Skip to main content
sharethis

องอาจ  เดชา 


 


แสงสว่างวาบขึ้นท่ามกลางความมืดสลัวก่อนฟ้าสาง ทุกคนแม้จะหลับตาและมีมือปิดอยู่ ก็ยังรู้สึกได้ ความสว่างแผ่ไปในรัศมี 20 ไมล์ เจิดจ้าดุจดวงอาทิตย์เที่ยงวัน สามารถมองเห็นได้ไกลออกไปถึง 180 ไมล์ ในประวัติศาสตร์ยังไม่เคยมีปรากฏการณ์ใดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัวเช่นนี้มาก่อนเลย มันเหมือนเป็นลางบอกเหตุแห่งวาระสุดท้ายของมนุษยชาติ..." ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของไทย กล่าวถึงผลของการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2488   


 


เมื่อเดือนธันวาคม 2542  ณ ฐานทัพอากาศคล็าค (Clark Air Base) ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO) ร่วมกับหน่วยสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey : USGS)  และสถาบันวิชาภูเขาไฟและวิชาแผ่นดินไหวแห่งประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (The Philippine Institute of Volcanology and Seismology : PHIVOLCS) ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในอาเซียตะวันออกและอาเซียใต้และปฏิบัติการสนับสนุนของสถานีตรวจแผ่นดินไหวในสนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์


 


นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของไทย ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม และได้เขียนรายงานเรื่อง "ตัวอย่างคลื่นแผ่นดินไหวจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งล่าสุดของประเทศอินเดีย และประเทศปากีสถาน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2541" นำไปเสนอในที่ประชุมด้วย


 


"เพราะว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงานตรวจแผ่นดินไหวมากว่า 27 ปี ได้มีโอกาสศึกษาความเป็นมาของเหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นบนโลกใบนี้ และยังได้มีโอกาสรับทราบความโหดร้ายของ "เจ้าหนูน้อย" หรือ The Little Boy และ "เจ้าอ้วน" หรือ The Fat Man ระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกแรกที่ถูกนำไปใช้งานจริงที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือน สิงหาคม 2488 ก่อนการยุติ สงครามโลกครั้งที่ 2" นายอดิศร  กล่าว


 


เมื่อเดือน ก.ย.2547 ที่ผ่านมา เขามีโอกาสเดินทางไปรับการอบรมด้านการตรวจแผ่นดินไหวที่ห้องปฏิบัติการแผ่นดินไหว มลรัฐนิวเม็กซิโก โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา อีกทั้งมีโอกาสไปทัศนะศึกษาพิพิธภัณฑ์นิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐที่นิวเม็กซิโกนั้น


 


"เราจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อไม่อยากให้ประวัติศาสตร์นั้นซ้ำรอยอีกหนโดยเฉพาะในโอกาสที่อาวุธนิวเคลียร์ลูกแรกของโลกมีอายุครบ 62 ปีบริบูรณ์ในปี 2550 นี้  ดังนั้น ทำอย่างไรจึงจะให้ชาวโลกมีเป้าหมายร่วมกันในการกำจัดอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงเหล่านี้ และหันมาร่วมกันพัฒนาทางสันติเพื่อความผาสุกของประชาชนทุกคน"


 


เบื้องหลังการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์         งานพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์  มีขึ้นครั้งแรกที่มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) มลรัฐนิวเม็กซิโก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีภูเขาล้อมรอบ และห่างไกลจากชุมชนขนาดใหญ่ สหรัฐฯ จึงเลือกที่นี่เป็นที่ตั้งของโครงการฯ โรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฮานฟอร์ด (Hanford Nuclear Reactor) ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่สนับสนุนธาตุกัมมันตรังสี ส่วนประกอบสำคัญของระเบิดนิวเคลียร์


 


ในที่สุด ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระเบิดนิวเคลียร์จากธาตุพลูโตเนียม 239 ส่วน "เจ้าหนูน้อย" ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สองของโลก เป็นระเบิดนิวเคลียร์แบบกระจายตัว ทำจากธาตุยูเรเนียม 235


 


โดยทั่วไป  ธาตุที่นำมาทำระเบิดนิวเคลียร์มีไม่เกิน 6 ธาตุ  ได้แก่ ยูเรเนียม พลูโตเนียม ธอเรียม ดิวเทอเรียม ตริเทียม และ ลิเทียม โดยแต่ละธาตุ  อาจมีหลายไอโซโทป เช่น ยูเรเนียม-235 ยูเรเนียม-238 พลูโตเนียม-238 พลูโตเนียม-239 พลูโตเนียม-241 ธอเรียม-228 ธอเรียม-232 เป็นต้น


 


ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลก ถูกนำไปทดลองที่นิวเม็กซิโก ภายใต้รหัสตรินิตี (Trinity) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2488 ผลการทดลองปรากฏว่า  ประสบความสำเร็จทุกประการ ส่วน "เจ้าหนูน้อย" ถูกนำไปทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2488 ติดตามด้วย "เจ้าอ้วน" ถูกนำไปถล่มเมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2488


 


ว่ากันว่า โครงการแมนฮัตตัน เกิดขึ้นจากข้อแนะนำของ "อัลเบอร์ต ไอน์สไตน์" ที่ส่งไปยังประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ โดยการเขียนจดหมายและฝากบุคคลที่ไว้วางใจนำส่งท่านประธานาธิบดีถึงมือด้วยตนเอง


 


 


อานานุภาพของอาวุธนิวเคลียร์


อานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์นั้น นักวิทยาศาสตร์เคยเปรียบไว้ว่า ไม่ต่างจากดวงอาทิตย์ขนาดย่อมชะลอลงมาสู่โลก เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขออนุญาตนำข้อความบางตอนซึ่งเป็นบันทึกของนักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทอยู่ในโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของประเทศสหรัฐอเมริกาและของโลกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง


 


จากบทความเรื่อง  การตรวจจับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน  ที่เขาเคยนำเสนอไว้ใน วารสารอากาศวิทยา โดย กรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับเดือนกันยายน - ธันวาคม 2530 กล่าวถึงการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2488 ในตอนหนึ่ง


 


แสงสว่างวาบขึ้นท่ามกลางความมืดสลัวก่อนฟ้าสาง ทุกคนแม้จะหลับตาและมีมือปิดอยู่ ก็ยังรู้สึกได้ ความสว่างแผ่ไปในรัศมี 20 ไมล์ เจิดจ้าดุจดวงอาทิตย์เที่ยงวัน สามารถมองเห็นได้ไกลถึง อัลบูเกอร์กี (Albuquerque) ซานตาเฟ (Santa Fe) และ เอลปาโซ (El Paso) ที่อยู่ห่างออกไป 180 ไมล์


 


ในประวัติศาสตร์ ยังไม่เคยมีปรากฏการณ์ใดจากน้ำมือของมนุษย์ ที่ยิ่งใหญ่และน่ากลัวเช่นนี้มาก่อนเลย ท้องฟ้าถูกฉาบไว้ด้วยแสงสีอันบรรเจิด หลังจากนั้นประมาณ 30 วินาที เกิดกระแสลมกระพือโหมอย่างรุนแรงดุจพายุใหญ่ ตามด้วยเสียงคำรามกึกก้อง มันเหมือนเป็นลางบอกเหตุแห่งวาระสุดท้ายของมนุษยชาติ แสงสว่างอยู่นานประมาณนาทีครึ่ง กลุ่มควันรูปเห็ดจึงเริ่มบานตัวออก พวยพุ่งขึ้นสู่เบื้องบนในระดับสูงไม่น้อยกว่า 30,000 ฟุต..."


 


 


ผลจากอาวุธนิวเคลียร์


พลังงานจากอาวุธนิวเคลียร์มีอำนาจทำลายสูงมาก แสงวาบของการระเบิดมีความสว่างเจิดจ้าดุจดวงอาทิตย์ ผู้ที่มองตรง ๆ โดยไม่มีสิ่งใดป้องกันอาจตาบอดทันที แม้ผู้นั้นอยู่ห่างจากจุดระเบิดเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรก็ตาม


 


ทันทีที่ระเบิดนิวเคลียร์ทำงาน ลูกไฟจากการระเบิดแผ่ออกไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทุกทิศทางที่แรงระเบิดแผ่ออกไปย่อมเกิดคลื่นสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงเช่นกัน เสียงกัมปนาทจากการระเบิดดังกึกก้องไปไกลนับสิบกิโลเมตร แสงวาบจากการระเบิดมองเห็นได้ไกลนับร้อยกิโลเมตร ลูกไฟและแรงระเบิดสามารถทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นบริเวณกว้างนับสิบตารางกิโลเมตร ถึงไม่โดนลูกไฟโดยตรง แม้เพียงคลื่นความร้อนก็สามารถคร่าชีวิตได้ในพริบตา


 


การเปลี่ยนแปลงทั้งอุณหภูมิและความกดอากาศของสภาพแวดล้อมอย่างฉับพลันจากการระเบิด ก่อให้เกิดลมกระพือโหมอย่างรุนแรงดุจพายุใหญ่ ทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เศษวัสดุต่าง ๆ ที่ปลิวกระจัดกระจายไปทั้งด้วยแรงระเบิดและแรงลมสามารถทำอันตรายได้เช่นกัน บริเวณที่เป็นตำแหน่งของการระเบิด เกิดหลุมขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางหลายสิบเมตรด้วยอำนาจของแรงระเบิดและคลื่นความร้อนที่เผาผลาญดินและหินบริเวณนั้นให้ระเหิดหายไป


 


การะเบิดของอาวุธนิวเคลียร์สามารถก่อให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความเข้มข้นสูงในเวลาอันรวดเร็วดุจสายฟ้า ด้วยรังสีแกมมาผลผลิตจากการระเบิดไปกระตุ้นให้อนุภาคอิเล็กตรอนหลุดออกจากอะตอมของบรรยากาศโดยรอบ ผลคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูงจะทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ตามเส้นทางที่คลื่นเดินทางผ่านไป อันอาจหมายถึงการทำลายระบบโทรคมนาคมทั้งระบบ


 


กลุ่มควันรูปเห็ดที่พวยพลุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้าระดับสูงนับสิบกิโลเมตร อบอวลไปด้วยอนุภาคกัมมันตรังสี กลุ่มที่มีอานุภาพทะลุทะลวงมากที่สุดเป็นกลุ่มของอนุภาคนิวตรอนและรังสีแกมมา ที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิต ปริมาณแม้เพียงเล็กน้อยของอนุภาคกลุ่มนี้ยังสามารถทำลายวงจรคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งอาจหมายรวมถึงอุปกรณ์ของฝ่ายที่เป็นผู้จุดระเบิดเองด้วย


 


นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหว ได้เคยกล่าวสรุปถึงกรณีที่ ครบรอบ 60 ปีของการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลกเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ในส่วนของการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ศตวรรษที่ 20 เป็นที่รวมของเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของระเบิดนิวเคลียร์ และสงครามโลกทั้งสองครั้ง


 


"ศตวรรษที่ 21 จึงน่าจะเป็นศตวรรษแห่งการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความอยู่ดีกินดีของพลเมือง เป็นศตวรรษแห่งความร่วมมือระหว่างประเทศ และที่สำคัญ ขอให้ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งการทำลายอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปจากโลกใบนี้" นายอดิศร กล่าว.


 







 


ประมวลภาพภารกิจถล่มญี่ปุ่นด้วยระเบิดนิวเคลียร์ สิงหาคม 2488


 


 


สนามบินบนเกาะติเนียน


 


เจ้าหนูน้อยรอเวลา...


 


 


โฉมหน้าทหารชุดภารกิจถล่มฮิโรชิมา 6 สิงหาคม 2488


(แถวหลังจากซ้าย)


นาม                                                       หน้าที่


พันตรีโธมัส เฟียบี                                     ทิ้งระเบิด/นายทหารปืนใหญ่


ร้อยเอกธีโอดอร์ แฟน เคอร์ค                                  ผู้นำทาง


พันเอกพอล ทิบเบ็ตส์                                นักบิน/หัวหน้าชุด


ร้อยเอกโรเบอร์ต เลวิส                               นักบินผู้ช่วย


 


(แถวหน้าจากซ้าย)


จ่าสิบตรีโรเบอร์ต แครอน                           ประจำปืนท้าย


สิบเอกโจเซฟ สติบอริก                              พนักงานเรดาร์


จ่าสิบตรีไวแอ็ตต์ ดูเซ็นเบอร์รี                      วิศวกร


พลทหารริชาร์ด เนลสัน                              พนักงานเรดาร์


สิบเอกชูมาร์ด                                          พนักงานอิเลคทรอนิกส์


 


 


พันเอกพอล ทิบเบ็ตส์ ผู้ขับเครื่องบิน  "เอโนลา เกย์"


นำ "เจ้าหนูน้อย" ไปถล่มฮิโรชิมา 6 สิงหาคม 2488



เจ้าหนูน้อยทำงานเป้าหมายฮิโรชิมา 6 สิงหาคม 2488


 


 


อีกมุมหนึ่งอันเป็นผลงานของ "เจ้าหนูน้อย" ฮิโรชิมา 6 สิงหาคม 2488


 


 


นี่ก็อีกมุมหนึ่ง ฮิโรชิมา 6 สิงหาคม 2488


 


 


เอกสารอ้างอิง


อดิศร ฟุ้งขจร. การตรวจจับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินโดยวิธีทางแผ่นดินไหว. กรมอุตุนิยมวิทยา, กรุงเทพฯ, กันยายน - ธันวาคม 2530.


อุทกศาสตร์, กรม. สถิติการทดลองระเบิดนิวเคลียร์. กองทัพเรือ,  มิถุนายน  2542.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net