Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเชิงวิชาการเรื่อง "เหลียวหลังแลหน้าการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทอีสานช่วงทศวรรษ 2540-2550" โดยในช่วงท้าย มีการเสวนาประเด็น พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน โดยมีนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ และชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมประมาณ 120 คน


 



 


ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.สุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิกร วีสเพ็ญ ทนายความอิสระ และ เลื่อน ศรีสุโพธิ์ ตัวแทนชาวบ้านจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน


 



 


ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมด รวมทั้งผู้สนใจที่เข้าร่วม ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ฉบับดังกล่าวของรัฐบาล และการลงมติรับหลักการในวาระแรกของ สนช. เนื่องจากการนิยามเรื่องความมั่นคงที่ครอบจักรวาล การใช้อำนาจที่ไม่อยู่ภายใต้กระบวนการศาล หรือหลักนิติธรรม การเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจของตนเอง และไม่ต้องรับผิดในทางอาญา แพ่ง หรือทางปกครอง ซึ่งทั้งหมดนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักประชาธิปไตย เป็นการปกครองตามอำเภอใจ จะทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง และสิทธิชุมชน ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นแล้วในหลายๆ พื้นที่ที่มีกฎอัยการศึก


 


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นต่อการทำหน้าที่ของ สนช.ในฐานะที่เป็นสภาชั่วคราว และมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่พยายามผลักดันกฎหมายที่ส่งผลต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่มี สนช. 20 คน ไม่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นการทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ดูดีขึ้น มีความชอบธรรม เพราะดูเหมือนว่ามีการตรวจสอบกันแล้ว


 


ในตอนท้ายของการเสวนา ผู้เข้าร่วมมีข้อเสนอให้ยกเลิก สนช. รอให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ และการที่ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะมีการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนก็ต้องคัดค้าน เพราะหากยิ่งไม่ทำอะไร ยิ่งอยู่ในภาวะความกลัว ก็จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ


 


 


การทำให้ กอ.รมน.มีสถานะเป็นสถาบันถาวร ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา


ขนาดยังไม่เป็นสถาบันถาวร ในช่วงที่มีกฎอัยการศึก


เราก็จะเจอหน่วยงานความมั่นคงไปร่วมประชุมกับชาวบ้าน


 


ดร.นฤมล ทับจุมพล :      สนช.ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ด้วยคะแนน 101 เสียง เท่านักวิชาการที่ลงชื่อคัดค้านไป ในจำนวนผู้ที่ไม่รับร่างก็ประกอบด้วยสายทหาร ตำรวจ และสายนักวิชาการ ซึ่งในสายนักวิชาการก็ควรจะตั้งคำถามได้ แม้หลายคนบอกว่าจำเป็นต้องโหวต ในส่วน 127 คนที่ไม่เข้าประชุม ถ้าประเมินว่าคนที่ไม่เข้าคือคนที่ไม่เห็นด้วย ก็อาจนิยามว่ามีคนไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก ในส่วนของตัวร่าง ประเด็นที่มีการคัดค้านก็คือ นิยามเรื่องความมั่นคงไม่ชัดเจน ให้อำนาจดุลพินิจของหน่วยงานความมั่นคงนิยามได้ว่าอะไรคือปัญหาภัยความมั่นคง


 


ประเด็นต่อมาคือ การทำให้ กอ.รมน.มีสถานะเป็นสถาบันถาวร ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา ขนาดยังไม่เป็นสถาบันถาวร ในช่วงที่มีกฎอัยการศึก เราก็จะเจอหน่วยงานความมั่นคงไปร่วมประชุมกับชาวบ้าน


 


อีกประเด็นคือ การให้อำนาจเจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจ เข้าจับกุม ควบคุมตัวบุคคล ทำหนังสือสอบถาม เรียกมารายงานตัว หรือป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ต่อไปถ้ามีการชุมนุม ถ้าเขารู้สึกว่าการชุมนุมจะทำให้เกิดความไม่มั่นคง เขาก็มีสิทธิระงับยับยั้ง ที่ผ่านมา ชาวบ้านปากมูลจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ยึดใบขับขี่ ดังนั้น ถ้าให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจโดยไม่มีความชัดเจนว่าอะไรคือความมั่นคง ก็จะเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ


 


สุดท้าย หน่วยงานที่ใช้ดุลพินิจไม่ต้องรับผิดในทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่ากระทำการโดยสุจริตใจ คืออาจตัดสินใจผิด แต่สุจริตใจก็ไม่เป็นไร ไม่สามารถนำเรื่องที่เป็นคดีเข้าสู่ศาลหรือคำสั่งทางปกครองได้ สรุปก็คือ อำนาจในการออกประกาศ บริหาร ตรวจสอบ/ถ่วงดุล อยู่ที่หน่วยงานเดียว คือ กอ.รมน. จะเรียกได้อย่างไรว่าเป็นประชาธิปไตย ต้องเรียกว่าเป็นการปกครองตามอำเภอใจ


 


ในที่ประชุมของนักวิชาการมีคนเสนอว่า ควรยุบ สนช.ได้แล้ว ไม่ใช่แค่ไม่มีความชอบธรรมที่จะออกกฎหมาย แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรให้คนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนตัดสิน มีการตั้งคำถามว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำ เป็นภาพสะท้อนว่าเป็นวิธีต่างตอบแทน เพราะเราพบว่า กฎหมายจำนวนมากที่เข้าสภาในช่วง 2-3 เดือนสุดท้าย ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชน เป็นเรื่องแย่มาก และในเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ควรมีการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ และทำการคัดค้านอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้


 


ยิ่งไม่ทำอะไร ยิ่งอยู่ในภาวะความกลัวเท่าไร ก็ยิ่งออกอะไรมาประหลาดขึ้นทุกที ความกลัวก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ


 


 


ไม่ใช่เราต่อต้านทหาร แต่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ให้อำนาจครอบจักรวาล


และคุ้มครองการกระทำโดยไม่อยู่ใต้นิติธรรม จะแข่งกับพม่าหรืออย่างไร


 


รศ.สุริชัย หวันแก้ว:        ที่ไม่รับ พ.ร.บ.ฉบับนี้เพราะโดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นกฎหมายที่แย่มาก เนื่องจากนิยามครอบจักรวาล ใช้อำนาจโดยไม่อยู่ใต้ศาล ไม่อยู่ในขอบข่ายของกฎหมายปกครอง และคุ้มครองผู้ปฏิบัติให้ไม่ต้องรับผิด ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา ทางกรรมาธิการการมีส่วนร่วมที่ผมอยู่ก็ถกเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง


 


ไม่ใช่เราต่อต้านทหาร แต่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ให้อำนาจครอบจักรวาล และคุ้มครองการกระทำโดยไม่อยู่ใต้นิติธรรม จะแข่งกับพม่าหรืออย่างไร


 


สุดท้ายรัฐบาลบอกว่าไม่รีบแล้ว แต่จู่ๆ ก็โผล่มาอีกครั้ง ผมตีความว่าคุณสุรยุทธ์ (จุลานนท์) เกรงใจทหาร เขาอาศัยกัน ทหารต้องการกฎหมายที่ให้อำนาจมั่นคงกว่าที่มีอยู่ คือกฎอัยการศึก และ พรก.ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งต้องประกาศเป็นพื้นที่และมีระยะเวลา เมื่อครบกำหนดก็ต้องขอต่อ การมี พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เท่ากับเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินแบบถาวรทั้งประเทศ ในวันที่เข้าสภาผมยกมือขึ้นพูด มีคนบอกว่า อาจารย์อย่าพูดเลย เข้าไปแล้วค่อยแก้ แก้ได้หมดเลย


 


คำถามก็คือ มันเป็นเครื่องมือของใคร เป็นเครื่องในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็ได้ ซึ่งใช้ประจำ ต่อไปจะชุมนุมหรือประชุมก็ไม่ได้ มีการอ้างว่า ต่างประเทศมีกฎหมายความมั่นคงหมด แต่ต่างประเทศที่เขามี ไม่เหมือนอย่างนี้ เช่น อเมริกา กฎหมายไม่ให้อำนาจถาวรอย่างนี้ และให้อำนาจศาล คือ อยู่ใต้หลักนิติธรรม หรือในฟิลิปปินส์ เขาเรียกว่ากฎหมายความมั่นคงของมนุษย์ เป้าหลักคือ รับมือกับภัยก่อการร้ายใหม่ มี 6-7 ข้อ ซึ่งเขาชัดเจนในการนิยาม ไม่ครอบจักรวาลเหมือนอย่างของเรา


 


ผมเห็นด้วยที่ต้องมีกฎหมาย แต่ไม่ใช่กฎหมายที่ไม่มีขีดจำกัด ให้อำนาจเกินหลักการจนรับไม่ได้ ตอนนี้เรากำลังเตรียมตัวเลือกตั้ง แต่ว่าร่างกฎหมายแบบนี้แปลว่าอะไร ไม่ได้สะท้อนความตั้งใจจริงที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นบรรยากาศแห่งความหวัง มีแต่รบกวนและเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งด้วยซ้ำ


 


 


คล้ายกับการปราบปรามยาเสพติด เมื่อยุคอำนาจเก่า


ไม่รู้ถูกหรือผิด ไม่ต้องขึ้นศาล ตัดตอนยิงทิ้งเลย


มีศาล ศาลปกครอง ศาลอาญา ผู้พิพากษาไว้ทำไม


น่าคิดมาก เราจะอยู่อย่างหวาดระแวง


เพราะจะมีอำนาจอะไรไม่รู้มาดูแลเราโดยอ้างความมั่นคง


 


นิกร วีสเพ็ญ :    กฎหมายที่เลวร้ายที่สุด คือ กฎหมายที่ให้มนุษย์ใช้ดุลพินิจ เพราะมันจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็ได้ ขึ้นอยู่กับอารมณ์และผลประโยชน์ ซึ่งอันตรายมาก โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องความมั่นคง แต่การที่กฎหมายจะไม่ผ่านเป็นเรื่องยากมาก เพราะการเมืองภาคประชาชนยังไม่เข้มแข็ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แย่ แต่ประชาชนแย่กว่าเพราะไม่รู้เรื่องเลย เขาเข็นกฎหมายฉบับนี้ออกมา เพราะกลัวอำนาจเก่า แต่ใช้วิธีจับหนูตัวเดียวเผาทั้งป่า ฟาดได้ทั้งคนจน คนรวย นักประท้วง นักวิชาการหัวแข็ง ทั้งฝ่ายตรงข้ามที่ทำให้ตัวเองเสียผลประโยชน์


 


หัวใจของกฎหมายฉบับนี้ คือ การให้อำนาจเจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจ ถ้าเป็นผู้กระทำก็คือเข้าไปแสดงตัวตรวจค้นเลย ซึ่งถ้าจะแกล้งกันก็ง่ายมาก ยัดยาเสพติดให้ ที่น่ากลัวมากที่สุด ก็คือ ใครก็ตามที่ทำตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่จำเป็นต้องรับผิดในผล ถือว่าบริสุทธิ์ใจ กฎหมายคุ้มครอง


 


ถ้าเป็นอย่างนี้ใครจะไปกลัวผิด อาจมาใช้กับเรื่องส่วนตัวก็ได้ คล้ายกับการปราบปรามยาเสพติด เมื่อยุคอำนาจเก่า ไม่รู้ถูกหรือผิด ไม่ต้องขึ้นศาล ตัดตอนยิงทิ้งเลย มีศาล ศาลปกครอง ศาลอาญา ผู้พิพากษาไว้ทำไม น่าคิดมาก เราจะอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะจะมีอำนาจอะไรไม่รู้มาดูแลเราโดยอ้างความมั่นคง


 


สุดท้าย ผู้ใช้สามารถออกคำสั่งที่ตนเองเห็นว่าจำเป็นได้ สูงกว่าผู้ว่าฯ สามารถออกคำสั่งทับอำนาจของกระทรวงมหาดไทยได้ทั้งหมด ในพื้นที่ที่ใช้ดุลพินิจว่าจำเป็นต้องใช้คำสั่งเหล่านั้น ผู้ว่าฯ ก็ไม่มีความหมาย การออกกฏหมายคลุมไปหมดอย่างนี้ด้วยความหวาดกลัวอำนาจเก่า มันบั่นทอนสิทธิเสรีภาพ สิทธิทางการเมืองภาคพลเมือง อำนาจชุมชน และบั่นทอนสิทธิอีกหลายอย่าง ซึ่งประชาชนน่าจะเติบโตและเข้มแข็ง ท่ามกลางการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย


 


 


รัฐธรรมนูญปี 50 บอกว่าสิทธิที่เขียนในรัฐธรรมนูญใช้ได้เลย


แต่ตอนนี้เตรียมออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิแล้ว


สิทธิตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่สามารถใช้ได้เลย


ประชาชนที่ไปรับร่างรัฐธรรมนูญ 14 ล้านคน ถูกโกหกแล้ว


 


เลื่อน ศรีสุโพธิ์ :              ประสบการณ์ ทั้งในช่วงรัฐบาลเผด็จการ รัฐบาลประชาธิปไตย ถูกกระทำมาหมดแล้ว เช่น ช่วงคัดค้าน คจก.ก็มีรถจี๊ปขี่นำหน้า และตามหลัง ประชุมกับพี่น้องก็มีทหารไปยืนให้ชาวบ้านกลัว หลังรัฐประหาร จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็มี กอ.รมน.มานั่งฟัง พูดข่มขู่ฝากผู้ใหญ่บ้านมา ไปเยี่ยมพี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินกลับมาก็มีทหารขี่รถจี๊ปมา 2 คันเต็มๆ มาถ่ายรูปที่ไร่ แต่อาวุธครบมือ อีกครั้งหนึ่ง กลับมาพบปลอกกระสุนปืนเต็มไปหมด นี่ขนาดยังไม่มีกฎหมายอะไร ทหารก็ยังสามารถข่มขู่กันถึงปานนี้


 


รัฐธรรมนูญ ปี 40 บอกว่าสิทธิชาวบ้านจะใช้ได้ ต้องมีกฎหมายมารองรับ จน คมช.มาฉีกทิ้งก็ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ แต่รัฐธรรมนูญปี 50 บอกว่าสิทธิที่เขียนในรัฐธรรมนูญใช้ได้เลย แต่ตอนนี้เตรียมออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิแล้ว สิทธิตามรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่สามารถใช้ได้เลย ประชาชนที่ไปรับร่างรัฐธรรมนูญ 14 ล้านคน ถูกโกหกแล้ว


 


ทุกวันนี้กฎหมายแบบนี้มีอยู่แล้วอย่างน้อย 2 ฉบับ หรือมันยังไม่รุนแรงพอในการจัดการกับชาวบ้าน จึงจำเป็นต้องออก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ


 


พี่น้องที่กำลังเคลื่อนไหวภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่พูดปัญหาของตนเองเพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ ถ้ามีข้าราชการคนไหนมาเห็นดีเห็นงามกับชาวบ้าน กอ.รมน.ก็มีสิทธิย้ายได้ เหมือนประเทศมี 2 รัฐบาล รัฐบาลหนึ่งมาจากชาวบ้านเลือก อีกรัฐบาลมาจาก พ.ร.บ. พวกนี้อยากประกาศให้พื้นที่ไหนเป็นเขตกฎอัยการศึกก็ได้ โดยไม่ขึ้นต่อกฎหมายของไทย ที่รัฐธรรมนูญบอกว่า ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย แสดงว่าโกหกชัดๆ โดยส่วนตัวจึงยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องออกมา จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างรุนแรง


 


สนช.ต้องเลิกทำงานได้แล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ต้องรอให้คนที่ประชาชนเลือกมาเป็นคนตัดสินใจ ข้อเสนอต่อพี่น้อง พูดเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ กระแสเลือกตั้งมันกลบหมด ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับพี่น้อง เช่น พ.ร.บ.พลังงาน, ป่าชุมชน, พ.ร.บ.น้ำ, พ.ร.บ.ประมง


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net