Skip to main content
sharethis


 

ชื่อบทความเดิม : CSR กับปาหี่ของวิสาหกิจข้ามชาติ


โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย 1>


ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย 2>


 


 


 


ที่จั่วหัวอย่างนี้เพราะในทุกวันนี้ มีการบิดเบือนความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นการอาสาทำดี กลายเป็นสังคมเป็นหนี้บุญคุณกับธุรกิจไปเสียอีก ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเผื่อมองต่างมุมบ้าง


 


ผมได้มีโอกาสไปสัมมนาระหว่างประเทศเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบของวิสาหกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders: ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคม) ที่นครโฮชิมินห์ ประเทศเวียดนาม ในระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน ศกนี้ ได้ข้อคิดบางประการมาแบ่งปันสำหรับผู้สนใจ


 


การสัมมนานานาชาติ


งานสัมมนาที่ผมไปร่วมก็คือ Asian Forum on Corporate Social Responsibility ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 550 ท่านจาก 34 ประเทศ มาจากองค์กรต่าง ๆ ถึง 369 แห่ง 3> โดยมีคนไทยเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 20 ท่าน ผมเป็นหนึ่งในวิทยากร (Speaker) ที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมนำเสนอข้อคิดในงานนี้


 


งานสัมมนานี้เก็บค่าเข้าร่วมคนละ 20,000 บาท ด้วยค่าใช้จ่ายสูงเพียงนี้เลยทำให้บางคนไม่อาจเข้าร่วมได้ ผมเชื่อว่า สำหรับงานระดับนี้เก็บค่าใช้จ่ายคนละ 10,000 บาท ก็เหลือเฟือแล้ว แต่งานนี้ยังมีผู้อุปถัมภ์รายใหญ่หลายต่อหลายราย รวมทั้งยังมีบูธออกงานอีกประมาณ 30 บูธ จึงเชื่อว่างานนี้ผู้จัด "ฟัน" กำไรไปพอสมควร


 


ข้อน่าสังเกตก็คือ งานสัมมนาแบบนี้ ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่จองคิวเป็นวิทยากรเองแทบทั้งนั้น (แต่พอถึงเวลาบางคนก็ไม่มา) เรียกว่าเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของวิสาหกิจใหญ่ ๆ ระดับโลกก็ว่าได้ วิทยากรอื่นที่ไม่ใช่ผู้อุปถัมภ์ (รวมทั้งผม) จะได้พูดเฉพาะในช่วงแบ่งกลุ่มย่อยเท่านั้น และแม้ในช่วงกลุ่มย่อย ก็มีกลุ่มวิสาหกิจใหญ่ ๆ จองคิวพูดไว้มากมายหลายแห่งเช่นกัน


 


ทำไมจัดที่เวียดนาม


ตอบง่าย ๆ ก็เพราะประเทศนี้กำลังเติบใหญ่สุดขีด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะประเทศนี้ค่าแรงถูก ยังมีทรัพยากรอยู่มากมายและที่สำคัญการเมืองมีความมั่นคงนั่นเอง ผมพบเพื่อนวิทยากรจากศรีลังกา ผมถามว่าประเทศเขาเป็นอย่างไร เขาตอบว่าลูก ๆ เขาอยู่สหรัฐอเมริกา เขายังแนะนำไม่ให้ลูกเขากลับประเทศ ส่วนตัวเขาเองแก่แล้ว (อายุ 60 ปี) ยินดีตายบ้านเกิด นี่แสดงขัดว่าความไม่มั่นคงทางการเมืองกีดขวางความเจริญของประเทศ


 


ดูอย่างบังคลาเทศ มีประชากรที่พูดภาษาอังกฤษได้มากมายไม่น้อยหน้าอินเดีย แต่เจริญน้อยกว่าเพราะขาดความมั่นคงทางการเมือง และยังขาดทรัพยากรอีกต่างหาก ส่วนพม่านั้น แม้ค่าแรงถูก ทรัพยากรก็มาก แต่ก็เป็นเพราะปัญหาทางการเมือง จึงมีคนไปลงทุนน้อย ประเทศจึงไม่เติบใหญ่เท่าเวียดนาม สำหรับประเทศไทยของเราก็มีดีทุกอย่าง ยกเว้นรัฐประหารที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ไทยถอยหลังเข้าคลองไปมากในสายตานานาชาติ 4>


 


วิเคราะห์วิสาหกิจข้ามชาติรายใหญ่


วิสาหกิจข้ามชาติรายใหญ่ ๆ ที่มาอุปถัมภ์การสัมมนานี้ซึ่งผมขออนุญาตไม่เอ่ยนาม ได้แก่ หนึ่ง วิสาหกิจคอมพิวเตอร์ชื่อดังสุดแห่งหนึ่งที่ผลิตระบบปฏิบัติการและโปรแกรมการใช้งาน (Application) สอง วิสาหกิจคอมพิวเตอร์ที่ผลิตสมองหรือหน่วยประมวลผลสำคัญ สาม วิสาหกิจมือถือและโทรคมนาคม สี่ เครื่องดื่มน้ำอัดลม ห้า วิสาหกิจผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น


 


ท่านทราบไหม คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องหนึ่งราคาประมาณ 13,000 บาท ประกอบด้วยสมองหรือหน่วยประมวลผลเป็นเงินถึงประมาณ 5,000 บาทแล้ว ที่เหลือเป็นตัวเครื่อง จอที่เป็น hardware ต่าง ๆ และถ้าเราอยากได้คอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการและโปรแกรมการใช้งานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เราต้องเพิ่มเงินอีกประมาณ 10,000 บาท แม้จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์กันมหาศาลในประเทศกำลังพัฒนา แต่ลำพังการขายกับลูกค้าในประเทศพัฒนา ก็ทำให้วิสาหกิจคอมพิวเตอร์เหล่านี้ฟันกำไรจนเจ้าของวิสาหกิจกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีกันหลายรายแล้ว การที่วิสาหกิจเหล่านี้มาทำดีเอาหน้า แต่ค้าขายกึ่งผูกขาดและรีดเลือดกับปูเช่นนี้ มีอะไรน่านับถือหรือ


 


ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิสาหกิจข้ามชาติเหล่านี้ ผลิตสินค้าต้นทุนแสนถูก แต่ขายได้แพงหรือไม่ก็อาศัยการขายจำนวนมาก เช่น ระบบโทรศัพท์มือถือ บางวิสาหกิจยังมีลักษณะกึ่งผูกขาด เช่น วิสาหกิจน้ำอัดลม หรือแม้แต่วิสาหกิจผลิตภัณฑ์คอนกรีตก็เป็นวิสาหกิจกึ่งผูกขาดที่จ่ายค่าสัมปทานย่อยหินเพียงน้อยนิด แต่ผลิตสินค้าขายในราคาแพง วิสาหกิจเหล่านี้จึงมีเงินทองมากมายเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ นัยหนึ่งเพื่อปกปิดการขูดรีด การผูกขาดหรือการทำลายสิ่งแวดล้อม


 


นิทานของวิสาหกิจยักษ์ใหญ่


ในวงสัมมนานี้ ซึ่งก็คล้ายในวงสัมมนา CSR ระดับโลกอื่นๆ วิสาหกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้มักจะมาเล่านิทานหรือเรื่องดีๆ ที่ตนทำ เช่น วิสาหกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ก็จะมุ่งไปที่การสร้างโอกาสงานแก่ประชาชนในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า โดยพูดให้โก้หรูว่า "เราเติบโต ท่านก็เติบโต" เป็นต้น สำหรับวิสาหกิจโทรคมนาคมใหญ่แห่งหนึ่งก็คุยว่า ตนได้ทำศูนย์ข้อมูลหมู่บ้าน ซึ่งคล้ายกับอินเตอร์เน็ทคาเฟ่ในหมู่บ้าน และนำเสนอว่าชาวบ้านลงทุนเพียง 24,000 บาท จะมีรายได้เดือนละ 5,000 บาท และจะคุ้มทุนใน 2 ปี


 


สำหรับวิสาหกิจผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติในเวียดนามรายหนึ่งคุยว่า ตนวางแผนจะบริจาคเงินเพื่อการกุศลถึง 680 ล้านบาทสำหรับช่วงปี 2549-2553 เงินจำนวนนี้ดูมหาศาล แต่ความจริงเป็นเพียงประมาณ 0.74% ของรายได้ที่คาดการณ์ไว้ในช่วงดังกล่าว (92,240 ล้านบาท) ซึ่งถือว่าต่ำมากหากเทียบกับข้อมูลการบริจาคของชาวบ้านทั่วไปของไทยที่บริจาคปีละ 2.69% ของรายได้ 5>


 


มีวิสาหกิจคอมพิวเตอร์ผลิตสมองหรือหน่วยประมวลผลแห่งหนึ่ง ลงนามกับรัฐบาลเวียดนามว่า ตนจะไม่ทำธุรกิจที่ต้องจ่ายสินบนใด ๆ ให้กับข้าราชการทุกระดับชั้น อากัปกิริยาของวิสาหกิจดังกล่าวนี้ดู "กร่าง" พอสมควร แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นแค่ "ข้อยกเว้น" ไม่ใช่สรณะเพราะเวียดนามอาจต้องง้อวิสาหกิจนี้ แต่วิสาหกิจใหญ่น้อยในประเทศเวียดนามเอง หากไม่ "หยอดน้ำมัน" บ้าง อะไร ๆ ก็ติดขัดไปหมด สู้คู่แข่งไม่ได้ จะให้วิสาหกิจเหล่านี้ "ยอมตายประชดป่าช้า" แล้วใครได้ประโยชน์ ไม่ใช่วิสาหกิจข้ามชาติดอกหรือ รัฐบาลหรือวิสาหกิจข้ามชาติโยนภาระปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงให้กับวิสาหกิจเอกชนทั่วไปตั้งแต่เมื่อไหร่


 


วิสาหกิจใหญ่กับ NGO


มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ก็คือ วิสาหกิจใหญ่ๆ อาจทำงานกับ NGO (Non-Governmental Organization หรือองค์กรอาสาสมัครเอกชน) ใหญ่ๆ โดยเฉพาะ NGO ข้ามชาติ นัยว่าเป็นแบบคู่กัน (Tag team) NGO ก็ได้เงินมาทำงาน บ้างก็เชิญผู้บริหารวิสาหกิจใหญ่ๆ มาเป็นกรรมการ เพื่อช่วยหาเงิน แต่ในอีกนัยหนึ่ง NGO ก็เป็นเครื่องมือทำดีให้กับวิสาหกิจใหญ่ๆ ยิ่งกว่านั้นผู้บริหาร NGO ใหญ่ๆ ก็มีโอกาส "ลืมตาอ้าปาก" บ้างก็อาจมีโอกาสได้เล่นการเมือง เป็นสมาชิกรัฐสภาอันทรงเกียรติ หลังจากที่ได้ทั้งเงิน ทั้งกล่องมานานจากการรับจ้างทำดี


 


ลักษณะอย่างนี้อาจเรียกตามภาษิตไทยว่า "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" แต่ก็อาจแสดงนัยว่าเป็นภาวะที่ไม่ยั่งยืน กล่าวคือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ต้องอาศัยแก่วิสาหกิจใหญ่ๆ ให้การอุปถัมภ์ NGO เองก็ไม่สามารถหาเงินสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป และแน่นอนว่าวิสาหกิจใหญ่ๆ ก็ใช่ว่าจะทำดีเป็นสรณะ แต่ทำเพื่อการส่งเสริมการขายเป็นสำคัญ


 


เราควรมี NGO ประเภทตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบหรือการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นการตรวจสอบวิสาหกิจใหญ่น้อยหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ น่าเสียดายที่ NGO ประเภทนี้มีน้อยมากในประเทศไทย


 


วิสาหกิจใหญ่ควรประชันอะไร


สิ่งที่ควรเป็นการแสดงถึง CSR ของวิสาหกิจใหญ่ๆ (แต่แทบจะไม่เคยแสดงออกเลย) ก็ได้แก่ การประชันกันว่าวิสาหกิจของตนมีกระบวนการดำเนินงานอย่างไรที่แสดงถึงความโปร่งใสต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย การประหยัดทรัพยากรจริง (โดยไม่ใช่ผู้บริหารอยู่อย่างราชา ใช้จ่ายกันอย่างสุดฟุ่มเฟือย) การไม่เอาเปรียบลูกจ้าง การไม่ร่วมในขบวนการติดสินบนเจ้าพนักงานในงานประมูล การไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น


 


ผมเคยเขียนไว้ว่า ถ้าจะดู CSR ของบริษัทมหาชน ก็ควรดูว่าวิสาหกิจเหล่านี้อยู่อย่าง "ฟู่ฟ่า" เอาเงินประชาชนมาปรนเปรอผู้บริหารอย่างเหลือล้นโดยขัดกับหลักความพอเพียงหรือไม่ ผู้บริหารใช้สถานะของวิสาหกิจขนาดใหญ่ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ หากเฉพาะเจาะจงในกรณีสถาบันการเงิน ก็ต้องดูที่ความโปร่งใส มีการเรียกรับเงินใต้โต๊ะหรือไม่ แอบปล่อยกู้แก่เครือญาติหรือไม่ ขโมยความคิดทางธุรกิจ หรือฉ้อฉลต่อคู่ค้าหรือลูกค้าหรือไม่ เราควรตั้งคำถามว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ประกอบกิจการที่หมิ่นเหม่ต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม ชอบ "ชูธง" CSR นัยว่าเพื่อกลบเกลื่อนการกระทำผิดกฎหมายของตนหรือไม่ 6>


 


นอกจากนี้ควรสังเกตว่าวิสาหกิจข้ามชาติรายใหญ่นั้น มีต้นทุนการผลิตแสนถูก ดังนั้นสิ่งที่ควรประชันเพื่อผู้บริโภคก็คือการคงราคาหรือลดราคามากกว่า เช่น กรณีคอมพิวเตอร์ หรือโทรคมนาคมที่กล่าวถึงในช่วงต้น หรือน้ำอัดลมที่ขายกันลิตรละ 25 บาทนั้น ต้นทุนค่าน้ำประปาเป็นเงินไม่ถึง 1 สตางค์ (ค่าน้ำประปาสำหรับประชาชนทั่วไปคิวละ 7.75 บาท) นี่แสดงว่าความมั่งคั่งไปสะสมอยู่ที่วิสาหกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น ยี่ห้อของเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายหนึ่ง มีมูลค่าสูงกว่างบประมาณแผ่นดินไทยถึงเกือบ 2 เท่า


 


ทำความเข้าใจเสียใหม่


หลายคนพอพูดถึง CSR กลายเป็นเรื่องทำดี เป็นเรื่องธรรมะไปเลย ผมค้านมาตลอด โปรดสังเกตว่าในเวที CSR มันวาดภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่น


 


1. พอเอ่ยถึงธุรกิจ ก็พยายามเข้าใจแต่ด้านดี เป็น "สัมมาอาชีวะ" ความจริงธุรกิจก็คือ "การงานประจําเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สําคัญและที่ไม่ใช่ราชการ" 8> ซึ่งก็คือกิจอะไรที่ได้เงินมาโดยไม่ได้เลือกวิธี ธุรกิจจึงมีทั้งสีขาว สีเทาหรือสีดำ เช่น เปิดบ่อนการพนัน เปิดสถานบริการทางเพศ ก็เป็นธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเราควรส่งเสริมการทำธุรกิจธุรกิจที่ดี


 


2. ในอีกแง่หนึ่ง การหาประโยชน์ของธุรกิจหรือทำเงินถูกทำให้ดูคล้ายเป็น "บาป" แต่ความจริงการทำเงิน ไม่ใช่บาปตราบเท่าที่ไม่ได้ดำเนินไปด้วยความละโมบโลภหลง (Greed) หรือดำเนินธุรกิจแบบผิดกฎหมาย การบิดเบือนนี้อาจเห็นได้จากกรณีธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ผู้บริหารทำผิดพลาดจนทุนหายกำไรหด แต่กลับอ้างหน้าตาเฉยว่าเราไม่เน้นกำไร (ไปแสร้งเน้นทำดีเสียนี่)


 


3. มีความพยายามบิดเบือนความรับผิดชอบ (Responsibility) ให้กลายเป็นการกุศล (Philanthropy) อย่าให้ CSR กลายเป็นการทำบุญของ "ไฮโซ (ไฮซ้อ)" หรือพวกคุณหญิงคุณนายยุคใหม่ ที่มุ่งจะให้เพื่อการเอาหน้าเป็นสำคัญ และสิ่งที่พึงระวังก็คือการบริจาคเพื่อกลบเกลื่อนการละเมิดกฎหมาย หรือมุ่งหวังให้ผลกรรมของการทำชั่วดูเบาบางลง


 


4. ยังมีความพยายามที่จะบิดเบือน CSR ให้เป็นการอาสาทำดี (Volunteer) ความจริงธุรกิจที่ถูกกฎหมายจำเป็นต้องปฏิบัติผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคมโดยรอบตามกรอบของกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นเป็นสำคัญ ส่วนถ้าใครจะทำดี ก็ควรเรียกว่า CSC (Corporate Social Contribution หรือ Donation) ไม่ใช่ CSR (Corporate Social Responsibility)


 


 


โดยสรุปแล้ววิสาหกิจทั้งใหญ่และน้อยในประเทศไทย "ต้อง" มี CSR หรือความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จะละเมิดกฎหมายไม่ได้ ส่วนการอาสาทำดีถือเป็นสิ่งที่ "ควร" ทำ ภาวะที่มีความรับผิดชอบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดีทั้งจากองค์กรอิสระภายใน NGO และสังคมโดยรวม และอย่าลืม อย่าปล่อยให้เกิดภาวะการทำดีเพื่อกลบเกลื่อนความชั่ว


 


 


 


--------


 


 


หมายเหตุ


1>ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org


2>มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org


3>โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.asianforumcsr.com สำหรับจำนวนผู้เข้าร่วมสรุปไว้โดยทางสถาบันคีนัน


4>โปรดอ่าน บทความ "ทำอย่างไรจึงจะปลอดรัฐประหาร" เผยแพร่ในประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ 21 กรกฎาคม 2550 ที่ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8921&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


5>โปรดดูรายละเอียดการคำนวณในบทความ "CSR คือหน้าที่ใช่อาสา" ในวารสาร Thai Appraisal Vol.5,No.5 กันยายน-ตุลาคม 2549 หน้า 18-19 ที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market130.htm


6>โปรดดูรายละเอียดใน "คิดตามคุณบัณฑูร ล่ำซำ" ที่ http://www.give2all.com/writer/view.php?id=656


7>ในกรณีนี้ ไม่ต้องการพาดพิงถึงรายใดเป็นพิเศษ จึงไม่ระบุแหล่งอ้างอิง


8>บัญญัติตามราชบัณฑิตยสถาน โปรดค้นคำนี้ใน http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net