รายงาน : ชี้ชะตามุสลิมชายแดนใต้-ได้ฉลองวันฮารีรายอหรือเฝ้าค่ายทหาร วันนี้


 

ในห้วงเวลาช่วงท้ายของเทศกาลถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ระหว่างวันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2550 มีแนวโน้มว่าผู้ถูกควบคุมตัวจากจังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วน ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพในค่ายทหารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพรและระนอง กว่า 300 คน จะไม่ได้กลับบ้าน เพื่อร่วมงานวันฮารีรายอ ซึ่งเป็นวันฉลองสิ้นสุดการถือศีลอด

 

แม้ว่าญาติๆ ของผู้ถูกควบคุมตัว 81 คน ได้ใช้สิทธิ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและชุมพร ได้นัดไต่สวนฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ถูกควบคุมตัว ในวันที่ 11 ตุลาคม 2550 ก็ตาม

 

ขณะที่ศาลจังหวัดระนอง นัดไต่สวนวันที่ 18 ตุลาคม 2550 หรือหลังจากสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอดในเดือนรอมฎอนไปแล้ว

 

สาเหตุที่ญาติได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนั้น ในคำร้องต่อศาลระบุคล้ายๆ กันว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะควบคุมตัวอีกแล้ว หลังจากครบกำหนดการควบคุมตัว 7 วันตามอำนาจกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และอีก 30 วันตามอำนาจพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

 

แต่แทนที่จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน พวกเขากลับถูกส่งไปเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมวิชาชีพเป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งกลุ่มญาติๆ ระบุในคำร้องต่อศาลด้วยว่า ผู้เข้าร่วมโครงการถูกเจ้าหน้าที่ขู่ว่า หากปฏิเสธไม่เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพจะส่งตัวไปดำเนินคดีและจะไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี หากปล่อยตัวกลับบ้านโดยไม่มีการตั้งข้อหา อาจไม่ได้รับความปลอดภัย ทำให้ผู้ถูกควบคุมเกิดความหวาดกลัว ต้องจำยอมเข้ารับการฝึกอาชีพโดยไม่สมัครใจ

 

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพดังกล่าว เป็นกลุ่มคนที่ถูกควบคุมตัวตามยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2550 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่จากพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส

 

ในคำบรรยายสรุปของแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค4) ที่รายงานต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 เวลา 14.00 น ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (www.southpeace.go.th) ระบุว่า เป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิด แต่หลักฐานไม่เพียงพอจะดำเนินคดี กับกลุ่มแนวร่วมที่ทำผิดเล็กๆ น้อยๆ โดยสมัครใจไปเข้ารับการอบรม เช่น การอบรมวิชาชีพ เป็นต้น

 

นอกจากการแยกออกเป็นสองประเภทดังกล่าวแล้ว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ยังแยกบุคคลออกเป็นอีกสองประเภท คือ กลุ่มกระทำผิดกฎหมายรุนแรงและมีหลักฐานชัดเจนให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กับอีกกลุ่มคือ แกนนำชักใยอยู่เบื้องหลังไม่มีหลักฐานแต่มีความสำคัญในกระบวนการก่อความไม่สงบ เป็นผู้มีหน้ามีตาและสถานะสูงในสังคม เป็นต้นตอของปัญหา และพร้อมที่จะผลิตอีก 3 กลุ่มข้างต้น ให้กดดันทางการเมืองและทางสังคมโดยจะกำหนดนโยบายให้ชัดเจนต่อไป

 

สำหรับผู้ถูกควบคุมตัวที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพดังกล่าว ได้ทยอยถูกเคลื่อนย้ายออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปอยู่ในความดูแลของค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี 95 คน ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดทหารบกชุมพร 183 คน และ ร.25 พัน.2 ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง 85 คน ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2550 รวมทั้งหมด 363 คน

 

ในคำบรรยายดังกล่าวระบุด้วยว่า การนำผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองกลุ่มออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสมัครใจเข้ารับการอบรม มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อแยกกลุ่มบุคคลดังกล่าวออกจากประชาชน เป็นการแยกปลาออกจากน้ำ ตัดการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ถูกควบคุมตัวกับกลุ่มผู้ก่อเหตุในพื้นที่ นำไปสู่การขาดพลังในการต่อต้านรัฐ

 

นอกจากนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ส่วนราชการและภาคประชาชน เข้าไปควบคุมรักษากฎหมาย พร้อมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อมและช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์ ภายใต้สภาพความหวาดระแวงที่ลดลง อีกทั้ง เพื่อสร้างจิตสำนึกให้มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้องในระหว่างการดำเนินโครงการ เมื่อกลับไปบ้านจะเป็นตัวอย่างแก่แกนนำและแนวร่วม รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการที่เหลืออยู่ ได้เห็นช่องทางที่จะกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับประชาชนผู้บริสุทธิ์

 

ในจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 353 คน นั้น แบ่งตามภูมิลำเนา โดยแยกตามศูนย์ฝึกอาชีพ ดังนี้

 

 










ศูนย์ฝึกฯ


ปัตตานี


ยะลา


นราธิวาส


สงขลา


รวม


ค่ายวิภาวดีรังสิต


28


35


27


5


95


ค่ายเขตอุดมศักดิ์


36


81


63


3


183


ค่ายรัตนรังสรรค์


16


11


58


-


85


รวม


81


129


145


8


363

 

แบ่งตามกลุ่มอายุ










ศูนย์ฝึกฯ


กลุ่มอายุ


18-21 ปี


22-30 ปี


30 ปีขึ้นไป


รวม


ค่ายวิภาวดีรังสิต


15


22


58


95


ค่ายเขตอุดมศักดิ์


108


13


62


183


ค่ายรัตนรังสรรค์


36


9


40


85

 

 

แบ่งตามการประกอบอาชีพ









ศูนย์ฝึกฯ


เกษตรกรรม


ค้าขาย


รับจ้าง


รวม


ค่ายวิภาวดีรังสิต


45


12


36


95


ค่ายเขตอุดมศักดิ์


108


13


62


183


ค่ายรัตนรังสรรค์


36


9


40


85

 

 

ระดับการศึกษา

สายสามัญ












ระดับการศึกษา


ศูนย์ฝึกฯ


ค่ายวิภาวดีรังสิต


ค่ายเขตอุดมศักดิ์


ค่ายรัตนรังสรรค์


ไม่ได้รับการศึกษา


9


12


7


ประถมศึกษา


58


91


48


มัธยมศึกษาตอนต้น


15


30


19


มัธยมศึกษาตอนปลาย


12


48


10


อนุปริญญาขึ้นไป


1


2


1

 

ด้านศาสนา









ศูนย์ฝึกฯ


ขั้น 1- 4


ขั้น 5 - 10


อุสตาส


โต๊ะอิหม่าม


ค่ายวิภาวดีรังสิต


79


15


1


-


ค่ายเขตอุดมศักดิ์


139


42


1


1


ค่ายรัตนรังสรรค์


72


12


1


-

 

 

สำหรับเนื้อหาการฝึกอบรมครอบคลุมสามประการ คือ กรอบของศาสนาอิสลาม ตามหลักปฏิบัติของมุสลิมทั่วไป เพิ่มเติมด้วยการจัดกลุ่มดาวะห์ (นัดเผยแพร่ศาสนา) จากจังหวัดยะลามาให้ความรู้เดือนละหนึ่งครั้ง ส่วนในห้วงเดือนถือศีลอดโดยเฉพาะสิบวันสุดท้าย ให้ไปนอนที่มัสยิดบริเวณใกล้เคียงเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ

 

ส่วนการฝึกอาชีพเพิ่มเติมใช้หลักสูตรชั้นต้น ระยะเวลา 4 เดือน และพัฒนาไปสู่ขั้นระดับผู้ชำนาญการอีก 2 เดือน

 

นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับทุกข์ผูกมิตรกับผู้ร่วมโครงการโดยชุดครูทหาร, ภาครัฐ และภาคประชาชนที่เข้ามาสนับสนุนโครงการ เพิ่มพูนความรู้โดยการทัศนศึกษา จัดนักจิตวิทยาเข้าช่วยเหลือ เป็นต้น และมีการจัดการเยี่ยมญาติ การช่วยเหลือลูกเมียที่มีรายได้ไม่พอเพียง

 

ในช่วงสุดท้ายของโครงการจะเชื่อมหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เข้ามาร่วมจัดตั้งและเตรียมฝังแกนลงในพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายภาครัฐและเอกชนร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

 

ที่สำคัญ การเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา จะเริ่มหลังสิ้นสุดโครงการรุ่นแรกภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2550 หรือจะดำเนินการเฉพาะกรณีที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกควบคุม และได้รับการพิจารณาให้ปล่อยตัวเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มเป็นกรณีพิเศษ

 

หมายความว่า อาจมีบางคนที่อาจยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

 

แม้ว่า การเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพดังกล่าว ถูกระบุว่าเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ถูกควบคุมตัว แต่นายลาเตะ นิซอ อายุ 57 ปี ชาวบ้านอูแบ หมู่ที่ 1 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการที่ศูนย์ฝึกอาชีพท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของค่ายเขตอุดมศักดิ์ ระบุว่า เขาไม่รู้เรื่องเลยว่าจะถูกส่งมาฝึกอบรมอาชีพ อยู่ดีๆ ก็ถูกนำตัวมาที่ค่ายทหารในจังหวัดชุมพร

 

เขาบอกว่า ก่อนหน้านี้ เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา หลังจากถูกส่งตัวมาจากค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ประมาณ 20 กว่าวัน ซึ่งขณะจะครบกำหนดการควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระยะเวลา 30 วันนั้น ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนกว่า 100 คน ต่างก็คิดว่าจะได้กลับบ้านแล้ว แต่กลับถูกส่งตัวเข้าอบรมอาชีพ

 

"ผมก็ไม่เข้าใจว่า อายุขนาดนี้แล้วทำไม่ต้องอบรมอาชีพด้วย"

 

ขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวอีกหลายคน เช่น นายอับดุลเลาะ คอนิ อายุ 19 ปี จากตำบลเดียวกัน ระบุว่า ก่อนจะถูกส่งตัวเข้าร่วมโครงการที่จังหวัดชุมพร ทหารบอกให้เลือกว่าจะถูกดำเนินคดีหรือจะเข้าโครงการ ทหารเกลี้ยกล่อมอยู่จนถึงตี 4 ซึ่งแน่นอนหลายคนเลือกเข้าร่วมอบรม เพราะไม่อยากถูกดำเนินคดี แม้มี 2 - 3 คนคิดจะสู้คดี แต่สุดท้ายก็เลือกเข้าอบรมอาชีพ

 

"ที่แน่ๆ ตอนนี้ทุกคนอยากกลับบ้าน ไปร่วมงานฮารีรายอกับคนที่บ้านพร้อมกัน"

 

ส่วนผู้ถูกควบคุมตัวอีกรายหนึ่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอสุไหงปาดี กลับบอกว่า ถ้าไม่กลับก็ไม่เป็นไร เพราะอยู่จะชินแล้ว เหลือเวลาอีก 1 เดือนก็จะครบ 4 เดือนตามกำหนด แต่ก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หรือถ้าได้กลับบ้าน ก็ยังไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง

 

ทางด้านนางแอเซาะ กาจะลากี มารดาของญาติของผู้ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ฝึกอาชีพท่าแซะรายหนึ่ง จากหมู่บ้านบียอ ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัว บอกว่า หวังว่าศาลคงจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวทัน เพราะจะได้กลับไปร่วมงานฮารีรายอที่บ้าน พร้อมๆ กับญาติพี่น้อง

 

"วันฮารีรายอ จะมีการให้อภัยซึ่งกันและกัน ถ้าพวกเขาไม่ได้กลับบ้าน ก็จะรู้สึกเหมือนกับไม่ได้ให้อภัยหรือขออภัยจากพวกเขา ในความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น ยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ยิ่งต้องให้อภัยซึ่งกันและกันให้มาก"

 

ความหวังของพวกเขาขณะนี้อยู่ที่ศาลอย่างเดียวว่า จะมีคำสั่งอย่างไร

 

ขณะที่ พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) พูดถึงเรื่องการยื่นคำร้องของปล่อยตัวผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพนี้ว่า ในมุมมองของทหารได้ใช้มิติทางรัฐศาสตร์ในการแก้ปัญหา ซึ่งการนำแนวร่วมออกนอกพื้นที่ได้ ส่งผลให้ความไม่สงบลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

"ต่างกับมุมมองของนักสิทธิมนุษยชน ที่มองว่าการแก้ปัญหาต้องใช้หลักนิติศาสตร์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทหารก็จะอธิบายให้ศาลเห็นถึงผลการดำเนินโครงการนี้ว่า ทำให้เหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ลดลงจริงๆ ในบางจุด" นั่นเป็นคำอธิบายของเขา

 

อนาคตอันใกล้ของผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะมีคำสั่งอย่างไร หากศาลสั่งให้ปล่อยตัวทันที ความหวังที่จะกลับไปร่วมฮารีรายอกับครอบครัวก็เป็นจริง

 

ถึงแม้จะต้องใช้เวลาเดินทางกลับชายแดนภาคใต้เกือบ 10 ชั่วโมง เพื่อให้ถึงบ้านทันวันที่ 12 ตุลาคม 2550 อันเป็นฮารีรายอ ตามประกาศของจุฬาราชมนตรีก็ตาม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท