Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่  25 ก.ย.50  องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ทำงานด้านพม่า รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนไทยหลายองค์กรจัดประชุมกันที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียนเพื่อประเมินสถานการณ์ในพม่ารวมทั้งกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวร่วมกัน

 


ดร. Sann Aung รัฐมนตรีในรัฐบาลพลัดถิ่นประเทศพม่ากล่าวว่า การออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่ของพระสงฆ์และประชาชนพม่าในครั้งนี้ มีข้อรียกร้องสำคัญ 4 ประการ ได้แก่


 


1.ให้ทหารพม่าออกมาขอโทษต่อการทำร้ายพระสงฆ์ที่ออกมาเคลื่อนไหว


2. ขอให้ลดราคาสินค้าที่ขึ้นราคา


3. ให้รัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษการเมือง


4. ให้ริเริ่มกระบวนการปรองดองแห่งชาติ


 


ทั้งนี้ สถานการณ์วันที่ 25 ก.ย.มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน (เคอร์ฟิว) ในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ และเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมมาตั้งแต่คืนวันที่ 24 ก.ย. อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชุมนุมยังไปชุมนุมกันที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และเดินขบวนต่อไปที่เจดีย์ชเวดากอง แต่มีรายงานมาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมถูกทหารยิงใส่บริเวณหน้าเจดีย์ ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัดของประชาชนและพระสงฆ์ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีข่าวที่ยังไม่ยืนยันว่าทหารได้เข้าควบคุมตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว


 


ดร. Sann กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการเรียกร้องต่อประชาคมโลกให้แทรกแซงรัฐบาลพม่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารหมู่ โดยเฉพาะถ้าหากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติมีมติคว่ำบาตรการค้าการลงทุนกับพม่าจะมีผลมากต่อสถานการณ์ โดยมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติถือว่าเป็นมาตรการเดียวที่จะมีผลบังคับเช่นเดียวกับที่เคยใช้กับประเทศแอฟริกาใต้ที่ไม่ให้มีการค้าขายเลยในช่วงที่มีกรณีเหยียดสีผิว ซึ่งเป็นการกดดันที่ได้ผล อย่างไรก็ตาม ในกรณีของพม่าอาจติดปัญหาอยู่ที่วีโต้ขอจีนเพราะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในพม่า แต่ในระยะหลังมานี้ท่าทีของจีนดูอ่อนลงและมีการตักเตือนไปยังรัฐบาลพม่ามากขึ้น สิ่งที่อ่อนไหวต่อรัฐบาลทหารพม่าก็คือการกดดันจากจีนและไทยทั้งด้านการค้าและด้านอื่นๆ เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของพม่า


 


รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทยที่มาหารือกันเพื่อหาแนวทางดำเนินงานร่วมกันได้ข้อสรุปในการเรียกร้องต่อรัฐไทยว่าต้องแสดงท่าทีกดดันที่ชัดเจนในการให้รัฐบาลพม่ามีกระบวนการเปลี่ยนแปลงในประเทศอย่างสันติวิธี และยังกำหนดมาตรการเป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วนร่วมกันไปยังรัฐบาลพม่าว่า


 


1. ต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม


2. สนับสนุนการต่อสู้แนวทางสันติวิธีของพระสงฆ์และประชาชนพม่า


3. ปล่อยนักโทษทางการเมืองรวมทั้งอองซานซูจี และให้พม่าเคารพหลักสิทธิมนุษยชน


 


นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องในระยะสั้นด้วย ดังนี้


1. รัฐบาลพม่าต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน


2. พม่าต้องเปิดให้มีการเจรจาทุกฝ่าย


3. คืนอำนาจให้ประชาชน และยึดหลักประชาธิปไตย


4. เรียกร้องให้ไทยและจีนหยุดการสนับสนุนพม่า


5. กลุ่ม ASEAN ต้องกดดันพม่า


6.เรียกร้องต่อรัฐไทยให้หยุดการซื้อก๊าซจากพม่า และหยุดการสร้างเขื่อนสาละวิน


 


ทั้งนี้ ทางอองค์กรภาคประชาชนต่างๆมีกำหนดการเคลื่อนไหวร่วมกัน คือ วันที่ 26 ก.ย. เวลา 19.00 น. รวมตัวจุดเทียนที่ลานครูบาศรีวิชัย จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 27 ก.ย. เวลา 10.30 น. กลุ่มเพื่อนพม่าไปประท้วงหน้าสถานทูตพม่า, นปช.  ไปประท้วงหน้าสถานทูตพม่า, เวลา 12.00 น. นักกศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปประท้วงหน้าสถานทูตพม่า      


 


วันที่ 28 ก.ย. เวลา 10.30 น. องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และภาคประชาชนชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่หน้าสถานทูตพม่า นอกจากนี้อาจจะนัดรวมตัวกันหน้าสถานทูตพม่าทุกวันเสาร์และอาทิตย์เพื่อกดดันรัฐบาลพม่าไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net