Skip to main content
sharethis

ประชาไทเรียบเรียงการอภิปรายของ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในการเสวนาหัวข้อ "การลงประชามติกับอนาคตสังคมไทย" ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. เมื่อวันพุธที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา


 


000


 


โดยอาจารย์อรรถจักร์ ได้แสดงความเห็นเรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมถึงอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ว่ามีความเกี่ยวข้องต่อการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไรบ้าง


 


โดยได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐประหาร 19 กันยาฯ ทำให้สังคมไทยแตกกันชัดเจนขึ้น และคนถูกบังคับให้เลือกฝ่าย มิฉะนั้นจะถูกเหยียบจากทั้งสองฝ่าย


 


"สิ่งที่น่าตกใจเกี่ยวกับ 19 กันยาฯ คือมันทำให้สังคมไทยแตกกันชัดมากขึ้น หรืออย่างน้อยยังไม่แตกกันหรอกเชื่อได้ว่าเดี๋ยวก็ดีกันไม่มีปัญหาอะไร กลายเป็นว่ามันทำให้อีกหลายๆ ฝ่ายถูกบังคับให้เลือกฝ่าย ทันทีที่ถูกบังคับให้เลือกฝ่าย คนที่ยืนอยู่ตรงกลางหรือพยายามยืนอยู่ตรงกลางให้ได้ ถูกเหยียบจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งมันน่าตกใจในบรรยากาศแบบนี้ มันแยกกันไปหมดเลย เอ็นจีโอเองก็แยกเป็นสองปีก"


 


หลังจากนั้นจึงได้ตอบคำถามเกี่ยวกับที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ว่า รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารนั้นจะนำพาไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ ซึ่งอาจารย์อรรถจักร ได้ตอบว่า ถึงแม้ในปี 2475 จะมีรัฐธรรมนูญที่มาจากการประหาร แต่เป็นคนละบริบทกัน เพราะในยุคนั้นเป็นการปฏิวัติจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะที่ในปี 2549 ที่ผ่านมาเป็นการปฏิวัติขณะที่ประเทศเป็นรัฐประชาธิปไตยอยู่แล้ว


 


 "....อย่างแรกคือว่า ประชาธิปไตยเกิดจากสิ่งที่ไม่เป็นเงื่อนไขหรือสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ ผมคิดว่าถ้าเราเอาตรรกะอันนี้ คิดดูดีๆ มันถูก แต่ว่า ธีรภัทร (นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์) รัฐมนตรีคนหนึ่งก็บอกว่า อย่าลืมนะ รัฐธรรมนูญไทย 2475 ก็เกิดจากการปฏิวัติรัฐประหาร ตัวอย่างของธีรภัทรมันง่ายๆ ถ้าให้ตอบง่ายๆ ก็คือว่า มันเป็นคนละยุคกัน ตอนนั้นมันเป็นการปฏิวัติรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่าเอารัฐประหารตอนนั้นมาตอบเรา


 


อย่างไรก็ตามถ้าให้เปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศที่มีการใช้อำนาจเข้ามา แล้วเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย แต่ในเงื่อนไขของสังคมไทย เราสามารถตอบได้ไหมว่ามันมีหรือไม่มี ซึ่งเราต้องมาดูจากเนื้อหาที่กำลังทำ ผมไม่ได้บอกว่ามันไม่มี ผมคิดว่ามันมี"


 


ในแง่ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มาจากรัฐประหาร จะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่นั้น อาจารย์อรรถจักร ก็ได้พูดถึงโดยอ้างภาษิตจีนที่ว่า "ไม่มีงาช้างออกจากปากสุนัข" เพื่อเปรียบเทียมว่า เราจะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หากที่มาของรัฐธรรมนูญมาจากสังคมที่ปิดกั้นการแสดงความเห็นและไม่เป็นประชาธิปไตย


 


"เราก็ได้ภาษิตจีนมาว่า ไม่มีงาช้างงอกจากปากสุนัข ไม่ได้ด่า สสร. เป็นสุนัขนะครับ แต่มันหมายความว่า เราเชื่อพื้นฐานโดยบริสุทธิ์ใจของเราว่า ไม่มีทางที่งาช้างมันจะออกมาในที่ๆ มันควรจะออก แล้วท้ายสุดเมื่อเรามาอ่านรัฐธรรมนูญเราก็คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าในสังคมที่เปิดกว้างมันจะทำให้รัฐธรรมนูญดีกว่านี้ อันนี้ประเด็นแรก"


 


