บทความ : ถึงเวลามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกออกแรง เปิดทางผลิตยาถูกให้ประเทศกำลังพัฒนา !

ชื่อบทความเดิม : มหาวิทยาลัยวิจัยต้องลงมือทำตามสัญญา

โดย Rachel Kiddell-Monroe และ Ethan Guillen


ประธานคณะกรรมการ และ ประธานฝ่ายบริหารของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการรณรงคเพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น

3 ตุลาคม 2550

 

 

ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแต่งตั้งอธิการคนใหม่ขึ้นดำรงตำแหน่ง นักศึกษากว่า 300 คนจากสหรัฐ คนาดา และสหราชอาณาจักรอังกฤษ ต่างพร้อมใจมาร่วมชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการประชุมประจำปีของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็น ( Universities Allied for Essential Medicines) หรือ UAEM ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4

 

กลุ่ม UAEM นี้เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในการรณรงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยารักษาโรคต่างๆ ที่ห้องทดลองของมหาวิทยาลัยเป็นผู้คิดค้นพัฒนาขึ้น การชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่ม UAEM ณ เมืองเคมบริดจ์ในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่แสดงนัยยะด้านภารกิจสำคัญเร่งด่วนของบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ในเมืองบอสตัน              

ในการกล่าวปาฐกถาแก่บรรดาผู้ปกครองของนักศึกษาใหม่ประจำภาคการศึกษาปี 2550 ซึ่งนับเป็นชั้นเรียนแรกที่นางดรูว์ เฟ้าสท์ ขึ้นกล่าวในโอกาสที่เข้าดำรงตำแหน่งอธิการคนใหม่ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นางได้กล่าวย้ำเตือนใจทุกฝ่ายว่ามหาวิทยาลัยนั้นมีความพิเศษยอดเยี่ยมตรงที่ "มีหน้าที่รับใช้สังคม"    


"มหาวิทยาลัยวิจัยนั้น" นางเฟ้าสท์กล่าว "เป็นลูกผสมที่แปลกประหลาดระหว่างความคิดอิสระกับคุณประโยชน์ต่อสังคม นั่นคือ ติดตามค้นคว้าหาความรู้เพื่อตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็นำความรู้ที่ได้
ไปสร้างคุณประโยชน์แก่สาธารณชน "

เมื่อฤดูใบไม้ผลิปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ อีก 8 แห่งออกถ้อยแถลงแห่งหลักการ โดยเปล่งวาจาประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่า " ไม่มีสาขาใดที่ [บทบาทพิเศษของมหาวิทยาลัย] จะมีความสำคัญชัดเจนมากเท่าด้านยา" ถ้อยแถลงนี้เท่ากับเป็นการรับรองว่ามหาวิทยาลัยนั้นมี " หน้าที่รับผิดชอบ" ที่จะทำให้ "ทั่วโลก" สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากยาที่มหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้นได้ "ในราคาที่เป็นธรรมและมีความยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขของพลเมืองยากไร้ในโลกนี้เป็นสำคัญ "   

ทว่า เช่นที่หนึ่งในบรรดาพันธมิตรมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้แสดงให้เห็น แค่คำพูดนั้นยังไม่เพียงพอ ในปะเทศไทย ประชาชนถูกตัดโอกาสไม่อาจเข้าถึงยารักษาชีวิตได้ด้วยเหตุเพราะบริษัทแอ๊บบอต แลบอราทอรี่ส์ ถอนคำขอขึ้นทะเบียนยาของบริษัทหลายรายการในประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเผชิญวิกฤตปัญหาด้านสุขภาพจากโรคเอดส์อย่างหนัก แต่ไม่สามารถแบกรับภาระค่ายารักษาโรคเอดส์ที่บริษัทยาต้นแบบบางแห่งตั้งไว้สูงลิบลิ่วได้ รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจช่วยเหลือประชาชนด้วยการใช้สิทธิตามกฎหมายอนุญาตให้บริษัทยาชื่อสามัญในประเทศผลิตยาราคาถูกเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ บริษัทแอ๊บบอตตอบโต้กลับด้วยการโจมตีผู้ป่วยในไทยโดยตรง ทำให้องค์การหมอไร้พรมแดน บิล คลินตัน และอีกหลายๆ ฝ่ายต่างออกมาประณามการกระทำดังกล่าวของบริษัท   

ที่น่าเป็นห่วงคือ หนึ่งในบรรดายาทั้ง 7 รายการที่บริษัทแอ๊บบอตประกาศถอนคำขอขึ้นทะเบียนนั้นคือ Zemplar ซึ่งเป็นยาสำคัญสำหรับรักษาโรคไตที่คิดค้นและพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน บรรดานักศึกษาที่มหาวิทยาลัยจึงเข้าพบทางมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับประพฤติกรรมของแอ๊บบอตที่ไม่สอดคล้องกับหลักการที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินสนองรับตามถ้อยแถลงเมื่อปีกลาย ตลอดจนแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยอย่างไร ทว่าเจ้าหน้าฝ่ายลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยกลับตอบว่า "บริษัทแอ๊บบอต แลบอราทอรี่ส์เป็นมิตรที่ดีของ [มูลนิธิส่งเสริมการวิจัยของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินหรือ WARF] และมหาวิทยาลัยเอง โดยเฉพาะในการว่าจ้างนักศึกษาที่เรียนจบจากมห
วิทยาลัย...เราเชื่อมั่นว่าบริษัทแอ๊บบอต แลบอราทอรี่ส์ นั้นจะยึดมั่นในหน้าที่และอุทิศตนเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้คนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเราสนับสนุนอุดมการณ์นั้นของบริษัทแอ๊บบอต "   

เช่นนั้นแล้วบทบาทพิเศษของมหาวิทยาลัยเล่า น่าเศร้านักกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินได้แสดงให้เห็นในปีนี้ เพียงถ้อยแถลงแห่งหลักการกับข้อความบนหน้ากระดาษนั้นจึงยังไม่พอ ถึงเวลาแล้วที่บรรดามหาวิทยาลัยต้องลุกขึ้นมาทำตามที่ให้สัญญา     

สถาบันวิจัยทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนจากเงินภาษีของประชาชน ยาต่างๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบจึงสมควรสร้างประโยชน์แก่ประชาชนที่ต้องการ ปีที่แล้วที่เมืองฟิลาเดลเฟีย นักศึกษากลุ่ม UAEM ได้ออกถ้อยแถลงร่วมแห่งฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia Consensus Statement) ซึ่งมีผู้ร่วมลงรายชื่อนับพัน ทั้งนักวิชาการคนสำคํญ เจ้าของรางวัลโนเบล นักเคลื่อนไหว และนักศึกษาจากทั่วโลก ถ้อยแถลงดังกล่าวเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าด้วยการเข้าถึงอย่างชัดเจนในข้อตกลงที่มหาวิทยาลัยทำกับบริษัทยาต่างๆ เพื่อบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรการค้นพบทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัย ข้อกำหนดดังกล่าวนี้จะอนุญาตให้บริษัทยาชื่อสามัญสามารถผลิตยาที่มหาวิทยาคิดค้นเพื่อขายในราคาถูกได้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผลิตเพื่อจำหน่ายเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น    

บรรดาแกนนำนักศึกษากลุ่ม UAEM ที่มาชุมนุมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยลุกขึ้นทำตามสัญญาอย่างจริงจังเร่งด่วน ให้มหาวิทยาลัยวิสคอนซินสั่งให้บริษัทแอ๊บบอตยื่นคำขอขึ้นทะเบียนยา Zemplar รวมถึงยาจำเป็นรายการอื่นๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยต้องปฎิบัติตามภาระหน้าที่ที่มีต่อสังคมด้วยการเข้าร่วมกับกลุ่มเพื่อให้การรับรองแก่ผู้ป่วยทั่วโลกว่าจะสามารถเข้าถึงยารักษาชีวิตที่ได้รับทุนสนับสนุนโดยประชาชนชาวอเมริกันและค้นคว้าวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์อเมริกันที่ทำงานในมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอทีต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะนำทางสู่การเปลี่ยนถ้อยคำสัญญาที่ให้ไว้ให้เป็นการกระทำอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท