Skip to main content
sharethis

 



พ่อหลวงจอนิ จอนิ โอ่โดเชา ประธานกรรมการจัดงานฯ ได้เป็นตัวแทนพี่น้องชนเผ่า
อ่านคำประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย


 


11 ก.ย. 50 วันสุดท้ายของงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีการสรุปยุทธศาสตร์และข้อเสนอของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนขบวนของภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของกลุ่มชนเผ่า


 


นายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ภาคีสากลชนเผ่าพื้นเมืองในป่าเขตร้อน เสนอว่า น่าจะมีเวทีพูดคุยในระดับนานาชาติ โดยควรมีการหาข้อมูล ติดตาม และให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งในเวทีระดับโลก สหประชาชาติก็มีเวทีถาวรชนเผ่าพื้นเมือง ที่จัดตั้งในปี 2543 อันเป็นกลไกที่ชนเผ่าทั่วโลกสามารถเข้าไปเสนอประเด็นปัญหาและเรียนรู้กับพี่น้องชนเผ่าทั่วโลก แต่บางครั้ง ปัญหาบางอย่างไม่สามารถถูกแก้ได้ในระดับพื้นที่ นายกิตติศักดิ์จึงเสนอว่า จะต้องหาพันธมิตรในระดับนานาชาติด้วย


 


ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา กลุ่มศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา เสนอว่า ที่หลายคนสะท้อนว่าภาครัฐไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจนั้น คิดว่าไม่ใช่ เพราะรัฐมีหลายหน่วยงาน และหลายหน่วยงานก็ให้การสนับสนุน เช่นงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองในครั้งนี้


 


ในประเด็นปัญหาชนเผ่านั้น มีปัญหาอะไรบ้าง เช่น วัฒนธรรม วิถีชีวิต องค์ความรู้ต่างๆ ของชนเผ่าเพื่อนำเข้าระบบการศึกษา เรื่องสิทธิ เรื่องการเข้าถึงสื่อ การเชื่อมกับเวทีสากล และสิทธิเด็กและสตรี เวทีระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เราจะเชื่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเราได้อย่างไร และการรวมการจัดตั้งกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเรา และเราเชื่อมกับหน่วยงานเหล่านี้ได้มากน้อย ขนาดไหน


 


นายประเสริฐ ตระการศุภกร เครือข่ายภูมิปัญญาพื้นบ้านและกลุ่ม ชาติพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัญหาของทุกกลุ่มคือ ชาวไทยภูเขาเป็นเหยื่อของมายาคติ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประเด็นเหล่านี้ คิดว่าทางรัฐเป็นผู้เริ่มต้น หรือเป็นผู้มัดปม ดังนั้นทางรัฐจะต้องเป็นผู้เริ่มแก้ปมเอง และสร้างกระบวนการในทัศนคติที่เป็นด้านบวกให้กับสาธารณชน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เป็นวาระแห่งชาติกับคำนิยามใหม่ และทำอย่างไรให้เครือข่ายมีความเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะการผลักดันในแต่ละประเด็น สิ่งแรกนั้น คือการสร้างภาพทัศนคติที่ดีต่อชาวเขาให้กับสาธารณชน


 


อ.ชูพินิจ เกษมณี สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(ศวท.) เสนอว่า ในการพูดถึงระดับนานาชาตินั้น คิดว่ามีเอกสารมากมายที่เอื้อประโยชน์แก่ชนเผ่าพื้นเมือง แต่ปัญหาคือเป็นภาษาต่างประเทศ ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนที่ทำงานกับชนเผ่าต้องมีหน้าที่ในการจัดแปลเอกสารและเอื้อกระบวนการเข้าถึงข้อมูลแก่ชนเผ่าพื้นเมืองอย่างแท้จริง ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐที่ลงภาคีต่อสหประชาชาติ แต่ยังไม่มีการดำเนินการ


 


รัฐต้องพัฒนากรอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างแท้จริงและมีกระบวนการขานรับ รวมถึงมีกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เนื่องจากการประกาศปีทศวรรษสากลระยะที่ 2 เป็นการประกาศโดยภาคีใหญ่ ซึ่งประเทศไทยก็ลงมติด้วย ดังนั้นประเทศไทยเองก็ต้องทำตาม


 


การระดมทุน ต้องเรียกร้องให้รัฐและองค์กรระหว่างประเทศให้การสนับสนุนให้พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในการทำกิจกรรม เช่น ประเทศไทยมีรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยว และส่วนใหญ่เกิดการวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง ดังนั้น รัฐควรจัดสรรอย่างน้อย 5% ของรายได้เป็นกองทุนให้แก่ชนเผ่าพื้นเมือง เป็นต้น


 


จากนั้นก่อนปิดงานพ่อหลวงจอนิ โอ่โดเชา ประธานกรรมการจัดงานฯ ได้เป็นตัวแทนพี่น้องชนเผ่า อ่านคำประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องในปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก ระยะที่ 2 อันเป็นการประกาศจัดตั้ง "เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิชนเผ่าจากนี้ต่อไป ..


 






 


คำประกาศเจตนารมณ์


เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เนื่องในปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก ระยะที่ 2


 


ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ปี 2548 - 2557 เป็นปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองระยะที่ 2 เพื่อรณรงค์ให้ประเทศภาคีสมาชิก รวมทั้งประเทศไทยได้กำหนดแผนนโยบายและกิจกรรมการณรงค์ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมืองในแต่ละประเทศ ตามปฏิญญาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั้น


 


คณะกรรมการจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มีโครงการจัดงาน "มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" ขึ้นในระหว่างวันที่ 5 - 11 กันยายน 2550 ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น พวกเราขอประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในโอกาสดังกล่าวดังนี้


 


1. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย กำหนดแผนเพื่อรองรับปฏิบัติตามเงื่อนไขปฏิญญาสากลและอนุสัญญาดังกล่าวขั้นต้น โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเร่งศึกษาเพื่อลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องแรงงานข้ามชาติและครอบครัว (ปี ค.ศ.1990) ปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ (การจ้างงานและประกอบอาชีพ ปี ค.ศ. 1958) โดยเร่งด่วน ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 82 ที่บัญญัติไว้ว่า "รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรี และความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ"


 


2. เราขอเรียกร้องต่อองค์การสหประชาชาติ ได้ดำเนินการสร้างกลไก เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกและในประเทศไทย รวมทั้งตรวจสอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม การจำกัดสิทธิการพัฒนาและการเข้าถึงบริการของรัฐ การกดขี่แรงงาน และกรณีอื่นอย่างเป็นรูปธรรม และเร่งผลักดันให้ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ลงนาม เร่งลงนามใน "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง" โดยเร็ว


 


3. เราประกาศว่า เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามประการข้างต้น สามารถปฏิบัติได้จริง เราประกาศจัดตั้ง "เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" เพื่อรณรงค์ ประสานงาน ติดตามตรวจสอบและผลักดันให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมในการดำรงชีพและรักษาวิถีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมที่เท่าเทียม สืบไป


 


ด้วยจิตสมานฉันท์และศรัทธาในทุกชีวิต วัฒนธรรม ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ชาติ ทุกเผ่าพันธุ์


ประกาศโดย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย


ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันอังคารที่ 11 กันยายน 2550


 


โดยชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย


เครือข่ายชนเผ่าลั๊วะ


เครือข่ายชนเผ่าปกาเกอะญอ


เครือข่ายชนเผ่าม้ง


เครือข่ายชนเผ่าเมี่ยน


เครือข่ายชนเผ่าลาหู่


เครือข่ายชนเผ่าลีซู


เครือข่ายชนเผ่าอาข่า


เครือข่ายชนเผ่าปะหล่อง


เครือข่ายชนเผ่าคะฉิ่น


เครือข่ายชนเผ่าไทยทรงดำ


เครือข่ายชนเผ่าชอง


เครือข่ายชนเผ่าไทลื้อ


เครือข่ายชนเผ่ายอง


เครือข่ายชนเผ่าไทใหญ่


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net