ต่อมาจึงได้กล่าวถึงเรื่องที่มาของวุฒิสมาชิก ว่าการที่วุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะสามารถทำให้เกิดประชาธิปไตยได้หรือไม่ ซึ่ง อาจารย์ อรรถจักร ก็ได้ยกตัวอย่างระบบวุฒิสมาชิกของอังกฤษว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่มีหน้าที่เดียวคือการทำประชาพิจารณ์ และก็ยินดีถ้าประเทศไทยใช้ระบบเดียวกับของอังกฤษ คือให้วุฒิสมาชิกมีหน้าที่ทำประชาพิจารณ์เพียงอย่างเดียว


 


"ประเด็นที่สอง ผมคิดว่าสำคัญ วุฒิสมาชิกหรือกลไกอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หามาจากที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง สามารถทำให้เกิดประชาธิปไตยได้ไหม? วุฒิสมาชิกของอังกฤษ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจริง แต่เขามีหน้าที่หลักๆ อยู่น่าที่เดียวคือการทำประชาพิจารณ์ ก็คือไปเก็บปัญหาต่างๆ แล้วโยนเข้าสู่สังคม ผมยินดีนะครับที่วุฒิสมาชิกคราวนี้มาจากการแต่งตั้งหมด แต่หน้าที่ต้องมีแค่นั้นนะ คือ "ทำประชาพิจารณ์"


 


สมมุติว่า รายนามวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของใครก็ได้ หน้าที่มีเพียงว่าเมื่อไหร่ก็ตามถ้าประชาชน 10 คน ยื่นเรื่องไปให้วุฒิสมาชิก วุฒิสมาชิกต้องนำเรื่องนี้มา ศึกษาเรื่องนี้ แล้วย้อนกลับสู่สังคม ... ผมรับเลย"


 


ในด้านประเด็นเรื่อง "สังคมความเสี่ยงสูง" (Risk Society) เอง อาจารย์ก็ได้บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้ปกป้องเราจาก Risk Society เลย เพราะความเสี่ยงทางสังคมส่วนใหญ่มาจากนโยบายของรัฐเองด้วย ไม่ได้มาจากอิทธิพลของ โลกาภิวัตน์ (Globalization) เพียงอย่างเดียว


 


"ดังนั้นเราต้องเข้าใจเงื่อนไขนี้ดีๆ ว่า ไม่ได้แปลว่าเราจะยอมรับอะไรที่มันไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้วเราไม่รับเลย...ไม่ใช่ แต่เราคิดว่ามันต้องกำกับสิ่งที่เป็นหน้าที่ด้วย กรณีของ Risk Society ผมเห็นด้วยเลยว่ากรณีของเราตอนนี้เป็น Risk Society สังคมความเสี่ยงสูง


 


ถ้าให้เราพิจารณาเรื่องความเสี่ยงทางสังคมในทุกวันนี้จะพบว่า ความเสี่ยงส่วนใหญ่นั้น มาจากนโยบายของรัฐ ดังนั้นถ้าให้เราดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราต้องดูในแง่ที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ช่วยขยายความเสี่ยง หรือ ทำให้เรามีพลังในการต่อสู้กับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่ Globalization อย่างเดียว แต่มันมีอิทธิพลของ Globalization พวกกับรัฐด้วย Risk Society มันเกิดขึ้นขยายตัวทั่วไป ถ้าถามว่ามันกระทบเราไหม มันกระทบหลายๆ เรื่อง ถ้าหากเราไม่คิดบัญญัติอะไรในนี้ให้ดี ตรงนี้ผมเห็นตรงข้ามกับอาจารย์สุรัตน์ ผมเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ปกป้องเราจาก Risk Society เหมือนกรณีเศรษฐกิจเปิดแบบ Globalization เราจะเอาอะไรไปสู้กับเขาบ้าง เราจะเอาอะไรไปสู้กับ เซเว่น-อิเลเว่น สามสี่พันแห่ง เราจะเอาอะไรไปสู้กับ FTA อีกหลายๆ ด้าน สิ่งที่เราต้องมองคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เราไหม"


 


ในแง่ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ รศ.ดร. อรรถจักร อธิบายว่า รัฐธรรมนูญนั้นสำคัญในแง่ของการจัด การความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ทั้งในฐานะพลเมืองและในฐานะปัจเจกบุคคล ฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่ดีคือรัฐธรรมนูญที่จัดความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีสมดุลไม่เอนเอียง


 


"ผมเห็นด้วยกับการมองว่ารัฐธรรมนูญนั้นสำคัญ เพราะตัวรัฐธรรมนูญคือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม รัฐกับเราในฐานะพลเมือง รัฐกับเราในฐานะปัจเจก ดังนั้นถ้าหากรัฐธรรมนูญจัดความสัมพันธ์ไม่ดี หรือจัดความสัมพันธ์เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง มันก็จะไม่มีสมดุล มันก็รังจะทำให้สังคมเกิดความเดือดร้อนมากขึ้น สิ่งที่เราต้องมาดูคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จัดความสัมพันธ์อย่างไร"


 


หลังจากนั้นจึงได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก่อนหน้าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่า "ระบอบทักษิณ" ทำให้รัฐไทยเปลี่ยนรูป จากการควบคุมโดยระบบราชการ มาสู่การควบคุมแบบบริษัทเอกชน รวมถึงยังมิติด้านการบริการจากนโยบายต่างๆ "ผมคงจะไม่แยกประเด็น แต่อยากจะให้มองอย่างเชื่อมโยง ... ในที่นี้บอกกันก่อนว่าผมไม่รับนะ เพราะฉะนั้น มุมมองของผมก็เป็นมุมมองแบบคนไม่รับ ย่อมมีอคติบางด้านแฝงอยู่ ... การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับสังคมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันเกิดจากเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์อันหนึ่ง ที่เป็นมรดกของมนุษย์ ก็คือว่าตัวระบอบทักษิณเอง การขึ้นมามีอำนาจของระบอบทักษิณ ทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปรัฐ คือรัฐไทยเดิมทำหน้าที่คือ Service และ Control เหมือนกับรัฐอื่นๆ แต่รัฐทักษิณเนี่ย มันเปลี่ยนมิติของการบริการออกไป 30 บาทรักษาทุกโรคขยายออกไป การเข้าถึงทุนได้มากขึ้นของคนจน ที่เป็นมรดกของทักษิณก็คือว่า เปลี่ยนการควบคุมโดยระบบราชการที่มีความจงรักภักดี มาสู่การควบคุมแบบบริษัทเอกชน"


 


นอกจากนี้ยังได้บอกอีกว่า การที่รัฐบาลทักษิณทำให้รัฐเปลี่ยนรูปไปนั้น ยังส่งผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เรื่องของสิทธิชุมชนกับเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นจึงเป็นสิ่งที่จำต้องบัญญัติไว้อยู่แล้ว เพราะรัฐได้เปลี่ยนรูปไป


 


 "จริงๆ ผมก็เกลียดทักษิณ แล้วก็ด่าทักษิณมาตลอด แต่ต้องยอมรับว่า สิ่งที่ทักษิณทำมา มันมีผลเปลี่ยนแปลงโดยที่ตัวทักษิณเองไม่ได้คิด


 


ซึ่งเราก็ต้องบอกก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นในยามที่รัฐมันเปลี่ยนรูปแล้ว ดังนั้นเมื่อรัฐเปลี่ยนรูปแล้ว หลังปี 40 เราจะพบว่า ไม่มีทางที่รัฐธรรมนูญฉบับไหนจะปฏิเสธสิทธิชุมชน เพราะพลังจากตรงนี้มันฝังแน่นไปแล้ว ฉะนั้นการกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติเรื่องใหม่ๆ อย่างสิทธิเสรีภาพ ฯลฯ กล่าวอ้างได้ แต่คุณกล้าจะปฏิเสธเหรอ มันเปลี่ยนรูปไปแล้ว จากมรดกของทักษิณ


 


ผมไม่ได้เรียกร้องให้ทักษิณกลับมา ถ้ากลับมาพวกเราคงต้องอัดกันสักต่อ แต่ถ้าทักษิณอยู่นี้เขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์ได้สบายมากเลย วันเสาร์ฟังแป็ปเดียวได้ด่าละ แต่ถ้าเป็นตอนนี้ด่าลำบากหน่อย"


 


หลังจากนั้นจึงได้กล่าวถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญปีปัจจุบันว่า มีข้อบกพร่องในทางความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่สมดุล เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้นักการเมืองและฝ่ายบริหารอ่อนแอ แล้วในที่สุดจะถูกกลืนเข้าไปในขั้วที่มีอำนาจมากที่สุดได้


 


"ในความสัมพันธ์ทางอำนาจ เราต้องดูว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร...เราจะสมมุติเป็นรูปสามเหลี่ยม เริ่มจากยอดสามเหลี่ยมด้านบนก่อนเป็นคำว่า "อำนาจ" ตรงอำนาจคือใครในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะแยกเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือ ฝั่งซ้ายก็คือ ส.ส. แบ่งเป็นสองแบบ คือ แบบ 400 คน และ แบบแบ่งตามเขตจังหวัด 10 คน ฝั่งนี้เป็น ส.ส.เลือกตั้ง Representative รับรองประชาชน เป็นผู้ที่ต้องดูแลประชาชนหรือว่าสร้างนโยบายมา อีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งที่เป็น ส.ว. มี ส.ว. จังหวัด 76 คน ก็ต้องรับผิดชอบกับประชาชน แต่คำถามก็คือ ส.ว. จังหวัดเขตเลือกตั้งใหญ่ ถามจะได้เสียงของคนจากความจริงใจได้ไหม ไม่มีทาง แม้แต่สมิง ตันอุต แม้จะสมัครแต่ก็ไม่มีทางได้ เพราะเขตมันใหญ่ขึ้น ดังนั้นถามว่า ส.ว. ตรงนี้จะพึ่งใคร ก็ต้องพึ่งเครือข่ายนักการเมืองกลุ่มอื่น แล้วก็มี ส.ว.ที่ได้จากการสรรหาอีก 74 คน สรรหาจากฝั่งนี้


 


จากอำนาจ 3 ส่วน ส่วนที่มีอำนาจมากที่สุด คือส่วนที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมเลย อาจจะเป็นที่ อ.สุรัตน์ พูดก็ได้ว่ามันเป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนี้ก็ได้ ดังนั้นผมคิดว่า ส.ส. ทั้ง 400 รับประกันได้ว่าเป็นเบี้ยหัวแตก นักการเมืองก็อ่อนแอแน่ๆ ส.ส. 80 คนแบ่งเป็น 8 เขตการเลือกตั้ง คะแนนทุกพรรคมารวมกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างคุณวิรัชพูด ไม่ได้ พรรคเล็กที่ไม่มีแรงจูงใจคนมันก็ทำอะไรไม่ค่อยจะได้ มันจะทำให้เกิดอะไรขึ้น ตรงนี้คือ มันจะให้เกิดความอ่อนแอในซีกซ้าย คืออ่อนแอต่อแรงกดดันของด้านบน อ่อนแอต่อแรงกดดันของฝั่งนี้รัฐบาลต่อไปจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอมาก ไม่ใช่อ่อนแอแบบเดิม แบบบรรหาร แบบชวน อันนั้นอ่อนแอแต่ระบบยังอยู่ แต่ คราวนี้อ่อนแอแต่พร้อมที่จะทำให้ตัวที่อยู่ฝั่งนี้ กลืนเข้าไปสู่ระบบ"


 


อาจารย์ อรรถจักรได้กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลอ่อนแอลง จะทำให้สามารถตอบสนองประชาชนได้น้อยลง และการเชื่อมโยงกับสังคมก็น้อยลงไปด้วย


 


"รัฐบาลในยุคหน้าจะมีศักยภาพในการตอบสนองประชาชนน้อยลง เพราะ คุณต้องมัวแต่ไประวังอำนาจอื่นๆ รวมไปถึงว่าทุกพรรคในรัฐบาล ส.ส. ในรัฐบาลสามารถที่จะถูกดึงไปทำอะไรนอกพรรคได้ตามมาตรา 91 รวมไปถึงว่าถูกทำให้ซื้อง่ายขึ้น ...ฝากดูมาตรา 274 คือมาตราที่จะทำให้อำนาจ สว. ฝั่งนี้สูงที่สุด แล้วอำนาจ สว. ที่สูงที่สุดคืออำนาจของ สว.ที่มาจาก 74 คน 274 คือมาตราที่น่ากลัวที่สุด เราเคยบอกออกไปแล้วว่าควรจะลดอำนาจตรงนี้ แต่เขาก็ไม่ทำ รวมทั้งไม่เชื่อมโยงอะไรกับสังคมเลย"


 


ในส่วนของเรื่องของบทบาทองค์กรอิสระ อาจารย์ก็ได้กล่าวในวงเสวนาว่า การที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญสนับสนุนตุลาการณ์ภิวัฒน์ ทำให้เกิดกลุ่มคนมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง และยังเป็นอำนาจที่ลอยอยู่เหนือความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้มีอาญาสิทธิอยู่เหนือการเลือกตั้งและข้าราชการ


 


"ส่วนองค์กรอิสระทั้งหลาย ถ้าอ่านดูก็จะเห็นตุลาการณ์ภิวัฒน์-คือกลุ่มคนที่กั๊กกันอยู่ฝั่งเดียวเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงว่า อำนาจที่สูงๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิ ก็ถูกมาตรา 274 กำกับไว้ว่า สามารถถูกถอดถอนโดยการการส่งวุฒิสภา ด้วยเสียงเพียง 3 ใน 5 โอเคนั่นคือด้านบน เราจะพบว่ามันมีอำนาจ Behind the Scene อำนาจอยู่ข้างหลังการเลือกตั้ง มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง Authority มันจะมีอิทธิพลกำกับผู้ที่ได้รับอาญาสิทธิผู้ได้รับการเลือกตั้ง หรือมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังพรรครัฐบาล และข้าราชการอื่นๆ


 


อย่างกรณีศาลซึ่งเป็นตุลาการภิวัฒน์อย่างแท้จริง อย่างคุณจะไปโยกย้ายศาลไม่ได้นะ เว้นแต่จะโยกให้มีตำแหน่งสูงขึ้น ถ้างั้นแปลว่าอะไร ผมว่ามันยุ่งๆ อยู่นะ ความหมายที่ถูกสร้างซ้ำๆ ผลักให้คนไปอยู่ Behind the Scene และลอยอยู่เหนือความรับผิดชอบ อันนี้จะนำไปสู่ประชาธิปไตยไหม


 


ตรงนี้มันน่าวิตก ผมเคยไปพูดที่นึง บอกว่า ทำยังไงหากเวลาเราจะพูดถึงศาลเนี่ย ให้มีแค่ละเมิดศาล อย่ามีหมิ่นศาล เพราะถ้ามีหมิ่นศาลมันยุ่ง ละเมิดศาลคืออย่างเช่นมีคนมาด่าแม่ศาล ทำให้ตัดสินคดีผิดไป แต่ถ้าหมิ่นศาลเนี่ย เช่น คุณชำนาญ ที่ชอบเขียนบทความกระแนะกระแหนศาล ต้องเล่น"


 


โดย อาจารย์ อรรถจักร ยังได้กล่าวต่ออีกว่า นอกจากจะทำให้มีอำนาจเบื้องหลังแล้ว ยังจะทำให้กลายเป็นส่วนที่ตรวจสอบไม่ได้ ไม่น่าไว้วางใจ


 


"ฉะนั้น อะไรก็ตามถ้าเราตรวจสอบไม่ได้ หรือมองเห็นไม่ได้ ผมคิดว่าสิ่งนั้นไม่น่าใว้ใจ ดังนั้นถ้าสรุปการเมืองข้างบน ว่าการเมืองข้างบนเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผลักให้การตัดสินใจทางการเมืองในการจำหน่ายจ่ายแจกทรัพยากร ว่าจะให้แก่ใคร ที่ไหน อย่างไร ไม่ได้อยู่บนรัฐสภา ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อาจไปอยู่ในสนามกอล์ฟ หรือที่ร้านอาหาร คือส่วนนอกเหนือจากที่เป็น Authority หรือ อาญาสิทธิทั้งหลาย การตัดสินใจการเมืองตรงนั้นถ้าดีก็ดีไป ถ้าเราเชื่อว่าคนดี นั่งตรงไหนมันก็ดีน่ะนะ แต่เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า แต่ผมวิตกตรงนี้ มันมีอำนาจที่อยู่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของประชาชน และตรวงสอบไม่ได้ มองเห็นไม่ได้ด้วยซ้ำไป และนี่คือปัญหาแรกสำหรับข้างบน"


 


สำหรับเรื่องของสิทธิชุมชน อาจารย์ก็ได้กล่าวไว้ว่า สิทธิชุมชนอาจจะใส่ไว้เป็นเพียงประโยคหนึ่งในร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้าหากเรื่องนี้ไม่ได้ไปยึดโยงกับเรื่องอื่น ก็ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้ นอกจากนี้ยังได้เสนอว่าการยึดโยงกับระบอบทรัพย์สินชุมชน (Common Property) นั้นจะช่วยทำให้สิทธิชุมชนเกิดผลมากขึ้น แล้วยังช่วยลดสังคมความเสี่ยงสูง (Risk Society) อีกด้วย


 


โดยได้ยกกรณีชาวบ้านแม่แรมถูกเวนคืนที่ดินมาเป็นตัวอย่าง


 


"ส่วนข้างล่าง พูดถึงว่าสิทธิชุมชน ที่ว่ามันจะช่วย อย่างที่ NGOs จำนวนมากบอกว่า สิทธิชุมชนดีกว่าเดิม ดีกว่าเดิมอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือ ตัดประโยคนั้นออกไป อันนี้แล้วแต่สมัยกำหนด ดีกว่าเดิมอีกอันหนึ่งคือ ที่คุณ บรรณรส พูดก็คือว่า บังคับให้ทำ SIA (Social Impact Assessment - ผลกระทบทางสังคม) คำถามก็คือว่า ถ้าหากเราพูดถึงสิทธิชุมชนลอยๆ โดยที่ไม่ไปยึดโยงกับเรื่องอื่น สิทธิชุมชนนั้นก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ไม่ Work แต่คนร่างเขาตัดได้ไหม ผมคิดว่าเขาไม่กล้าตัดหรอก เพราะสังคมไทยมันโตขึ้นกว่าที่จะขัดขวางได้ แต่สิทธิชุมชนมันจะเกิดขึ้นได้หากมันเข้าไปสัมพันธ์ยึดโยงกับสิ่งที่เราเรียกว่าระบอบทรัพย์สินชุมชน (Common Property) เสมอ เช่น ป่าชุมชน , สิทธิในการดูแลวัด ทั้งหมด ถามว่าทำไมไม่เอา ไปโยงกับหมวดที่ ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็บอกเลยว่าสภาส่วนท้องถิ่นต้องยอมรับสิ่งที่ชุมชนเสนอว่าเป็นทรัพย์สินชุมชน ดังนั้นตัวสิทธิชุมชนที่ลอยๆ แบบนี้ แม้ว่าดูดี ผมยืนยันว่าไม่มีผลในการทำให้เกิดขึ้นมาเลย แต่ที่ผมพูดคือการยุดโยงไปสู่ระบอบทรัพย์สินชุมชนมันจะเกิดขึ้นได้เลย ปัญหาคือ ถ้าอย่างนั้นแล้ว สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีไหมครับ มันก็คือ ดี ศูนย์-ศูนย์ มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรเลย ก็คือว่าประชาชนก็ต้องใช้วิธีเดินขบวนอีกต่อไป จะเรียกร้องให้มี SIA ไม่ได้เปิดให้เลยนะครับ ต้องเดินขบวนเรียกร้อง ฉะนั้นถ้า NGOs คนไหนบอกว่าสิทธิชุมชนดี ชี้หน้ามันแล้วบอกว่ามันทรยศกับประชาชนได้ รับประกันถามได้มี NGOs เหลือสองสามคนที่ไม่รับร่าง แบบนี้ภาษาเหนือเรียกขี้แหยะ พอโยงเข้าไปเป็น สสร. หน่อย อ่อนไปหมดเลย โดยเฉพาะสายสุขภาพ NGOs เลือกฝั่ง ส่วน NGOs ฝั่งเหนือนี้เหมือนไส้ติ่ง คือจะมีก็ได้ หรือตัดทิ้งก็ได้


 


แล้วสิทธิชุมชนนี้จะป้องกัน Risk Society ได้ไหม ผมว่าป้องกันได้ยาก ถ้าป้องกันได้ก็ป้องกันได้ในระดับ 2540 ฉะนั้นมันจะแก้เรื่อง Risk Society ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีระบอบทรัพย์สินชุมชนเป็นหลักให้ ไม่มีทาง


 


ขณะนี้ ที่เราร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ทุกวันนี้ พี่น้องที่แม่ริม แม่แรม ได้ต่อสู้มา 30 ปี ถูกไล่อีกแล้ว มันมีประสบการณ์อย่างนี้อีกมากมายเลยที่ชี้ให้เห็นว่า มันนำไปสู่ตรงนั้น"


 


ในประเด็นเรื่องความเสมอภาค ก็ได้บอกว่าในฉบับนี้ยังคงกล่าวถึงประเด็นความเสมอภาคแต่ได้ด้านกฏหมาย ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจนั้นยังเหมือนเดิม และยังได้ย้ำว่าระบอบทรัพย์สินชุมชน (Common property) จะช่วยป้องกันทุนใหญ่เข้ามาได้


 


"มาดูในแง่ความเสมอภาค เราจะพบว่าเหมือนเดิม ก็คือเสมอภาคแต่ด้านกฎหมาย จะมีใครคิดไหมว่า ความเสมอภาคทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ต้องเรียกร้องถึงขั้นเค้าโครงเศรษฐกิจทุกอย่างเป็นของรัฐ เอาแค่ว่า ให้มีการเก็บภาษีมรดก คนรวยมันไม่ได้รวยเพราะมันเก่ง หรือฉลาดอย่างเดียว แต่มันรวยมาจากเนื้อของสังคม ถ้างั้นคนที่รวยกว่าเราต้องเก็บภาษีมรดก ไม่มีใครที่คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาจากบ้าน ในแง่นี้คุณก็ไมได้คิด เพราะ สสร. คนนึงเป็นลูกของเบียร์สิงห์ สิทธิในทรัพย์สินเอกชน ผมไม่ปฏิเสธในระบบทุนนิยมมันต้องมี แต่คุณลองขยับเรื่องทรัพย์สินในชุมชนหรือพี่น้องคนอื่นๆ ได้มีความสามารถในการปรับตัว อย่างเรื่อง Common Property ถ้าพูดถึงทรัพย์สิน หรือสิทธิในทรัพย์สินแบบปัจเจกชนแบบนี้ ช่องว่างระหว่างรายได้มันก็ยังคงมี ป้องกันทุนใหญ่ที่จะเข้ามาได้ไหม ก็ไม่ได้"


 


สำหรับเนื้อหาด้านสิทธิอื่นๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ อาจารย์ อรรถจักร ก็ได้วิจารณ์เอาไว้ว่า ไม่ได้ดีกว่าของปี 2540 นอกจากนั้นยังแสดงความกลัวในทักษิณแบบเดิม ทั้งที่กระบวนการทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านกลไกการเลือกตั้ง จะทำให้ทักษิณไม่มีทางกลับมาเข้มแข็งดังเดิ


 


"นอกจากนั้นแล้วในส่วนเรื่องสิทธิอื่นๆ เกือบทั้งหมดแล้วไม่มีอะไรแตกต่างจาก รธน. 40 แต่สิ่งที่มันห่วยกว่า ก็คือว่ามันมีอำนาจบางอย่างอยู่ข้างหลังที่เรามองไม่เห็น อย่าลืมว่าวาทกรรมคนอย่างทักษิณที่นักวิชาการอย่างพวกผมสร้างขึ้นมาก็ตาม แต่ถ้าเราปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยการเลือกตั้งทั้งหลายมันเดินไปเรื่อยๆ หมายถึง สมมุติว่าไปอีกสักระยะ ผมคิดว่าทักษิณจะไม่มีทางกลับมาเข้มแข็ง ทักษิณแบบเดิมจะเกิดได้ยากขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กลัวทักษิณแบบเดิม สมมุติว่าทักษิณเลือกตั้งคราวหน้า ผมว่าทักษิณเป็น Burden (ภาระ) เป็นภาระให้กับพรรคการเมืองจำนวนมาก เขาไม่มีทางเข้มแข็งเหมือนเดิม ผมเองก็ไม่ได้เชียร์ทักษิณ มันมีแค้นที่ต้องชำระอีกเยอะ อย่างเรื่อง 2800 ศพ เรื่อง กรือเซะ อีกนะฮะ แต่อย่างลืมว่าทักษิณอยู่ได้เพราะตัวกลไก Behind the Scene"


 


จากนั้น จึงได้กล่าวสรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จะทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งสูงขึ้น และย้ำถึงอำนาจ Behind the Scene ที่ว่าไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย เพราะจากประวัติศาสตร์ระบอบอำมาตยาธิปไตย ข้าราชการยังมีอุดมการณ์พัฒนาอยู่บ้าง แต่ที่กล่าวถึงคือระบอบคณาธิปไตย ที่ไร้อุดมการณ์ มีแต่การแย่งชิงผลประโยชน์ กระทั่งขัดแย้งกันเองภายใน


 


"ฉะนั้นถ้าถามว่าตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำเราไปสู่อะไร ผมคิดว่าท้ายสุดมันจะมีความขัดแย้งสูงขึ้น ในการตัดสินใจข้างบน ไอ่ Behind the Scene ที่ผมว่า หลายคนบอกว่าเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตย คือระบอบข้าราชการเป็นใหญ่ ผมบอกว่าไม่ใช่ ผมบอกว่ามันเป็นระบอบการปกครองคณาธิปไตย กลุ่มบุคคลเล็กๆ ในระบบราชการ ด้วยเหตุผลว่า ระบบราชการที่เป็นอำมาตยาธิไตย ตั้งแต่ในปี 2501 ถึงอย่างน้อย 2516 ไอ่ระบบข้าราชการชุดนั้น มันมีอุดมการณ์ชุดหนึ่งร่วมกัน อย่างน้อยมีอุดมการณ์การพัฒนา ถูกผิดว่ากันอีกเรื่อง แต่มันมีอุดมการณ์ร่วมกัน วันนี้ถามข้าราชการที่อยู่ข้างหลังนี้มันมีอุดมการณ์ร่วมกันไหม ...ไม่มี ข้าราชการ-อาจารย์ มช. มีอุดมการณ์ร่วมกันคือเปิดภาคพิเศษ ดังนั้นคนเพียงเสี้ยวเดียวของระบบนี้ ความขัดแย้งมันยังไม่เกิดขึ้นกับสังคมภายนอกเลย ภายในก็เกิดแล้ว"


 


โดย อาจารย์ อรรถจักร ได้ยกตัวอย่างกรณีความขัดแย้งภายในที่มาจากระบอบคณาธิปไตยในปัจจุบันไว้ว่า


 


"เพื่อนผมคนหนึ่งถูกจับ ที่เชียงราย คือไปให้กำลังใจเขาแล้วมานั่งคุยกัน เขาเล่าให้ฟังว่า ทันทีที่เขาถูกจับ ทหารคนที่ถามเขา ไม่ได้ถามเรื่องว่า คุณเป็นใคร ทำอะไร แต่ถามว่าสพรั่งได้เงินเท่าไหร่ ตรงนู้นได้เงินเท่าไหร่ ใครได้บอร์ดนี้เท่าไหร่ ลงไปปักษ์ใต้ไปเจอทหาร ทหารก็ถามแบบนี้ ทำให้ได้รู้เลยว่า ในตัวทหารเองก็ขัดแย้ง ฉะนั้นถ้าเกิดให้คนกลุ่มเดียว ส่วนเสี้ยวมาตัดสินใจการเมือง ผมว่าการตัดสินใจแบ่งเค้กมันไม่ลงตัวหรอก ดังนั้นถ้าลงรับการเลือกตั้งต่อไป มันจะฆ่ากัน มันจะมีความขัดแย้ง ในทุกระดับสูงขึ้น"


 


จากนั้น อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์จึงได้พูดถึงเจตนารมณ์การไม่รับร้างรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า ไม่ได้พอใจของปี 2540 แต่ขอเอาของปี 2540 มาใช้ก่อน นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้มีรัฐบาลใหม่ และมีการปฏิรูปการเมืองอย่างช้าๆ โดยการมีส่วนร่วมจากหลายๆ ฝ่าย


 


"ดังนั้นสิ่งที่เราเรียกร้องคือ เรียกร้องไม่รับ แล้วเอาปี 40 มา แต่เราก็ไม่ได้พอใจกับปี 40"s นะครับ เราบอกว่า ขอสองอย่าง อย่างแรกคือขอตั้งรัฐบาลใหม่ ตั้งกรรมการ แล้วก็ปฏิรูปการเมือง ภายในหนึ่งปีแล้วรัฐบาลนั้นลาออก เพื่อที่หวังว่าใช้ 40"s เป็นฐานรวมพลจำนวนมาก เอาละเราค่อยๆ เดินกันไปโดยที่ไม่มีอะไรขัดแย้ง ตรงนี้นะ แล้วก็มีสัญญาสังคม ว่าอีกหนึ่งปีกรรมการใหม่มา เพื่อแปรรูปประชาธิปไตยเนี่ย ร่างระบบใหม่ คิดกันใหม่อย่างกว้างขวาง เพื่อที่เราจะได้ตั้งต้นเดินอีกครั้งหนึ่ง"


 


หลังจากนั้นในช่วงท้ายที่มีการให้สรุปและตอบคำถาม มีพระสงค์รูปหนึ่งที่เข้าร่วมเสวนา ได้ร่วมอภิปรายว่า เหตุที่ท่านไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เนื่องจากกรณีไม่ระบุศาสนาพุทธไว้เป็นศาสนาประจำชาติ นอกจากนี้ยังกล่าวว่าในสมาชิกสภาไม่ค่อยมีคนนับถือพุทธอยู่


 


ซึ่งอาจารย์อรรถจักร ก็ได้โต้แย้งว่า ประเด็นเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น จริงๆ แล้วเป็นเพียงการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ และการหวังเอารัฐมาช่วยโดยการระบุว่าเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ก็ไม่ได้ช่วยให้พระสงค์สามารถสัมพันธ์กับสังคมได้เท่าเดิม ทั้งยังจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา


 


"สรุปก็คือว่า ถ้าจริงๆ แล้ว สมาชิกสภามีศาสนาพุทธ จะเป็นศาสนาประจำชาติด้วยหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่เท่าที่ดู คนที่เข้าไปเป็นพุทธซะยังเยอะกว่า


 


แต่ประเด็นที่ผมอยากแสดงความเห็นคือ เรื่องการเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเป็นข้อเสนอที่ไร้สาระที่สุด โดยที่พระไม่รู้ว่าคนที่สั่งอยู่เบื้องบนคือใคร คนที่พิมพ์หนังสือออกด่าเรื่องมุสลิม เป็นของใคร แต่ตุ๊เจ้าทั้งหลายไม่ยอมรับรู้เรื่องอะไรอย่างอื่น แต่เสนอเรื่องนี้มาเพื่อที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากมาย จริงๆ แล้วเรื่องนี้มันเป็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ พระสงค์สูญเสียสถานะของตัวเองไป ทำไมไม่คิดถึงการเรียกร้องสถานะอัตลักษณ์ของตัวเองด้วยการกลับไปสู่ชุมชน อย่าไปคิดเพียงว่าดึงเอาการเมืองมาดูแล ...ไม่มีทาง ก่อนรัชกาลที่ 4 พระสงค์มีพลังเพราะเข้าไปสัมพันธ์กับสังคม หลังจากนั้นคุณฉีกออกจากตัวเอง ฉีกออกจากสังคมแล้วคุณหวังจะเอารัฐมาช่วย รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net