Skip to main content
sharethis


โดย องอาจ เดชา


 



วรพจน์ พันธุ์พงศ


ผู้เขียน "ที่เกิดเหตุ" บันทึก 1 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 







...จากวันปล้นปืน 4 มกราคม 2547 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2550


ไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลาเพียง 3 ปี จะมีผู้เสียชีวิต


จากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วทั้งสิ้น 2,030 ศพ


ทั้งที่เสียงสวดยังกึกก้องทั่วทุกมัสยิด


ทั้งที่ท้องทะเลยังเปล่งประกายสีเขียวมรกต


ทว่าทุกเช้า ข่าวความตายรายวันถูกรายงานอย่างต่อเนื่อง


และไม่มีทีท่าว่าจะถูกเยียวยา


 


ป้ายใบปลิว "แผ่นดินนี้ของกู" ลอยร่วงลงมาปักกลางใจใครหลายคน


กระแสการแบ่งแยกดินแดนรุนแรงขึ้นตลอดเวลา


สงครามศาสนาก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรม


ไทยพุทธเริ่มละทิ้งบ้านเพราะทนอยู่ไม่ได้


ไทยมุสลิมแห่ศพประท้วงรัฐ คัดค้านว่า "ตำรวจฆ่ามั่ว"


 แพะในร่างคนเพิ่มปริมาณประชากรรวดเร็วกว่าแพะจริงๆ


บางคืนคมมีดคุกคามเข้าไปฟันคอพระถึงในวัด


บางวันกระสุนปืนพุ่งเข้าตัดขั้วหัวใจโต๊ะอิหม่าม


ทั้งที่สวดจากสองศาสนายังสอดประสาน


ทั้งที่เสื้อผ้า ชุดคลุมกายบุรุษสตรีงดงาม สงบ


มาลัยดอกมะลิในมือผู้เฒ่ามุสลิมหอมจรรโลงใจ


โรตีและข้าวยำยังน่ากิน ใบหน้าเด็กหญิงชายคงความน่ารัก


ทว่าโรงเรียนนับร้อยแห่งประกาศปิดการเรียนการสอนกลางเทอม


ปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าครูกลายเป็นเป้าสำคัญ ทหารถูกลอบวางระเบิด


ชาวบ้านถูกจ่อยิง เผา ตัดคอ ฯลฯ


ประชาชนคนธรรมดาถูกพิพากษาว่าเป็นโจรใต้


ต้นยางและพื้นที่สีเขียวชุ่มชื่นหัวใจกลับกลายเป็นสีแดง


ทั้งสิ้นทั้งปวง เราคิดเอาเองได้จริงหรือว่าอะไรคือรากเหง้าปัญหา


ทั้งสิ้นทั้งปวง เราคิดเอาเองได้จริงหรือว่าจะแก้ไขจัดการอย่างไร 


ถ้าไม่ได้ลงไปศึกษาเรียนรู้ ณ ที่เกิดเหตุ...


 


นั่น, คือคำโปรยหลัง ในหนังสือ 'ที่เกิดเหตุ' ที่ "วรพจน์ พันธุ์พงศ์" เจ้าของงานเขียนเล่มล่าสุด โดยมี "ธวัชชัย พัฒนาภรณ์" ช่างภาพอิสระ ได้ร่วมกันเดินทางเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในพื้นที่ สาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 1 ปี ผ่านคำและภาพ ด้วยมุมมองที่ดูเรียบง่ายธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา ชวนให้หลายคนฉงน นิ่งนึก และตรึกตรอง ท่ามกลางความสับสนของปัญหา ไม่เข้าใจว่าทำไมแผ่นดินอันงามงด จึงกลายเป็นแผ่นดินของความโศกสลดและหวาดกลัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเช่นนี้


 


000


 


 


อะไรทำให้คุณลงไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


อาชีพคนเขียนหนังสือ เราก็จะเลือกเรื่องทำงานตามที่เราสนใจ เรื่องนี้คิดว่าเป็นเรื่องในส่วนตัวเราสนใจ โดยภาพรวมของคนทั้งประเทศก็คิดว่าคนสนใจ เป็นเหตุการณ์ใหญ่ มีความตายเกิดขึ้นทุกวัน แค่สามปี จากตัวเลขที่เขารายงานก็สองพันกว่าคน ตอนนี้ก็ยังเกิดต่อเนื่อง ยิ่งแรงขึ้นด้วย


