Skip to main content
sharethis

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติสนช. เป็นประธานการประชุมสนช.เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ(ฉบับที่...)พ.ศ....โดยนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม ชี้แจงถึงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ว่า เนื่องจากพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติพ.ศ.2547 มีความไม่เหมาะสมอยู่หลายประการ ทั้งการบริหาร การกระจายอำนาจ ยศ ตำแหน่ง รวมถึงการกำหนดกลไกในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจ อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบงานตำรวจจึงสมควรต้องปรับปรุงบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคดังกล่าว


 


นายชาญชัย กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้คือการกระจายอำนาจความรับผิดชอบในการบังคับบัญชา และกำกับดูแลการปฏิบัติราชการในแต่ละลำดับได้อย่างใกล้ชิด และลดขั้นตอนการปฏิบัติราชการ มีการปรับปรุงองค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ รวมทั้งปรับปรุงตำแหน่งข้าราชการตำรวจ ปรับปรุงยศของข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยการบรรจุ แต่งตั้ง และการเลื่อนขั้นเงินเดือน เพื่อให้มีการกระจายอำนาจในการพิจารณาจากส่วนกลางมายังส่วนราชการในระดับกองบัญชาการให้มากขึ้น


 


"ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจซึ่งมีจเรตำรวจแห่งชาติเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องจากการกระทำหรือไม่กระทำของข้าราชการตำรวจอันมิชอบด้วย" นายชาญชัย กล่าว



นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ก่อนการยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านตำรวจจำนวนมากร่วมเป็นกรรมการ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากข้าราชตำรวจและประชาชนจากทุกกองบัญชาการทั่วประเทศ จนมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาและได้รับการตรวจทานจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เชื่อว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ตำรวจชั้นผู้น้อยจะได้ประโยชน์จากการปรับปรุงโครงสร้างตำรวจครั้งนี้ และเชื่อว่าสนช.จะรับหลักการรับร่างพ.ร.บ.ฯไว้พิจารณา เพราะประชาชนทั่วประเทศกำลังรอคอยอยู่เช่นกัน


 


ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวว่าขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยมีเหตุผลการสนับหนุน 4 ข้อ คือ 1.อยากเห็นการกระจายอำนาจของตำรวจ 2.สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานขอวตำรวจ 3.ต้องการสร้างความก้าวหน้าเงินเดือนชั้นยศให้ตำรวจชั้นประทวน และ 4.สร้างระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่มาตรา 4-8 ให้อำนาจตำรวจในระดับนครบาล ภูธร กองบัญชาการ ในเรื่องการบริหารงบประมาณ และบุคลากรมากขึ้น และการสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารงานตำรวจ เพราะระบบของตำรวจในปัจจุบันไม่มีการใช้ความสามารถ คุณธรรม มีแต่การวิ่งเต้น ระบบนี้ต้องการให้บุคลากรจากกระบวนการยุติธรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการให้ระบบงานตำรวจมากขึ้น การบริหารงานก.ตร. เดิมนายกฯเสนอชื่อผบ.ตร. ทำให้ผบ.ตร.กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง และร่างพ.ร.บ.ตำรวจ 47 ไม่ได้ ทำให้ตำรวจหลุดพ้นอำนาจวงจรนักการเมืองเลย แต่กฎหมายฉบับนี้จะไม่ให้นักการเมืองมาแต่งตั้งผบ.ตร.ได้อีกต่อไป เพราะก.ตร.มีบุคลากรจากกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ในรูปคณะกรรมการในการวินิจฉัยได้ สิ่งที่ต้องการคือเห็นวงการตำรวจมีอิสระจากอำนาจการเมือง ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือการให้คนในกระบวนการยุติธรรมดูแลกันเอง


 


"ดังนั้นจึงไม่อาจรับข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาได้ เพราะคณะกรรมการจำนวนมากเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ อดีตตำรวจรับราชการ การให้เลื่อนไปศึกษาเป็นอุบายให้กฎหมายนี้ตกไป เป็นการหักหลังประชาชน เพราะสิ่งที่ประชาชนหวังคือหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อย" นายสังศิต กล่าว


 


นายสังศิต กล่าวอีกว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านการรวบรวมความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ และตัวแทนจากตำรวจระดับสูง ดังนั้นการให้เลื่อนออกไปจึงไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยในการให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อน


 


