Skip to main content
sharethis



พระสงฆ์เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าขอขมา


สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า มีใบปลิวเรียกร้องให้พระสงฆ์ในพม่าทำการต่อต้านรัฐบาลพม่าโดยการไม่รับบิณฑบาตบาตรจากคณะของรัฐบาลพม่า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำการขอขมาที่ใช้ความรุนแรงกับพระสงฆ์ที่ในอำเภอปโค้ะกู่ ทางตอนเหนือของประเทศที่ทำการประท้วงอย่างสันติเมื่ออาทิตย์ก่อน


 


ในใบปลิวระบุที่มาจากองค์ The alliance of all Burma Buddhist   ซึ่งต้องการให้รัฐบาลพม่าทำการขอขมาต่อพระสงฆ์ โดยให้เวลาถึงวันที่ 17 ก.ย.นี้ ถ้าหากรัฐบาลไม่ทำตามคำเรียกร้อง ในใบปลิวประกาศว่าพระสงฆ์จะไม่รับบิณฑบาตจากคณะรัฐบาลพม่า ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อนพระสงฆ์ในอำเภอปโค้ะกู่ ทำการประท้วงอย่างสันติแต่ถูกทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหารพม่าทำร้ายร่างกายและยิงปืนข่มขู่ จึงเป็นเหตุให้พระสงฆ์ในอำเภอดังกล่าวก่อเหตุจับตัวเจ้าหน้าที่จำนวน 10 คนเป็นตัวประกัน พร้อมทั้งเผาทำลายรถยนต์ของเจ้าหน้าที่จำนวน 4 คัน 


 


ด้านรัฐบาลพม่าแถลงการณ์ต่อนักข่าวต่างชาติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลกล่าวโจมตีพรรคเอ็นแอลดีว่า เป็นต้นเหตุทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง และทำให้พระสงฆ์ออกมาทำลายบ้านเรือนและร้านค้าของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้รัฐบาลยังกล่าวหาพรรคเอ็นแอลดีอีกว่า ยุยงให้ประชาชนขัดขืนอำนาจการปกครอง ทำให้ประชาชนหมดความเคารพและต่อต้านรัฐบาล รวมถึงก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง และยังกล่าวหาว่าพรรคเอ็นแอลดียังเรียกร้องให้นานาชาติทำการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลพม่าอีกด้วย นอกจากนี้รัฐบาลยังกล่าวหากลุ่มนักศึกษาปี 1988 และองค์กรต่อต้านรัฐบาลที่อยู่นอกประเทศด้วยเช่นกัน


 


ขณะที่แหล่งข่าวรายงานว่า ขณะนี้รัฐบาลพม่าได้จับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มพระสงฆ์ในประเทศอย่างใกล้ชิด ด้านพระสงฆ์ในเมืองตองจีเมืองหลวงในรัฐฉานกล่าวว่า รัฐบาลใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดเกือบทุกแห่ง นอกจากนี้ยังเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวทั้งในวัดต่างๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัยและตามตลาดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่ผ่านมาพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญทางการเมือง เหมือนเช่นในปี 1990 ที่พระสงฆ์ไม่ยอมรับการบิณฑบาตจากคณะรัฐบาลทหาร ทำให้เกิดการปราบปรามและจับกุมพระสงฆ์อย่างหนักในจังหวัดมัณฑะเลย์ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระสงฆ์จำนวนกว่า 100 รูปถูกทางการจับตัว โดยพระสงฆ์ที่มีส่วนร่วมในการประท้วงถูกทางการจับสึก ขณะที่พระสงฆ์จำนวนหนึ่งต้องถูกเจ้าหน้าที่ทรมานและกักขังตัวเป็นเวลานาน


 


แหล่งข่าวในตองจียังกล่าวเพิ่มเติมว่า พระสงฆ์ในตองจีกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวัดในกรุงย่างกุ้งและจังหวัดมัณฑะเลย์อย่างใกล้ชิด ขณะที่พระรูปหนึ่งจากวัดมาโซยินในจังหวัดมัณฑะเลย์ กล่าวว่า ต้องการที่จะรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังใบปลิวดังกล่าวก่อนที่จะทำอะไรมากไปกว่านี้ แต่เชื่อว่ามีเพียงพระผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถเรียกร้องให้พระสงฆ์ทำการต่อต้านรัฐบาลพม่า


 


ด้านสำนักข่าว Independent Mon News Agency รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มองค์กรพระสงฆ์ Sangha Thanmaggi เรียกร้องให้พระสงฆ์ในประเทศออกมาเดินประท้วงอย่างสันติในวันที่ 11 ก.ย. เพื่อแสดงความพร้อมเพรียงกันและประท้วงที่รัฐบาลใช้วิธีรุนแรงกับพระสงฆ์ โดยในการประท้วงพระสงฆ์จะร่วมสวดมนต์ภาวนาตามท้องถนน


 


 


ชาวบ้านในอำเภอปโค้ะกู่ ถูกจับข้อหาให้ข้อมูลนักข่าวต่างชาติ


สำนักข่าว Democratic Voice of Burma รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ชาวบ้านในอำเภอปโค้ะกู่ จากสี่หมู่บ้านถูกทางเจ้าหน้าที่จับกุมตัว โดยเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาให้ข้อมูลกับนักข่าวต่างชาติเรื่องพระสงฆ์ทำการประท้วง


 


ชาวบ้านอำเภอปโค้ะกู่จำนวนสี่คนประกอบไปด้วย นายอูต่านชิน นายอูเนลา นายอูเส่นลิน และนายอูทาอ่อง ถูกทางการควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา ภายหลังถูกส่งตัวเข้าคุกในสถานีตำรวจ โดยการจับกุมตัวชาวบ้านครั้งนี้คาดว่า ชาวบ้านทั้งหมดได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงผ่านทางโทรศัพท์กับสำนักข่าวต่างชาติ


 


พระรูปหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในตอนแรกผู้ถูกจับกุมทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังอนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมและนำอาหารไปให้ผู้ถูกจับ แต่ต่อมาผู้ถูกจับทั้งหมดถูกย้ายไปขังในคุกของสถานีตำรวจเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่าน จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ชะตากรรมของผู้ถูกจับทั้งหมด   


 


 


ยูเอ็นเตรียมส่งนายอิบราฮิม เยือนพม่า


สำนักข่าว Deutsche Presse-Agentur รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า นายบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ยูเอ็นเตรียมส่งทูตพิเศษเยือนพม่ากลางเดือนหน้า ซึ่งเป็นความพยายามของยูเอ็นที่จะร่วมกดดันและพยายามนำประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชนสู่ประเทศพม่า


 


นายอิบราฮิม แกมบารีได้เยือนพม่าครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ในฐานะผู้นำและที่ปรึกษาด้านการเมืองของยูเอ็น แต่จะเยือนพม่าอีกครั้งในฐานะทูตพิเศษของนายบันคีมูน โดยเมื่อเร็วๆ นี้เขาได้ร่วมหารือถึงแนวทางที่จะช่วยเหลือและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่าร่วมกับหลายๆ รัฐบาลในภูมิภาคเอเชีย


 


นายบันคีมูนได้กล่าวอีกว่า เขาให้คำมั่นสัญญาที่จะเดินหน้านำพม่าสู่ประชาธิปไตย และยังหวังว่ารัฐบาลพม่าจะทำให้ประเทศสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง รวมถึงเคารพและสนับสนุนปณิธานของนานาชาติให้เป็นความจริง โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยตัวนางอองซานซูจี


 


นางอองซานซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ได้ถูกรัฐบาลทหารพม่ากักขังตัวอยู่แต่ในบ้านพักเป็นเวลาสิบกว่าปี นับตั้งแต่นางชนะการเลือกตั้งเป็นต้นมา ยูเอ็นได้วิเคราะห์ไว้ว่า รัฐบาลพม่าจะกีดกันพรรคทางการเมืองต่างๆ ไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาแห่งชาติและการร่างรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลพม่าไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องของยูเอ็นที่ให้มีการปล่อยตัวนางอองซานซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า


 


 


พม่า-เกาหลีเหนือเชื่อมสัมพันธ์ นักการเมืองชี้ไม่เอื้อประโยชน์ประชาชน


สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า อดีตนักการทูตพม่าประจำประเทศจีนกล่าวถึงกรณีพม่าและเกาหลีเหนือกลับมาเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีต่อกันกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่พม่าและเกาหลีเหนืออาจต้องการเป็นพันธมิตรต่อต้านสหรัฐ


 


นายจ่อทู รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการทูตของพม่าเดินทางถึงกรุงเปียงยางเมืองหลวงของประเทศเกาหลีเหนือเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อพบปะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือแบบทวิภาคีของทั้งสองประเทศเป็นเวลา 4 วัน ด้านนายชานทุน นักการเมืองเก่าของพม่าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การที่นายจ่อทุนเยือนเกาหลีเหนือครั้งนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลพม่าต้องการที่จะหามิตรที่ต่อต้านสหรัฐเหมือนเช่นตน ซึ่งทั้งสองประเทศหยุดเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีนับตั้งแต่ปี 2526 หลังผู้ก่อการร้ายจากเกาหลีเหนือพยายามสังหารประธานาธิบดีชานดูวอนของเกาหลีใต้แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ขณะที่ประธานาธิบดีชานดูวอนเยือนกรุงย่างกุ้งในขณะนั้น


 


นอกจากนี้พลเอกอาวุโสตานฉ่วยยังได้ส่งสารแสดงความยินดีไปยังประธานาธิบดี คิม จอง อิล เพื่อร่วมแสดงความยินดีวันครบรอบที่เกาหลีเหนือปกครองประเทศในระบอบคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา นายชานทุนกล่าวอีกว่า ประชาชนในพม่าคงไม่ได้รับผลประโยชน์มากนักในด้านเศรษฐกิจในการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับเกาหลีเหนือ แต่รัฐบาลพม่าจะได้รับประโยชน์ด้านเทคโนโลยีในการผลิตนิวเคลียร์และอาวุธสงครามอย่างแน่นอน


 


เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าน้าที่ของเกาหลีเหนือได้เยือนกรุงย่างกุ้งเพื่อหาสถานที่สำหรับจัดสร้างสถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงย่างกุ้ง นอกจากนี้มีการรายงานแต่ไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนว่า เกาหลีเหนือได้เผยแพร่เทคโนโลยีขีปนาวุธให้กับพม่า โดยรัฐบาลพม่าเองได้ปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยเมื่อต้นปีนี้รัฐบาลพม่าประกาศว่ามีแผนที่จะสร้างโครงการค้นคว้าวิจัยเรื่องนิวเคลียร์โดยมีรัสเซียให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้


 


ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า พื้นที่สำหรับสร้างโครงการวิจัยนิวเคลียร์ของรัฐบาลพม่า คาดว่าจะตั้งอยู่ทางภาคกลางของพื้นที่ที่ใกล้กับจังหวัดเมเมี้ยวหรือที่รู้จักกันในชื่อปิ่น อู ละวินน(Pyin U Lwin) ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือจากภาคมัณฑะเลย์ประมาณ 68 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2548 นางคอนโดลิซ่า ไรท์ ได้ตั้งฉายารัฐบาลพม่าและรัฐบาลเกาหลีเหนือว่าเป็นรัฐบาลทรราช และการประชุมเอเปคในกรุงซิดนีย์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เองได้เรียกการกระทำของรัฐบาลพม่าที่ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่ประท้วงอย่างสันติในกรุงย่างกุ้งและต่างจังหวัดว่าเป็นพฤติกรรมของทรราชด้วยเช่นกัน 