 


เราไม่มีต้นสังกัดอะไร ไม่ได้มีงานประจำ ทุกอย่างเลือกเอง ทำเอง ก็เหมือนเอาแผนที่มานั่งกางเลย แล้วก็ดูว่าเรื่องไหนน่าสนใจ คิดทั้งระบบแล้วว่าเราสามารถลงไปทำได้ เราก็ลงไปทำเลย


 


 


แล้วการเลือกประเด็นลงเก็บข้อมูลแตกต่างกับนักข่าวมั้ย


มันมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่าง สมมติอย่างเหตุการณ์ครูจูหลิง (ปงกันมูล) ใครก็พุ่งไปหมด คนทุกคนก็สนใจ แต่อยู่ที่ว่า ใครจะจับมุมไหนยังไง ข้อแตกต่างมากๆ ที่เรามองเห็นก็คือ เรามองว่าเป็นเรื่องของเวลา ก็อย่างที่บอกคือเป็นนักข่าวมักจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลามากกว่า ขณะที่เราไม่มี ทำได้เต็มที่ ไม่ต้องว่า พรุ่งนี้ต้องส่งข่าวแล้ว อาทิตย์นี้ต้องส่งข่าวแล้ว อะไรอย่างนี้


 


คืออยู่ที่เราอย่างเดียว ถ้าเรามีเวลาเท่าไร ตั้งใจอยากรู้อยากเห็นเท่าไร ก็คือทำได้เต็มที่ ก็จะต่างกัน อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นเรื่องมุมมอง ทั้งทัศนคติส่วนตัวเองก็ดี ทัศนคติต่อเหตุการณ์เดียวกัน แต่ละคนก็คงสนใจกันคนละอย่าง ไปที่เดียวกันทุกคนก็เห็นไม่เหมือนกันอยู่แล้ว


 


 


ตอนแรกที่ลงไป ได้เข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านเลยหรือ


ลงไปอยู่ที่ศูนย์ข่าวอิศราก่อน เราก็ทำงานเชื่อมโยงกับเขา เชื่อมโยงกับนักข่าวท้องถิ่น เพราะมันเป็นพื้นที่พิเศษแล้วก็ค่อนข้างแหลมคม คือไปยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ว่าใครคนหนึ่งจะลงไปแล้วไปทำเรื่องพวกนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว เป็นพื้นที่ที่ต้องพึ่งพา


 


 


ใช้เวลานานมั้ย กว่าจะทำให้ชาวบ้านยอมรับและให้ข้อมูล


คือแรก ๆ เราจะไปกับคนในพื้นที่ หรือไม่ก็เพื่อนที่คุ้นเคยกับที่นั่นอยู่แล้ว เขาจะเป็นคนพาไป เหมือนกับเป็นตัวเชื่อมโยง เต้ (ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ช่างภาพ) จะเล่าเรื่องตรงนี้ได้ชัดเพราะ 3-4 เดือนแรกแทบจะถ่ายรูปไม่ได้เลย


 


(เต้ - ธวัชชัย) ครั้งแรกลงไปมันก็มีแต่ข่าวความรุนแรง ฆ่ากัน เห็นในทีวีก็เป็นแบบนี้หมด คลุมผ้า ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่พอผมลงไปก็ไม่คิดว่ามีอะไรหรอก เราลงไปมีนักข่าวพาไปมันก็ปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ว่าการที่เราจะเข้าไปแต่ละท้องที่ แต่ละถิ่น มันก็จะมีบรรยากาศ มีนิสัยของคนที่นั่นที่เฉพาะอยู่ เราจะเข้าไปยังไงให้ดูไว้ใจกัน ให้ดูกลมกลืนไปได้ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ถึงกับต้องอธิบายอะไร เห็นหน้ากัน ตื่นเช้ามาเจอหน้ากัน ก็โอเค ผ่านไปวันกับคืน คือผมเชื่อว่าคนเราตื่นมาเจอหน้ากัน มันก็เปิดหากันได้ง่ายขึ้น คุยกันได้ รู้สึกปลอดภัย ก็ไม่มีอะไร คือเราไปหลายที่ แล้วก็มีคนพาเข้าไป เขาก็สนิทสนมกับคนที่นั่นอยู่แล้ว มันก็ง่ายขึ้นในการที่เราจะเข้าไป


 


 


ส่วนใหญ่พื้นที่ที่ลงไปมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรง


ปัญหามันกระจายไปทั่วสามจังหวัด ทุกอำเภอ ความเข้มข้นเจือจางก็แล้วแต่พื้นที่ ถึงเมื่อวานไม่มีปัญหาก็ไม่มีใครรู้อยู่ดีว่า วันนี้จะมีปัญหาหรือเปล่า พรุ่งนี้จะมีปัญหาหรือเปล่า แต่ว่าทั้งหลายทั้งปวงมันคือทำเท่าที่ทำได้ มันไม่ใช่แบบสามารถไปเจาะลึกได้ว่า ใครเป็นคนบงการ บ้านอยู่ที่ไหน มีกี่คน นโยบายเป็นยังไง มันไม่สามารถสื่อไปถึงจุดนั้นได้ ด้วยตัวคนเดียว หรือทีมอิสระที่ไปกันสองคนอย่างนี้ด้วยระยะเวลาหนึ่งปี มันก็ทำได้เท่าที่ทำได้


 


แต่เรียกได้ว่า ทำได้น้อย ขนาดปีหนึ่งนะ ยังเป็นเวลาสั้นๆ แล้วก็รู้แค่บางเรื่องเท่านั้น เพราะแผ่นดินมันมีประวัติศาสตร์มาเป็นร้อยเป็นพันปี ปัญหาทับถมมาไม่รู้กี่ร้อยเรื่อง ภาษา วัฒนธรรม มันมีรายละเอียดเต็มไปหมดเลย กว่าที่คนแปลกหน้าสองคนจะเข้าไปใช้เวลาแค่ปีหนึ่ง มันก็รู้แค่แบบ...สมมติว่าเป็นบ้านหลังหนึ่งก็รู้แค่หน้าต่างบานเดียว นี่ขนาดปีหนึ่งนะ ถึงอยากย้ำว่า คนทำสื่อควรจะให้เวลากับมันมากที่สุด เพราะถ้าไม่งั้น สมมติไปวันเดียว ไปอาทิตย์เดียว รายงานมาเลย โอกาสที่จะผิดพลาดมันจะสูงมาก เพราะว่ามันจะไม่เห็นทั้งหมด


 


เหมือนเราเห็นหางอะไรสักอย่าง อาจจะคิดว่าเป็นหมา แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นเสือหรือเป็นแมวก็ได้คนเราเห็นไม่ทั้งหมด มองภาพข้างหลังเห็นคนผมยาวๆ อาจจะคิดว่าเป็นผู้หญิง บางทีอาจจะเป็นผู้ชายก็ได้ ฉะนั้น การทำงานสารคดียิ่งเรื่องที่แหลมคมแบบนี้จึงจำเป็นมากๆ ที่ต้องให้เวลา แล้วก็เปิดใจกว้างๆ ฟังทุกฝ่าย เราลงไปก็พยายามไปฟังทุกเสียง จากตำรวจ ทหาร จากทางครู จากทางองค์กรเอกชน จากคณะกรรมการที่ทำงานเยียวยา จากทางสายมุสลิม จากชาวบ้าน พระ โต๊ะอิหม่าม เด็กวัยรุ่น คือพยายามฟังทุกเสียงเพื่อให้เห็นภาพต่อ


 


 


เห็นอะไรชัดเจนขึ้นบ้างมั้ย หลังจากอยู่ในพื้นที่มาระยะหนึ่ง


สิ่งหนึ่งที่ชัดๆ ก็คือ ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกศาสนา ได้รับผลกระทบหมด เรียกว่า ถ้าตรงนี้เป็นสงคราม ทุกคนเจ็บปวด มากบ้างน้อยบ้าง คือปัญหามันเกิดจากคนจำนวนน้อย แต่คนจำนวนมากที่เป็นผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบกระเทือน สถานการณ์อย่างนี้ทุกคนไม่มีความสุข ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง พวกเด็กๆ ที่เขาเรียนหนังสือ เย็นๆ แทนที่เขาจะได้ไปเดินเล่น ไปตลาด ไปนั่งเล่นกับเพื่อนๆ เรื่องเหล่านั้นมันก็หายไป ต้องรีบเข้าบ้าน


 


ทะเลสวยๆ น้ำตกสวยๆ...คือสามจังหวัดนี่ทะเลสวยๆ เต็มไปหมด แต่ไม่มีคนเลย มีน้อยมากๆ ถึงขั้นที่เรียกว่า หาดว่างเปล่า เราไปที่ไหนนี่เหมือนเราเป็นเจ้าของทะเลเลย...แม่ค้านั่งเหงา รถเลี้ยวเข้ามาที แม่ค้ามองมาว่าใครจะเข้าไปนั่งกินร้านเขาบ้าง เงียบมาก ธุรกิจท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง ปีหนึ่งที่เราไป เราแทบไม่เห็นฝรั่งสักคนเดียว ซึ่งผิดปกติ...เขาอาจจะมาเชียงใหม่ หรือไปหาดใหญ่ที่พ้นจากพื้นที่ตรงนั้น


 


 


เท่าที่เห็นคิดว่าปัญหาหลักๆ มันเกิดจากอะไร


(เต้ - ธวัชชัย) จริงๆ แล้วผมลงไป ผมไม่รู้เลยว่ามันเกิดจากอะไร ยิ่งฟังหลายด้าน ยิ่งงง คนนี้พูดอย่างนี้ คนมุสลิมพูดอย่างนี้ ทหารพูดอย่างนี้ ชาวบ้านพูดอย่างนี้ นักข่าวพูดอีกอย่าง นักข่าวอีกคนก็พูดอีกอย่าง ทั้งที่เรื่องเดียวกัน ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเกิดจากอะไร ก็เอาจากที่ตาเห็นจากที่รู้สึก...ก็เห็นว่ามีคนตาย มีคนเจ็บ มีทหาร มีความอึดอัด มีความตึงเครียด มีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น แต่เกิดอะไรจริงๆ ผมไม่รู้


 


(วรพจน์) คือมันทับถมมาเสียจน...คือถ้าเอาลงไปค้น ลงไปอยู่กับชาวบ้านจริงๆ มันก็เป็นอย่างที่เต้ว่าก็คือ อะไรก็ได้ พูดอะไรก็ถูก บอกว่าไม่รู้อะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นมุมมองของนักวิชาการเขาอาจจะบอกว่า...สรุปเป็นข้อๆ ว่าปัญหามีดังต่อไปนี้ ก็แล้วแต่มุมมองของใคร


 


 


การใช้ชีวิตที่นั่น ต้องระมัดระวังตลอดเวลาหรือเปล่า


(เต้-ธวัชชัย) ก็คงไม่ขนาดนั้น เพราะถ้าเราจะโดนจริงๆ มันก็ป้องกันอะไรไม่ได้ มันอยู่ที่ใจเรามากกว่า ถ้าเราไม่ระแวงไม่สนใจ มันก็ผ่านไป


 


(วรพจน์) คือแน่นอนว่า ความหวาดระแวงมันก็เกิดขึ้นเสมอๆ ก็รับรู้กันอยู่ทุกคนว่ามันไม่ใช่พื้นที่ปกติ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ คืออยู่ไปๆ ก็ทำใจ ชาวบ้านเขาก็คิดอย่างนี้ แล้วก็ต้องระมัดระวัง ไม่เอาตัวเข้าไปพื้นที่เสี่ยง แต่ก็เดากันอยู่ดีแหละว่า ตรงนี้เสี่ยงมาก ตรงนี้เสี่ยงน้อย ก็ไม่มีใครรู้อยู่ดี เป็นไปได้หมดทุกอย่าง เมื่อก่อนมีความเชื่อกันชัดเจนว่า ถ้าระเบิดเกิดขึ้นปุ๊บ ไปทำข่าว ไปถ่ายรูป ญาติไปเยี่ยมคนเจ็บได้ คือมันจบเกมแล้ว แต่ตอนนี้มันก็เปลี่ยนไปแล้ว จังหวะสองนี่น่ากลัวที่สุดเลย แล้วก็อาจจะมีจังหวะสามถัดมาอีกก็ได้ คืออะไรมันก็เกิดได้ ทุกคนก็ต้องพยายามเซฟตัวเอง


 


 


