บทความ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช :เอ็กซเรย์ 1 ปี สังคมไทยหลังรัฐประหารได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง


ชื่อบทความเดิม "ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร: สังคมไทยเรียนรู้อะไร"

 

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

อีกไม่กี่วันก็จะครบรอบ 1 ปี ของการทำรัฐประหาร (ครั้งที่เท่าไหร่ไม่อาจจำได้) ผมลองมานั่งประเมินดูในสายตาของผมว่า สังคมไทยเรียนรู้หรือไม่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง โดยผมขอเริ่มจากสิ่งที่สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้ก่อน

 

 


สิ่งที่สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้


1.  รัฐประหารไม่ได้เป็นวิถีทางในการเเก้ไขปัญหาของประเทศชาติ

           

บทเรียนนี้สังคมไทยสอบตกอย่างสิ้นเชิง เกือบทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร ในแถลงการณ์หรืออารัมภบทของธรรมนูญการปกครองชั่วคราวมักจะเอ่ยอ้างหรือท้าวความถึงปัญหาต่างๆนานา พร่ำพรรณนาถึงวิฤตการณ์สารพัดจนคณะรัฐประหารทนไม่ได้ต้องเข้ามาจัดการหรือคลี่คลายวิกฤติการณ์ด้วยการทำรัฐประหาร แต่จะเห็นได้ว่า หลังจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายนที่ผ่านมา ปัญหาของประเทศชาติก็ไม่ได้คลี่คลายลงไปแต่น้อย ความสมานฉันท์ของคนในประเทศไม่ได้ดีขึ้นเมื่อเทียบก่อนทำรัฐประหาร มิหนำซ้ำ ผลของการลงประชามติได้เกิดประเด็นโต้เถียงราวกับว่าเกิด "แบ่งเขาแบ่งเรา" คือระหว่างภาคเหนือ- อีสานกับ ภาคใต้ มีการกระแหนะกระแหนกัน ซึ่งเกรงว่าจะกลายเป็นประเด็น "ภูมิภาคนิยม" ขึ้นมา

           

สำหรับปัญหาการทุจริตซึ่งเป็นหนึ่งในข้ออ้างของการทำรัฐประหารนั้น เกือบทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็มักจะฉกฉวยโอกาสที่จะแสงหาผลประโยชน์เข้าตนเองและพวกพ้อง ซึ่งมักจะเคลือบแฝงในนามของเงินเดือน ผลประโยชน์ เบี้ยประชุม การนั่งเป็นประธานบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ การอนุมัติงบลับ การแต่งตั้งพรรคพวกตนเองเข้าไปดำรงในตำแหน่งสนช. สสร. หรือการอุปโลกน์องค์กรเฉพาะกิจอื่นๆโดยมีค่าตอบแทนจำนวนมากเป็นเครื่องล่อ ซึ่งเราจะจัดพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายประพฤติมิชอบหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่ผมนั้นถือว่าเป็นการประพฤติมิชอบแต่ทำให้ดูเนียนขึ้นเท่านั้นเอง

 

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจนั้นไม่ต้องพูดถึง เราท่านต่างได้รู้สึกถึงความสามารถของรัฐบาลชุดนี้ได้เป็นอย่างดีว่ามาความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ด้อยเพียงไร

 

สรุปก็คือ เราไม่สามารถเเก้ไขปัญหาประเทศชาติด้วยการ "ล้มกระดาน" (tabura rasa) เเล้วเเทรกเเซง กระบวนการยุติธรรมตามระบบปกติด้วยการอุปโลกน์องค์กรเฉพาะกิจขึ้นมาทำหน้าที่เเทน ทำให้ความน่าเชื่อถือต่อหลักนิติรัฐรวนไปทั้งระบบ ปัญหาของประเทศชาติในปัจจุบันทวีความซับซ้อนเเละเกี่ยวกันกับกระเเสโลกาภิวัฒน์มากขึ้นทุกทีๆ จนไม่สามารถมักง่ายด้วยการทำรัฐประหารต่อไปอีกเเล้ว

 

2. การร่างรัฐธรรมนูญ

ดูเผินๆ แล้ว สังคมไทยดูเหมือนจะให้ความสำคัญหรือคุณค่าของรัฐธรรมนูญมากประเทศหนึ่งในโลก ดังจะเห็นได้จากเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุด (ใกล้ 20 ฉบับเข้าไปทุกทีแล้ว) และรัฐธรรมนูญก็มีเนื้อหายาวมากที่สุดเช่นกัน (รัฐธรรมนูญ ปี 2540  มี 336 มาตรา ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 มี 309 มาตรา) โดยสังคมไทยเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นกติกาของการปกครองประเทศและจำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตย แท้จริงแล้ว ระบอบประชาธิปไตยมิได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับปัจจัยหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "วัฒนธรรมของความเป็นประชาธิปไตย" เช่น การเคารพเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเลือกตั้ง หรือลงคะแนนเสียงในเรื่องหนึ่งเรื่องใด) การเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีโดยปราศจากการปิดกั้น การเคารพกฎหมาย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้หรือแม้เขียนไว้สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีชีวิต เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การศึกษาซึ่งแน่นอนต้องใช้เวลา

 

นอกจากสังคมไทย (โดยเฉพาะชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง) จะยังไม่ค่อยเรียนรู้วัฒนธรรมข้างต้นแล้ว สังคมไทยกลับมีจารีตประเพณีที่ขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตยด้วย คือวัฒนธรรมการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ บ่อยครั้งที่สังคมมีความขัดแย้งซึ่งเป็นเรื่องปกติ แทนที่สังคมไทยจะร่วมระดมสมองถกเถียง โต้แย้งด้วยเหตุผล แต่ก็ถูกบรรดาผู้ใหญ่ซึ่งมักเป็นตัวแทนของจารีตนิยมออกมาอบรมสั่งสอนอยู่เนืองๆ ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ไม่ควรให้ความสำคัญกับพฤติกรรมเหล่านี้

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์การเมืองไทย สังคมไทยมักจะให้พูดถึงเรื่อง "เสรีภาพ" (Freedom) แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2550 สสร. ก็ออกมาโฆษณาว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพมากที่สุด แต่แท้จริงแล้วหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยมิได้อยู่ที่เสรีภาพอย่างเดียวแต่อยู่ที่ "ความเสมอภาค" (Equality) ต่างหาก แม้รัฐธรรมนูญจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนดีเพียงไรก็ตาม แต่หากสังคมไทยยังไม่มีความเสมอภาค ยังแบ่งชนชั้นกันอยู่ ประชาชนก็ไม่อาจใช้สิทธิและเสรีภาพได้เกิดประโยชน์ ลองคิดดู หากประชาชนจะชุมนุม หรือแสดงความเห็น ในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่แล้วก็มีบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาห้ามปราม หรือชี้นำแล้ว สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ไร้ความหมาย นับแต่นี้ไปประชาชนต้องออกมารณรงค์ เรียกร้องต่อสู้เรื่อง "ความเสมอภาคต่อกฎหมาย" (Equality before the law) มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ

 

เรื่องต่อไปที่ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็คือการควบคุมหรือตรวจสอบการทำงานขององคมนตรี หากมีลักษณะเกี่ยวข้องทางการเมืองโดยเเท้หรือเป็นเรื่องนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ที่ผ่านมาองคมนตรี (บางท่าน) ได้มีบทบาททางการเมือง มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองและสังคมมากมาย ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยแบบ Constitutional monarchy เช่น ประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น องคมตรีจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์เท่านั้น องคมนตรีไม่สามารถออกมาเกี่ยวข้องหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะได้ มิพักต้องพูดถึงการออกมาอบรมสั่งสอนตามสื่อโฆษณาต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีประเทศใดในโลกเขาทำกัน ฉะนั้น ในอนาคตควรมีการแก้ไขให้มีการควบคุมองคมนตรีหากองคมนตรีท่านใดแสดงความเห็นทางการเมือง มิฉะนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นว่ามี "มือที่มองไม่เห็น" คอยชักใยหรือแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลโดยปราศจากการควบคุม อีกทั้งองคมนตรียังไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองแต่ประการใดด้วย

 

 


สิ่งที่สังคมไทยได้เรียนรู้


1. ความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง

หลังรัฐประหารเป็นต้นมา องค์กรหลายองค์กรซึ่งโดยวิชาชีพหรือโดยสภาพควรต้องมีความเป็นกลางนั้น ปรากฎว่าปราศจากความเป็นกลางไม่ว่าจะเป็นสื่อ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่เว้นแต่องคมนตรี (บางท่าน) คตส. ฯลฯ แม้องค์กรเหล่านี้จะบอกว่าตนเองเป็นกลางแต่ลักษณะของการทำงาน ประชาชนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามถึงความเป็นกลางหรือการเลือกปฎิบัติขององค์กรเหล่านี้

 

2. คุณธรรม จริยธรรมไม่มีอยู่จริง

หลัง 19 กันยายนเป็นต้นมา มีการขุดคุ้ยในเรื่องต่างๆ มากกมาย คนที่ประชาชนคิดว่าจะมีคุณธรรมจริยธรรม (เพราะว่าเป็นคนพูดเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากกว่าใคร) กลับกลายเป็นคนที่มีปัญหาด้านจริยธรรมเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย การจดทะเบียนสมรสซ้อน การไม่ยอมคืนบ้านหลวง การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องญาติสนิท ฯลฯ มองในแง่นี้ประชาชนอาจต้องขอบคุณที่มีการทำรัฐประหาร มิฉะนั้นแล้วประชาชนคงตาบอดไปอีกนาน บทเรียนที่ประชาชนได้รับคือ ไม่มีใครดีไปกว่าใคร คุณธรรมมิได้เป็น "อุณหภูมิ" ที่จะวัดได้ด้วยการอมปรอทไว้ในปาก แต่ละคนก็สร้างมายาภาพให้ตัวดูดีในสายตาของประชาชน