 


 


จีนชี้ต้องการเห็นสถานการณ์ในพม่าสู่ปกติ


สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวในระหว่างที่มีการประชุมเอเปคว่า จีนเองต้องการที่จะเห็นสถานการณ์ในพม่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติและนำประเทศไปสู่การพัฒนา ขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญของพม่าอย่างจีนหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปแทรกแซงเรื่องภายในของประเทศอื่น 


 


อย่างไรก็ตาม นายหลิว เจียนเฉา โฆษกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าว่า  จีนรู้สึกยินดีถ้าหากนานาชาติพยายามช่วยให้เกิดความมั่นคงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในพม่า แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือในระยะยาวด้วยการจัดสร้างทัศนคติบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และจีนหวังที่จะเห็นสถานการณ์ในพม่ากลับมาดีดังเดิมพร้อมกับมีการพัฒนาสู่ในทิศทางที่ดีขึ้น เขากล่าวในระหว่างการประชุมเอเปคที่กรุงซิดนีย์


 


นอกจากนี้เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า จีนยินดีที่จะเป็นตัวประสานและร่วมพบปะหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงประเทศสหรัฐเองก็ตาม และดูเหมือนว่ารัฐบาลพม่าเองจะทดสอบความอดทนของจีน เนื่องจากเมื่อต้นปีนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเองก็กล่าวว่า เมืองหลวงใหม่ของพม่าอยู่ในพื้นที่ชนบทเกินไป อีกทั้งยังถูกแยกไว้โดดๆ และอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง  เขากล่าวอีกว่า พม่าเองไม่ได้เข้าร่วมการประชุมที่ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา จัดขึ้นเมื่อหลายวันก่อนรวมถึงผู้นำสหรัฐด้วย


 


ขณะที่ทางสหรัฐดำเนินการคว่ำบาตรเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า แต่ประเทศผู้หิวโหยพลังงานอย่างจีนกลับเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีและร่วมค้าขายกับประเทศพม่า เพื่อต้องการก๊าซและพลังงานอื่นๆไปใช้ในประเทศ เช่นไม้ชนิดต่างๆ ในพม่า ด้านนายหลิว เจียนเฉา กล่าวย้ำความสัมพันธ์จีนรัฐบาลพม่าแน่นแฟ้น  


 


 


สั่งปิด 19 ท่าเรือควบคุมแรงงานอพยพข้ามแดน ป้องกันสร้างปัญหาความมั่นคงก่ออาชญากรรมร้ายแรง


พ.ต.อ.ทัศวัฒน์ บุญญาวัฒน์ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองตาก (ด่านแม่สอด) กล่าวว่าตั้งแต่วันที่  20 ก.ย.50 เป็นต้นไป ฝ่ายปกครอง จ.ตาก และด่าน ตม.ตาก จะปิดจุดผ่อนผันการข้ามแดนตามช่องทางท่าเรือขนส่งสินค้าริมแม่น้ำเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้ง 19 แห่งตลอดชายแดนไทย-พม่า แม่สอด-เมียวดี โดยจะไม่ออกบัตรข้ามแดนให้บุคคลที่จะข้ามแดนทางช่องทางท่าเรือ แต่จะอนุญาตให้ทำบัตรผ่านแดนและเข้า-ออก ช่องทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่าเพียงแห่งเดียว ตามมติที่ประชุมการจัดระเบียบชุมชนเพื่อให้เกิดความมั่นคงกับประชาชนคนไทยตามแนวชายแดน เพราะต้องการควบคุมและตรวจสอบบุคคลต่างด้าวที่เข้า-ออกในประเทศ ลักลอบไปขายแรงงานในพื้นที่ชั้นใน


 


ที่ผ่านมาเมื่อปี 2540 ได้มีการผ่อนผันให้เปิดช่องทางเข้า-ออกชายแดนตามท่าเรือ เพื่อให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่งได้เดินทางไปมาหาสู่กัน เพราะพม่าปิดชายแดนไม่ให้ข้ามสะพานมิตรภาพ ฝ่ายไทยจึงเปิดท่าเรือ เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติมีการข้ามแดนอย่างถูกต้องทางด่านถาวร สะพานมิตรภาพไทย-พม่า จึงต้องปิดการข้ามแดนในจุดอื่นๆ เช่น ท่าเรือ อย่างไรก็ตาม หากมีการข้ามแดนมาอย่างถูกต้องทางสะพานมิตรภาพฯ ประชาชนก็สามารถไปทำธุรกิจหรือประกอบกิจกรรมตามช่องทางอื่นๆ ได้ปกติ


 


นายสุชาติ สุวรรณกาศ นายอำเภอแม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้สั่งปิดไม่ให้มีการทำบัตรผ่านแดนข้ามทางท่าเรือตามข้อเสนอของ ตม.ตาก และมติที่ประชุมคณะกรรมการการจัดระเบียบชุมชนชายแดน โดยอนุญาตให้ข้ามแดนได้เฉพาะช่องทางสะพานมิตรภาพฯเท่านั้น เป็นการให้ความร่วมมือกับฝ่ายพม่าที่ต้องการควบคุมการเก็บภาษีสินค้า ที่สำคัญคือการป้องกันปัญหาความมั่นคงและการก่ออาชญากรรมข้ามแดน ที่จะสามารถควบคุมได้และตรวจสอบได้รวดเร็ว แก้ไขปัญหาได้ฉับไว เนื่องจากการข้ามแดนทางช่องทางที่ถูกต้องนั้นทั้งฝ่ายไทยและพม่าจะควบคุมเอกสาร การพิมพ์ลายนิ้วมือ-ถ่ายรูป หากบุคคลใดข้ามแดนแล้วไม่กลับก็จะติดตามกลับได้ตามเอกสารหลักฐานที่ขอข้ามแดน


 


ฝ่ายปกครองยืนยันว่าการปิดท่าเรือไม่ให้มีการข้ามแดนของบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับการทำการค้าขายชายแดน โดยพ่อค้าสามารถทำการค้าได้อย่างปกติทางสะพานมิตรภาพฯ หรือเมื่อข้ามแดนมาแล้วก็สามารถไปติดต่อการค้าช่องทางท่าเรือก็ได้ และจะไม่กระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจตามท่าเรือขนส่งสินค้า


 


นายเสรี  ไทยจงรักษ์ นายด่านศุลกากรแม่สอด กล่าวว่า ด่านศุลกากรมีนโยบายส่งเสริมการค้าชายแดน ส่วนเรื่องการปิดท่าเรือและไม่ทำบัตรผ่านแดนช่องทางท่าเรือนั้น ด่านศุลกากรไม่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของฝ่ายปกครองและ ตม. การปิดท่าเรือเป็นเรื่องของการปิดเฉพาะห้ามบุคคลข้ามแดนในช่องทางท่าเรือสินค้าเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าปิดด่านหรือปิดเส้นทางการค้าสินค้าข้ามแดน


 


แต่นายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กลับกล่าวตรงกันข้ามว่า การปิดท่าเรือจะกระทบต่อการค้าชายแดนโดยตรงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะตัวเลขการส่งสินค้าจะลดลงอย่างมาก


 


ในส่วนของภาคเอกชนก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลปัญหาความเป็นอยู่และความเดือดร้อนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้วย การปิดท่าเรือ โดยอ้างว่าป้องกันแรงงานอพยพ เป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะไปเพิ่มความเข้มงวดเส้นทางการคมนาคมมากกว่า โดยเฉพาะการเพิ่มความเข้มงวดตามจุดตรวจแนวชายแดนและบนเส้นทางหลักให้จริงจัง


 


การปิดช่องทางทางน้ำจะเกิดผลกระทบ ทางการค้าและเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชาวบ้าน 2 ฝั่งริมแม่น้ำเมย ที่ในอดีตกว่า 40-50 ปี ก่อน ทำการค้าระหว่างไทย-พม่า ตามรูปแบบชาวบ้านท้องถิ่น 2 ฝั่งเมย หากปิดท่าเรือก็เท่ากับปิดกั้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน ซึ่งในเรื่องนี้ทางหอการค้าจังหวัดตาก จะดำเนินการช่วยเหลือประชาชนและพ่อค้าที่เดือดร้อนจากการปิดท่าเรือ หากได้รับการร้องขอและประสานกับภาครัฐ เพื่อหาทางออกให้ชาวบ้านและพ่อค้าต่อไป


 


(ไทยโพสต์,ผู้จัดการ วันที่ 11-12/09/2550)


 


 


คนไร้สัญชาติทางเหนือ-อีสาน วอนขอสัญชาติไทย อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารในปีมหามงคล เพื่อให้ได้เป็นคนไทยเต็มภาคภูมิ


เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา 2 มีเวทีรับฟังข้อเสนอแนะของภาคประชาชน และภาควิชาการในการจัดการปัญหาไร้สถานะ และสิทธิบุคคลในประเทศไทย : กรณีคนไทยพลัดถิ่น ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิบุคคลในประเทศไทย สภานิติบัญญัติ (สนช.) โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช. เป็นประธาน เวทีเสวนาประกอบไปด้วยผู้แทนหลายฝ่าย อาทิ สนช., สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนคนเชื้อสายไทยจากเกาะกง และจากมะริด


 


นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย ผู้แทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขสถานะของบุคคลในปัจจุบันว่า ภาครัฐกำลังดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี 10 ม.ค. 2548 ตามการเสนอของกระทรวงมหาดไทย โดย 1. การสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตน สำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียน ราษฎร และ 2. เร่งรัดให้สถานะตามกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการสำรวจและรับคำร้องจากผู้ไร้สัญชาติอยู่ "ยอมรับว่ามีขั้นตอนการดำเนินการค่อนข้างมากและซับซ้อน จึงเกิดความล่าช้าในการปฏิบัติ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน ความเข้มงวดในการพิสูจน์ตัวบุคคลของแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดก็แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาคนอื่นที่ไม่ใช่เชื้อชาติไทยเข้ามาปะปนด้วย รวมทั้งปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ"


 


ด้านนายฉัตรชัย บางชวด ผู้แทนจาก สมช. กล่าวยอมรับว่าการดำเนินการภาครัฐมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการทุจริต การขาดความรับผิด-รับชอบ ทำให้เรื่องนี้ยืดเยื้อ อย่างไรก็ดีต้องการจะขอร้องให้ภาคประชาชนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ช่วยแยกแยะว่าใครเป็นใคร อยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะจะทำให้คนเชื้อสายไทยไม่เสียเวลา ไม่เสียโอกาส


 


ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช. กล่าวว่า ข้อมูลที่ถูกนำเสนอบนเวทีวันนี้เป็นประโยชน์มาก ทำให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงจากเจ้าของปัญหาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะรวบรวมเป็นรายงานเพื่อนำเสนอในที่ประชุมสนช.และคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยทิ้งท้ายด้วยว่าปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติ เป็นเรื่องที่นิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว 


 


อีกด้านการสำรวจพื้นที่ต่างๆ ที่มีคนไร้สัญชาติอาศัยอยู่จำนวนมากเริ่มที่ จ.เชียงใหม่ นายวิชัย ศรีขวัญ ผวจ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าสำหรับเรื่องของคนไร้สัญชาติ หรือไม่ได้รับสัญชาติไทยในพื้นที่ของตนนั้น มั่นใจว่าทางอำเภอได้ดำเนินการออกตรวจสอบและจัดการเรื่องสัญชาติหมดแล้ว หากใครมาแจ้งแล้วบอกว่าไม่ได้สัญชาติไทย ก็ต้องขึ้นอยู่กับเรื่องของระเบียบที่ระบุไว้ว่าเข้าตามกฎระเบียบหรือไม่ หากอยู่ในกฎระเบียบทุกอย่างก็ไม่น่าจะไม่ได้รับสัญชาติไทย เพราะคนไทยยังไงก็ได้รับสัญชาติไทยอย่างแน่นอน 


 


ที่ จ.ตาก นายสุชาติ สุวรรณกาศ นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เปิดเผยเกี่ยวกับคนไทยเชื้อชาติไทย สัญชาติพม่าว่า ในพื้นที่อำเภอแม่สอดมี 9 ตำบล มี 7 ตำบลที่มีคนไทยเชื้อชาติไทยสัญชาติพม่า กระจายอาศัยอยู่ สำหรับผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เชื้อสายไทยมียอดรวมชาย-หญิง 3,250 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ทางอำเภอได้รับคำร้องขอสัญชาติไทยมานานแล้วตามมติ ครม. พ.ศ. 2540 การดำเนินการผ่านไปจนถึงขั้นตอนสาบานตนไปแล้ว แต่เรื่องก็ยังเงียบอยู่ อย่างไรก็ตามข่าวผลักดันให้บุคคลไร้สัญชาติได้รับสัญชาติไทยก่อนรัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระนั้น ตนรู้สึกดีใจกับชาวบ้านเพราะจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าในเรื่องการศึกษาของบุตรหลานและสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับตามกฎหมาย


 


ด้านนายสวน กุนามา และนางทา กุนามา อายุ 70 ปีเท่ากัน อยู่บ้านเลขที่ 221 หมู่ที่ 15 ต.แม่กาษา อ.แม่สอด กล่าวว่า ได้อพยพครอบครัวจากบ้านห้วยส้าน จังหวัดเมียวดี กลับมาอาศัยอยู่เมืองไทยเป็นเวลา 30 กว่าปีแล้ว มีบุตรรวม 4 คน ได้ยื่นเรื่องเกี่ยวกับการขอสัญชาติไทยมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังรออยู่ด้วยความหวังว่าเมื่อไรจะได้รับเสียที ตอนนี้ลูกเต้าก็โตกันหมดแล้ว มีหลาน 10 กว่าคน อยากให้เด็กๆ ได้มีโอกาสรับการศึกษาชั้นสูงเท่าเทียมคนอื่น เพราะจะได้มีการมีงานที่ดีทำและอยากเป็นคนไทยเต็มภาคภูมิเพื่อรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในปีมหามงคล  


 


ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี ที่บ้านดอนโจด ต.แมด อ.บุณฑริก ที่มี 102 หลังคาเรือน ขณะนี้พบว่ามีคนต่างด้าว 100% 24 ครอบครัว 176 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นคนลาวอพยพ แต่มีบัตรเขียวหรือบัตรประจำตัวคนต่างด้าว อีกส่วนถือบัตร ทร. 28/1 ซึ่งเป็นบัตรอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ด้าน นายแห้ว ไชยสิง อายุ 63 ปี อยู่ 152 บ้านดอนโจด ซึ่งถือบัตรเขียว กล่าวว่า ตนเข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2518 สมัย สปป.ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พบปัญหาเรื่องสิทธิต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล ต้องเสียเงินเต็มร้อย อาชีพโดยทั่วไปก็รับจ้างรายวัน ไปทำงานที่ต่างอำเภอ ต่างจังหวัดก็ไม่ได้ ดังนั้นหนุ่มสาวในหมู่บ้านเลยต้องหาทางออกด้วยการหลบหนีไปรับจ้างทำงานที่ กทม. บ่อยครั้งที่ถูกจับกุมจะถูกส่งกลับ สปป.ลาว ทางด่านช่องเม็ก และทางญาติก็จะพาผู้ใหญ่บ้านไปรับรองและไถ่ตัวออกมา โดยต้องเสียค่าปรับขั้นต่ำที่ 5,000 บาท "ชาวบ้านขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารในปีมหามงคล ขอได้ชุบชีวิตให้มีสิทธิแม้เพียงครึ่งหนึ่งของคนไทย" 


 


ที่ จ.นครพนม นายบุญสนอง บุญมี ผวจ.นครพนม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ให้สัญชาติกับลูกหลานชาวเวียดนามที่เกิดในไทยไปแล้ว 239 คน ยังเหลืออีก 52 คน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงฯ และมีชาว เวียดนามอพยพ 627 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และไม่ประสงค์จะขอสัญชาติไทย และมีชาวเวียดนามต่างด้าว (รุ่นพ่อแม่) 643 คน บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มเด็กนักเรียน 193 คน ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บุคคลตกสำรวจ แจ้งเกิดเกินกำหนด) 207 คน ซึ่งมีสิทธิจะได้สัญชาติไทย อยู่ระหว่างขั้นตอนสอบสวน อย่างไรก็ตามหากกฎหมายสัญชาติฯ ฉบับนี้ออกมาได้จะแก้ปัญหาเด็กเกิดมาไม่มีสัญชาติ ซึ่งเป็นลูกหลานชาวเวียดนามเก่าที่เกิดในเมืองไทย ทุกคนอยากมีสัญชาติไทยจะได้ไม่เสียโอกาสในการเรียน การทำมาหากิน รับสิทธิประโยชน์ต่างๆได้ตามกฎหมาย ส่วนปัญหาความมั่นคงนั้นแทบไม่พบในพื้นที่แล้ว


 


(เดลินิวส์ วันที่ 11/09/2550)


 


 


ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงชนะคดีฟ้องตำรวจ


เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ตัดสินคดีที่น่าสนใจ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแพ้คดี ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้หญิงชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงกว่า 8 แสนบาท


 


คดีนี้สืบเนื่องจากเย็นวันที่ 16 ธ.ค. 46 นายชาญ พะคะ ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อายุ 20 ปี เมาเหล้าแล้วใช้มีดไล่ทำร้ายชาวบ้านในหมู่ 1 ต.เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ตำรวจจับไปดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและพยายามทำร้ายผู้อื่นขังไว้ที่โรงพัก หลังจากนั้นญาติไปประกันตัว ตำรวจอ้างว่าเป็นลมถูกส่งไปรักษาที่ รพ.เวียงแหง ไปถึงนายชาญเสียชีวิตแล้ว มือถูกล็อกกุญแจมือติดกับเตียงคนไข้ คอมีรอยถลอกคล้ายถูกรัด


 


ตำรวจปฏิเสธว่าไม่ได้ทำร้าย อ้างว่านายชาญฆ่าตัวตายด้วยการใช้สายรัดขอบกางเกงแขวนคอตัวเองในห้องขัง ญาติข้องใจเพราะนายชาญไม่มีท่าทีว่าจะฆ่าตัวตาย จึงขอให้ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ตรวจพิสูจน์ พบบาดแผลฉีกขาดตามลำตัวหลายแห่ง มีรอยคล้ายถูกจี้ด้วยบุหรี่ที่หัวหน่าวและสะโพก เสียชีวิตจากการแขวนคอ


 


นางเกตุ พะคะ วัย 44 ปี แม่ของนายชาญจึงยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท ศาลพิจารณาแล้ว มีคำพิพากษาว่านายชาญเสียชีวิตจากการแขวนคอ แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่านายชาญเสียชีวิตเพราะถูกตำรวจทำร้าย จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้


 


ขณะเดียวกันศาลเห็นว่าคดีนี้ตำรวจละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ การตายของนายชาญอยู่ในระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัว จึงไม่ได้วิเคราะห์ว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย เพราะพยานหลักฐานไม่ชัด


 


ศาลจึงวินิจฉัยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายให้นางเกตุ เป็นเงิน 692,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง รวมกว่า 8 แสนบาท โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วัน


 


 


(ไทยรัฐ วันที่ 12/09/2550)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net