พล.ต.ท.สมศักดิ์ แขวงโสภา สนช. กล่าวว่าการปรับปรุงพัฒนาตำรวจเป็นเรื่องดี แต่ร่างพ.ร.บ.นี้เป็นการปรับปรุงเฉพาะไม่ได้ครอบคลุมการแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้จริง ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงโดยมีเจตนาที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาของตำรวจอย่างครบถ้วนทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกฎหมายนี้ไม่มีในเรื่องของการส่งเสริมหน่วยบำรุง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่ตำรวจจะไม่ได้ไม่ต้องพึ่งพิงระบบที่ไม่ชอบ หรืออ้างได้ว่าไม่สามารถปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ของตำรวจนี้ไม่ก่อให้เกิดเอกภาพ มีความซับซ้อนไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติหน้าที่


 


ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ สนช. อภิปรายว่า ความพยายามในการปฏิรูป ยิ่งทำให้ห่างไกลการให้บริการแก่ประชาชน ยิ่งกลับกลายมีนายมากขึ้น ไม่มีคนทำงาน กลายเป็นคนหัวโต แขนขาลีบ ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เน้นในจุดที่มีความสำคัญในการให้บริการกับประชาชน คือโรงพัก ที่ยังคงถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกฎหมายใหม่หลายมาตราที่ขัดต่อหลักการบริหารหลายประการ เช่น การให้ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่งตั้งผู้บังคับบัญชา ซึ่งโครงสร้างเช่นนี้ จะทำให้มีปัญหาในการบริการผู้ใต้บังคับบัญชา หรือกรณีที่ให้มีคณะกรรมการติดตามและสนับสนุนการปฏิบัติราชการของกองบัญชาการ (ก.ต.ส.) ที่ให้อำนาจหน้าที่อย่างครบวงจรทั้งในด้านการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติและการประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งถือเป็นการชงเอง ชมเอง กฎหมายสำคัญควรหรือที่จะเร่งรีบพิจารณาภายใน 4 สัปดาห์เพื่อให้ทันสมัยการประชุมนี้


 


ร.ต.อ.ปุระชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่มีการใช้เรื่อยมา แต่ไม่มีสักครั้งที่มีการประเมิน จึงไม่สามารถที่จะแก้ไขปรับปรุงให้เป็นตามเป้าหมาย อีกทั้งการทำอย่างเร่งรีบ โดยอคติ จะก่อให้เกิดปัญหาซับซ้อน ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง เพราะมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว จึงไม่สมควรที่จะรับหลักการร่างกฎหมายนี้ และหากมีการรับร่างก็ควรตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา โดยให้สิทธิคณะกรรมาธิการให้สามารถแก้ไขร่างได้มากกว่าหลักการ


 


ด้านน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สนช. กล่าวว่า เพื่อนสนช.ได้อภิปรายมากมาย ตนขอให้รัฐบาลถอนร่างกฏหมายฉบับนี้ และนำกลับเข้ามาใหม่ หรือก่อนที่จะมีการรับหลักการให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อให้ช่วยกันดู ให้เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ที่เป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการอภิปรายอย่างกว้างขวางร่วม 4 ชั่วโมง นายมีชัย ได้ให้สมาชิกลงมติผลปรากฏว่า สนช.รับหลักการด้วยคะแนนเสียง 75 ต่อ 30 ขณะที่มีผู้งดออกเสียง 4 เสียง จากนั้นได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 46 คน เป็นตำรวจและอดีตตำรวจ 11 คน อาทิ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ นอกจากนั้นเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เช่น นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ นายจรัญ ภักดีธนากุล น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นางอังคณา นีละไพจิตร นายวิษณุ เครืองาม เพื่อขึ้นมาทำการแปรญัตติภายใน 7 วัน นอกจากนี้นายมีชัย ยังใช้อำนาจประธานในที่ประชุมงดเว้นการใช้ข้อบังคับข้อที่ 115 เพื่อให้สมาชิกสามารถแก้ไขเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับหลักการที่รับไปแล้ว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะปิดการประชุมในเวลา 19.00 น. นายมีชัย ได้กล่าวกับสมาชิกที่เหลืออยู่ในห้องเพียง 109 คนว่า หลังจากนี้จะประชุมถึงเวลา 18.30 น.เท่านั้นเพื่อที่จะไม่ให้ถูกต่อว่าว่ายัดเยียดกฎหมาย ฉบับใดไม่ทันก็ต้องปล่อยไป


 


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net