กับชุมชนไทยพุทธในพื้นที่เขามีความเห็นอย่างไร


ก็ไปนอนวัดหลายคืน ได้คุยกับพระ พระเขาก็กลัว แต่เขาก็อยู่ของเขาไป พระที่โน่นเขาเข้มแข็งนะ จริงๆ ไทยพุทธกับไทยมุสลิม ในระดับชุมชนก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่พักหลังก็ต่างคนต่างอยู่ คือไม่ได้มีอะไรกดดัน แต่การติดต่อสัมพันธ์กันลดน้อยลง เขาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ต่างคนต่างอยู่กันมากกว่า


ถึงตอนนี้มีความเห็นอย่างไรต่อนโยบายรัฐในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น


 


คือมันมีเยอะ แนวทางแก้ปัญหานะ ทาง กอส.(คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) ที่เขาลงไปทำ ก็เสนอไว้เป็นระบบระเบียบดี เราว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่ว่าคนไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติมากกว่า แนวทางต่างๆ มันเต็มไปหมด จากนักวิชาการ จากสื่อมวลชน จากนักวิจัย จากองค์กรต่างๆ ที่เข้าไปเต็มไปหมดเลย แต่ด้วยความที่ว่ามันรุนแรงมาก ซับซ้อนมาก เกิดมายาวนานทับถมต่อเนื่องมาก เราเลยอาจจะมองว่าทำไมมันแย่ ทำไมมันไม่หยุดเสียที


 


คือความซับซ้อน ความใหญ่ของมัน ความหมักหมมของมัน มันไม่สามารถแก้ได้ภายในสามวันเจ็ดวัน ภายในเดือน หรือภายในปีหนึ่ง มันเป็นปัญหาที่ต้องแก้กันอีกนาน แล้วก็ต้องทำด้วยความอดทน เข้มแข็งกับมัน คือถ้าเชื่อในแนวทางนี้ สรุปวิเคราะห์ ระดมสมอง ผู้มีประสบการณ์ลงพื้นที่ ข้อมูลมีแล้ว ก็ทำกันต่อไป มั่นคงกับแนวทางแก้ไข คือมันไม่สามารถแก้ได้ทันใจทุกฝ่าย ทันใจสื่อมวลชน ทันใจประชาชนทั้งประเทศ


 


เราเลยอาจจะมองว่า ดูมันไม่คืบหน้า ทำไมมันยังเกิดอยู่ แต่ว่าความจริงคือมันต้องใช้เวลามากๆ แล้วก็ต้องอดทน ไม่ใช่พอเห็นว่า เดือนหนึ่งยังแก้ไม่ได้ แล้วก็เอาระเบิดลงไปเลยดีกว่ามั้ย ตัดประเทศไปเลยดีกว่ามั้ย อย่างนั้นมันพูดง่ายเกิน


 


 


เท่าที่ดูสถานการณ์ มีความหวังบ้างมั้ย


ก็ได้แต่หวัง มันอยู่ที่ทุกๆ ฝ่ายด้วย คือถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้เข้มแข็งมันก็จะดีขึ้น ผู้แทนฯ ก็ทำหน้าที่ของตัวเอง คิดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ตำรวจทหารก็ทำตามหน้าที่ ครูก็ทำตามหน้าที่ให้เข้มแข็ง สอนหนังสือไม่ได้ไปสอนให้คนรบกัน ผู้นำทางศาสนาก็ทำตามหน้าที่ทางศาสนาของตัวเอง สื่อก็ทำหน้าที่หาข้อมูล ลึกซึ้งรอบด้านที่สุด ก็คงค่อยๆ คลี่คลายขึ้น แต่ถ้าครูก็เสี้ยมให้มาชนกัน นักข่าวก็เสี้ยมให้มาชนกัน หรือเรื่องศาสนาก็เสี้ยมให้มาชนกัน อย่างนี้มันก็จะเป็นปัญหา อย่างเรามีหน้าที่เขียนหนังสือก็ลงไปทำเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าเราทำอาชีพนี้แล้วส่ง SMS ไปออกทีวีว่า ขอให้พี่น้องไทยรักกัน มันคงไม่เกิดประโยชน์อะไรมากมาย ถ้าทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเอง น่าจะดีขึ้น


 


 


ได้แง่คิดอะไรบ้างกับเหตุการณ์ในภาคใต้


เหตุการณ์ภาคใต้มันน่าจะเป็นบทเรียนให้คนในแง่หนึ่ง คือการวิเคราะห์สื่อ ควรฟังความให้รอบด้าน ไม่ใช่มองอะไรง่ายเกิน อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ แล้วก็เชื่อไปหมดทุกอย่าง คือตรงนั้นยิงกันก็เป็นความจริง แต่วันหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมง ยิงกันสองนาทีเองนะ แต่อีกยี่สิบสามชั่วโมง ก็ยังมีเสียงสวดมนต์ เสียงละหมาด เสียงฝน ที่สวยงามอยู่...คือความจริงที่สงบเป็นภาพใหญ่กว่า ยังมีด้านอื่นๆ อีกเยอะแยะ...


 


การวิเคราะห์สื่อจำเป็นมากสำหรับคนไทย คนไทยจะไม่ค่อยแข็งแรงเรื่องนี้ เสพสื่อน้อย แล้วก็ในจำนวนที่เสพน้อยก็เชื่อมากเกิน ขาดการวิเคราะห์ ขาดการอ่านเยอะๆ ฟังเยอะๆ ฟังแค่ข่าวนิดเดียว ดูทีวีแค่ประโยคสองประโยค...ต้องฟังให้มาก ต้องดูให้เห็นความจริงทุกด้าน ดูนานๆ คิดนานๆ...จากเหตุการณ์ครั้งนี้ คนจะยิ่งตระหนักเรื่องนี้มากๆ ไม่งั้นมันจะเข้าใจผิดกันหมด ยิ่งเมินเฉย ยิ่งไม่สนใจมันจะยิ่งไม่เข้าใจกันไปใหญ่


 


ที่นั่นเป็นแผ่นดินที่น่าสนใจมากนะ มีเอกลักษณ์สูง เราว่าเราเดินทางมาพอสมควรนะ เห็นมาหลายประเทศ เห็นมาหลายจังหวัดทั่วประเทศไม่น่าจะน้อยกว่า 50 จังหวัด ที่นั่นถือว่าเป็นแผ่นดินที่มีเอกลักษณ์สูงมากๆ ความเข้มข้นความเป็นปึกแผ่นสูง มีบุคลิก มีความหลากหลาย มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ไม่ได้โอนเอนตามกระแสมากนัก...


 


คือโลกมันก็เป็นแบบนี้ ใครมีบุคลิกลักษณะยังไง ชนเผ่าม้งเป็นอย่างนี้ อาข่า ลีซู เป็นอย่างนี้ วัฒนธรรมความแตกต่างเป็นเรื่องที่ดีที่ควรรักษาไว้ ชาติพันธุ์ใคร เผ่าพันธุ์ใคร ภาษาใคร ไม่ใช่ถูกกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมด


 







 


 


 



 



 



 



 



 


000


 


 


ธวัชชัย พัฒนาภรณ์


ช่างภาพอิสระ


เจ้าของภาพประกอบหนังสือ "ที่เกิดเหตุ"


 


 


ได้จัดแสดงภาพที่ถ่ายมาบ้างหรือยัง 


(ธวัชชัย) ยังครับ แต่ก็ถ่ายมาพอสมควรเท่าที่ทำได้ รูปส่วนมากก็เป็นวิถีมุสลิมที่ไม่ค่อยมีคนได้เห็นกัน ชีวิตเด็กปอเนาะ โรงเรียน ตลาด ชุมชน ตอนที่เขาละหมาด ตอนประกอบพิธีกรรม 


 


(วรพจน์) ไม่ได้จัดแสดงภาพ แต่ก็ได้ไปพูดไปฉายสไลด์ที่ภูเก็ตให้นักศึกษา ให้คนที่สนใจมาดู ก็มีคนมุสลิมที่เขาเคร่ง เขาก็บอกว่า ภาพเหล่านี้เขาก็ไม่เคยเห็น คือไม่ใช่แค่ไม่เคยเห็นภาพที่มีคนไปถ่าย ในวิถีชีวิตจริงๆ เขาก็ไม่เคยเห็น อย่างเช่นภาพโรงเรียนปอเนาะ ถ้าเขาเป็นมุสลิมแต่ถ้าเขาไม่เคยเรียนปอเนาะเขาก็ไม่รู้ว่าในโรงเรียนปอเนาะเขาอยู่กันยังไง กินกันยังไง นั่งอ่านอัลกุรอ่านกันยังไง มีพิธีพี่สอนน้องยังไง เขาก็ไม่รู้ ทั้งๆ ที่เขาเป็นมุสลิม


 


 


ถ่ายไว้เยอะมั้ย


(ธวัชชัย) ก็เยอะครับ แล้วมาเลือกๆ เอา คืออย่างที่บอกว่า สามเดือนแรกแทบไม่ได้อะไรเลย พอหลังๆ มันเหมือนคอนเนคชั่นมันไปได้เรื่อยๆ มันก็มีที่ให้ไปเยอะ ตอนแรกๆ มาอยู่ศูนย์ข่าวอิศราสิบห้าวัน อาจจะออกไปวันเว้นวัน แล้วก็ออกไปแต่แถวๆ นั้น ออกไปกับนักข่าว แต่ตอนหลังได้ไปนอนในพื้นที่ ได้ใช้เวลามากขึ้น มันก็ได้อะไรมากขึ้น 


 


(วรพจน์) คือมันทำงานเอาแต่ใจไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปคุยกับคนนี้ให้ได้ มันไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ต้องดูความจริงด้วย เราจะไปติดตามชีวิตคนตัดยางทั้งวันทั้งคืน มันก็ไม่ได้ มันอาจจะอันตรายเกินไป บางทีเขาก็ไม่ไว้ใจที่จะให้เข้าไป จะไปอยู่กับครอบครัวเขายังไง มันก็ต้องทำตามความเป็นจริงที่จะทำได้ ตามขั้นตอนของความสัมพันธ์ สมมติอยากจะถ่ายเด็กที่ปอเนาะอย่างนี้ ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไป มันก็เป็นเขตหวงห้าม ไม่ให้ขึ้น ก็ต้องอาศัยนักข่าวที่ภรรยาของเขาเป็นครูอยู่ที่นั่น อะไรอย่างนี้ คือพอมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมันก็จะเกิดความอนุโลม อลุ่มอล่วยเกิดขึ้น คือเราเชื่อว่า ถ้าเราให้เวลากับมันมากๆ เราปรารถนาดี เราไม่ได้มุ่งร้าย ไม่ได้ไปฆ่าฟันใคร ไม่ได้เอาภาพไปใช้ในทางไม่ดี ก็คือระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เราก็เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน เราทำตามหน้าที่ของเรา พอเขาเห็น เกิดความคุ้นเคยไว้ใจ ก็ทำให้ทำงานได้ จะค่อยเป็นค่อยไปแบบนี้ เพราะเราไม่ได้เป็นองค์กรใหญ่ๆ เอาเงินไปจ้างเขา เอาเขามาเซต ไม่ใช่อย่างนั้น ก็คือตามชีวิตปกติ


 


 


ใช้ภาพขาวดำทั้งหมด


(ธวัชชัย) ก็ใช้กล้องธรรมดา ใช้ฟิล์มขาวดำ ไม่ได้ถ่ายแบบดิจิตอลแล้วเปลี่ยนมาเป็นขาวดำ แล้วก็ล้างอัดแบบเดิมๆ แบบที่เขาทำขาวดำกันมา มันก็มีความต่างอยู่ เพียงแต่ว่ามันต้องดูจากของจริง คือเราจับได้เราสัมผัสได้ เราก็ทำแบบนั้น แต่พอลงหนังสือจริงๆ แล้วมันก็ไม่เห็นหรอก มันอยู่ที่ต้นฉบับ ถ้ามีโอกาสก็คงได้แสดง


ข้อมูลประกอบ : "ที่เกิดเหตุ" บันทึก 1 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักพิมพ์openbooks, เม.ย.2550


บทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ครั้งแรก : เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ 4 ส.ค.2550


ขอขอบคุณ : เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ช่างภาพอิสระ เจ้าของภาพประกอบหนังสือ "ที่เกิดเหตุ" ที่เอื้อเฟื้อภาพ


หมายเหตุ : ผู้ใดจะนำภาพไปใช้ โปรดติดต่อกับเจ้าของภาพโดยตรงที่ tuche_t@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net