Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 27 ก.ย. 50 แหล่งข่าวในเมืองย่างกุ้ง เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 26 ก.ย. กองกำลังความมั่นคงพม่า บุกวัดซึ่งมีบทบาทสำคัญในแนวร่วมสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างน้อย 2 แห่ง แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด ขณะที่มีรายงานข่าวบางกระแสว่า วัดแห่งหนึ่งที่ถูกบุกตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองย่างกุ้ง พยานผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่า บานหน้าต่างของวัดแตกกระจาย เศษกระจกกับปลอกกระสุนปืนใช้แล้วตกเกลื่อนอยู่บนพื้น ขณะที่ผู้พักอาศัยอยู่ใกล้วัดพากันร้องไห้ และบอกว่าในระหว่างการบุก มีพระที่วัดดังกล่าวถูกจับกุมไปประมาณ 100 รูป


 


ทางด้านครอบครัวของนายมิ่น เทง โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่าได้ถูกย้ายจากการควบคุมตัวในบ้านพัก ไปคุมขังที่เรือนจำอินเส่งซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนาเปิดเผยด้วยว่าเจ้าหน้าที่ได้บุกเข้าจับกุมตัวนายมิ่น เทง เมื่อคืนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันด้วยว่า มีสมาชิกคนอื่นๆของพรรคฯถูกจับตัวไปเช่นกัน


 


นายกฯไทยยืนยันเคยกระตุ้นพม่าให้ปล่อยซูจี


ด้านพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีประเทศไทยกล่าวในการประชุมของ "เอเชีย โซไซตี้" นอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์คของสหรัฐฯ เมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้ทำทุกสิ่งที่ทำได้ และใช้ทรัพยากรต่างๆจนแทบจะหมดแล้วกำลังแล้ว เพื่อพยายามทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตยจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมหาอำนาจในภูมิภาค คือจีนและอินเดีย เพื่อช่วยกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้กลับไปสู่ประชาธิปไตย


 


นายกฯสุรยุทธ์กล่าวด้วยว่า อาเซียนค่อนข้างวิตกต่อการปราบปรามผู้ประท้วงในพม่าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และระบุว่าความพยายามของท่านเองในการกระตุ้นให้พม่ายอมปล่อยตัวนางออง ซาน ซุจี ผู้นำฝ่ายค้านผู้ถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านพัก ไม่เกิดผลใดใด โดยพม่าตอบเสมอว่าจะปล่อยตัวในเร็วๆนี้ แต่ก็ล่วงเลยมานานแล้ว และอาเซียนก็วิตกเรื่องสุขภาพของเธอ


 


ทางด้านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ออกประกาศเตือนเมื่อวานนี้ ให้พลเมืองที่คิดจะเดินทางไปพม่าในช่วงนี้เลื่อนกำหนดการเดินทางออกไปก่อน เนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงจากการที่รัฐบาลทหารใช้กำลังเข้ากวาดล้างพระสงฆ์ที่เดินขบวนประท้วงในพม่า พร้อมกับเตือนให้พลเมืองที่อาศัยอยู่ในพม่า หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้การชุมนุมประท้วงที่อาจบานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรงได้โดยที่ไม่มีการเตือนล่วงหน้า


ขณะเดียวกันกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ก็ออกประกาศเตือนว่ากำลังมีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลพม่าในหลายเมืองทั่วประเทศ จึงขอให้พลเมืองอังกฤษงดเว้นการเดินทางไปพม่าในช่วงนี้ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นจริง ๆ


 


ด้านรัฐบาลอินเดียออกแถลงการณ์แสดงความวิตกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด และว่าในฐานะที่อินเดียเพื่อนบ้านและเป็นมิตรที่ใกล้ชิดของพม่า หวังที่จะเห็นสันติภาพ เสถียรภาพและความรุ่งเรืองของพม่า และหวังว่า ทุกฝ่ายจะแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี


 


ยูเอ็นส่งฑูตพิเศษไปพม่า ร้องรัฐบาลเปิดเจรจาพระสงฆ์


วันเดียวกัน นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ตัดสินใจส่งฑูตพิเศษไปพม่า พร้อมเรียกร้องให้ ผู้นำระดับสูงของพม่าให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ หลังจากได้ออกมาเรียกร้องก่อนหน้านี้ให้รัฐบาลทหารพม่าใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุด


 


รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 8 หรือจี 8 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯแคนาดา,อังกฤษ,อิตาลี, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, ญี่ปุ่น และเยอรมนีซึ่งปัจจุบันเป็นประธานหมุนเวียนของจี 8 ร่วมประชุมที่นครนิวยอร์คของสหรัฐฯ ก่อนเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการใช้ความรุนแรงในทันที กับให้รัฐบาลพม่าเข้าร่วมการเจรจากับกลุ่มศาสนาและกลุ่มประชาธิปไตยในพม่า เพื่อบรรลุข้อตกลงโดยสันติและไม่ใช้ความรุนแรง พร้อมเตือนผู้นำรัฐบาลทหารพม่าด้วยว่า จะต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวต่อการกระทำ


 


สหภาพยุโรป หรืออียู กับสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ร่วมที่กรุงบรัสเซลส์ ประกาศความเป็นหนึ่งเดียวกันกับประชาชนพม่า พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการใช้ความรุนแรง และเปิดการเจรจากับผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งนางออง ซาน ซูจี และตัวแทนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ กับเรียกร้องให้จีน อินเดีย และอาเซียน กับประเทศอื่นๆในภูมิภาคใช้อิทธิพลสนับสนุนประชาชนพม่าและให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ เร่งหารือและพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งรวมทั้งใช้มาตรการคว่ำบาตร


 


สำหรับความเคลื่อนไหวของจีนนั้น แหล่งข่าวทางการฑูตระบุว่า ตัวแทนของคณะกรรมาธิการยุโรป ได้แจ้งต่อที่ประชุมของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอเชียของชาติสมาชิก 27 ชาติของอียูเมื่อวันพุธว่าจีนได้แนะนำรัฐบาลทหารพม่าไม่ให้ตอบโต้เกินกว่าเหตุ (not to overreact) ต่อการประท้วงอย่างสงบในพม่า พร้อมแจ้งต่อที่ประชุมว่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านในพม่า ได้ถูกย้ายจากการควบคุมตัวที่บ้านพัก ไปยังมีอื่นซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยมั่นคงกว่า


 


ขณะที่นายเซ่ง วิน ผู้อ้างตนเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของพม่า แถลงเมื่อวันพุธว่า นางซูจีถูกย้ายไปขังที่เรือนจำแห่งหนึ่ง


 


ด้านนายมาซาฮิโกะ คูมูร่า รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในวันที่ 27 ก.ย.ว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาครายใหญ่ให้กับพม่ากำลังกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าแสดงความอดกลั้นในการตอบโต้ผู้ประท้วง ขณะที่ทั้งทหารและตำรวจพม่า กำลังเข้าปราบปราบบรรดาผู้ก่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ภายใต้การนำของพระสงฆ์ และในอนาคต ทางญี่ปุ่นจะยังคงเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในพม่าโดยใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นจะยังคงให้ความช่วยเหลือต่อพม่าต่อ แต่ว่ามีเป้าประสงค์ด้านมนุษยธรรมเท่านั้น


 


เรียบเรียงจาก : คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net