1 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สังคมไทยเรียนรู้อะไร?

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ก่อนครบ 1 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สังคมไทยได้เรียนรู้อะไร?" เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ดำเนินรายการ

 

 

"ระบอบอุปถัมภ์คืออุปสรรคต่อการเดินหน้าระบอบประชาธิปไตย

และการสร้างระบบสังคมที่เป็นธรรม"

 

 

จอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. กล่าวว่า 11 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เขาเรียนรู้มี 4 ข้อ คือ หนึ่ง ความขัดแย้งที่ฝ่ายภาคประชาชนเคยมีกับรัฐบาลทักษิณ กับความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว ในปัจจุบัน เป็นคนละเรื่อง

 

ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น องค์กรภาคประชาชนจำนวนมากต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณในหลายประเด็น ได้แก่ การที่รัฐบาลทักษิณพยายามควบคุมสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพสื่อมวลชน หรือพื้นที่เปิดรับฟังความเห็นของประชาชน โดยใช้อิทธิพลและสื่อของรัฐ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ที่องค์กรรัฐภายใต้รัฐบาลทักษิณฆ่าประชาชนจำนวนมาก กรณีกรือเซะ ตากใบ การสังหารทีมฟุตบอลสะบ้าย้อย การใช้นโยบายยาเสพติดเปิดไฟเขียวให้ตำรวจฆ่าประชาชน จนกระทั่งกรณีสงครามยาเสพติด ที่ประชาชนซึ่งถูกสังหารกว่า 2,000 รายไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความจริง การใช้อำนาจเข้าครอบงำระบบรัฐสภาอย่างผิดกฎหมาย เช่น เอาคนของตัวเองเข้าไปในองค์กรอิสระ ทำลายระบบตรวจสอบตัวเองทั้งหมด

 

นี่คือตัวอย่างของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มีคะแนนเสียงท่วมท้น สามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างมาก แต่กลับอาศัยคะแนนเสียง อำนาจอิทธิพลสร้างฐานอำนาจของตัวเอง ลดพื้นที่รับฟังความเห็นภาคประชาชน ถึงขั้นผลักดันนโยบายจำนวนมาก โดยไม่สนใจว่า ประชาชนจะรับได้หรือไม่ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้า การผลักมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ดังนั้น รัฐบาลทักษิณจึงไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐบาลที่อยู่ได้ด้วยระบอบประชาธิปไตย

 

ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารที่เกิดขึ้น แม้ด้านหนึ่งโล่งใจที่รัฐบาลทักษิณหมดไป แต่ก็ไม่คิดว่าจะชอบการหมดไปด้วยวิธีการรัฐประหาร เพราะเชื่อมาตลอดว่า รัฐบาลทักษิณสามารถล้มได้ด้วยพลังภาคประชาชน ด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย การต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 เหตุการณ์ พ.ค. 35 มันพิสูจน์แล้วว่าพลังภาคประชาชนสามารถแก้วิกฤตในสังคมได้

 

แต่ปัจจุบัน ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นความขัดแย้งของ 2 ยักษ์ใหญ่ ระหว่างอิทธิพลของรัฐบาลทักษิณและกลุ่มคนที่อยู่ใต้อาณัติอุปถัมภ์ของรัฐบาลทักษิณ กับกลุ่มคนที่อยู่ใต้อาณัติอุปถัมภ์ของ คมช. เป็นการต่อสู้ที่จะยืดเยื้อ ไม่จบตอนเลือกตั้ง จะมีต่อไป แนวโน้มอาจจะต้องเกิดรัฐประหารอีกต่อไป โดยเฉพาะถ้าฝ่าย คมช. เสียเปรียบจากผลการเลือกตั้ง ความขัดแย้งนี้มีเดิมพันสูงมาก เพราะถ้าฝ่ายทักษิณแพ้ จะถูกเสียทรัพย์สิน แต่หาก คมช.แพ้ จะถูกเล่นงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความขัดแย้งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อการสร้างประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ทำให้เราต้องเผชิญกับรัฐบาลอ่อนแอ และความเสี่ยงในการเกิดรัฐประหารอีก

 

สอง ไม่ว่าทักษิณหรือ คมช. ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน โดยสิ่งที่เครือข่ายประชาชนติรัฐบาลทักษิณนั้น คมช. ก็ทำ แต่ต่างวิธีการ เช่น เสรีภาพของสื่อมวลชน ทักษิณใช้ระบบอุปถัมภ์ อำนาจ และอิทธิพล ส่วน คมช. ใช้การออกกฎหมาย โดยสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ควบคุมอำนาจประชาชนในระยะยาว มีกฎหมายลิดรอนสิทธิหลายฉบับ โดยรวมทั้งสองขั้วมีความอันตรายทั้งคู่

 

สาม ระบอบอุปถัมภ์คืออุปสรรคต่อการเดินหน้าระบอบประชาธิปไตยและการสร้างระบบสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งทั้งทักษิณและคมช. ต่างก็ใช้ระบอบอุปถัมภ์ ควบคุมให้ประชาชนต้องมีสังกัด ทักษิณเข้าคุมระบบราชการ คมช.ก็เช่นกัน เพื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการลงโทษผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผลประชามติไม่รับร่างฯ

 

สี่ เครือข่ายภาคประชาชนต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องหลุดจากระบบอุปถัมภ์ ไม่ใช่ว่าเจรจาต่อรองกับ คมช.ไม่ได้ ทำได้โดยเสมอภาคเหมือนที่ทำกับทุกรัฐบาล สามารถเสนอความคิดเห็นต่อผู้มีอำนาจ ผลักดันได้ แต่ต้องไม่เข้าไปอยู่ในระบอบอุปถัมภ์

 

ทั้งนี้ จอนเชื่อว่าพลังภาคประชาชนสามารถมีบทบาทได้ รัฐบาลทักษิณ แปรรูปการไฟฟ้าไม่ได้ เพราะภาคประชาชนเข้มแข็ง คมช.จะเอา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ เข้า ก็ไม่ง่าย แม้ภาคประชาชนจะกำหนดทิศทางไม่ได้แต่ต่อสู้กับความอยุติธรรมได้ ผลักดันได้ เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าไม่มีความหวัง

 

 

"แม้ว่าอาจเข้าใจได้ว่า แกนนำบางคนของคณะรัฐประหารมีคุณธรรม

หรือเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง

แต่ไม่เคยเชื่อว่า ใครจะดีได้ โดยไม่มีการตรวจสอบ"

 

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ขอแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเหมือนเดิมว่า ไม่เคยเห็นด้วยกับวิธีการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ทั้งนี้ เขาเห็นว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้น ส่งผลในด้านต่างๆ ดังนี้

 

หนึ่ง ด้านการเมือง การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมือง หากไม่ยึดมั่นในหลักการและครรลองของระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ความขัดแย้งซับซ้อนยุ่งยากขึ้น หลัง 19 กันยายน ความขัดแย้งเหมือนว่าจะจบ แต่ไม่ใช่ โดยกลับเป็นการกดปัญหาลง เนื่องจากเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล ที่ไม่ใช่แค่ไม่เอาทักษิณ เอา คมช. หรือเอา คมช. ไม่เอาทักษิณ ซึ่งจะเป็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในสังคมไทย โดยวิธีจัดการกับความขัดแย้งที่ดีที่สุดต้องอาศัยกระบวนการประชาธิปไตยและให้ประชาชนตัดสิน

 

สอง ด้านการต่างประเทศ รัฐประหาร 19 กันยา ได้ดึงปัญหาความขัดแย้งในประเทศไปสู่นานาชาติ เป็นการดึงประเทศอื่นมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนี่คือยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นภาวะไร้พรมแดน ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นค่านิยมร่วม การเลือกตั้ง และสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกยอมรับ เป็นสิ่งที่ใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงกิจการได้ แม้สังคมไทยแก้ได้เอง แต่วันนี้อาจเกิดสภาวะไม่มั่นใจว่า สังคมไทยจะสร้างความโปร่งใสได้หรือไม่ จึงเกิดกรณีอียูขอเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งขึ้น

 

สาม รัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งเป็นผลผลิตของรัฐประหาร 19 กันยา ดูเหมือนมีกระบวนการร่างที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย มีพิธีกรรมคล้ายว่าเป็นของประชาชน โดยมีการลงประชามติ แต่เนื้อหาหลายประเด็นไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยนัก กลับรอมชอมอำนาจระหว่างนักการเมืองกับอำมาตยาธิปไตย ที่เห็นได้ชัดคือ ที่มาของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง แสดงว่า ไม่เชื่อมั่นในพลังประชาชน ไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงคะแนนโดยพิจารณาอย่างรอบคอบ คิดว่าประชาชนซื้อได้ รวมทั้งระบบการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ จะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีประสิทธิภาพ จัดการอะไรไม่ได้ นักการเมืองจะแย่งเก้าอี้กัน ซึ่งทำให้ต่อไปจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก

 

สี่ เกิดนวัตกรรมทางการเมืองและวาทกรรมทางการเมืองใหม่ๆ เนื่องจากรัฐประหารเป็นสิ่งล้าสมัยที่ประชาคมโลกไม่ยอมรับ จึงพยายามทำให้คนรู้สึกว่า เป็นเผด็จการที่ไม่เหมือนเผด็จการ แม้ว่าอาจเข้าใจได้ว่า แกนนำบางคนของคณะรัฐประหารมีคุณธรรม หรือเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่เขาไม่เคยเชื่อว่า ใครจะดีได้ โดยไม่มีการตรวจสอบ

 

ห้า ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างนี้ อย่างน้อยที่สุด 10 ปี จึงจะคลี่คลาย โดยความขัดแย้งในขณะนี้ ไม่ใช่แค่ 2 ขั้วระหว่างอำนาจเก่ากับคมช. แต่ในขั้วเก่าที่ไปสร้างแนวร่วมกับขั้วใหม่ก็แตกกันเอง โดยความขัดแย้งจะชัดขึ้นหลังการแต่งตั้ง ผบ.ทบ. คนใหม่ อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งนี้เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น การที่การแต่งตั้งนี้มีความสำคัญ จึงทำให้เห็นว่าเพราะทหารมีอำนาจทางการเมือง

 

หก การกำหนดวันเลือกตั้งนั้น แม้ พล.อ.สุรยุทธ์อยากให้เลือกตั้งเร็ว แต่ขั้วอำนาจใน คมช. บางขั้วไม่อยากให้เลือกตั้งเร็ว เนื่องจากอยากให้มั่นใจว่าอำนาจเก่ากลับมาไม่ได้

 

เขากล่าวว่า รัฐประหารเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างยิ่ง แต่การปล่อยให้ทักษิณผูกขาดก็ไม่ดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีผลทันทีต่อเศรษฐกิจ เพราะรัฐประหารนั้นล้าสมัยในประชาคมโลก จะเห็นว่า รัฐบาลและเศรษฐกิจไทยถูกคว่ำบาตร ไม่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนในหลายเรื่อง รวมทั้งเกิดความชะงักงันในภาคลงทุนด้วย

 

รัฐประหารทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ในปี 2549-2550 ซึ่งเป็นปีทองของเศรษฐกิจเอเชียไป แต่ก็ถือว่าประเทศไทยโชคดีที่เกิดรัฐประหารในช่วงปีทองของเศรษฐกิจ จึงยังไม่เดือดร้อน เพราะตัวเลข GDP ขยายตัวได้ถึง 4% ทั้งนี้ หากเกิดการรัฐประหารในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในการลงทุนอย่างแน่นอน

 

รัฐประหาร 19 กันยายน อย่างน้อยที่สุด ทำให้สังคมไทยเชื่อว่า รัฐประหารเกิดขึ้นได้ตลอด ภูมิคุ้มกันรัฐประหารแบบไทยๆ อ่อนแอมาก น่าเสียใจที่ประเทศนี้ไม่ได้ปกครองโดยกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ตลอด ใครมีอำนาจก็กำหนดชะตากรรมบ้านเมือง ใครมีอำนาจสูงสุด ก็ชี้เป็นชี้ตายได้ ไม่มีนิติรัฐ นิติธรรม โดยหากยึดที่ตัวบุคคลไม่ยึดระบบ ปัญหาต่างๆ จะซับซ้อนและแก้ไขยากขึ้น

 

 

"คำถามที่ตามมา น่าจะคือต้องเกิดรัฐประหารอีกกี่ครั้ง

คนไทยจึงจะถึงบางอ้อว่า รัฐประหารแก้ปัญหาไม่ได้

และไม่ใช่คำตอบสำหรับประชาธิปไตยและสังคมไทย"

 

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าว นสพ.เดอะเนชั่น กล่าวว่า เนื่องจากหัวข้อเสวนาในวันนี้เป็นคำถาม จึงได้ขยายคำถามออกเป็นอีก 5 ข้อ คือ หนึ่ง มุมมองต่อรัฐประหารและบทบาททหารใน 1 ปีที่ผ่านมา เรียนรู้อะไร พบว่า ไม่มีการเรียนรู้เกินกรอบ เพราะกลุ่มที่สนับสนุนรัฐประหารก็ยังเอาทหาร กลุ่มที่ไม่เอารัฐประหารก็ยังต่อต้านเหมือนเดิม แต่ที่แน่ๆ คือ รัฐประหารและข่าวภารกิจรัฐประหารได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว สื่อก็มักถามว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้คนหรือสื่อกลับไม่โกรธแค้นและรับได้ที่สังคมไทยจะอยู่กับปัจจัยเสี่ยง กับอุบัติเหตุทางการเมือง วัฒนธรรมการใช้กำลังแบบทหาร ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติ

 

"คำถามที่ตามมา น่าจะคือต้องเกิดรัฐประหารอีกกี่ครั้ง คนไทยจึงจะถึงบางอ้อว่า รัฐประหารแก้ปัญหาไม่ได้และไม่ใช่คำตอบสำหรับประชาธิปไตยและสังคมไทย"

 

อีกแง่ สังคมยังไม่ตกผลึกว่า บทบาทของทหารคืออะไร หลังรัฐประหาร ทหารมีบทบาทหลายอย่าง ทั้งดูแลการจราจร และเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ด ทอท. และทีโอที ที่มากไปกว่านั้น คือ ข่าวเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ทบ. คนใหม่ ซึ่งกลายเป็นเรื่องหวาดเสียวสำหรับสังคมไทย ทำให้คนรุ่นเก่าๆ นึกไปถึงสมัยที่ทหารเป็นใหญ่ ที่การเปลี่ยน ผบ.ทบ. สำคัญมาก ทำให้เห็นว่า ทหารนำการเมือง และอาจนำสังคมด้วย

 

"แง่นี้ หากการแก้ปัญหาใดๆ ใช้กำลัง ก่อรัฐประหาร เป็นที่ยอมรับของชนชั้นกลาง ในแง่นี้ต่างกับการแก้ปัญหาโดยใช้กำลัง อย่างการฆ่าตัดตอนสงครามยาบ้าของคุณทักษิณอย่างไร"

 

สอง เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความคิดเรื่องสมานฉันท์ เขาเห็นว่า มุมมองเรื่องนี้มีปัญหา และเราไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ความคิดเรื่องนี้ถูกใช้โดยผู้มีอำนาจ ไม่ให้ความเห็นที่แตกต่างมีที่มีทางในสังคม คนที่สนับสนุนรัฐประหารเชื่อว่า รัฐประหารจะยุติความแตกแยก

 

"ขอถามว่า จะหนึ่งปีผ่านไป ความขัดแย้งยุติแล้วหรือไม่ และถ้าไม่ ทำไม"

 

คำตอบคงชัดเจนในคะแนนประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งมีเสียงไม่เห็นด้วยถึง 40% ของประเทศ

 

ถ้าสมานฉันท์คือการทำให้คนคิดเหมือนกัน ชอบคนเดียวกัน พรรคเดียวกัน สมานฉันท์ก็เท่ากับเผด็จการนั่นเอง

 

เขาเห็นว่า สิ่งที่น่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าคือ ทักษะการเรียนรู้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นฆ่าตัดตอนหรือการตัดตอนทางการเมืองโดยคณะรัฐประหาร ในแง่นี้ จึงมองว่า คำว่าสมานฉันท์ ที่ถูกใช้โดยผู้มีอำนาจไม่ต่างจากคำลวงโลกที่ถูกใช้โดยเผด็จการ เพื่อไม่ให้มีความต่างในทางการเมือง และด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะถูกใช้โดยเผด็จการในคราบชุดทหารนายพลหรือชุดสูทพันล้าน ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

 

ทั้งนี้เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของสังคมที่จะแตกต่างและแตกแยกได้ เพียงแต่ว่าจะจัดการอย่างไรเท่านั้น แต่สังคมที่คนถูกบังคับใหคิดเหมือนกันหมด ไม่ต่างจากแปลงพืชเดี่ยวที่แมลงลงทีก็ไปทั้งสังคม

 

สาม หลังรัฐประหาร สังคมเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนจนที่ถูกขนานนามว่า โง่เลือกทักษิณอย่างไร เรื่องคนจน โง่ ไร้การศึกษา และเลือกทักษิณ เป็นข้อกล่าวหาของชนชั้นกลางที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ตลอดจนผลประชามติรัฐธรรมนูญ

 

1 ปีผ่านไป คนชั้นกลางก็ยังคิดเหมือนเดิม ก็ยังใช้คำอธิบายเก่าอธิบายการลงประชามติ จึงไม่แปลกที่เกือบครึ่งของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 50 จะมาจากการแต่งตั้ง และกฎอัยการศึกก็มีท่าทีว่าคงจะยื้ออย่างที่สุด แม้ว่าสหรัฐฯ หรืออียู จะเรียกร้องให้ยกเลิกก็ตาม

 

ไม่มีการเรียนรู้ ชนชั้นกลางเหมือนไม่มีคำถามว่า เขาพยายามเลือกในตัวเลือกที่จำกัดจำเขี่ยไหม แล้วต่างอะไรกับชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาและนักธุรกิจอีกจำนวนมากที่รับรัฐธรรมนูญ เพราะอยากให้เลือกตั้งเร็ว เศรษฐกิจฟื้นตัว ถามว่าเป็นการมองระยะสั้นรึเปล่า แล้วใครคิดสั้นกว่า และใครเห็นแก่ตัวกว่ากัน

 

สี่ มุมมองต่อทักษิณเปลี่ยนไปหรือไม่ คนที่เกลียดก็ยังเกลียดเข้ากระดูกดำ ส่วนคนที่ชอบก็รักสุดสวาท ยังมองทักษิณเป็นขาวเป็นดำเหมือนเดิม และไม่พยายามยอมรับหรือมองพ้นกรอบ

 

ทั้งที่นี่เป็นครั้งแรก ที่แม้เกิดการโกงกัน แต่เป็นครั้งแรกที่คนจนในชนบท ตระหนักว่าคะแนนเสียงของตนเป็นพลังผลักดันการเมืองได้ระดับหนึ่ง และจากการโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จะเห็นว่าเสียงนี้แจ้งเกิดแล้ว และชนชั้นกลางที่มีการศึกษาต้องหันมาเรียนรู้เพื่อจะอยู่ร่วมกับคนเหล่านี้และหาทางออกให้สังคมอยู่ร่วมกันได้

 

ห้า มุมมองต่อที่ทางและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย เราเรียนรู้อะไรบ้าง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อตะวันตกพูดถึงบทบาทของสถาบันค่อนข้างมากหลังเกิดรัฐประหาร เพราะชื่อของ คปค. ซึ่งมีวลีว่า "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องมาตรา 7 แต่ความเห็นส่วนใหญ่ทุกวันนี้ต่อสถาบันกษัตริย์ที่ควรจะเป็น ต่อการเมืองและสังคมไทย ไม่สามารถเสนอพูดจาถกเถียงอย่างเปิดเผยได้ในสื่อกระแสหลัก ที่มีก็เป็นอย่างลับๆ ล่อๆ ในอินเทอร์เน็ต ล่าสุด ไฟแนนซ์เชียลไทมส์รายงานว่า มีคนไทยสองคนถูกจับเนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ภายใต้กฎหมายอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต โดยเลี่ยงไม่ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

 

สิ่งที่อยากถามคือ อีก 20 ปีผ่านไป ถ้ายังคงวัฒนธรรมเช่นนี้ไว้ หรือต้องการพึ่งสถาบันกษัตริย์ต่อไปแบบนี้ สังคมจะเป็นอย่างไร เพราะอีกด้านหนึ่งช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา คิดว่าสังคมถูกปลุกกระแสเชิดชูสถาบันหรือเหลืองนิยมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะฉะนั้น เรื่องนี้น่าเป็นห่วง เพราะคนที่อยากจะคิดอย่างเท่าทันหรือวิพากษ์วิจารณ์ก็คงจะได้แต่คิดในใจ อาจจะรู้บ้างไม่รู้บ้าง อย่างมากก็เอาไปซุบซิบนินทา

 

 

"ข้ออ้างในการทำรัฐประหาร 4 ข้อที่สพรั่ง กัลยาณมิตร บอกว่า ทำสำเร็จแล้วนั้น

ขอสรุปในทางตรงข้ามว่า ไม่มีข้อใดบรรลุ แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง"

 

 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ข้ออ้างในการทำรัฐประหาร 4 ข้อที่สพรั่ง กัลยาณมิตร บอกว่า ทำสำเร็จแล้วนั้น ขอสรุปในทางตรงข้ามว่า ไม่มีข้อใดบรรลุ แต่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

 

หนึ่ง ปัญหาความแตกแยกในสังคมยังแก้ไม่ได้ ความแตกแยกยังดำรงอยู่ ซึ่งไม่ใช่ความแตกแยกระหว่างฝ่ายอุปถัมภ์ทักษิณกับ คมช. แต่เป็นความแตกแยกระหว่างฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนรัฐประหาร เพราะรัฐประหาร เป็นการกระทำที่ล้าหลังและประชาชนไม่ยอมรับ

 

ความขัดแย้งต้องโดยให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม แต่กรณีการลงโทษพรรคไทยรักไทยด้วยการยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหาร 111 คน 5 ปี ไม่ใช่การลงโทษด้วยกฎหมายปกติ แต่ใช้ประกาศ คปค. เป็นฐาน ซึ่งเขาเห็นว่า ถ้าแน่จริงต้องสามารถใช้กฎหมายยุบพรรคได้โดยไม่ต้องอ้างประกาศ คปค. นอกจากนี้ การใช้กฎหมายย้อนหลังและการลงโทษเหมารวมทั้ง 111 คน โดยไม่ได้แจงความผิดรายคนในกรณีนี้ยังผิดหลักนิติธรรมสากลอีกด้วย ดังนั้น เมื่อกฎหมายไม่เป็นธรรมแล้ว จะยุติความขัดแย้งไม่ได้

 

สอง การแทรกแซงองค์กรอิสระของรัฐบาลทักษิณ ปัจจุบัน องค์กรอิสระถูกแทรกแซงควบคุมโดย คมช. มาจากการแต่งตั้ง โดย คมช. ในรัฐธรรมนูญ 50 ก็มีการกำหนดให้องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นโดย คมช. ทำงานต่อได้จนครบวาระแทบทุกองค์กร รวมทั้งมีการต่ออายุเกษียณราชการให้ศาล จึงมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กัน

 

สาม การทุจริตคอร์รัปชั่น จนป่านนี้ยังไม่เห็นเลยว่า จะใช้กฎหมายอะไรเล่นงานทักษิณในเรื่องทุจริตได้ ทั้งนี้ การประกาศยึดทรัพย์ทักษิณทั้งหมดนั้น ทำเป็นลืมไปว่า ข้อเรียกร้องก่อนหน้าที่เคยเรียกร้องต่อทักษิณคือ ทักษิณทำผิดจริยธรรม ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ถ้าคิดว่า ควรจะต้องเสียภาษี ก็ควรแก้กฎหมายว่าต้องเสียภาษี เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้เสมอหน้ากัน แต่การที่ไม่แก้ แปลว่ายอมรับว่าถูกต้องแล้วใช่หรือไม่ เช่นนี้แล้วจะเอาผิดตรงไหน

 

ทั้งนี้ เขามองว่า ส่วนที่อาจมีการโกงจริง ก็คือ แอมเพิลริช ที่มีการเอาเงินไปหมุนเวียน ซึ่งผิดอย่างมากก็ปรับหนึ่งถึงสองพันล้าน ไม่ใช่ทั้งหมด 73,000 ล้าน เนื่องจากที่ขายไป มีต้นทุนอยู่ด้วย

 

สี่ เรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาได้เล่นงานใครบ้างหรือไม่ มีใครหมิ่นฯ บ้างไหม สุธาชัยบอกว่า เห็นแต่ทหารที่ทำรัฐประหารที่แอบอ้างว่าเป็น คณะปฏิรูปการปกครอง... "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เช่นนี้ เป็นการแอบอ้างว่า under monarchy ไหม

 

นอกจากสิ่งที่แก้ไม่ได้ สุธาชัย ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่รัฐประหารทำได้คือ เศรษฐกิจเสียหายยับเยิน งบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีการขยายอัตรา การคงอัยการศึก ทั้งที่ประเทศไทยไม่มีเพื่อนบ้านเป็นศัตรู เป็นการประกาศโดยไม่มีศึก

 

รัฐธรรมนูญฉบับกลัวประชาชน เนื่องจากกลัวประชาชนมีอำนาจมากเกินไป จึงต้องถ่วงอำนาจ โดยกลัวแบบลักปิดลักเปิด คือ กลัวประชาชน แต่ก็ให้เป็นตรายาง โดยให้ลงประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นอำมาตยาธิปไตยที่สุดนับตั้งแต่ 2520 เป็นต้นมา ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ 6 ต.ค. 19 ไทยใช้รัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ 31 ปี ที่น่าตื่นเต้นคือ ฉบับปี 19 มีกรรมการร่าง 1 คนจาก 13 คน ชื่อมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งไล่ดูทั้ง 7 ฉบับล้วนมีนายมีชัย เข้ามาเกี่ยวข้องกับการร่างทั้งสิ้น

 

 

"คมช.จะบอกว่า เรื่องโผ บัญชีโยกย้ายทหารเป็นเรื่องของทหาร

รัฐบาลหรือนักการเมืองอย่ามายุ่ง ใครจะมารู้ดีเท่าทหาร

แล้วเรื่องบริหารประเทศ คมช.ไปยุ่งกับเขาทำไม"

 

 

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับจอนว่า ประชาชนสามารถกดดันรัฐบาลทักษิณได้โดยอาศัยพลังประชาชน ไม่จำเป็นต้องอาศัยรัฐประหาร ซึ่งเข้าใจว่า ถ้ามีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้แล้ว ถ้ารัฐบาลทักษิณชนะ จะไม่สามารถกระทำการแบบในรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 ได้ เพราะสังคมไทยได้เรียนรู้แล้ว แต่ก็มาสะดุดเมื่อมีรัฐประหาร ทำให้แทนที่จะก้าวหน้า ก็กลับถอยหลัง

 

อีกประเด็น เขามองว่า ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่ยกเลิกมาตรา 112 ในกฎหมายอาญา การแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ก็คงทำอะไรมากไม่ได้ ทั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสว่า พระองค์วิจารณ์ได้ แต่ทำไมทางการของไทยไม่คิดที่จะยกเลิกมาตรานี้เสีย

 

ทั้งนี้ ก่อนจะบอกว่า สังคมไทยเรียนรู้อะไร อยากจะบอกว่า สิ่งที่สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้ คือ การทำรัฐประหารไม่ได้แก้ปัญหาประเทศชาติ นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2489 โดยผิน ชุณหะวัณ ข้ออ้างทุกครั้งของรัฐประหารคือ บ้านเมืองเสื่อมโทรม มีการทุจริต มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนทุกวันนี้ ข้ออ้างก็ยังคงอยู่ ถ้าหากการรัฐประหารเป็นทางออกจริง ภัยต่างๆ ที่ว่าต้องยุติแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ยุติ สังคมควรจะเรียนรู้ได้แล้วว่ารัฐประหารไม่ใช่ทางออก 

 

อีกเรื่อง คือ การร่างรัฐธรรมนูญ ที่เรายังวนเวียนร่างกันอยู่ เมื่อรัฐประหารก็จะมีการร่างใหม่อยู่เรื่อยๆ จนฉบับปัจจุบันฉบับที่ 18 และต่อไปก็จะมีฉบับที่ 19-20 การร่างรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทุกเรื่อง เหมือนเป็นยาวิเศษ โดยผู้ร่างเข้าใจว่าเป็นทางออก ทั้งนี้ เขามองว่า ความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะรัฐธรรมนูญ เราร่างอย่างไรก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยอยู่นอกเหนือจากที่เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องอาศัยวัฒนธรรมของประชาธิปไตยซึ่งคือ การยอมรับเสียงข้างมาก เคารพเสียงข้างน้อย รับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ เคารพกฎหมาย ที่สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้เลย สิ่งเหล่านี้แก้ไม่ได้ด้วยการเขียนในรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญ 40 เขียนว่า ประชาชนต่อต้านรัฐประหารได้ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ หรือในประมวลจริยธรรมนักการเมืองของรัฐธรรมนูญ 50 เขียนไว้ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าบังคับใช้แล้วนักการเมืองจะสะอาดหมด ต้องอาศัยหลายอย่างเป็นชั่วอายุคน ซึ่งจะเกิดได้ด้วยการศึกษา แต่ก็ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนทุ่มให้กับตรงนี้ เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงต้องอดทนและรอคอย มันไม่มีทางลัด ไม่ใช่วิธีเอารถถังมา เพราะนั่นมันเป็นวิธีที่มักง่าย

 

อีกสิ่งที่ไม่ได้เรียนรู้ คือ ประชาคมระหว่างประเทศไม่เอารัฐประหาร เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความด้อยพัฒนา แต่น่าแปลกที่ผู้มีอำนาจและนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหารกลับไม่ตระหนักถึงความเสียหายเท่าที่ควร

 

ทั้งนี้ ประสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่เขาได้เรียนรู้คือ ความเป็นกลางไม่มีจริง ทั้งที่ควรคาดหวังความเป็นกลางได้จากสื่อ นักวิชาการ คตส. ไม่เว้นแม้แต่องคมนตรี ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า องคมนตรีมีหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อกษัตริย์ ซึ่งกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การแสดงความเห็นหรือวางตัวขององคมนตรี ต้องทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นแล้วจะกระเทือนถึงพระองค์ท่านได้

 

นอกจากนี้ เขามองว่า คุณธรรม จริยธรรม ไม่มีอยู่จริง โดยยกตัวอย่างว่า หากมีจริง คงไม่มีกรณีเรื่องที่ดินเขายายเที่ยง การสมรสซ้อน หรือการใช้บ้านหลวง และว่า การเป็นคนดี เป็นเรื่องของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ปลูกฝัง ไม่ใช่เรื่องของใครจะมาชี้นำ

 

หลักเรื่องความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร (Supremacy of civilian government) ซึ่งจะป้องกันการเกิดรัฐประหาร ไม่หยั่งรากลึกในสังคมไทย หลังเหตุการณ์ พ.ค. 35 ทหารกลับเข้ากรมกองเป็นทหารอาชีพ แต่พอหลังรัฐประหารจะเห็นว่า ทหารมีบทบาทมากขึ้น สื่อจับตาว่าใครจะมาเป็น ผบ.ทบ.

 

"คมช.จะบอกว่า เรื่องโผ บัญชีโยกย้ายทหารเป็นเรื่องของทหาร รัฐบาลหรือนักการเมืองอย่ามายุ่ง ใครจะมารู้ดีเท่าทหาร แล้วเรื่องบริหารประเทศ คมช.ไปยุ่งกับเขาทำไม"

 

นอกจากนี้ สิ่งที่เรียนรู้ คือ เนติบริกรเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากร่างคำสั่งต่างๆ ร่างได้เนียนขึ้น รวมถึงมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ 50 ที่นิรโทษกรรมการรัฐประหารล่วงหน้าไว้ด้วย รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่กลับไปสู่ยุคที่ให้อำนาจกับข้าราชการ โดยลดอำนาจนักการเมือง เช่น การกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐให้เป็นเจตจำนง ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถแข่งขันกันเรื่องนโยบายได้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว การร่างรัฐธรรมนูญนี้อาจแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว แต่สร้างปัญหาใหม่ตามมา

 

สุดท้าย สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความหมายของ constitutional monarchy หรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประสิทธิ์คิดว่า ถ้อยคำนี้มีความหมาย สังคมไทยต้องศึกษาทำความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจแล้วคงไม่เกิดการเรียกร้องมาตรา 7 ซึ่งเป็นความถอยหลัง แต่แน่นอนเมื่อเทียบกับรัฐประหาร รัฐประหารถอยหลังมากกว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องอภิปรายศึกษาความหมายของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท