถาวร ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา "มหาวิทยาลัยถนนคนเดิน" กล่าวว่าเวทีที่ผู้บริหารจัดเมื่อวันที่ 28 ไม่ได้มีอะไรคืบหน้า แต่อย่างน้อยมันก็เหมือนกับนักศึกษาไปประกาศจุดยืนของเรา โดยการยื่นข้อเสนอไปสองอย่าง คือหนึ่งเราจะทำการล่ารายชื่อนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ถ้าหากเป็นไปได้เราจะให้ชุมชนหรือประชาชนจากข้างนอก หรือบุคลากร อาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งการล่ารายชื่อทำเพื่อขอชะลอ พ.ร.บ.ดังกล่าว และทำให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้


 


นักศึกษาผู้นี้ได้กล่าวต่อว่า วิทยากรส่วนใหญ่จะเป็นคนจากฝ่ายบริหาร แม้จะมีอาจารย์มาร่วม แต่ก็อยู่ไม่นาน ในเวทีนี้ดูเหมือนว่าเขาจะทำให้เป็นเวที ถาม-ตอบ เวลามีคนมาพูดอะไรเขาก็จะตีเป็นคำถามอย่างเช่น เรื่องค่าเทอม หรือเรื่องที่ยังไม่ตกใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ เขาก็จะตีเป็นคำถามไป


 


เมื่อนักศึกษาแสดงคิดเห็น ฝ่ายผู้บริหารก็จะตีเป็นคำถาม เพื่อเป็นการตัดบทเราไปในตัว เช่นเวลานักศึกษาบอกว่า พ.ร.บ. ชุดนี้นักศึกษาไม่มีส่วนร่วม ทำไมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ดี เขาก็จะไปตีเป็นคำถามว่า "อ๋อ...เป็นคำถามในเรื่องของการประชาสัมพันธ์นะครับ" "เป็นคำถามในเรื่องของขั้นตอนนะครับ" เหมือนคน ๆ นู้นถามมาแล้วเดี๋ยวเราจะตอบให้ ซึ่งมันเป็นวิธีการตัดบทการแสดงความคิดเห็นวิธีหนึ่ง ทำให้นักศึกษาไม่ได้พูดต่อ


 


ในกรณีที่มีอาจารย์บางท่านพูดถึงเรื่องการขึ้นค่าเทอมว่า นักศึกษาเป็นชนชั้นกลางโดยส่วนใหญ่ เป็นคนที่มีเงินอยู่แล้ว จึงน่าจะไม่มีปัญหาอะไรหากมีการขึ้นค่าเทอม  น.ส.ประภัสสร กล่าวว่า อาจจะจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อาจารย์ใช้คำว่าชนชั้นกลางก็จริง แต่ชนชั้นกลางตามความเข้าใจของเราคือ ชนชั้นกลางมันก็มีหลายระดับ แบบมีเงินส่งลูกเรียนโดยไม่ต้องไปกู้ หรือชนชั้นกลางแบบที่ยังต้องกู้เอา คือไม่มีทรัพย์สินในการส่งเรียนได้มากมายขนาดนั้น ในปัจจุบันนี้เอง ชนชั้นกลางบางคนรวมถึงชนชั้นล่างก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องนี้จริง ๆ แล้วในมุมกลับกันถ้ามันออกนอกระบบไปประชากรความช่วยเหลือในส่วนนี้มันไม่ยิ่งน้อยลงไปกว่าเก่าหรือ บางทีมันอาจจะกลายเป็นว่ามีเหลือไว้แค่ชนชั้นกลางระดับบนๆ หรือชนชั้นสูงไปเลยก็ได้


 


น.ส. ประภัสสร ได้แสดงความเห็นในเรื่องของกองทุนกู้ยืมที่มีส่วนทำให้คนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมได้โอกาสเข้ามาเรียนมากขึ้นว่า มันไม่ใช่การแก้ปัญหา ที่แบบว่าไม่มีเงินเรียนไม่เป็นไร มีเงินกู้ให้  คือจริง ๆ แล้วการศึกษามันควรจะเป็นสวัสดิการของรัฐด้วยซ้ำ มันไม่ใช่มาหลอกว่า ไม่เป็นไร ก็มีเงินกู้ ถามว่าตอนนี้มีเงินกู้แล้วเรียนจบไปมีเงินใช้คืนหรือเปล่า


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่านักศึกษาที่ไปฟังในเวทีตอนเช้าวันที่ 28 นั้นมีความเข้าใจในสิ่งที่ผู้บริหารต้องการนำเสนอมากขึ้นหรือไม่  น.ส.ประภัสสรได้ตอบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เข้าใจ แต่ผู้บริหารก็ยังพูดวนไปวนมาแต่เรื่องเดิม ๆ พอนักศึกษาถามก็ตอบไม่ตรงกับคำถาม ในคำถามที่เราต้องการคำตอบเขาก็ตอบเลี่ยงไป ตอบแบบคลุมเครือ หรือไม่ก็บิดเบือนเป็นประเด็นอื่นไปเลย


 


น.ส. ประภัสสร สรุปสิ่งที่ได้จากเวทีในเช้าวันที่ 28 ว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้บริหารพูดวกไปวนมา แล้วมักจะพูดถึงแต่เรื่องการบริหารจัดการ หลายครั้งมากที่พอพูดถึงเรื่องค่าเทอมนักศึกษาเขาจะวกกลับมาบอกว่า "เราต้องมองในภาพขององค์กรด้วยนะครับ" ถามว่าองค์กรคืออะไร คือการมองในเรื่องความอยู่รอดของคนเพียงบางกลุ่มในมหาวิทยาลัยแบบนี้น่ะหรือ


 


ขณะเดียวกัน นายอาณัติ แสนจู ตัวแทนนักศึกษาอีกคนหนึ่ง ได้กล่าวถึงการพูดในเวทีของผู้บริหารเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 ว่า ส่วนใหญ่เขาจะพูดดึงเวลาไป แล้วก็ดึงออกนอกเรื่องบ้างเช่นเรื่องบำนาญของพนักงานก็พูดหลายรอบมาก มีเรื่องการขึ้นเงินเดือน มีการดึงเวลาเช่นที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ  การที่เขาเปรียบเปรยว่า "เหมือนโดนถีบตกน้ำ จมน้ำลงไป แล้วตอนนี้ค่อยๆ งมขึ้นมา" ก็พยายามเบนออกนอกเรื่อง


 


ประเด็นเรื่องที่มีนักศึกษาท้วงติงมามากมายคือประเด็นเรื่องทำไมไม่ประชาสัมพันธ์นักศึกษาให้ทั่วถึงนั้น นาย อาณัติ ได้ออกมาบอกว่า ในเวทีวานนี้ (วันที่ 28) ทางผู้บริหาร ไม่ได้ตอบเลยว่าทำไมถึงไม่ประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษารับทราบเรื่องของ พ.ร.บ. คือนักศึกษาส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยยังไม่รู้ นั่นเป็นประเด็นสำคัญที่เขาควรตอบด้วยซ้ำ เพราะทุกคนที่ออกมาถามนั้น ได้ถามเรื่องนี้ แต่เขาไม่ได้พูดเลย กลับพูดอยู่แต่เรื่องหลักการ การบริหาร ความคล่องตัว การที่เราจะเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ พยายามบ่ายเบี่ยงไปเรื่องอื่นอยู่ตลอด พอพวกผมมาถามซ้ำเขาก็หาว่าเราถามแต่คำถามเดิมๆ ทั้งๆ ที่เขาเองก็ยังไม่ตอบให้ตรงคำถาม


 


นายอาณัติ ได้พูดถึงเวทีเมื่อเช้าวันที่ 28 ต่อว่า ผู้บริหารได้อ้างว่าก็โครงการนี้มีมายาวนานแล้ว มีมาตั้งแต่นักศึกษารุ่นก่อนๆ จนผลัดรุ่นกัน ไม่ได้รีบออก เขาไม่ยอมพูดตรงๆ ว่าเรื่องจะเสร็จแล้ว เขาอ้างเปรียบเปรยว่า "มหาวิทยาลัยจะเข้าเส้นชัยแล้ว หน้าอกจะชนเส้นชัยอยู่แล้ว จะให้ถอยหลังกลับไปหรือ ถึงต้องดึงเวลา" แล้วพอไม่ขึ้นในรัฐบาลนี้ ไปขึ้นในรัฐบาลหน้า นักศึกษารุ่นใหม่มา ก็จะขอชะลออีกเป็นวัฏฐจักร ไม่ได้ขึ้นอยู่ดี เขาอ้างแบบนี้ ทั้งที่อีกไม่กี่เดือนรัฐบาลใหม่ก็จะเสร็จแล้ว ค่อยยื่นเรื่องก็ได้


 


สำหรับกรณีที่มีอาจารย์บางท่านพูดถึงเรื่องกรณีการขึ้นค่าเทอมว่า นักศึกษาเป็นชนชั้นกลางโดยส่วนใหญ่ เป็นคนที่มีเงิน มีรถขับ จึงไม่น่าจะเดือดร้อนกับการขึ้นค่าเทอม นาย อาณัติ ก็ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า นักศึกษาใน มช. ส่วนใหญ่แทบจะไม่มีรถ นักศึกษาปีหนึ่งก็ใช้รถราง (รถไฟฟ้าแบบล้อของมหาวิทยาลัย) ตลอด โดยเฉพาะคนที่อยู่หอใน กินข้าวก็กินข้าว อ.มช. (โรงอาหารของอาคารกิจกรรมนักศึกษา) จานละ 12 บาท 15 บาท แต่ถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบปุ๊บ เขาเชือว่า อ.มช. จะไม่ขายราคานี้แน่นอน อย่างน้อยก็เป็น 20 บาท ข้าวราดสองอย่างก็เป็น 25 บาท


 


นาย อาณัติ ได้กล่าวต่อในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันมีร้านเซเว่น-อิเลฟเว่นแล้วใน มช. อีกหน่อยก็จะมีคนมาประมูลซื้อ อาจจะมี KFC ร้านพิซซ่า อะไรเช้ามาเปิดได้ ดังนั้นค่าครองชีพของนักศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นแม้จะไม่ขึ้นค่าเทอม ไม่ขึ้นค่าหน่วยกิตมากเท่าไหร่ แต่โดยรวมแล้ว นักศึกษาจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน


 


นาย อาณัติ ได้สรุปเหตุการณ์จากการเข้ารับฟังการชี้แจงในเวทีเช้าวันที่ 28 ว่า มันเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย เพราะว่ามีแต่การพูดถึงเรื่องของ การบริหารเอย สวัสดิการเอย เปลี่ยนเป็นลูกจ้างเอย จากราชการมาเป็นพนักงานเอย แต่สำหรับนักศึกษาแล้วแทบจะไม่มีใครบอกเลยว่า นักศึกษาจะได้อะไร  แทบจะไม่มีประโยคเกี่ยวกับนักศึกษาเลย การที่เพื่อนๆ นักศึกษาเดินออกจากห้องประชุม ก็เพราะวิทยากรผู้ให้ข้อมูลตอบไม่ตรงกับคำถามที่นักศึกษาถามตอบบิดเบือนไปบิดเบือนมา เลยรู้สึกเบื่อหน่าย ส่วนผมเองก็ยังอยู่ทนฟังในเวทีนั้นต่อไปเรื่อยๆ เพราะอยากเก็บรายละเอียดให้ครบ


 


นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษา "มหาวิทยาลัยถนนคนเดิน" ได้จัดให้มีการร่วมลงชื่อเพื่อชะลอการผ่านร่างของ พ.ร.บ. มช. ขึ้นตามหอพักนักศึกษาชาย-หญิง ในมหาวิทยาลัย รวมถึงซุ้มภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาด้วย


 


 


 


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


สนช.ผ่านวาระแรกดัน "ลาดกระบัง-มช." ออกนอกระบบ, ประชาไท, 22 พ.ย. 2550


สุรยุทธ์เมินพบนศ.มช.ยื่นหนังสือระงับ พ.ร.บ.ม.นอกระบบ, ประชาไท, 23 พ.ย. 2550


นศ.มช.ตั้งเวทีอภิปราย ถาม-ตอบ พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ผู้บริหารยันไม่เกี่ยวขึ้นค่าเทอม, ประชาไท, 24 พ.ย. 2550


สภา อ.จุฬาฯ พิพากษา ม.นอกระบบวันนี้ - ส่วนพุธนี้คิวผู้บริหาร มช.เปิดเวทีชี้แจง, ประชาไท, 27 พ.ย. 2550


นศ.มช.เดินสายตามหอพักกระตุ้นการรับรู้เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550


นิสิต ม.นเรศวร ประท้วงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเงียบกริบ ไม่มีประชาพิจารณ์, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550


บทความ: สรุปบทเรียนการต่อสู้คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ผ่านมา, โดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ประชาไท, 29 พ.ย. 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net