Skip to main content
sharethis


งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 



นายสิงห์สยาม มุกดา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวว่า เกาะสุกร เป็นเกาะขนาดเล็กที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง เพราะมีสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมที่เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งห่างจากชายฝั่งเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ได้มีนักธุรกิจภายนอกเข้ามาซื้อที่ดินและพัฒนาเป็นพี่พักสำหรับนักท่องเที่ยวขึ้นกว่า 10 แห่งแล้ว อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณสร้างถนนรอบเกาะ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี 2549 ส่งผลให้ที่ดินซึ่งอยู่ติดทะเลเป็นที่หมายปองของนักลงทุนภายนอก ราคาที่ดินสูงขึ้นมาก จากไรละ 5-6 หมื่นขึ้นไปเป็นหลักล้าน ที่ดินมีการเปลี่ยนมือมากขึ้น ท่ามกลางการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนภายนอกเช่นนี้ทำให้ผู้นำชุมชน และชาวบ้านค่อนข้างวิตกอยู่ไม่น้อย เกรงว่ากระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถมเข้ามาสู่ชุมชนอาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้งทรัพยากรของชุมชนดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะหลายแห่งมาแล้ว


"เดิมเราพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต เพื่อให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านสะดวก สบายขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเรามองถึงการพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งจะนำรายได้มาสู่ชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความยากจน แต่เราพบว่า การรุกเข้ามาของธุรกิจท่องเที่ยวมาแบบสำเร็จรูป มาเร็ว และมาแรงมาก จนน่าวิตก ทาง อบต.คิดว่าในเรื่องนี้ชุมชนต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้ดีก่อนที่จะเกิดปัญหาจนยากแก้ไข จึงได้ออกข้อบังคับหลายข้อ เพื่อให้การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะสุกรเป็นไปอย่างยั่งยืน" ปลัด อบต.เกาะสุกร ให้ข้อมูล



ข้อบังคับ อบต.ที่กล่าวถึงประกอบด้วย การควบคุมสิ่งปลูกสร้าง โดยกำหนดให้เจ้าของที่ดินสามารถสร้างบ้านพักในพื้นที่ 1 ไร่ ได้ไม่เกิน 3 หลัง และต้องสร้างที่พักห่างจากชายหาดอย่างน้อย 30 เมตร ในระดับน้ำขึ้นสูงสุด ในขณะเดียวกัน มีข้อบังคับเพื่อการควบคุมการใช้ทรัพยากรชายฝั่ง โดยกำหนดให้พื้นที่ชายหาด และป่าชายเลน เป็นพื้นที่สาธารณะ และเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดกับชายหาด ต้องกันพื้นที่ไว้สำหรับเป็นทางลงสู่ชายหาดของชาวบ้านอย่างน้อย 2 เมตร มิเช่นนั้นทาง อบต.จะไม่ออกใบอนุญาตให้


นอกจากนั้นยังมีข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี ผู้ประกอบการที่พัก หรือ รีสอร์ท โดยได้ทำการปรับเพิ่มอัตราภาษีจากเดิม 3% เป็น 8% ของวันบริการ อีกทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบการแต่ละราย มีรถยนต์สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวได้เพียง 1 คัน  ไม่เพียงเฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น หากแต่ในส่วนของชาวบ้านก็เช่นเดียวกัน หากมีรถยนต์มากกว่า 1 คันจะต้องเสียภาษีสูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณรถยนต์บนเกาะไม่ให้มีปริมาณมากจนเกินไป ข้อบังคับสุดท้าย คือ การควบคุมนักท่องเที่ยวไม่ให้แต่งกายหวือหวามาก เพื่อป้องกันผลกระทบต่อวิถีวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งในส่วนนี้ที่ผ่านมา ทาง อบต. และชุมชน ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างดี


"ผมคิดว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะสุกรที่เหมาะสม น่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะที่นี่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ เรามีชายหาดที่สวยงาม ในขณะเดียวกันด้านในของเกาะจะมีความเป็นอยู่แบบชาวนา ชาวสวน มีวัว มีควาย เป็นชีวิตชนบทที่สงบ สบายๆ ฉะนั้น กิจกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้ โดยในส่วนของผู้ประกอบการอาจจะเน้นการรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อนเงียบๆ และต้องการความสะดวกสบายในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันชุมชนอาจจะพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อรองรับผู้ที่สนใจมาศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชนแบบโฮมสเตย์ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มที่สนใจรวมตัวกันเพื่อดำเนินการเรื่องนี้แล้ว อีกทั้งยังมีแนวคิดจะทำวิจัยเพื่อศึกษารวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ ภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งเป็นของดีของชุมชน คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนต่อไป "  นายสิงห์สยาม กล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net