Skip to main content
sharethis


 


ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดูจะลดน้อยถอยลง ท่ามกลางการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะได้ผล ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเดินงานการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยการเชิญผู้นำศาสนาอิสลามระดับโลก เดินทางมาเยี่ยมเยือนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยืนยันแนวทางของของศาสนาอิสลาม คือ การสร้างสันติภาพเป็นระยะ


 


ล่าสุด "ศาสตราจารย์ดร.เอ็มดิน ซัมซุดดีน" ประธานองค์กรมูฮัมมาดิยาห์ และรองประธานสภาอูลามาแห่งอินโดนีเซีย เป็นอีกหนึ่งในผู้นำศาสนาอิสลามจากต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เชิญมาเยี่ยมเยือนและพบปะกับผู้นำศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


องค์กรมูฮัมมาดียาห์ เป็นองค์กรศาสนาอิสลามเก่าแก่ของประเทศอินโดนีเซีย ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1912 มีสมาชิก 35 ล้านคน จากจำนวนประชากรมุสลิม 190 ล้านคน นับเป็นองค์กรศาสนาที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของอินโดนีเซีย


 


องค์กรมูฮัมมาดียาห์มิได้มุ่งเน้นเรื่องกิจการศาสนาอิสลามอย่างเดียว แต่ดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนา ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และด้านสังคมด้วย


 


ที่สำคัญมีนักศึกษามุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางไปศึกษาในสถาบันการศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรมูฮัมมาดิยาห์จำนวนมาก จึงนับเป็นองค์กรที่มีสายสัมพันธ์กับมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับหนึ่ง


 


ต่อไปนี้ เป็นคำบรรยายของ "ศาสตราจารย์ ดร.เอ็มดิน ซัมซุดดีน" ในโอกาสพบปะกับผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2550


 


000


ศ.ดร.ดร.เอ็มดิน ซัมซุดดีน


ประธานองค์กรมูฮัมมาดิยาห์ และรองประธานสภาอูลามาแห่งอินโดนีเซีย


 


ขอบคุณพระเจ้าที่ให้โอกาสข้าพเจ้าได้มาเยือนเมืองปัตตานีเป็นครั้งแรก เมืองปัตตานีเป็นเมืองที่ข้าพเจ้าใฝ่ฝันและผูกพันด้านจิตใจ ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าคิดว่าเมืองปัตตานีเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ มีแต่ปัญหา และค่อนข้างล้าสมัย


 


เมื่อได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากเมืองหาดใหญ่มาปัตตานี ได้เห็นทัศนียภาพที่สวยงาม อุดมด้วยป่าไม้ และสิ่งต่างๆ เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ความเจริญ ไม่เป็นอย่างที่คิดมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้พบปะพูดคุยกับผู้นำศาสนา ทำให้เห็นถึงแนวคิด และความมุ่งมั่นของอูลามา (นักปราชญ์) ที่จะทำให้ภูมภาคนี้มีความเจริญ


 


สำหรับความเป็นมาของมุสลิมอินโดนีเซียนั้น ประเทศอินโดนีเซียมีประชากร 240 ล้านคน เป็นมุสลิม 88.2 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 190 ล้านคน การศาสนาอิสลามได้รับการเผยแพร่มากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่มีการหลั่งเลือด เป็นเพราะมารยาทอันดีงามของมุสลิมนั่นเอง


 


ก่อนที่จะมีการสถาปนาประเทศอินโดนีเซียขึ้นมา มีรัฐเล็กๆ ที่ปกครองด้วยระบอบอิสลามมาก่อน โดยเฉพาะอาเจะห์, เรียว, กาลิมันตัน หรือรัฐต่างๆ ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินโดนีเซีย แต่เมื่อเราสามารถประกาศเอกราชในปี 1945 พวกเราผนวกรวมเป็นแผ่นดินเดียวกัน ภายใต้นโยบาย "ปัญจะสีละ"


 


ก่อนที่จะได้รับเอกราชและร่างสนธิสัญญาขึ้นมานั้น หนึ่งในสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1945 มีข้อหนึ่งบัญญัติว่า ทุกคนต้องดำเนินชีวิตภายใต้กฎหมายของอิสลาม โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม


 


เนื่องจากข้อบัญญัตินี้ สามารถก่อปัญหาขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีประชากรนับถือศาสนาอื่นๆ นอกจากศาสนาอิสลามด้วย โดยเฉพาะชาวคริสเตียน ทำให้บรรดาอูลามา หรือผู้ร่างสนธิสัญญาสมัยนั้น พากันยกเลิกสนธิสัญญาข้อนี้ เพื่อให้สามารถร่วมกันอยู่ในประเทศได้อย่างสงบสุข


 


การยกเลิกข้อสำคัญในสนธิสัญญา ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ ทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมอินโดนีเซียอย่างกว้างขวาง


 


มีคำถามมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มมุสลิมด้วยกันว่า การกระทำหรือการตัดสินใจยกเลิกข้อบัญญัติดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลามหรือไม่


 


หลังจากที่มีการถกเถียงของนักวิชาการ โดยเฉพาะอูลามาจากองค์กรนะห์ฎอตุลอูลามา(NU) และนักวิชาการจากองค์กรมูฮัมมาดิยาห์ ต่างชี้ชัดวัดว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม หากเป็นการยืนยัน ถึงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของท่านนบีมูฮัมหมัด ซ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม (ซ.ล.) ซึ่งประกาศไว้ว่าอิสลามเป็นศาสนาแห่งประชาชาติ ไม่ใช่เป็นศาสนาที่จำกัดเฉพาะศาสนาเดียวเท่านั้น


 


ชื่อองค์กรมูฮัมมาดิยาห์เอง ก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า มูฮัมหมัด ซึ่งเป็นศาสนทูตของศาสนาอิสลาม ด้วยความเข้าใจที่ครอบคลุมว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งประชาชาติ เป็นศาสนาที่ยืนหยัดในเรื่องสันติภาพ และความร่มเย็นของสังคม


 


หลังจากได้ดำเนินองค์กรนี้มาเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว ขณะนี้องค์กรมูฮัมมาดิยาห์ ไม่เฉพาะขยายไปทั่วอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ขณะนี้มีสมาชิกทั่วภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยซึ่งมีผู้แทนขององค์กรมาร่วมด้วย


 


นอกจากนี้มีตัวแทนจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และจะขยายไปที่กัมพูชา เรามีเยาวชนอินโดนีเซียไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทั้งกลุ่มประเทศอาหรับ ฮอลแลนด์ อังกฤษ เยอรมัน เยาวชนเหล่านี้ ได้แพร่ขยายแนวคิดมูฮัมมาดิยาห์ด้วย โดยมีกระแสตอบรับจากประชาชนทั่วโลกเป็นอย่างดี


 


ขณะนี้องค์กรมูฮัมมาดิยาห์ มีภารกิจและการขยายสาขาเพื่อพัฒนาสังคม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ซึ่งมีโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ 14,000 กว่าแห่ง มหาวิทยาลัย 57 แห่ง โรงพยาบาลเกือบ 480 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า มัสยิด กองทุนสหกรณ์ ซึ่งชี้ชัดว่า องค์กรมูฮัมมาดิยาห์ มุ่งมั่นจะพัฒนาสังคมรอบด้าน


 


ผู้ริเริ่มก่อตั้ง คือ หะยี อะหมัด ดะห์ลาน ซึ่งศึกษาที่เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้กลับมาเปิดสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเริ่มสอนลูกศิษย์ ด้วยอายะห์ (โองการ) อัลกุรอ่าน 4 - 5 อายะห์ ที่เน้นการช่วยเหลือเด็กกำพร้า และส่งเสริมให้เลี้ยงอาหารให้คนจนและอนาถา คนที่ไม่เลี้ยงดูคนจนและอนาถา อัลลอฮฺ (พระเจ้าที่มุสลิมนับถือ) ทรงสาปแช่ง


 


หลังจากเปิดสอนได้ 4 เดือน ลูกศิษย์ได้ท่องจำอัลกุรอ่านอายะห์ดังกล่าว พร้อมความหมายอย่างถูกต้อง จึงรอที่หะยีอะหมัด ดะห์ลาน สอนอายะห์ใหม่ แต่เขาก็ยังยืนยันจะสอนอายะห์เดิม จึงถูกถามว่าเหตุใดไม่พยายามสอนบทใหม่


 


เขาตอบว่า แม้ท่านได้ท่องจำอัลกุรอ่านถี่ถ้วนแล้ว ที่สำคัญท่านยัง ไม่เข้าใจและยังไม่ปฏิบัติคำสอนที่ปรากฏในอายะห์นั้นได้อย่างครบถ้วน


 


ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า อิสลามเป็นศาสนาที่เรายึดมั่นและเป็นศาสนาที่ถูกต้อง เป็นศาสนาที่ได้รับการรับรองจากอัลเลาะห์ เป็นศาสนาที่ยืนหยัดในเรื่องสันติภาพ โดยเฉพาะกับสัญลักษณ์และบทบัญญัติต่างๆ สอนให้มุสลิมทุกคนดำรงตนอยู่ในกระบวนการสันติภาพ


 


อันเห็นได้จากคำกล่าว ก่อนที่มุสลิมจะออกจากการละหมาด ที่ว่า อัสลามุอาลัยกุม (ความสันติจงมีแด่ท่าน) ทางขวาและทางซ้าย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความสันติภาพอย่างแท้จริง เป็นการยืนยันว่า อิสลามส่งเสริมให้กระจายและเผยแพร่สันติภาพให้เกิดขึ้นบนโลกนี้


 


น่าเสียดาย ที่ขณะนี้โลกพากันชี้หน้าว่าศาสนาอิสลาม อยู่ตรงข้ามกับสันติภาพ เป็นศาสนาที่สุดโต่ง เป็นศาสนาที่กระหายเลือด สร้างความสับสนวุ่นวายให้สังคม


 


ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ และท่านทั้งหลายต้องยึดมั่นคำสอน ยืนหยัด และเป็นประจักษ์พยาน ในการนำคำสอนของอิสลามสู่สันติภาพในสังคม


 


สิ่งที่ข้าพเจ้าปลาบปลื้มและดีใจเป็นอย่างยิ่ง ในการเดินทางมาครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าในหลวง ที่ให้โอกาสพูดคุยหนึ่งชั่วโมง จากที่เดิมกำหนดไว้เพียง 15 นาทีเท่านั้น


 


ข้าพเจ้าได้ยินเสียงที่พระองค์ท่านรับสั่งว่า ฉันเป็นพระราชาแห่งปวงชนชาวไทย ฉันไม่ได้เป็นราชาเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น แต่เป็นกษัตริย์แห่งปวงชนชาวไทย


 


ในหลวงทรงรับสั่งว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ และอย่างใหญ่หลวง ซึ่งพระองค์เอ่ยชื่อประธานาธิบดีของอเมริกาว่า ได้ตัดสินและตราหน้าอิสลามเป็นศาสนาแห่งความโหดร้าย จริงๆ แล้วเท่าที่พระองค์ได้ศึกษาอิสลาม พระองค์ยืนยันว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ


 


คำพูดของพระองค์ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของอิสลาม ที่จะรักษาปกป้องและยืนยันในสันติภาพ


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอัลกุรอ่าน ที่กล่าวว่า "ฉัน (อัลเลาะห์) ไม่ได้ส่งท่าน (นบีมูฮัมหมัด) เว้นแต่เพื่อดำรงไว้ซึ่งความโปรดปรานและความดีแก่มวลสากลจักรวาล" ซึ่งสากลจักรวาล ครอบคลุมบรรดาสรรพสัตว์ และบรรดาอาลัม (ทุกสิ่งที่อยู่ในสากลจักรวาล) ทั้งหมด


 


นอกจากศาสนาอิสลามดำรงไว้ซึ่งสันติภาพแล้ว สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของอิสลาม คือ ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นศาสนาแห่งความยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อเราได้อ่านคุตบะห์ (เทศนาธรรม) ในวันศุกร์ ผู้อ่านมักจะทวน อัลกุรอ่าน ที่ส่งเสริมและกำชับให้มุสลิมดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และความดี "แท้จริงอัลลอฮได้ทรงกำชับให้มุสลิมทุกคนดำรงตนไว้ซึ่งความยุติธรรมและความดี"


 


สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม คือ เป็นศาสนาแห่งความเจริญ เป็นศาสนาที่สร้างอารยธรรมที่สูงส่ง มุ่งส่งเสริมให้มนุษย์ทุ่มเทพละกำลังต่างๆ เท่าที่มีความสามารถ เพื่อสร้างคุณประโยชน์และพัฒนาสังคมให้เกิดขึ้น


 


นอกจากนี้ อัลเลาะห์ได้กล่าวในกุรอ่านมีความหมายว่า มนุษย์ต้องอยู่ในวังวนแห่งความยากลำบาก แร้นแค้น และความเกรี้ยวโกรธของอัลเลาะห์ ตราบใดที่เขายังไม่สามารถจะยื่นความสัมพันธ์กับอัลเลาะห์ และสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน


 


การสร้างความสัมพันธ์กับอัลเลาะห์ คือ การปฏิบัติศาสนกิจ การเคารพภักดีที่ถูกต้อง ส่วนการสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน คือ การเชื่อมสัมพันธ์และการสร้างมิตรไมตรีที่ฝังลึก และสร้างความรัก และสำนึกร่วมกันในการสร้างความเจริญ ทุกวิถีทางการดำเนินชีวิต ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจและสังคม


 


จากสถิติของสันนิบาตโลกมุสลิม ซึ่งได้คาดการณ์จำนวนประชากรมุสลิมบนโลกว่า ปัจจุบันมีประมาณ 1,300 ล้านกว่าคน ถ้าไม่รวมศาสนาคริสเตียน ซึ่งมีนิกายออธอด็อกกับโปรแตสแตนส์เข้าด้วยกัน ถือว่าศาสนาอิสลามมีประชากรนับถือมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก


 


ข้อเท็จจริงแล้ว เรามีแค่ปริมาณที่มากมายเท่านั้น แต่ไร้คุณภาพ เราแทบไม่กำลังที่จะสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ โดยในโลกมุสลิมมีผลผลิตทางเศรษฐกิจเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


 


เราไม่สามารถสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องได้ เราเป็นประชาชาติที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือมากที่สุด ถูกบิดเบือน ถูกล่อลวงจากกลุ่มที่ไม่หวังดี เราจะหาทางออกกับปัญหานี้ได้อย่างไร


 


ในการสัมมนาวิชาการโลก ซึ่งข้าพเจ้าเป็นสมาชิกสมาพันธ์การเผยแผ่อิสลามโลก เป็นรองเลขาธิการประชาคมโลกมุสลิม ข้าพเจ้าเคยเสนอปัญหานี้ในที่ประชุมที่ประเทศมาเลเซีย และเคยเสนอในการสัมมนาเรื่องอิสลามกับการท้าทายในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งโลกมุสลิมจัดขึ้นเป็นประจำ


 


ข้าพเจ้าคิดว่า เราต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นการกระทำของสหรัฐอเมริกา หรือชาวยิว แบบไม่ลืมหูลืมตาไม่ได้อีกแล้ว เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย


 


ข้าพเจ้าขอให้ท่านทั้งหลาย เปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ใหม่ โดยเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของคำว่า ญีฮาด ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะใช้คำว่า อัล - ญีฮาด ไปในทางที่ค่อนข้างจะจำกัด ที่ผ่านมาเราใช้ความหมายของคำนี้ ในทางการต่อสู้หรือประหัตประหารซึ่งกันและกัน


 


ขณะนี้เราควรเปลี่ยนยุทธศาสตร์การญีฮาด เป็นญีฮาดลินมูวาญะฮะห์ หรือการต่อสู้เพื่อทุ่มเทพละกำลัง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สนามการแข่งขันที่ดีกว่า


 


พี่น้องมุสลิมทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความดีและความยำเกรง


 


ขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับพี่น้องต่างศาสนิกด้วย เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว สังคมมีความหลากหลายด้านเผ่าพันธุ์และศาสนา


 


ความต้องการของอัลเลาะห์ ที่จะสร้างมนุษย์ขึ้นมา ไม่ว่าจะมากขนาดไหน ไม่ใช่เพื่อสร้างศัตรูซึ่งกันและกัน แต่เพื่อการรู้จักซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกัน


 


ท่านทั้งหลายอย่าได้ท้อ ท่านทั้งหลายเป็นผู้ที่สูงส่งหากท่านเป็นผู้ที่ศรัทธา และท่านต้องยึดมั่นและเตรียมในการสร้างความเข้มแข็งสู่การพัฒนาสืบไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net