 

3. หลักความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร (Supremacy of Civilian Government)

หลักนี้หมายความว่า กิจการการบริหารของบ้านเมือง (ทั้งภายในและการต่างประเทศ) อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกัน ทหารจะถูกกันออกจากการการเมือง ทหารต้องเป็นทหารอาชีพ แต่ที่ผ่านมา ทหารก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองเหมือนเดิมโดยสะท้อนจากคำสัมภาษณ์ของคมช. ที่ว่า ไม่รับประกันเรื่องการปฎิวัติ หากมีเงื่อนไขหรือเพื่อประเทศชาติ หรือการให้ความสำคัญกับตำแหน่งผบ.ทบเป็นอย่างมาก รวมถึงการเตรียมการออกกฎหมายความมั่นคงภายในรื้อฟื้นอำนาจของกองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน ตราบใดที่หลักความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร ยังไม่หยั่งรากลึกลงในสังคมไทย การเมืองไทยก็จะวนเวียนกับการทำรัฐประหารและการให้ความสำคัญกับบัญชีโยกย้ายทหารต่อไปอีกนาน

 

4. ประชาคมระหว่างประเทศรังเกียจรัฐบาลเผด็จการทหาร (Military junta)

กระแสประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกลายเป็นกระแสหลักของโลกในเวลานี้ไปแล้ว การไม่ต้อนรับรัฐบาลไทยจาก EU รวมทั้งกรณีที่ EU ขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของประเทศปลายปีนี้น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนแก่คนไทยทั้งประเทศว่า ระบอบประชาธิปไตยโดยผ่านการเลือกตั้งมีความสำคัญเพียงไรต่อการเป็นสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศ ไม่มีประเทศใดในโลก(ยกเว้นเผด็จการด้วยกันเองซึ่งหลงเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศแล้ว) ที่จะยอมรับรัฐบาล (รวมถึงกระบวนการยุติธรรม) ที่เป็นผลพวงมาจากรัฐประหาร รัฐประหารเป็นสัญลักษณ์ของความด้อยพัฒนา ที่บ่งบอกถึงสติปัญญาของคนในประเทศนั้น ๆว่า ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาของประเทศได้โดยอาศัยสติปัญญาของตนเอง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานกลไกของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จนต้องลากรถถังออกมาใจกลางเมืองหลวงเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และกำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่อีกไม่กี่วัน

 

5. การปกครองโดยหลักนิติรัฐกับการปกครองโดยกฎหมาย

การปกครองโดยหลักนิติรัฐ หรือนิติธรรม (the Rule of Law) นั้น มีการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายทั้งในแง่ของ "รูปแบบที่มาของกฎหมาย" และ "เนื้อหาของกฎหมาย" กล่าวคือ องค์กรที่ตรากฎหมายต้องมีความชอบธรรม มีหลักการแบ่งแยกอำนาจ เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่มีการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่ประชาชน เป็นต้น ในขณะที่การปกครองโดยกฎหมาย (ruled by law) นั้น ไม่สนใจทั้งในเรื่องของกระบวนการออกกฎหมายและเนื้อหาของกฎหมายว่าจะสอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตยหรือไม่ ขอให้ตนเองมีอำนาจรัฐเป็นอันใช้ได้ ในประเด็นนี้สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้มากสักเท่าไร ทุกสังคมไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการล้วนแล้วมี "กฎหมาย" เป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศด้วยกันทั้งสิ้น แต่จุดแบ่งของ "สังคมประชาธิปไตย" กับ "เผด็จการ" คือ กระบวนการตรากฎหมายและเนื้อหาของกฎหมาย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายต่างหาก สังคมไทยยังแยกไม่ออกระหว่าง rule of law กับ rules by law

 

 


บทส่งท้าย


ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร 19 กันยา ที่ผ่านมานั้น สังคมไทยได้เรียนรู้และไม่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง ผมหวังว่า สังคมไทยคงไม่เอาชะตากรรมของคนทั้งชาติสนองความอยากส่วนตัวด้วยการทำรัฐประหารอีก เพราะคราวนี้อาจจะเกิด "การปฎิวัติของประชาชน" เเทน

 

 

..............

หมายเหตุ

ข้อเขียนนี้ปรับปรุงจากการแสดงความเห็นงานเสวนาวิชาการหัวข้อ " ก่อนครบรอบ ๑ ปี รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ สังคมไทยได้เรียนรู้อะไร ?" เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๐ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท