รู้จักเพื่อนบ้าน "มาเลเซีย" จากอาณานิคมสู่ทุนนิยมในโลกอิสลาม

อุบล  อยู่หว้า

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

 

แม้ว่ามาเลเซียจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่ห่างไกลจากการรับรู้ของผมมากทีเดียว เมื่อมีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมขบวนการชาวนาสากล ลาเวียคัมเปซีนา (Lavia Campesina) เป็นการจัดประชุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2550 ณ เมืองคูชิง (Kushing) รัฐซาราวัค บนเกาะบอเนียว จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำความรู้จักกับประเทศมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น

 

ผมเดินทางโดยสายการบินมาเลเซีย ผู้โดยสารร่วมเดินทางส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย หรือแขกอินเดียนั่นเอง พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองมาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วนถึง 8% จากประชากรมาเลเซียทั้งหมด 25 ล้านคน (2004) บรรพบุรุษของชาวอินเดียเหล่านี้ ถูกนำมาใช้แรงงานในแหลมมาลายูโดยรัฐบาลอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แม้ว่าชาวอินเดียเหล่านี้จะเข้ามาอาศัยอยู่บนดินแดนของมาเลเซียภายหลังชาวจีน แต่อาจจะด้วยความใกล้ชิดและกลมกลืนกับวัฒนธรรมมาลายูเจ้าถิ่นมีมากกว่า ทำให้ชาวอินเดียได้รับสิทธิบางอย่างมากกว่าชาวจีน โดยเฉพาะชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม

 

ไม่กี่ชั่วโมงจากสนามบินสุวรรณภูมิก็ถึงสนามบินกัวลาลัมเปอร์แห่งใหม่ ผมต้องแปลกใจอย่างมากเมื่อต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย และพบว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีรายชื่อผู้ที่จะเข้าประชุมลาเวียคัมเปซินาทุกคนอยู่ในมือ (นายแน่มาก) ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการข่าวของทางการมาเลเซียคงจะแน่ประการหนึ่ง หรืออีกประการหนึ่งก็คือเสรีภาพการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนในมาเลเซียกระทำได้ภายใต้กรอบที่จำกัดอย่างยิ่ง

 

ผมได้รับการประทับตราบนพาสปอร์ต มีข้อความว่า "อนุญาตให้อยู่ในมาเลเซียตะวันตกและซาบาร์ 30 วัน" เมื่อต่อเครื่องบินไปเมืองคูชิง รัฐซาราวัค สถานที่จัดการประชุม ทั้งชาวต่างประเทศและชาวมาเลเซียเองต้องผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองเช่นกัน ตราประทับบนพาสปอร์ตมีข้อความว่า "อนุญาตให้อยู่ในซาราวัค 30 วัน" และผมมาทราบภายหลังว่าชาวมาเลเซียจากรัฐต่างๆ ในแถบมาเลเซียตะวันตกเข้ามาทำงานในซาราวัค ต้องขออนุญาตด้วย ความเป็นเอกเทศของรัฐซาราวัคปานประหนึ่งว่าเป็นอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องมากจากประวัติศาสตร์ เดิมซาราวัคเคยเป็นดินแดนในการปกครองของราชสำนักแห่งบรูไน

 

ความเป็นรัฐของซาราวัคชัดเจนขึ้นจากความทะเยอทะยานของเจมส์ บรูค (James Brook 1803-1868) นักผจญภัยชาวอังกฤษผู้หลงใหลชีวิตในโลกตะวันออก เขาเติบโตในอินเดีย ว่ากันว่า เจมส์ บรูคปกครองซาราวัคเสมือนเป็นอาณาจักรส่วนตัว เขาได้รับสิทธิในการครอบครองดินแดนบริเวณลุ่มน้ำซาราวัคในบอร์เนียวตะวันตก หลังจากการที่เขาให้ความช่วยเหลือราชามูดาแห่งบรูไน ปราบปรามกบฏมาลายูหลายกลุ่มในบริเวณลุ่มน้ำซาราวัค เขาสถาปนาตนเองเป็นราชาผิวขาวแห่งซาราวัค (White Rajas) เขาสร้างเมืองหลวงของซาราวัคที่บริเวณหมู่บ้านมาลายูริมแม่น้ำซาราวัคชื่อ "เมืองคูชิง" (Kushing) หมายถึงแมวป่า ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอยู่มากในบริเวณนั้นและกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองคูชิงในปัจจุบัน

 

ประชากรส่วนใหญ่ในรัฐซาราวัคเป็นคริสต์เตียน แต่บรรยากาศของเมืองคูชิงก็ดูเคร่งขรึมสะอาด สงบ เป็นบรรยากาศของสังคมอิสลาม แม้ว่าจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเป็นชาวคริสต์ แต่ก็อยู่ภายใต้รัฐอิสลาม

 

อาหารมื้อเย็นวันหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม ณ ร้านอาหาร "หมู่บ้านของฉัน" (My Village) ริมแม่น้ำซาราวัคในยามเย็นชาวบ้านบ้างก็ยืนตกกุ้งบนโป๊ะเรือ บ้างก็ล่องเรือทอดแหหาปลา บรรยากาศโปร่งสบาย ผู้เข้าร่วมประชุมจากสังคมบริโภคนิยม เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ไทย แสดงความต้องการตรงกันโดยไม่ต้องนัดหมาย

 

"มีเบียร์ไหมครับ !!?"

 

แต่ผู้จัดการประชุมก็แจ้งให้ทราบว่าคณะเราอยู่ในร้านอาหารอิสลามไม่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ มีแต่น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำแตงโม น้ำแคนตาลูป ทำเอาหลายคนมีสีหน้าบ่งบอกถึงความผิดหวัง เครื่องดื่มคุณภาพที่แนะนำมันคงไม่ตำใจผู้คนจากสังคมบริโภคให้บิ๊วอารมณ์ไปสู่จุดที่ลงตัวกับบรรยากาศได้ ซึ่งเจ้าภาพยังอธิบายความต่อว่าบริเวณริมฝั่งซ้ายแม่น้ำซาราวัคที่เราอยู่เป็นเขตชนพื้นเมือง (ภูมิปุตรา / Bumiputera) มีความหมายตามตัวหนังสือว่า "บุตรชายบุตรสาวของแผ่นดิน" หมายความว่าชาวอิสลามมาลายูและชนเผ่าที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้นที่มีสิทธิ์อยู่อาศัยในเขตนี้ ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดียไม่มีสิทธิ์ที่จะครอบครองที่ดินในเขตนี้ ยกเว้นสำหรับผู้ที่แต่งงานกับชาวมาลายูและเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามแล้วจึงจะมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินในเขตภูมิปุตราได้ ขณะที่ริมแม่น้ำซาราวัคฝั่งตรงข้ามเป็นตึกระฟ้าของโรงแรมมีชื่อต่างๆ และเป็นเขตที่ทุกเชื้อชาติทุกเผ่าพันธุ์อยู่ร่วมกันได้

 

ผู้นำทางการเมืองและบุคคลสำคัญของมาเลเซียมักจะพูดอยู่บ่อยๆ ว่า "สังคมมาเลเซียประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติหลายภาษาแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสุขสงบ"

 

การพูดเหมือนท่องเอาไว้ของผู้นำแสดงว่าความจริงมันมีปัญหาใช่ไหม ?

 

ผู้เข้าร่วมประชุมรายหนึ่งยิงคำถามใส่นักศึกษาหนุ่มชาวจีนจากมหาวิทยาลัยคูชิง ผู้มาอาสาสมัครช่วยแรงในการจัดการประชุม หนุ่มนักศึกษาอธิบายว่า "ความสัมพันธ์ชาวจีนกับชาวมาลายูก็มีปัญหาอยู่ ชาวจีนมักจะมีทัศนะที่ดูหมิ่นชาวมาลายูว่าขี้เกียจบ้าง สกปรกบ้าง แต่ซาราวัคก็นับได้ว่าเป็นรัฐที่ความสัมพันธ์ชาวจีนและชาวมาลายู ราบรื่นลงตัวที่สุดแล้วในประเทศ ไม่เฉพาะทัศนะที่ข่มเหยียดกันระหว่างเชื้อชาติเท่านั้น ชาวมาเลเซียตะวันตกยังมีทัศนะว่าตนเองมีศักดิ์ศรีที่เหนือกว่าคนมาเลเซียตะวันออก มีเหตุการณ์ที่เกิดกับเพื่อนของเขาขณะที่เดินอยู่ในซอยเปลี่ยวในกัวลาลัมเปอร์ เขาถูกพ่อค้าแผ่น CD คาดคั้นให้ซื้อ CD โป๊ เมื่อปลอดคนก็ยกระดับเป็นการปล้น ชักอาวุธออกมาจี้บังคับเอาเงินทั้งหมด เพื่อนของนักศึกษาหนุ่มมองหน้าคนร้ายแล้วก็เลยพูดว่า "เป็นชาวจีนด้วยกันแท้ๆ ทำไมทำแบบนี้"

 

คำตอบผสมคำสบถของดาวปล้นก็หลุดออกมาว่า "กูมาเลเซียตะวันตกโว้ย" นี่เป็นการเสียดสีระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่น่าจะมีอยู่ในทุกสังคม เศรษฐกิจของประเทศนี้อยู่ในมือชาวจีน กฎหมายมาเลเซียยังได้คุ้มครองสิทธิ์ชาวมาลายู ปัจจุบันหากตั้งบริษัทในมาเลเซียกฎหมายกำหนดให้ต้องรับชาวมาลายูเข้าทำงานด้วย นอกเหนือจากสิทธิทางการเมืองซึ่งมีมากกว่าคนกลุ่มอื่นอยู่แล้ว

 

การลงพื้นที่ชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างชาวนา เป็นกิจกรรมที่ต้องมีในการประชุมลาเวียคัมเปซินา การศึกษาดูงานในวันสุดท้ายของการประชุมในหมู่บ้านที่เป็นชาวมุสลิมอยู่ห่างจากเมืองคูชิงประมาณชั่วโมงเศษๆ พี่น้องเคยมีอาชีพปลูกส้ม แต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาได้เกิดโรคระบาดในสวนส้มจนเสียหายทั้งหมด ชาวบ้านจึงได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาปลูกผลไม้ผสมผสาน เช่น มะม่วง มะละกอ ชมพู่ ฝรั่ง แตงโม แคนตาลูป เป็นต้น

 

พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่ง อุดมสมบูรณ์คล้าย 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ แต่การปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตรถูกใช้กันอย่างหนัก พี่น้องชาวบ้านชาวมาเลเซียยังไม่ค่อยรู้จักเกษตรอินทรีย์เท่าใดนัก

 

"มะม่วงที่ปลูกพันธุ์อะไรมาจากไหนครับ?"

 

คำตอบที่ได้คือ โชคอนันต์จากไทยแลนด์มันดีเพราะให้ลูกได้ตลอดปี

 

อีกชุมชนหนึ่งเป็นชนเผ่าบิดายู หมู่บ้านตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนอินโดนีเซียเพียงชั่วโมงเดียว พี่น้องอาศัยอยู่ร่วมกันบนบ้านหลังเดียว ที่มีความยาวมากกว่า 100 เมตร รวม 36 ครอบครัว เรียกว่าบ้านยาว (Long House) การอยู่ร่วมกันบนบ้านยาวเป็นวิถีที่เป็นมาจากประวัติศาสตร์ชนเผ่าในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในเกาะเบอร์เนียว มีประเพณีในการล่าหัวมนุษย์ (Head Hunting) ชายหนุ่มก่อนแต่งงานจะต้องล่าหัวมนุษย์จากกลุ่มอื่นให้ได้ก่อน หากทำไม่ได้ผู้หญิงจะไม่อยากแต่งงานด้วย การอยู่ร่วมกันแบบบ้านยาวซึ่งเดิมที่สูงถึง 5 เมตร จะช่วยป้องกันการถูกลอบตัดหัวจากกลุ่มอื่น ความเชื่ออันนี้เพิ่งจะถูกยกเลิกไปเมื่อประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา แต่ทุกครั้งที่มีคดีฆาตกรรม ฆ่าตัดหัวในมาเลเซีย ก็จะมีการร่ำลือกันว่าน่าจะมีชนเผ่าบางกลุ่มยังยึดปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมนี้อยู่

 

ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน ได้ชักนำให้เราชาวนาคนละเชื้อชาติ ภาษา ได้มาเจอกัน ชนเผ่าบิดายูในมาเลเซียที่เรานั่งอยู่บนชานบ้านยาวก็มีปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินเช่นกัน แม้ว่ามาเลเซียจะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมาก ประชากรน้อย มีทรัพยากรเหลือเฟือเพียงพอสำหรับทุกคน แต่รัฐบาลมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่นซาราวัค ได้ดำเนินนโยบายให้เอกชนได้สัมปทานที่ดินป่าเขาเพื่อเปิดป่า ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นผืนใหญ่สุดลูกหูลูกตา (Plantation)

 

ในสัญญาสัมปทานกับรัฐเขียนไว้ว่า "สัญญาสัมปทานจะมีผลบังคับเมื่อบริษัทสามารถบุกเบิกพื้นที่และปักเขตได้เท่านั้น" นั่นคือหากพบว่ามีมนุษย์ชนเผ่าใดอยู่ในเขตสัมปทาน ก็ให้บริษัทไปไล่ออกเอาเอง บริษัทเอกชนจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชาวบ้านออกจากพื้นที่ ชาวบ้านไทยเรามีที่ดินน้อยและไม่มีที่ดินทำกินกว่า 4 ล้านครอบครัว ขณะที่รัฐก็ให้นายทุนเช่าที่ดินของรัฐปลูกยูคาลิปตัส ปลูกปาล์มน้ำมัน ความโหดเหี้ยมของเศรษฐกิจทุนนิยมอยู่ในทุกที่จริงๆ ทั้งสังคมพุทธ คริสต์ อิสลาม

 

"ทรัพยากรธรรมชาติมีเพียงพอสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่มันไม่พอสำหรับความโลภของมนุษย์เพียงคนเดียว" วาทะอมตะของท่านคานธี ยังคงยืนยันสัจจะข้อนี้ได้ตลอดกาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท