Skip to main content
sharethis

การเสนอร่าง พ.ร.บ. มช. ที่ผ่านวาระไปเมื่อวันที่ 22 พ.ย. เต็มไปด้วยข้อกังขา จากนักศึกษาที่ติดตามเรื่องนี้ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กับ ม.นอกระบบ ตัวแทนนักศึกษา มช. ซึ่งมาจากทั้งสองฝ่าย จึงร่วมผนึกกำลังระงับการพิจารณา พ.ร.บ. เพื่อให้เวลาในการสร้างความเข้าใจแก่นักศึกษาเรื่อง ม.นอกระบบ รวมถึงผลักดันให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมกับร่าง พ.ร.บ. นี้อย่างแท้จริง ด้าน มช. ปลดป้ายประชาสัมพันธ์ของนักศึกษาออก อ้างต้องขออนุญาตก่อน


 


วันนี้ (23 พ.ย.) กลุ่มตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสโมสรนักศึกษาแต่ละคณะได้รวมตัวกันหน้าลานหอประชุมมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ในเวลา 9.00 - 10.00 น. เพื่อเข้าพบและยื่นแถลงการณ์เรื่อง "การนำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. … เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างไม่เหมาะสม" ต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เดินทางมาเข้าร่วมพิธีเปิด วันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2550 "วิถีวิจัย สู่สังคมร่มรื่นและเป็นสุข"


 


แถลงการณ์ดังกล่าว เรียกร้องให้ระงับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. .... เนื่องจากการเสนอร่าง พ.ร.บ. เกิดขึ้นอย่างไม่เหมาะสมและมีข้อกังขาต่างๆ  อาทิ การที่นักศึกษาไม่มีส่วนร่วมในการร่วมจัดทำอย่างแท้จริง, ทางมหาวิทยาลัยไม่มีความจริงใจในการเผยแพร่ข้อมูล พ.ร.บ. รวมถึงผลกระทบที่ตามมา, ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พยายามปิดกั้นช่องทางการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาต่อร่างพระราชบัญญัติฯ, กระบวนการตั้งแต่การยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ จนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นที่น่าเคลือบแคลงใจถึงความโปร่งใสและความเหมาะสม ซึ่งนักศึกษามิได้มีโอกาสรับรู้ถึงการกระทำดังกล่าว และสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมิได้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จึงขาดความชอบธรรมและความเหมาะสมในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่ยังคงมีเสียงคัดค้านอยู่


 


โดยกลุ่มตัวแทนนักศึกษาฯ ได้ทำการผูกผ้าสีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนตัวนักศึกษาที่มีสิทธิในการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของมหาวิทยาลัย รวมถึงการเขียนป้ายเรียกร้องให้มีการสร้างความรู้กับนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ


 


ทั้งนี้ กลุ่มตัวแทนนักศึกษาฯ ออกตัวว่าการเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ใช่การต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่เป็นการเรียกร้องให้มีขอให้ระงับการพิจารณาร่าง และแสดงเจตนารมณ์ ผลักดันให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักศึกษาถึงเรื่องผลกระทบของมหาวิทยาลัยในกำกับอย่างทั่วถึง


 


กลุ่มตัวแทนนักศึกษาได้ยืนรอพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่หน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนถึงช่วงเสร็จพิธีเปิด แต่อธิการบดีฯ ก็ไม่ได้ออกมาพบกับนักศึกษา โดยได้ส่งตัวแทนคือ รศ.ดร.เอกชัย แสงอินทร์ รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ออกมารับแถลงการณ์แทน


 


โดย รศ.ดร.เอกชัย รับรองว่าจะส่งแถลงการณ์นี้ถึงมืออธิการบดีแน่นอน นอกจากนี้ยังได้บอกแก่กลุ่มนักศึกษาและผู้สื่อข่าวว่า เรื่องของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้มีการพูดคุยกับตัวแทนนักศึกษาในสมัย "รุ่นพี่" ก่อนหน้านี้แล้ว และมีมติให้เห็นชอบกับการผลักดัน ม.ออกนอกระบบ


 


ทั้งนี้เมื่อมีการตั้งคำถามว่า ในการหารือกับตัวแทนนักศึกษาในสมัย "รุ่นพี่" นั้น ได้มีการเปิดเผยข้อมูลแก่นักศึกษาทั่วไปได้รับรู้หรือไม่ รศ.ดร.เอกชัย ได้กล่าวว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่เขาจะตอบได้ ควรถามผู้อื่น ในส่วนของเรื่องผลกระทบของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ รศ.ดร. เอกชัย ได้เผยว่าจะมีผลดีในแง่ของอิสรภาพในการบริหารและในทางวิชาการ เพราะอยู่ที่การกำหนดนโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยเอง ไม่ใช่มาจากรัฐ แต่ขณะเดียวกัน รัฐก็ยังคงทำการช่วยเหลือมหาวิทยาลัยอยู่ ในส่วนของการกำหนดนโยบายนั้น หากนักศึกษาต้องการมีส่วนร่วมก็ขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาเองว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมขนาดไหน


 


รศ.ดร.เอกชัย ยังได้กล่าวอีกว่า ในเรื่องค่าเล่าเรียนนั้น มช.มีค่าเทอมที่ถูกอยู่แล้วเมื่อเทียบกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ การขึ้นค่าเล่าเรียนจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไรกับนักศึกษามาก ในส่วนของนักศึกษาที่ยากจนเราก็มีกองทุนกู้ยืม


 


ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มาพบนักศึกษาหลังจากเสร็จพิธีเปิดเช่นกัน โดยได้ส่งผู้ติดตามคือ ร.อ. มานพ กรีดพุดซา มารับแถลงการณ์แทน ร.อ. มานพ เผยว่า นายกรัฐมนตรีมีงานด่วนจึงไม่มีเวลามาพบนักศึกษาได้ แต่รับรองว่าจะส่งแถลงการณ์ถึงมือของนายกรัฐมนตรีแน่นอน


 


นส.เนตรชนก แดงชาติ ตัวแทนนักศึกษาฯ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยและนายกรัฐมนตรีไม่ออกมารับแถลงการณ์ด้วยตัวเองว่า เป็นการแสดงความไม่จริงใจต่อสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไป ไม่ยอมรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากสิ่งที่ตัวเองทำเอาไว้ ในการปกปิด กีดกันการแสดงความเห็นของนักศึกษา


 


  






แถลงการณ์


เรื่องการนำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. …


เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างไม่เหมาะสม


 


องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


 


            ตามมติที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 66/2550 (เป็นพิเศษ) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550  ซึ่งได้มีมติเห็นชอบรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. .... และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วันนั้น


            กระบวนการและขั้นตอนต่างๆที่เกิดขึ้นตั้งแต่การจัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ....  มาจนถึงขั้นตอนการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติล้วนเกิดขึ้นอย่างไม่เหมาะสมและมีข้อน่ากังขาดังต่อไปนี้


1.)    ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. .... ซึ่งจะบังคับใช้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคนฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยที่นักศึกษาส่วนใหญ่มิได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำอย่างแท้จริงตามที่ควรจะเป็น เช่น การจัดเวทีเสวนา    รับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษา การจัดทำประชาพิจารณ์ หรือการลงคะแนนเสียงเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้


2.)     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มิได้มีความจริงใจในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติฯให้แก่นักศึกษาได้รับทราบถึงกระบวนการจัดทำและผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ


3.)     มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พยายามปิดกั้นช่องทางการแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯของนักศึกษาอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่นักศึกษาทุกคนพึงมี เช่น การจัดเวทีเสวนา การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ล้วน  ถูกขัดขวางมาโดยตลอด


4.)     กระบวนการตั้งแต่การยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ จนเข้าสู่การพิจารณาของ        สภานิติบัญญัติแห่งชาติเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นที่น่าเคลือบแคลงใจถึงความโปร่งใสและความเหมาะสม ซึ่งนักศึกษามิได้มีโอกาสรับรู้ถึงการกระทำดังกล่าวเลยจนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว   ไปแล้ว


5.)     สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมิได้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จึงขาดความชอบธรรมและความเหมาะสมในการพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่ยังคงมีเสียงคัดค้านอยู่


 


ที่ประชุมองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นควรขอให้มีการระงับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. .... เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคนได้แสดงสิทธิอันชอบธรรมในการรับรู้ข้อมูลและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ... อันจะนำมาสู่การได้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับและเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน และก่อประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อันเป็นสมบัติของชาติและประชาชนทุกคน


           


            ทั้งนี้มติของที่ประชุมองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดังกล่าว มิได้มีเจตนาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการให้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสและชอบธรรม


 


 


องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่


22 พฤศจิกายน 2550 ณ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


 


 


(นาย มงคล บุตรเริ่ม)


ประธานกรรมาธิการฝ่ายพิจารณาโครงงานและงบประมาณ


สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ประธานที่ประชุมองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่


22 พฤศจิกายน 2550 


 


มช. ห้ามติดป้ายประกาศ แจงต้องขออนุญาตก่อน


ในส่วนของการเคลื่อนไหวภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อคืนวานนี้ (22 พ.ย. 2550) นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งได้ตระเวนติดประกาศและวางป้าย ทั่วบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเนื้อหาเชิญชวนให้เพื่อนนักศึกษาเข้ามาร่วมทำความเข้าใจกับ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. … และผลกระทบที่จะตามมาหากร่างนี้มีผลบังคับใช้


 


แต่ในช่วงเช้าประมาณ 9.00 น. ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งคนมาทำการขนย้ายป้ายออกไป โดยอ้างว่า การจะติดประกาศหรือวางป้ายประชาสัมพันธ์ จำเป็นต้องขออนุญาตก่อน โดยตัวแทนนักศึกษาได้เผยแก่ผู้สื่อข่าวว่า กับป้ายกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นกิจกรรมรื่นเริง แม้จะติดประกาศหรือวางประชาสัมพันธ์โดยไม่ได้ขออนุญาตมาก่อน ก็ยังไม่เคยเห็นว่าจะมีใครมาเก็บไป


 


ในช่วงเวลา 12.30 น. หลังจากที่มีการยื่นแถลงการณ์ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มตัวแทนนักศึกษาฯ ได้ทำการขึ้นป้ายผ้าเนื้อหาชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับกรณี ม.ออกนอกระบบ แทนป้ายเดิมคือ "รู้หรือยัง มช. ของเรา... ออกนอกระบบ แล้วนะ" ที่ถูกทางมหาวิทยาลัยยึดไป และขึ้นพูดเชิญชวนให้ นศ. ที่อยู่ในโรงอาหารอาคารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) เป็นจำนวนมาก ร่วมรับรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และรักษาสิทธิในการแสดงความเห็นของตนเอง


 


จากนั้น จึงได้ขึ้นรถประกาศตามหอพักชาย-หญิง ในบริเวณมหาวิทยาลัย เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดเวทีปราศรัยเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่จะมีขึ้นในช่วง 17.30 น. ที่สนามวอลเล่ย์บอลข้างหอพักนักศึกษา


 






ป้ายที่ถูกทางมหาวิทยาลัยสั่งให้เอาออก

 



 



 


 



 นักศึกษาเดินเคลื่อนขบวนถึงหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 




นักศึกษาผูกผ้าขาว เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นนักศึกษาตัวนักศึกษา
ที่มีสิทธิในการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของมหาวิทยาลัย


  


 


บรรยากาศหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัย


 


 


 


ร.อ.มานพ กรีดพุดซา มารับแถลงการณ์แทนนายกรัฐมนตรี


 


 




รศ.ดร. เอกชัย แสงอินทร์ รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ออกมารับแถลงการณ์แทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


 


 


 



กลุ่มนักศึกษา ประชาสัมพันธ์เรื่องราวของร่าง พ.ร.บ. และกระตุ้นให้ นศ. รักษาสิทธิในการแสดงความเห็นของตนเองร่วมรับรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจาก ม. นอกระบบ


 


 



 


 


นศ. ขึ้นรถออกประชาสัมพันธ์เรื่องสถานการณ์ ม.นอกระบบ และเวทีที่จะมีขึ้นในช่วงเย็น 17.30 น.


 


.....................................


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


สนช.ผ่านวาระแรกดัน "ลาดกระบัง-มช." ออกนอกระบบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net