Skip to main content
sharethis

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าการประชุมยุทธศาสตร์กองทัพไทยระหว่างวันที่ 24 - 25 พ.ย.นี้ จะเป็นการหารือกับปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และผบ.เหล่าทัพ ถึงการจัดทำแผนงานในอนาคตว่าในระยะ 10 ปีข้างหน้า จะมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร เช่นเรื่องของการจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อตอบสนองกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร โดยดูลำดับความสำคัญของเหล่าทัพแต่ละเหล่าทัพว่า สิ่งใดมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน และสามารถที่จะใช้รวมการกันได้ อีกทั้งต้องพิจารณาในสอดคล้องกับการงบประมาณที่ได้รับ


 


"ไม่ใช่เป็นการทำแบบแพคเกจ อาจจจะคล้ายแต่ไม่ใช่ หนนี้เหล่าทัพจะดูในเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน และความต้องการเป็นหลัก แล้วทำเป็นแผนระยะยาว เมื่อรัฐบาลใหม่มาก็จะได้ดูในภาพรวมได้ว่า เหล่าทัพมีความต้องการอะไรบ้าง " พล.อ.บุญรอด กล่าว


 


รมว.กลาโหม กล่าวว่ายังไม่ได้ลงนามในการอนุมัติการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางของกองทัพบก และ ครื่องบินกริฟเป็น ของกองทัพอากาศ โดยในส่วนของรถหุ้มเกราะนั้น ต้องรอว่าสตง.พอใจกับคำตอบของบริษัท ในประเด็นที่มีข้อสงสัยหรือไม่ ในขณะที่เครื่องบินนั้น ทอ.ไทยก็กำลังเจรจาตกลงในรายละเอียดกับสวีเดนอยู่ เพราะฉะนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการอยู่ ส่วนจะลงนามในรัฐบาลนี้ไม่ทราบว่าทันหรือไม่ แต่ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณไปนั้น ครม.ได้ดำเนินการไปแล้ว ในส่วนตัวก็อยากให้รอบคอบที่สุดก่อนที่จะลงนาม


 


พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวว่า บก.ทหารสูงสุดเราจะนำเสนอภาพกองทัพในมุมกว้างๆเรื่องหลักการ และจะมองไปข้างหน้าว่าเราจะต้องเผชิญภัยคุกคามอะไรบ้าง และต้องเตรียมการอย่างไร ซึ่งบก.สส.ก็เตรียมในเรื่องภัยคุกคาม และภัยการก่อการร้ายสากล รวมถึงการเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์และคนเป็นหลัก ซึ่งคนจะเป็นส่วนสำคัญมากที่สุด ส่วนว่าแต่ละเหล่าทัพจะต้องเตรียมอาวุธอะไรบ้าง ก็คงจะนำไปพูดคุยกันวันนั้น


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า กองทัพเรือ อยากได้เรือดำน้ำ จะจัดการแบ่งสรรอย่างไร พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ก็ต้องถามดูว่าเขามีเหตุผลอะไรหรือไม่ เพราะเราต้องเตรียมแผนทั้งระยะยาว และระยะสั้น ต้องต่อสู้ภัยคุกคามตามแบบ และภัยคุกคามนอกแบบ แต่ทั้งนี้เราคงไม่ได้ไปพูดคุยถึงเรื่องการเตรียมแนวทางการรับมือในช่วงวันเลือกตั้ง


 


ทั้งนี้การประชุมยุทธ์ศาสตร์กองทัพไทย ในวันที่ 24-25 พ.ย. นี้ว่า หลักสำคัญจะเป็นการไปพูดเรื่องการจัดเตรียมกองทัพให้มีความพร้อมรบ เพราะที่ผ่านมานับสิบปี กองทัพไม่ได้รับงบประมาณในการเตรียมความพร้อมรบ มีแต่งบคงชีพ และงบดูแลกองทัพบ้างนิดหน่อย ซึ่งลำพังไปจ่ายค่าน้ำมันใช้ในการฝึกยังไม่พอ ทำให้ต้องลดการฝึกลงไป ลดการใช้กระสุน เพราะงบหมด ทำให้บางปีต้องนำกระสุนคงคลัง ที่เตรียมเก็บไว้ใช้ในช่วงสงครามมาใช้ฝึกแทน มาตอนนี้เราได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเพียงพอ ที่จะสามารถจัดหาอาวุธเพื่อให้เกิดความพร้อมรบได้ ถึงจะไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็ยังดีกว่าปีที่ผ่านมา


 


กองทัพพิจารณาในแง่ความเป็นจริงต่อศักยภาพในการจัดหา โดยเฉพาะงบประมาณที่ได้รับแต่ละปี โดยปัจจุบันงบประมาณด้านด้านความมั่นคง ได้รับการจัดสรรประมาณ 1.58% ของจีดีพี ซึ่งหลักทั่วไปแล้วจะได้ประมาณ 2 % ของจีดีพี ซึ่งอาจจะไม่ได้เพิ่มขนาดนั้น เอาแค่เพียงให้อยู่ได้ในการเตรียมความพร้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมา กองทัพถูกตัดงบประมาณไปมาก มีเพียงงบปี 50-51 ที่ได้เพิ่มแบบก้าวกระโดดคือ ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 20 % โดยปีที่แล้วได้รับการจัดสรรให้ 1.4 แสนล้านบาท เพื่อบรรเทาการชะงักงันในการพัฒนากองทัพ และต่อไปคาดว่าหากภาพรวมการเพิ่มงบฯประมาณมากขึ้น คิดว่ากองทัพก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นปี ละ 5 % ก็จะต้องมาดูว่าสิ่งใดจำเป็นก่อน หรือ หลัง ไม่ใช่เป็นการเสนอแบบแพคเกจ แล้วขายฝัน ให้เหล่าทัพเสนอมาเต็มที่ แต่เอาเข้าจริงทำไม่ได้ เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล


 


ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net