Skip to main content
sharethis

องค์ บรรจุน


ประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ


 


สืบเนื่องจากสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่สมุทรสาคร อคติที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการ สื่อมวลชนบางแขนง ร่วมกันสร้างภาพ นำไปสู่เสียงเล่าลือความน่ากลัวทำนอง "พม่ายึดมหาชัย" ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากประชากรแฝง ผู้มาเยือน รวมทั้งผู้มาใหม่ของจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้แรงงานต่างด้าวที่ถูกเรียกว่า "พม่า" กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว น่ารังเกียจ ขณะที่คนไทยเชื้อสายมอญเจ้าของชุมชนดั้งเดิมไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะคนมอญดั้งเดิมตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว กับแรงงานต่างด้าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมอญ ที่ต่างมีภาษา วัฒนธรรม สำนึกทางประวัติศาสตร์ อันมีที่มาจากบรรพชนกลุ่มเดียวกัน จึงเข้าใจและอยู่ร่วมกัน ไม่รู้สึกว่าเป็น "คนอื่น" แต่อย่างใด


การที่คนมอญชุมชนดั้งเดิมต้องลุกขึ้นมาสะท้อนปรากฏการณ์จริง เพราะภาพที่คนภายนอกมองเข้าไปอย่างมีอคติ เกิดจากความไม่พยายามทำความเข้าใจ รวมทั้งไม่เรียนรู้จากคนในชุมชนดั้งเดิม ที่ถูกระรานและการกระทำที่บั่นทอนตัวตนคนมอญสมุทรสาคร ด้วยการที่นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ออกประกาศ "...หนังสือด่วนที่สุด ที่ สค.0017.2/ว 3634 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2550..." ระบุว่าแรงงานต่างด้าวเป็นต้นตอของปัญหาอาชญากรรมและการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกอบกับได้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของต่างด้าวในเทศกาลและงานต่างๆ ที่จัดขึ้น ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม และไม่ควรให้การสนับสนุนเพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของชุมชน อาจเกิดปัญหาในด้านความมั่นคงและเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของทางรัฐบาล ...? ทั้งที่คนไทยเชื้อสายมอญเป็นผู้จัดกิจกรรมและมีแรงงานมอญต่างด้าวมาร่วมงาน ร่วมกิจกรรม สื่อสาร และอยู่ด้วยกันเพราะมีวัฒนธรรมร่วมกันนั่นเอง


จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การรวมตัวยื่นจดหมายโดยองค์กรพัฒนามากมายหลายหน่วยงาน เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ทบทวนและยกเลิกหนังสือดังกล่าว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง กระทั่งผู้ว่าฯ ได้ออกหนังสือเชิญองค์กรพัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังคำชี้แจง และร่วมหารือในวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา


แม้ได้พูดคุยหารือกันแล้ว กระทั่งได้ยินจากปากคำของผู้ว่าฯ ด้วยความหมายที่คล้ายๆ กับว่า "...เป็นการ...ล้อเล่น..." หรือ "...แค่ปราม..." ก็ตามที


ปกติแล้วมาตรการดูแลจัดการของหน่วยงานรัฐที่มีต่อแรงงานต่างด้าวในหลายครั้ง มักได้รับการทัดทานจากผู้ประกอบการเสมอ ด้วยมาตรการทั้งหลายมักส่งผลต่อการจ้างงานแรงงานราคาถูก ที่ไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง หรือการกดขี่เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการอย่างเลี่ยงไม่ได้


การตอกย้ำจากผู้ที่เราเชื่อ ผู้ที่เราหวัง ว่าน่าจะมีข้อมูลรอบด้าน และน่าจะเข้าใจได้ แต่กลับตัดสินเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยความโน้มเอียงไปกับมายาคติโดยไม่ทำความเข้าใจ ด้วยในวันเดียวกันนั้นเอง ได้มีบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นคนสมุทรสาคร เป็นสื่อมวลชน (ซึ่งเราทราบว่าเป็นผู้ประกอบการภายในจังหวัดสมุทรสาครรายหนึ่งด้วย) ลุกขึ้นประกาศว่า 


"...แรงงานต่างด้าว ก่อปัญหาให้แก่ผมอย่างยิ่ง ในกรณีคนมอญ ถ้าอยากจัดงานวัฒนธรรมประเพณีหรืองานวันรำลึกถึงบรรพชนของตนเอง ก็ควรจะเอาวิธีการที่ชาญฉลาดอย่างคนจีนมาใช้ เช่นการทิ้งกระจาด การตั้งสมาคมการกุศล ปอเต็กตึ้ง ร่วมกตัญญู เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมด้วย..."


ข้าพเจ้าได้แต่อึ้งงันกับคำแนะนำในวิธีที่ชาญฉลาดเช่นนั้น เพราะท่านผู้นั้นมองไม่เห็นสิ่งที่คนมอญสร้างสรรค์ให้สังคมไทยมาตั้งแต่อดีตเลยแม้แต่น้อย งานรำลึกบรรพชนมอญ ก็ดูจะไร้สาระสำหรับท่านผู้นั้น หากเปลี่ยนชื่อเป็น "...งานเช็งเม้งของคนมอญ..." อย่างนี้จะถูกห้ามหรือไม่...?


ข้าพเจ้าไม่เคยนำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรม ประเพณี ศิลปะ ที่ต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างยุคสมัยมาเทียบกันว่าของใคร ยุคไหน ดีกว่ากัน เพราะข้าพเจ้าเคารพความแตกต่างทางชาติพันธุ์เสมอ


 ประกาศฉบับดังกล่าวข้างต้น ไม่มีผู้ประกอบการรายใดลุกขึ้นคัดค้าน ต่างนิ่งพึงพอใจ เพราะเชื่อว่า จะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงาน ตรงตามที่ตัวแทนท่านผู้ประกอบการกล่าวออกมาด้วยตนเองในวันนั้นว่า


 "..เราผู้ประกอบการ มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ แต่เราไม่สนับสนุนให้แสดงออกทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว หน้าที่ของแรงงานต่างด้าวก็ควรจะทำงาน ส่งเงินกลับบ้าน จะได้ไม่ก่อปัญหาด้านต่าง ๆ ..." และ "...ผมจ้างมาเป็นแรงงาน ไม่ได้จ้างมาให้ร่วมงาน จัดงาน จัดกิจกรรมวัฒนธรรม..."


 ความข้างต้น ประหนึ่งว่าจะให้แรงงานต่างด้าวทำแต่งาน ไร้ชีวิตจิตใจแบบหุ่นยนต์ ไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับใครทั้งสิ้น ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกันด้วยภาษาของตนได้ เพราะคนไทยฟังไม่ออก เรื่องที่พูดคุยสื่อสารกันอาจเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของไทยได้...? ระยะเวลาที่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้จัดกิจกรรมก็เป็นวันเสาร์อาทิตย์ และมีการขออนุญาตล่วงหน้า ซึ่งก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่จะกระทำได้ เพราะแรงงานที่เป็นคนไทยทั่วไป ผู้ประกอบการก็ต้องจ้างแรงงานด้วยอัตราที่เหมาะสม ดูแลสุขทุกข์ จัดสวัสดิการ มีมุมพักผ่อน ผู้ประกอบการบางรายก็นำเที่ยว จัดงานปีใหม่ให้คนงานของตนเอง ทั้งเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ สนับสนุนกิจกรรมของคนงาน สร้างความรักความเข้าใจ สร้างความภักดีต่อองค์กร เพราะหากคนงานมีความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อองค์กร สุขภาพกายและใจดีแล้ว คุณภาพการทำงานก็ย่อมต้องออกมาดี ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็มีการยอมรับและใช้กันปกติทั่วไป แต่ทำไมแรงงานต่างด้าวถึงไม่มีสิทธิเหล่านี้ หรือเพราะเป็นแค่ "แรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย ไม่มีค่าความเป็นคนพอที่จะได้รับสิทธิเหล่านั้น


โลกเรามีพัฒนาการมาจนถึงวันนี้ ผู้คนทั่วโลกล้วนเปิดกว้าง รับฟังและยอมรับความแตกต่างให้โอกาส ส่งเสริม เกื้อหนุนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ส่วนไหนของโลก แม้แต่คนไทยพลัดบ้านต่างเมืองไปยังประเทศอื่น ทั้งไปโดยถูกหรือผิดกฏหมายก็ตาม คนไทยก็สามารถแสดงออกถึงความเป็นไทย ฟังเพลงอย่างที่ชอบ กินอาหารอย่างที่เคย แต่งกายในแบบของตนได้ แต่ผู้ประกอบการประเทศไทยจะรวมหัวกับผู้ว่าฯ จัดการ "ดองเค็ม" แรงงานต่างด้าว เอากันชนิดที่ทำแต่งานอย่างเดียว ไม่ต้องมีความรัก ไม่ต้องแต่งงาน จะได้ไม่ต้องคลอดบุตร อันเป็นต้นตอของปัญหา คำหนึ่งที่ผู้ประกอบการ "...พูดเล่น ๆ ..." ออกมาก็คือ "...ถ้าทำหมันแรงงานต่างด้าวได้ ผมสนับสนุน ควรทำไปเลย..."


แทบไม่เชื่อหูตนเอง ว่า "คน" ด้วยกันจะคิดออก และคิดจะเอามาปฏิบัติกับ "คน" ด้วยกัน


ถ้าภาษิตคำพังเพยโบราณของไทยที่ว่า "หนีเสือปะจระเข้" ยังสามารถอธิบายสิ่งที่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ถูกกระทำไม่ชัดเจนดีพอแล้ว เราก็ควรจะสร้างคำพังเพยใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า "หนีรัฐบาลทหารพม่า ปะผู้ว่าสมุทรสาคร"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net