สำรวจ 4 อำเภอสงขลา : โปรดระวังกลุ่มป่วนใต้หนียุทธการกวาดล้างเข้าพื้นที่

"ยุทธการพิทักษ์แดนใต้" รวมทั้งแผนปฏิบัติการอื่นๆ ส่งผลให้มีการตรวจค้น ปิดล้อมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก


 

ถึงแม้ดูเหมือนจะทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในบางพื้นที่เบาบางลง

 

ทว่า จากปฏิบัติการกวาดล้างอันเข้มข้น กลับมีคำถามใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่ความรุนแรงจะกระจายออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะทะลักเข้าสู่พื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

 

ดังจะเห็นได้จากเหตุลอบวางระเบิดในรถจักรยานยนต์ บริเวณสี่แยกปกรณ์นาทวียานยนต์ ถนนแปลงประดิษฐ์ กลางตลาดเทศบาลตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เมื่อเวลา 17.20 ของวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย สาหัส 1 นาย ชาวบ้านบาดเจ็บอีก 9 คน

 

อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุร้ายหลายจุดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 3 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย

 

หากพิจารณาเหตุการณ์ความไม่สงบตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า อำเภอนาทวี เป็นอำเภอเดียวที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเพียง 3 เหตุการณ์ นับว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 3 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย

 

น้อยกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เสียอีก

 

เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในอำเภอนาทวี ทั้ง 3 เหตุการณ์ ได้แก่

 

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน2547 มีคนร้าย 2 คน ขับรถจักรยายนต์ใช้ปืนพกชนิดรีวอลเวอร์ ไม่ทราบขนาด ยิงนายสมพร ชนะกิจ อายุ 59 ปี ขณะขับรถยนต์กระบะ บนถนนสายนาทวี - สงขลา หมูที่ 2 ตำบลฉาง อำเภอนาทวี กระสุนถูกที่ลำตัวและศีรษะด้านขวา เสียชีวิต

 

อีกเหตุการณ์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2549 คนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธปืนลูกซองยิงนายวินิจ ประทุมอารุณ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77 หมู่ที่ 10 ตำบลสะท้อน อำเภอนาทวี กระสุนถูกบริเวณหลัง 2 นัด เสียชีวิตในสวนยางพารา หมู่ที่ 10 ตำบลสะท้อน อำเภอนาทวี

 

เหตุการณ์สุดท้าย คือ ลอบวางระเบิดในรถจักรยานยนต์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคน 2550

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในอำเภอนาทวี แต่มีคนนาทวีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย คือ เหตุการณ์ถล่มมัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 32 ศพ ด้วยเพราะหนึ่งในนั้น คือ อับดุลเลาะห์ หวังลี ชาวบ้านแห่งบ้านประกอบตก ตำบลประกอบตก อำเภอนาทวี ขณะเกิดเหตุเป็นนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดยะลา

 

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2547 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 พบว่า

 

อำเภอสะบ้าย้อย มีเหตุร้ายเกิดขึ้นทั้งหมด 69 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตที่นับถือศาสนาพุทธ 24 คน อิสลาม 35 คน โดยเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ เหตุโจมตีหน่วยบริการประชาชนตลาดสะบ้าย้อย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มีผู้เสียชีวิต 19 ศพ, มีผู้บาดเจ็บที่นับถือศาสนาพุทธ 10 คน อิสลามอีก 26 คน

 

อำเภอเทพา มีเหตุร้ายเกิดขึ้น 74 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตที่นับถือศาสนาพุทธ 16 คน อิสลาม 6 คน ผู้บาดเจ็บที่นับถือศาสนาพุทธ 13 คน อิสลามอีก 4 คน

 

อำเภอจะนะ มีเหตุร้ายเกิดขึ้น 33 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตที่นับถือศาสนาพุทธ 15 คน อิสลาม 2 คน ผู้บาดเจ็บที่นับถือศาสนาพุทธ 17 คน อิสลามอีก 3 คน

 

ส่วนอำเภอหาดใหญ่ มีลอบวางระเบิดเกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2547 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2550 และครั้งที่สามเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2550 มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน

 

หากเทียบจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามกับศาสนาพุทธในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาแล้ว จะพบว่าอำเภอนาทวีมีสัดส่วนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามน้อยกว่าผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีหมู่บ้านมุสลิม 30 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 95 หมู่บ้าน หรือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีหลายหมู่บ้านที่มีการผสมผสานกันระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาพุทธกับอิสลาม

 

อำเภอจะนะ มีทั้งหมด 139 หมู่บ้าน มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ อำเภอเทพามีทั้งหมด 67 หมู่บ้าน มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับอำเภอสะบ้าย้อย มีทั้งหมด 62 หมู่บ้าน มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน

 

จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาบางส่วน ขณะที่คนใน 4 อำเภอนี้บางส่วน ได้อพยพออกจากพื้นที่ด้วยเช่นกัน

 

คำถามก็คือว่า ท่ามกลางการปราบปรามขบวนการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างหนักอยู่ในขณะนี้ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่กลุ่มก่อความไม่สงบจะเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลามากขึ้น และจะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ในพื้นที่นี้

 

พ.อ.ประยงค์ กล้าหาญ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 4 รับผิดชอบดูแล 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งเพิ่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 เชื่อว่า ไม่น่าจะทะลักเข้ามา เนื่องจากถูกปราบปรามอย่างหนัก

 

พ.อ.ประยงค์ บอกว่า กองกำลังอาร์เคเค ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้วิธีหมุนเวียนกันก่อเหตุในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในอำเภอสะบ้าย้อย ก็จะมีกลุ่มอาร์เคเคจากอำเภอยะหา จังหวัดยะลา และจากจังหวัดปัตตานี เข้ามาก่อเหตุ โดยมีกลุ่มอาร์เคเคหรือแนวร่วมในพื้นที่คอยอำนวยความสะดวก เช่น ชี้เป้า ให้ที่พักพิง ขณะที่กลุ่มอาร์เคเคในสะบ้าย้อยก็จะไปก่อเหตุที่อื่น แล้วกลับมากบดานในพื้นที่

 

ด้วยวิธีนี้ ถึงแม้ในอำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา จังหวัดยะลา จะมีการควบคุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้จำนวนมาก ไม่ว่าระดับแนวร่วมหรือผู้ก่อเหตุ ก็จะมีกำลังหมุนเวียนเข้ามาแทนที่ตลอด ขณะที่จำนวนผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้มากอย่างที่คิด ถ้าเทียบกับกำลังที่ผู้ก่อความไม่สงบมีอยู่ เป็นเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้น

 

พ.อ.ประยงค์ ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 12 รับผิดชอบอำเภอบันนังสตา อำเภอธารโตและอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา บอกด้วยว่า แม้หลังจากควบคุมตัวไปแล้ว ทำให้เหตุการณ์ลดลง ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นอีก เพราะมีการเตรียมการณ์ก่อเหตุอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากกรณีเจ้าหน้าที่ปะทะกับกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่บ้านเปี๊ยะ หมู่ที่ 5 ตำบลบันนังสตา  อำเภอบันนังสตา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิตไป 5 ศพ

 

พ.อ.ประยงค์ บอกว่า นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 4 ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจที่ 4 ใหม่ โดยให้ทหารราบเป็นส่วนบังคับการ และระดับหัวหน้าหน่วย ส่วนกองกำลังปฏิบัติงานยังเหมือนเดิม คือ ใช้กำลังตำรวจตระเวนชายแดน และทหารพรานเป็นหลัก มีการเปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้นทุกวัน

 

"ปฏิบัติตรวจค้นของหน่วยเฉพาะกิจที่ 4 จะต่างกับพื้นที่อื่นๆ คือ จะไม่ปิดล้อมกลางคืน แต่ทันทีที่ได้ข่าวว่ามีกลุ่มบุคคลเป้าหมายหรือมีสิ่งผิดกฎหมาย เช่น อาวุธสงครามหรือระเบิด จะเปิดยุทธการทันที โดยไม่รอช้า หากเป็นพื้นที่สำคัญทางศาสนา จะขอความร่วมมือ หรือมีการพูดคุยกับผู้นำศาสนาก่อน"

 

วิธีการแบบนี้ พ.อ.ประยงค์ บอกว่า เรียนรู้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ที่อำเภอบันนังสตา จะเห็นได้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ถูกต่อต้านจากประชาชน โดยเฉพาะการประท้วงหลังปฏิบัติการแล้วเสร็จ เช่น การปิดล้อมตรวจค้นมัสยิดริมแม่น้ำเทพา ในเขตเทศบาลตำบลเทพา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับแจ้งจากสายข่าวว่า มีระเบิดซุกซ่อนอยู่ 10 ลูก โดยมีผู้นำเข้ามาทางเรือจากจังหวัดปัตตานี แม้จะตรวจไม่พบ แต่ก็ไม่ถูกต่อต้านจากชาวบ้าน

 

"หากปิดล้อมตรวจค้นอย่างที่เคยมีการปฏิบัติกันอยู่ เช่น กรณีบ้านรือเป ตำบลกรงปินัง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2550 จนนำมาสู่การประท้วงปิดถนนสาย 410 ยะลา - เบตง ถึง 5 วันนั้น ก็เป็นเพราะวิธีการบางอย่างของเจ้าหน้าที่ เช่น ไปปิดล้อมตั้งแต่ตี 3 ไม่ได้พูดคุยกับผู้นำศาสนาก่อน ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ จนนำมาสู่การปิดถนน"

 

พ.อ.ประยงค์ บอกว่า หลังจากมีการปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานใหม่ โดยให้ทหารเป็นส่วนนำ กำลังหลักซึ่งประกอบด้วยทหารพราน 4 กองร้อย ตำรวจตะเวนชายแดนอีก 3 กองร้อย จะไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในฐานปฏิบัติการแล้วออกลาดตระเวน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกโจมตี ดังนั้นจึงมีการปรับใหม่โดยกระจายกำลังตั้งเป็นหน่วยเล็กๆ ตามจุดต่างๆ เพื่อสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ ส่งผลให้เหตุร้ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

สำหรับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 4 เดิม คือ พ.ต.อ.สมพงษ์ ขอนแก่น รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 เมื่อปรับโครงสร้างใหม่โดยให้ทหารเข้ามาเป็นส่วนนำ ก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 43 รับผิดชอบพื้นที่อำเภอนาทวี กับอำเภอจะนะ

 

ส่วนเหตุลอบวางระเบิดในรถจักรยานยนต์ในตลาดนาทวี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 พ.อ.ประยงค์ บอกว่า มาจากกลุ่มนอกพื้นที่ คาดว่าตั้งใจจะลอบวางระเบิดในอำเภอสะบ้าย้อย แต่เส้นทางสายลำไพล - สะบ้าย้อย มีทหารตั้งด่านตรวจอยู่ จึงขับรถจักรยานยนต์บรรจุระเบิดไปจอดที่ตลาดนาทวีแทน

 

ข้อมูลจากปากพ.อ.ประยงค์ ก็คือ ในอำเภอสะบ้าย้อย มีอาวุธสงครามซุกซ่อนอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันการหาซื้อปืนเถื่อนก็ทำได้ง่ายเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 จนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2550 ตรวจยึดอาวุธปืนได้แล้ว 4 กระบอก โดยกระบอกล่าสุดเป็นปืน เอเค 47 พร้อมกระสุน 5 นัด ใส่กระสอบข้าวสารซุกซ่อนไว้ในโพรงไม้ พบในป่ารอยต่ออำเภอสะบ้าย้อย กับอำเภอนาทวี ห่างจากชายแดนประเทศมาเลเซีย ประมาณ 800 เมตร เป็นปืนของจีนแดง ส่งมาจากชายแดนด้านเขมร

 

ส่วนระเบิดที่ใช้ก่อเหตุ เป็นระเบิดที่ประกอบมาจากที่อื่น แล้วนำมาปฏิบัติการในพื้นที่

 

ขณะที่งานปราบปราบดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ด้านงานมวลชนก็ดำเนินการไม่ขาดตอนเช่นกัน เห็นได้จากบ้านควนหรัน หมู่ 2 ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย ที่พ.อ.ประยงค์ ระบุว่าเป็นหมู่บ้านที่ถูกจัดตั้งมานานและมีความเข้มแข็งมาก กระทั่งถือว่าเป็นเขตปลอดอำนาจรัฐ ปัจจุบันเมื่อรัฐเข้าถึงมวลชนมากขึ้น ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือกับรัฐมากขึ้นเช่นกัน

 

"ก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยราชการกล้าเข้าไป ผมเข้าไปครั้งแรกพบกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน แสดงอาการไม่พอใจทหาร ผมจึงให้ชาวบ้านเขียนข้อข้องใจทั้งหมดมาให้ พบว่ามีถึง 12 ข้อ ประเด็นหลักๆ คือ ไม่พอใจที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหาที่นำกำลังจำนวนมากไปปิดล้อมหมู่บ้านและควบคุมตัวชาวบ้านไปหลายคน"

 

พ.อ.ประยงค์ จึงประสานไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวขอให้ปล่อยตัวกลับมาทั้งหมด จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับทหารก็ดีขึ้น จนกระทั่งชาวบ้านช่วยกันจัดเลี้ยงน้ำชา หาเงินมาซ่อมโรงเรียนที่ถูกลอบวางเพลิง

 

ในส่วนของอำเภอจะนะและนาทวี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจที่ 43 ที่มี พ.ต.อ.สมพงษ์ ขอนแก่น ในฐานะผู้บังคับหน่วยเชื่อว่า เหตุลอบวางระเบิดในตลาดนาทวี ไม่ใช่ฝีมือของกลุ่มอาร์เคเคในพื้นที่ เนื่องจากไม่พบความเคลื่อนไหว

 

"ขณะนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการตรวจค้นจับกุมอย่างหนัก ก่อเหตุยากขึ้น คนร้ายจึงหนีออกมาลงมือนอกพื้นที่ ตอนนี้จึงมีแนวโน้มว่าจังหวัดสงขลาอาจมีเหตุร้ายเพิ่มมากขึ้น เพราะคนร้ายต้องการแสดงให้เห็นว่า แม้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะถูกตรวจเข้มก็สามารถก่อเหตุที่อื่นได้"

 

"เดิมในพื้นที่อำเภอนาทวีมีกองกำลังอาร์เคเคอยู่ประมาณ 3 - 4 คน เคลื่อนไหวอยู่ในตำบลปลักหนู กลุ่มนี้เคยถูกควบคุมตัวเมื่อปี 2547 มีการบันทึกประวัติและเก็บลายนิ้วมือก่อนปล่อยตัว หลังจากนั้นยังไม่พบมีการเคลื่อนไหวในพื้นที่นี้อีก"

 

ขณะเดียวกัน บริเวณรอยต่ออำเภอนาทวีกับอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รวมทั้งบริเวณชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อพยพเข้ามาอาศัยจำนวนมาก จนต้องตรวจสอบอยู่เป็นระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อความไม่สงบแฝงตัวข้ามา

 

นายอะหมัด และสา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบ อำเภอนาทวี พื้นที่รอยต่อชายแดนไทย - มาเลเซีย บอกว่า มีชาวบ้านจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอสะบ้าย้อย เข้ามาอาศัยอยู่ในตำบลประกอบกว่า 2,000 คน โดยอพยพเข้ามาสองระลอก คือ ช่วงปี 2547 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 ส่วนใหญ่จะเข้ามารับจ้างกรีดยางกันเป็นครอบครัว โดยการชักนำของญาติที่เข้ามาอยู่ที่ในพื้นที่ก่อนหน้า

 

"ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำมาหากินไม่สะดวก เพราะกลัวผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง"

 

อะหมัด บอกด้วยว่า ที่ผ่านมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าไปดูแลอยู่เป็นระยะๆ โดยคนที่อพยพเข้ามา จะต้องมาแสดงตัวต่อผู้ใหญ่บ้านและวางบัตรประจำตัวประชาชนไว้ และแจ้งรายละเอียดว่า มาอาศัยอยู่ในที่ดินของใคร ซึ่งนั่นเป็นข้อตกลงกันระหว่างผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบ

 

อะหมัด บอกว่า ในพื้นที่มีการเฝ้าระวังอยู่ตลอด แต่ก็ไม่เชื่อว่าขบวนการก่อความไม่สงบ จะเลือกใช้พื้นที่ตำบลประกอบเป็นแหล่งกบดานหรือซ่องสุมกำลัง เพราะไม่ใช่พื้นที่ยุทธศาสตร์ อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้อ เพราะมีภูเขาล้อมรอบและมีทางเข้าออกเพียงสองทางเท่านั้น คือเส้นทางที่มาจากอำเภอสะบ้าย้อย กับเส้นทางที่มาจากตัวอำเภอนาทวี นอกจากนั้น ก็จะเป็นทางด่านชายแดนมาเลเซีย ซึ่งยังไม่เปิดเป็นทางการ

 

นายสุรชัย สวารัตน์ นายอำเภอนาทวี บอกว่า นอกจากตามหมู่บ้านต่างๆ จะใช้วิธีการให้ผู้อพยพเข้ามาวางบัตรประจำตัวประชาชนให้กับผู้นำชุมชนแล้ว ยังมีการจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน โดยให้เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลบ้าน 10 หลัง ส่วนในพื้นที่ชุมชนเมืองได้มีการตั้งเครือข่ายตาสับปะรดขึ้น เพื่อป้องกันเหตุร้าย ซึ่งคล้ายๆ กับที่ใช้ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่

 

หลังจากเหตุลอบวางระเบิดในรถจักรยานยนต์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ในอำเภอนาทวี มีข่าวลือเรื่องก่อความไม่สงบมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีข่าวปล่อยว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าทหารพรานหรือตำรวจตระเวนชายแดนทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะตามชุมชนมุสลิม จากการตรวจสอบพบว่า เป็นข่าวที่รับฟังมาจากญาติพี่น้องในอำเภอสะบ้าย้อย

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ลงพื้นที่พบปะกับประชาชนตลอด โดยเฉพาะตามชุมชนมุสลิม เพื่อทำความเข้าใจ เนื่องจากเกรงว่า ข่าวลือดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวมุสลิมกับข้าราชการและชาวไทยพุทธในพื้นที่

 

ขณะที่ในพื้นที่อำเภอจะนะนั้น พ.ต.อ.สมพงษ์ บอกว่า มีความเข้มข้นของแนวคิดแบ่งแยกดินแดนมากกว่าในอำเภอนาทวี แต่ก็ยังไม่พบความเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุมากนัก อาจมีการก่อกวนอยู่บ้าง ทั้งนี้เป็นเพราะในระยะหลังประชาชนให้ความร่วมมือกับทางราชการมากขึ้น เนื่องจากฝ่ายรัฐพยายามเข้าถึงกลุ่มชาวมุสลิมในพื้นที่ตลอด โดยเฉพาะผู้นำศาสนาอิสลาม

 

นายฮารน หมัดหลอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ บอกว่า ในช่วงนี้มีข่าวจะเผาโรงเรียนและสถานที่ราชการอยู่ตลอด แต่คาดว่าเหตุการณ์ไม่น่าจะรุนแรง เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะรับมือได้ เพราะการจัดตั้งแนวร่วมในพื้นที่ยังไม่เข้มแข็งพอ การก่อเหตุที่ผ่านมา ทำเพื่อแสดงศักยภาพเท่านั้น

 

"ตำบลบ้านนามีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท การเข้ามากบดานอาจทำได้ยาก แต่ขณะเดียวกันในพื้นที่ตำบลบ้านนาเอง ก็มีชาวบ้านจากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งจากอำเภอสะบ้าย้อย เข้ามาอาศัยเช่าบ้านอยู่กันมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะในอำเภอจะนะมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง"

 

ก็หวังว่าความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่ขยายวงออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัด มากไปกว่าที่เป็นอยู่ ณ ห้วงปัจจุบัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท