แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ

แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
กรณีการขยายโทษทางอาญาในกฏหมายหมิ่นฯ ที่ส่งผลต่อการทำงานของสื่อและสิทธิเสรีภาพ

จากรายงานข่าวว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับเพื่อขยายบทลงโทษผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลบางประเภท คือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ...และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ...ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย สนช. เป็นผู้เสนอเพื่อพิจารณาในวันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2550 นั้น

ทั้งนี้เนื้อหาสาระสำคัญได้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฏหมายอาญา (ป.อาญา) เพื่อคุ้มครองรวมไปถึงประธานองคมนตรี องค์มนตรี และ ผู้แทนพระองค์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ใดมีความผิดฐานหมิ่นบุคคลดังกล่าว มีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกิน ห้าปี อีกทั้งโทษปรับ และ การแก้ไข พระราชบัญญัติประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ให้ความคุ้มครองระหว่างการดำเนินคดี ไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นในสื่อสาธารณะอันจะกระทบกระเทือนต่อสถาบันและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยร่างกฎหมายกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งห้ามการโฆษณาดังกล่าวและกำหนดบทลงโทษการฝ่าฝืนคำสั่งศาล หากสื่อมวลชนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีคำผิดตามโทษทางอาญาคือจำคุกไม่เกินสามปี เป็นต้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) คัดค้านการเสนอร่างกฏหมายดังกล่าวด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

1.   สมาชิกสภานิติบัญญัติ ไม่ควรพิจารณาหรือผ่านกฏหมายใดในช่วงเวลานี้ เนื่องเพราะเป็นหลักการและมรรยาททางการเมือง ในขณะที่ประเทศไทยกับกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ดังนั้น กฏหมายทุกฉบับโดยเฉพาะประมวลกฏหมายอาญาที่มีสาระสำคัญเช่นนี้ควรได้รับการพิจารณาในรัฐสภาที่มาจากตัวแทนประชาชนเท่านั้น

2.   ร่างกฏหมายเพื่อแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนรวมถึงเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน ขัดแย้งกับมาตรฐานสากลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคีกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR)  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539

3.   ร่างกฏหมายดังกล่าวจะนำไปสู่การตอกย้ำบรรยากาศแห่งความกลัวในสังคมไทยและขัดแย้งกับบรรยากาศการฟื้นฟูประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในอนาคต

สิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ปัจจุบันสื่อสารมวลชนในประเทศไทยมีการระมัดระวังและควบคุมตนเองมากอยู่แล้วในการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกับสถาบันพระมหากษัตริย์และองค์มนตรี

อีกทั้งรัฐได้ออกกฏหมายใหม่มาควบคุมการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อและความมั่นคงของชาติอื่นๆอีก จึงไม่มีความจำเป็นใดที่รัฐต้องออกฏหมายที่มีโทษหนักทางอาญามาควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนให้มีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นอีก ในทางตรงกันข้าม รัฐควรปรับแก้ ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกขั้นพื้นฐานของพลเมือง

      คปส. เห็นว่าในระยะยาว สังคมไทยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอันเป็นกติกาสากลของสหประชาชาติ  ทว่า กระบวนการนิติบัญญัติดังกล่าวควรเป็นไปภายใต้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างแท้จริง

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
9 ตุลาคม พ.ศ.2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท