Skip to main content
sharethis


ชำนาญ  จันทร์เรือง

 


 


กรุงเทพมหานคร เดิมเรียกกันว่า "เมืองบางกอก" ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้องจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองบางกอกขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่แทนกรุงธนบุรี โดยทรงทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 แล้วทรงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2325


 


พระองค์ได้ทรงพระราชทานนามพระนครนี้ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยามหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์   มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์" แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนนามพระนครจาก "บวรรัตนโกสินทร์" เป็น "อมรรัตนโกสินทร์"


 


ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ได้มีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็น "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี"และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็น "กรุงเทพมหานคร" ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นข้าราชการการเมืองแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ


 


หลังจากนั้นได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยมาตรา 6 ได้บัญญัติให้กรุงเทพมหานครแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็นเขตและแขวง สำหรับพื้นที่เขตคืออำเภอเดิม ส่วนพื้นที่แขวงคือตำบลเดิม และยังกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมืองมีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งและเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานอยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง จึงได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งแรก


 


ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กฎหมายกำหนดให้มีสมาชิกสภาเขตและ พรบ.ดังกล่าวนี้ก็ได้บังคับใช้มาจวบจนถึงปัจจุบัน


 


กรุงเทพมหานครนั้นถือว่าเป็นราชการส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษตามมาตรา 70 (4) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยมิได้มีฐานะเป็นจังหวัดซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคตามมาตรา 51 ถึงมาตรา 60 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด     


           


ในส่วนขอการกำกับดูแลนั้น กรุงเทพมหานครอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยโดยตรงมิได้ขึ้นการกำกับดูแลต่อนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดังเช่นองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นที่รวมถึงเมืองพัทยาซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแต่ก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี แต่กรุงเทพมหานครหาเป็นเช่นนั้นไม่เพราะไม่มีจังหวัดให้สังกัดนั่นเอง จังหวัดกรุงเทพฯกับจังหวัดธนบุรีที่เคยมีก็ถูกยุบไปเสียแล้ว


 


กอปรกับข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยก็ระบุไว้ชัดว่าประเทศไทยแบ่งการปกครองออกเป็น 75 จังหวัด มิใช่ 76 จังหวัด ตามที่หลาย ๆ คนเข้าใจหรือเหมารวมกรุงเทพมหานครเข้าไปด้วย


จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฉบับใหม่ล่าสุดได้บัญญัติไว้ในมาตรา 111 วรรคหนึ่ง ว่า


 


"วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวมหนึ่งร้อยห้าสิบคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง"


 


ซึ่งก็หมายความว่า ในเมื่อกรุงเทพมหานครมิได้มีสถานะเป็นจังหวัดตามพ.ร.บ.กรุงเทพมหานครฯ และพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินฯก็ย่อมที่จะไม่มี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคนตามมาตรา 111 แห่งรัฐธรรมนูญฯ นั่นเอง


 


ฉะนั้น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจึงมีจำนวนเพียง 75 คน เท่ากับ ส.ว.ที่มาจาการสรรหาคือ 75 คนเพราะรัฐธรรมนูญฯบัญญัติว่า ส.ว.ที่มาจาการสรรหาเท่ากับจำนวนรวม(150 คน)หักด้วยจำนวน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง(75 คน) ซึ่งจะเป็นไปโดยตั้งใจให้มาจาการเลือกตั้งและแต่งตั้งให้มีจำนวนเท่ากันหรือไม่นั้น ก็น่าคิดอยู่


 


ส่วนใครจะดันทุรังว่าก็เขียนระบุไปใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.หรือระบุไปในประกาศ กกต.ว่าให้กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดเสียก็สิ้นเรื่อง ซึ่งก็คงไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกครับ เพราะถึงแม้ว่าจะมีชื่อว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็มิได้หมายความว่าจะมีลำดับศักดิ์เหนือกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป เพราะขั้นตอนวิธีการบัญญัติและการยกเลิกไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติทั่วๆ ไปก็มีวิธีการและขั้นตอนเหมือนกัน แล้วยิ่งเป็นประกาศ กกต.ก็ยิ่งเทียบกันไม่ได้เลย


 


แต่ยังหากจะดึงดันบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ หรือ ประกาศ กกต.ว่าให้กรุงเทพฯเป็นจังหวัดตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 111 สิ่งที่ยุ่งยากก็ตามมาอีกหลายเท่าทวีคูณ ที่สำคัญก็คือการแสดงว่า สนช.,กกต.หรือ สสร.ที่เป็นผลผลิตของ คมช. สามารถทำได้ทุกอย่าง แม้แต่การร่างพระราชบัญญัติหรือประกาศฯ ให้มีค่าหรือศักดิ์เหนือรัฐธรรมนูญ ดังเช่น พระยามโนปกรณ์ฯ ทำรัฐประหารเงียบโดยการประกาศพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเมื่อครั้งในอดีต นั่นเอง


 


ส่วนความเห็นที่ว่าถ้าอย่างนั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นนี้เลยจะดีไหม ก็ขอเรียนว่าศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเหมือนศาลทั่วนั่นแหละครับ คือมีหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทหรือคดีที่เกิดขึ้นแล้ว มิใช่ที่ปรึกษากฎหมายของใคร ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล ,กกต.หรือแม้แต่ สนช.ก็ตาม


 


ยอมรับเสียเถอะครับว่ารัฐธรรมนูญฯ ปี 50 มีข้อบกพร่อง จะได้แก้ไขในหลาย ๆ ประเด็นไปเลยทีเดียว โดยรัฐสภาใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง (โดยไม่มี สว.กทม.ในวาระเริ่มแรก) มิใช่ขืนดันทุรังพากันเข้ารกเข้าพงเช่นนี้ 


 


 


-------------------------------------


หมายเหตุ   เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 12 กันยายน 2550 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net