รายงานพิเศษ : ความไม่สบายใจขององคมนตรี กับการผลักดันกฎหมาย

"ได้รับแจ้งว่าทางองคมนตรีไม่สบายใจ เพราะทางคณะองคมนตรีได้พูดจากันแล้วทั้งหมด และแจ้งให้ผมทราบว่าทางคณะองคมนตรีท่านไม่สบายใจที่จะคุ้มครองท่านเป็นพิเศษ ถึงแม้ สนช.จะปรารถนาดีที่จะเพิ่มเติมในกฎหมายนี้ เมื่อเป็นความประสงค์เช่นนี้ผมจึงแจ้งไปยังวิป สนช. แล้วก็ถอน"

 

"แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอยู่ในสมองว่าพระเจ้าอยู่หัวพูดชอบกล พูดประหลาดๆ ถ้าขอเปิดเผยว่าวิจารณ์ตัวเองได้ว่าบางทีก็อาจจะผิด แต่ให้รู้ว่าผิด ถ้าเขาบอกว่าวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวว่าผิด งั้นขอทราบว่าผิดตรงไหน ถ้าไม่ทราบ เดือดร้อน

 

ฉะนั้น ก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิดเขาก็ถูกประชาชนบอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกไม่ว่า แต่ถ้าเขาวิจารณ์ผิดไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ไม่ให้ละเมิดไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ก็ลงท้ายก็เลยพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบากแย่ อยู่ในฐานะลำบาก ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ให้วิจารณ์ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวนี่ ก็ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี ซึ่งถ้าคนไทยด้วยกันก็ยังไม่กล้า สองไม่เอ็นดูพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากละเมิด แต่มีฝ่ายชาวต่างประเทศ มีบ่อยๆ ละเมิดพระเจ้าอยู่หัว ละเมิด THE KING แล้วก็หัวเราะเยาะว่า THE KING ของไทยแลนด์ พวกคนไทยทั้งหลายนี่ เป็นคนแย่ ละเมิดไม่ได้ ในที่สุดถ้าละเมิดไม่ได้ก็เป็นคนเสีย เป็นคนที่เสีย

 

ฉะนั้น ก็บางโอกาสขอให้ละเมิด จะได้รู้กันว่าใครดีใครไม่ดี นี่พูดเลยเถิด พูดมากไป แต่ว่าคนที่อยู่ข้างหน้านี่ ไม่ต้องกลัว เพราะว่าไม่ได้มีความผิด คนที่นึกว่ามีความผิดพยักหน้า พยักหน้าว่ามีความผิดจริงๆ ความจริงเขาไม่มีความผิด คนที่มาก่อนน่ะมีความผิด แล้วกลัวคนที่พยักหน้าเนี่ยไม่ได้แก้ไข นี่ผิดตรงนี้ ไม่ได้แก้ไข หลบความรับผิดชอบ มันเป็นอย่างนั้น ในเมืองไทยนี่ คนไหนที่ทำอะไรไม่เข้าร่องเข้ารอยก็ลาออก ลาออกแล้วไม่มีอะไรผิดเลย แม้จะทำอะไรผิดอย่างมากๆ ถ้าเป็นข้าราชการก็เรียกเข้ากระทรวง เข้ากรุงเทพฯ แล้วก็หมดเรื่อง นานๆ ทีมีเข้าคุก นี่พูดอย่างนี้ชักจะหนัก ใช้คำว่าเรียกเข้ากรุงเทพฯ หรือเข้าคุก แต่มีที่เกิดเรื่องเข้าคุก

 

แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์ ต้องบอกว่าเข้าคุกแล้วต้องให้อภัย ทั้งที่เขาด่าเราอย่างหนัก ฝรั่งเขาบอกว่าในเมืองไทยนี่ พระมหากษัตริย์ถูกด่า ต้องเข้าคุก ที่จริงควรเข้าคุก แต่เพราะฝรั่งบอกอย่างนั้นก็ไม่ให้เข้า ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิดก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก ตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อนๆ เป็นกบฏ ก็ยังไม่จับใส่คุก ไม่ลงโทษ รัชกาลที่ 6 ท่านไม่ลงโทษ ไม่ได้ลงโทษผู้ที่เป็นกบฏ มาจนกระทั่งถึง ต่อมา รัชกาลที่ 9 ใครเป็นกบฏ ก็ไม่เคยมีแท้ๆ ที่จริงก็ทำแบบเดียวกันไม่ให้เข้าคุก ให้ปล่อย หรือถ้าเข้าคุกแล้วก็ให้ปล่อย ถ้าไม่เข้าก็ไม่ฟ้อง เพราะเดือดร้อนผู้ที่ถูกด่า เป็นคนเดือดร้อน อย่างที่คนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์ และถูกทำโทษไม่ใช่คนนั้นเดือดร้อน พระมหากษัตริย์เดือดร้อน นี่ก็แปลก"

 

บางส่วนจาก พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548

 

 

 

 

 

คงจะไม่ผิดนัก หากจะบอกว่าเหตุการณ์การเมืองช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่เพิ่งเกิดขึ้นใน 2-3 วันนี้ ทำให้หลายๆ คน หวนนึกไปถึงพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 หรือพระราชดำรัสที่จำกันได้ว่า ในหลวงตรัสเรื่อง The King can do wrong.

 

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 มีข่าวปรากฏออกมาในสื่อบางฉบับว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย พร้อมคณะ สนช.อีกมากกว่า 60 คน ร่วมลงนามในการเตรียมผลักดันแก้ไขกฎหมายสองฉบับ วาระดังกล่าวได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภานิติบัญญัติ ในวันนี้ (10 ตุลาคม)

 

กฎหมายทั้งสองฉบับและใจความที่ถูกแก้ไข คือ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จากเดิมที่กฎหมายระบุความผิดเฉพาะต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น การแก้ไขครั้งนี้ ได้เพิ่มมาตรา 112/2 ให้ขยายความผิดดังกล่าว ครอบคลุมถึงองคมนตรีด้วย ความผิดนี้มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี และปรับสูงสุดหนึ่งแสนบาท

 

และการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 14 ให้เพิ่มความที่ว่า ระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หากเห็นสมควร พนักงานสอบสวน อัยการ หรือคู่ความ อาจยื่นต่อศาลเพื่อขอสั่งห้ามโฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือความเห็นเกี่ยวกับคดี โดยให้ขึ้นกับดุลพินิจของศาลว่ามีเหตุสมควรในการคุ้มครองปกป้องสถาบันกษัตริย์ การฝ่าฝืนไม่เพียงมีโทษจำคุกสูงสุดสามปีหรือปรับสูงสุดหกหมื่นบาท แต่ยังมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย

 

 

ถอยกรูด ชัก กม.ออก หลังทราบข่าวความไม่สบายใจ

แต่ทันทีที่เรื่องนี้เป็นข่าวออกไป ปรากฏว่า ในช่วงบ่ายแก่ ของวันที่ 9 ตุลาคม 50 นายพรเพชร วิชิตชลชัย สนช. ผู้เสนอแก้ไขกฎหมายนี้ ก็แถลงต่อสื่อมวลชนว่า มีเหตุให้ตัดสินใจถอนกฎหมายที่สามารถล่ารายชื่อมาได้กว่า 60 รายชื่อโดยกะทันหัน พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ว่า

 

"ได้รับแจ้งว่าทางองคมนตรีไม่สบายใจ เพราะทางคณะองคมนตรีได้พูดจากันแล้วทั้งหมด และแจ้งให้ผมทราบว่าทางคณะองคมนตรีท่านไม่สบายใจที่จะคุ้มครองท่านเป็นพิเศษ ถึงแม้ สนช.จะปรารถนาดีที่จะเพิ่มเติมในกฎหมายนี้ เมื่อเป็นความประสงค์เช่นนี้ผมจึงแจ้งไปยังวิป สนช. แล้วก็ถอน"

 

 

ทำให้ครบเหตุรัฐประหาร หนึ่งในสี่นั้นคือ ปัญหาหมิ่นฯ

อย่างไรก็ดี แม้การผลักดันแก้ไขกฎหมายนี้จะถูกชะงักเอาไว้ก่อน แต่กรุ่นควันมิอาจจางหายไปในทันที ยังทิ้งกลิ่นไว้ให้ตั้งคำถามว่า ที่แท้แล้ว สนช.ซึ่งกำลังเร่งผลิตและแก้ไขกฎหมายมหาศาล ด้วยถือว่าทำหน้าที่แทนทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา นั้น อยู่บนพื้นฐานความรอบคอบ เป็นธรรม มีหลักการ และคิดถึงส่วนร่วม มากน้อยเพียงใด

 

นายโคทม อารียา สนช.อีกท่านหนึ่ง ซึ่งมิได้ร่วมลงนามในการผลักแก้กฎหมายทั้งสองเข้า สนช. กล่าวถึงที่มาที่ไปของความพยายาลแก้ไข ป.อาญา และ ป.วิอาญาว่า อาจมาจากเหตุผล 1 ใน 4 ข้อของ คมช. ในการยึดอำนาจ ที่มีการกล่าวโทษว่ามีการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่ง สนช. บางคนเห็นว่าไม่มีการทำอะไรต่อเรื่องนี้เลย สนช. จึงต้องทำอะไรบ้าง

 

 

ใครเดือดร้อน ใครฟ้อง

ที่ผ่านมา ในประมวลกฎหมายอาญามีการกล่าวถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทเอาไว้ การหมิ่นประมาทบุคคลย่อมมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องต่อศาลได้

 

ที่ต่างออกไป คือกรณีของการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งจะมีเนื้อหาที่พิเศษกว่า คือ "ใครก็ตาม" ก็สามารถเป็นผู้ฟ้องร้องแทนได้ และความผิดตามมาตรานี้ มีโทษสูงยิ่งกว่าคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

 

และที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในการแก้ไขกฎหมาย เพราะได้เพิ่ม "องคมนตรี" เข้าไปเป็นอีก "สถาบันหนึ่ง" ที่จะได้รับความคุ้มครองเป็น "พิเศษ"

 

โคทม อารียา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่คิดว่าควรแก้ไข เพราะอาจขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 5 ที่ระบุว่า "ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน" และหมวดสิทธิเสรีภาพ มาตรา 30 ที่ระบุว่า "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน..." ซึ่งอาจเป็นข้อยกเว้นให้บุคคลได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่ากัน ขึ้นกับตำแหน่ง ทั้งที่ ประชาชนมีความเสมอเหมือนกันตามกฎหมาย

 

ด้านสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่เพียงแต่เผยแพร่ผลงานทางด้านวิชาการอย่างตรงไปตรงมา ยังมีเว็บไซต์อันมีเวบบอร์ดเป็นสื่อกลางวงสนทนาวิพากษ์ประเด็นการเมืองและสังคมอย่างเข้มข้น ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว ก่อนหน้าจะมีข่าวถอนการแก้ไขร่าง โดยระบุว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวจะส่งผลให้ประธานองคมนตรีและองคมนตรีดำรงอยู่ในฐานะ "อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์เอง หากประธานองคมนตรีและองคมนตรีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น เข้ามาแทรกแซงการเมืองหรือใช้ตำแหน่งไปแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ แต่สาธารณะไม่สามารถตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ได้ราวกับว่า การกระทำทุกอย่างของประธานองคมนตรี (เช่น ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เครือเจริญโภคภัณฑ์) และองคมนตรี เป็นการกระทำแทนพระมหากษัตริย์

 

 

กฎหมายหมิ่น เครื่องมือทางการเมือง?

"บรรยากาศแบบนี้ ง่ายเหลือเกินที่จะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี คนที่ออกมาพูดอะไรแบบนี้ ถูกกล่าวหาได้ง่ายมาก กลายเป็นผู้ร้ายในสังคม แล้วยังสร้างเครื่องมือขึ้นมาอีก ซึ่งเกินพอดี และไม่เป็นประโยชน์" โคทม กล่าว

 

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่พูดกันมานานในหลายแวดวง ไม่ว่าจะแวดวงนิติศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน ที่เล็งเห็นว่า คดีหมิ่น ไม่ว่าจะเป็นคดีหมิ่นในกฎหมายอาญา คดีหมิ่นในกฎหมายแพ่ง และคดีหมิ่นแบบที่เรียกกันจนชินปากว่า "คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ล้วนเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ทางการเมืองเสมอในทุกสมัย

 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ต่อ "ประชาไท" โดยชี้ให้เห็นถึงการนำเอาคดีหมิ่นฯ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมกับเสนอว่า คดีหมิ่นประมาทนั้น โดยทั่วไปแล้ว เจ้าของเรื่องผู้ถูกพาดพิงเสียหาย คือผู้ฟ้อง

 

แต่กับกรณีการดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมีความต่างออกไปนั้น สุธาชัยได้เสนอไว้ว่า "เรามองกษัตริย์ในเชิงสถาบัน จึงไม่ใช่ "ใครก็ได้" ที่ มาฟ้อง ถ้าสำนักพระราชวังคือตัวแทน ก็ให้สำนักพระราชวังฟ้อง เป็นคนวินิจฉัยว่าเรื่องนี้หมิ่นหรือไม่หมิ่น แล้วจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง คนอื่นไม่มีหน้าที่ กองทัพก็ไม่มีหน้าที่ สนธิ ลิ้มทองกุล, ทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่มีหน้าที่มาวินิจฉัย ว่าใครหมิ่นหรือไม่หมิ่น"

 

อีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้ จากคำให้สัมภาษณ์ พรเพชร วิชิตชลชัย (สนช.) ถึงเหตุผลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้คุ้มครองคณะองคมนตรีว่า เพราะ "บางท่านได้กลายเป็นเหยื่อทางการเมือง"

 

เรื่องนี้ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ระบุเอาไว้ว่า คำให้สัมภาษณ์นี้ แสดงนัยว่า นี่เป็นการแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

 

ทั้งนี้ เพราะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถูกพูดถึงทั้งในไทยและในต่างประเทศ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 จนทำให้ พล.อ.เปรมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงมาตลอด 1 ปีภายหลังการรัฐประหาร

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า การที่ประธานองคมนตรีถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น และการแก้ปัญหาโดยการแก้ไขกฎหมายอาญาในหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ ให้ครอบคลุมองคมนตรีนั้น ย่อมมิใช่การป้องกันไม่ให้เกิดการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เป็นการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการที่องคมนตรีแทรกแซงการเมือง

 

 

เปิดช่อง ศาลสั่งห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ ได้

อีกประเด็นที่ถูกเสนอแก้ไข ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 14 ที่เปิดให้ยื่นต่อศาลเพื่อขอสั่งห้ามโฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีได้นั้น

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์ก่อนหน้าการประกาศถอยและถอนกฎหมายนี้เพียงไม่กี่นาที โดยมีความเห็นต่อการแก้ไขกฎหมายนี้ว่า กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน ขัดแย้งกับมาตรฐานสากลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคีกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR)   ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539

 

คปส. ยังเน้นว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนในประเทศไทยระมัดระวังและควบคุมตนเองมากอยู่แล้วในการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกับสถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรี และรัฐยังออกกฏหมายใหม่มาควบคุมการแสดงความคิดเห็นของพลเมือง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อและความมั่นคงของชาติอื่นๆ อีก จึงไม่มีความจำเป็นใดที่รัฐต้องออกฏหมายที่มีโทษหนักทางอาญา มาควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนให้มีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นอีก

 

ส่วนจะขัดกับมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องเสรีภาพของสื่อหรือไม่ โคทม อารียา ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้มีความคลุมเครือ เพราะในรัฐธรรมนูญมีข้อยกเว้นเสมอ จึงมีช่องว่าง เช่น การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือศีลธรรมอันดี อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ที่เสนอแก้ก็ยังเขียนเบาลงมา เนื่องจากเขียนว่า เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนหรือคู่ความจะยื่นคำร้องต่อศาลไม่ให้มีการโฆษณา นั่นคือจะเป็นดุลพินิจของศาล ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร จึงอาจช่วยคานกันได้

 

แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว สนช.จะล่าถอยในการผลักดันเรื่องนี้แล้วก็ตาม คงไม่สำคัญเท่าประวัติศาสตร์ที่ สนช.ชุดนี้ร่วมกันสร้าง ในฐานะผู้มีความปรารถนาดีในการคิดแทนส่วนรวม ผ่านการออกกฎหมายมากมายที่มีผลกระทบต่อประชาชน

 

ทว่า กรณีที่เพิ่งผ่านมา อาจมีความพิเศษกว่า เพราะประชาชนได้เห็นชัดยิ่งขึ้นกว่าเดิมว่า เมื่อในสังคมมีกลุ่มคนมีความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ ก็มี "กลุ่มคน" ที่มีพลังสามารถ ถอนการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เช่นกัน

 

 

 

อ่านประกอบ :

อัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 4 ธ.ค.2548

เกษียร-วสันต์-สมชาย อภิปราย "คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ", 25 เม.ย. 2549

สัมภาษณ์ สุธาชัย : ประวัติศาสตร์ที่เฉลยอนาคต และเรื่องที่ควรถกเถียงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ, 21 ก.พ. 2550

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: ว่าด้วยองคมนตรี: บทบาท และการถอดถอน, 24 เม.ย. 2550

 

ข่าวย้อนหลัง :

องคมนตรีไม่สบายใจ ได้รับคุ้มครองพิเศษ ถอนแก้ป.อาญา
เปิดรายชื่อ 64 สนช.เสนอเพิ่มโทษ กม.หมิ่นฯ และอีก 61 รายชื่อ หนุน กม.ห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ
สนช.เสนอเพิ่มโทษ ม.112 กม.หมิ่นฯ ขยายคลุม "องคมนตรี" และห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท