Skip to main content
sharethis

การสำรวจแร่โปแตชและเกลือหิน ตามพรบ.แร่ 2510 มาตรา 6 ทวิ1


พื้นที่แหล่งแร่เกลือหินและแร่โปแตชในภาคอีสานส่วนใหญ่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อการสำรวจตาม พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  ซึ่งเดิม รมต.กระทรวงอุตสาหกรรม ใช้อำนาจตามมาตรา 6 ทวิ  ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดพื้นที่สำหรับ การสำรวจ การทดลองการศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ตามมาตรา 6 ทวิ วรรคแรก และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจประกอบกิจการทำเหมืองแร่ยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตร ได้เป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง ในพื้นที่ที่ทางราชการสงวนไว้ เพื่อการสำรวจฯ โดยทางราชการจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อการปฏิบัติไว้ เพื่อการสำรวจแร่ คือ แร่ดีบุกและแร่หนักที่มีค่าทางเศรษฐกิจ แร่ถ่านหิน (ลิกไนต์)  แร่โลหะเศรษฐกิจ หินน้ำมัน  แร่โปแตชและเกลือหิน


 


ซึ่งภายหลังได้สำรวจแหล่งแร่ต่าง ๆ ตามมาตรา 6 ทวิ มีพื้นที่ประมาณ  78,611 ตร.กม. ( 15.26 %) ของพื้นที่ประเทศและได้กำหนดเขตแหล่งแร่ตามมาตรา 6 จัตวามีพื้นที่ 6,790 ตร.กม. (1.3 %) ของพื้นที่ประเทศไทย  ทั้งนี้ในพื้นที่ที่ได้สำรวจเหมืองแร่โปแตชและเกลือหิน  ที่ออกประกาศกระทรวงตามมาตรา 6 ทวิ คือประกาศ อก.6 กุมภาพันธ์ 2522 และลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ประกาศราชกิจจาฯ 20 กุมภาพันธ์ 2522  กำหนดให้ท้องที่ จ. หนองคาย จ.อุดรธานี จ.สกลนคร จ.นครพนม จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และ จ.ศรีสะเกษ เนื้อที่ 44,120 ตารางกิโลเมตร  มีเงื่อนไงเป็นเขตสำหรับทางราชการดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ โดยบางส่วนเปิดโอกาสให้ยื่นคำขอฯได้เป็นกรณีพิเศษตามประกาศกระทรวงลงวันที่ 25 มกราคม 2532


 


ประกาศ อก.11 เมษายน 2529 ประกาศราชกิจจาฯ17 เมษายน 2529 ท้องที่ บางส่วน อ.บำเหน็จณรงค์ และ อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ และ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 630 ตรกม.  เป็นเขตสำหรับราชการดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่


 


ประกาศ อก. 25 มกราคม 2532 ประกาศราชกิจจาฯ 7 กุมภาพันธ์ 2532 ท้องที่ อ.เมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ให้ยื่นคำขออาชญาบัตรและประทานบัตรได้เป็นกรณีพิเศษ ในพื้นที่สงวนสำหรับการศึกษาฯ ตามประกาศกระทรวง วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2522  เงื่อนไข  ให้ยื่นคำขออาชญาบัตรและประทานบัตรสำหรับแร่ชนิดอื่นนอกจากแร่โปแตช และแร่เกลือหินได้ เป็นกรณีพิเศษ


 


ประกาศ อก.18 พฤษภาคม 2543 ประกาศราชกิจจาฯ15 มิถุนายน 2543 ในท้องที่ แอ่งสกลนคร จังหวัดอุดรธานี   เนื้อที่ 846 ตารางกิโลเมตร มีสาระสำคัญให้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรได้เป็นกรณีพิเศษ ตามประกาศกระทรวง ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2522  มีเงื่อนไขบังคับคือให้บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยื่นคำขอ อาชญาบัตรพิเศษและ ประทานบัตร เฉพาะแร่โปแตชได้เป็นกรณีพิเศษ เป็นการดำเนินการตามสัญญาระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณี กับบริษัท เอเซียเปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2527 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537


 


อำนาจหน้าที่ในการอนุญาตเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ


ภายหลังจากมีการปฎิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อปี 2540 ได้มีการแบ่งส่วนราชการกันใหม่   กรมทรัพยากรธรณีที่ยังสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มีหน้าที่ ตาม พรบ.แร่ ปี 2510  มาตรา 6 ทวิ  ที่ระบุว่า 


 


เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลองการศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เปลี่ยนจากเดิมที่เคยเป็นอำนาจของ รมต.กระทรวงอุตสาหกรรม) มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใดๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลองการศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้


ภายในเขตที่กำหนดตามวรรคหนึ่งผู้ใดจะยื่นคำขออาชญาบัตรประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา


 


เมื่อหมดความจำเป็นจะใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ดังกล่าวตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษา


 


มาตรา6 ตรี  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกรมทรัพยากรธรณี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในการกระทำเพื่อประโยชน์แก่การสำรวจ การทดลองการศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่


 


มาตรา6 จัตวา  เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใดที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ที่ได้ทำการสำรวจแล้วปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อออกประทานบัตรชั่วคราวหรือประทานบัตรได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินในพื้นที่นั้นแต่ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย 


 


ทั้งนี้ในปัจจุบัน กรมทรัพยากรธรณีมีอำนาจหน้าที่ตาม มาตรา ๖ ทวิ มาตรา ๖ ตรี และมาตรา ๖ จัตวา แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ . ศ . 2510 และนัยกฎกระทรวงแบ่งส่วน ราชการกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี ดังนี้



1 . สำรวจและประเมินสถานภาพ ศักยภาพ และความต้องการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณี เพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


2 . จัดทำระบบฐานข้อมูลธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณี ที่สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ


3 . จำแนกพื้นที่และจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากรธรณีแต่ละ ประเภท เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดกรอบการจัดการทรัพยากรธรณี ให้สอดคล้องกับศักยภาพ และขีดความสามารถในการรองรับ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน


4 . จัดทำแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรธรณีเพื่อการใช้ประโยชน์อย่าง ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่น โดยลดความขัด แย้งพร้อมกับเพิ่มมูลค่าในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชนและประเทศชาติ


5 . เสนอปรับปรุงกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการบริหารจัด การทรัพยากรธรณีอย่างเป็นเอกภาพ


 


ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่   และมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและผลิตแร่  และภายหลังจากที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.แร่ ปี 2545 ระบุสาระเรื่องการทำเหมืองแร่ใต้ดินลึกเกิน  100 เมตรได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินด้านบนไว้ตามหมวด 4/1  ใน มาตรา 88/3 


 


"การทำเหมืองใต้ดินผ่านใต้ดินของที่ดินใดที่มิใช่ที่ว่าง  หากอยู่ในระดับความลึกจากผิวดินไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร  ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองในเขตที่ดินนั้นได้"


 


ทำให้มีกลุ่มทุนเอกชนทั้งในและต่างประเทศต่างยื่นขอสำรวจแต่โปแตชและเกลือหินในอีสานที่มีประกาศคุ้มครองตามเงื่อนไขมาตรา 6 ทวิซึ่งได้มีการพิจารณาเปิดพื้นที่ในการสำรวจแร่ไปแล้วตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม 18 พฤษภาคม 2543 ประกาศราชกิจจาฯ15 มิถุนายน 2543 ในท้องที่ แอ่งสกลนคร จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ 846 ตารางกิโลเมตร มีสาระสำคัญให้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรได้เป็นกรณีพิเศษ ในเขตพื้นที่สงวนสำหรับ การศึกษาฯ ตามประกาศกระทรวง ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2522  มีเงื่อนไขบังคับคือให้บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยื่นคำขอ อาชญาบัตรพิเศษและ ประทานบัตร เฉพาะแร่โปแตชได้เป็นกรณีพิเศษ เป็นการดำเนินการตามสัญญาระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณี กับบริษัท เอเซีย โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2527 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537


 


นอกเหนือจากโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีที่ได้สำรวจแล้วนั้น  ยังมีความพยายามที่จะยื่นสำรวจและผลิตแร่โปแตชอีก ในพื้นที่ 5 จังหวัด  6 โครงการในอีสานได้แก่  มหาสารคาม  นคราชสีมา  สกลนคร  ชัยภูมิ  และขอนแก่น    แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้เอกชนเข้าสำรวจได้เพราะยังติดต้องขออนุญาตเปิดพื้นที่จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียก่อน   มีข่าววงในว่าทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กับกระทรวงอุตสาหกรรม มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่เพื่อการสำรวจ  เพราะฝ่ายกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการที่ให้มีการเปิดพื้นที่สำรวจแร่โปแตชและเกลือหินในเขตที่มีการประกาศ 


 


อย่างไรก็ตามล่าสุดข่าวว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เพื่อให้มีการทำโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานทั้งหมด 6 โครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่นอกเหนือจากโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  โดยมี นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะ ก.ก.พิจารณาอนุมัติเปิดพื้นที่สำรวจเหมืองแร่ มาตรา 6 ทวิ  เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้เปิดพื้นที่สำหรับสำรวจ ทดลอง ศึกษา หรือวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้กับเอกชนเข้ามาขออาชญาบัตร ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรเป็นกรณีพิเศษ โดยมีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวง-ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ทำหน้าที่ในการพิจารณาจัดทำหลักเกกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตเปิดพื้นที่และเสนอเรื่องให้  รมต. พิจารณาลงนามอนุมัติอีกครั้ง หากมีการอนุมัติจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป


 


ความตายของใครบางคนและนโยบายเหมืองแร่ในประเทศไทย


ที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายเหมืองแร่  ไม่เคยมีประชาชนในพื้นที่แหล่งแร่มีส่วนร่วมในการกำหนดเลย  ทำให้พบว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการละเมิดสิทธิ  มีความขัดแย้งและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนมากที่สุด


 


เมี่อปี 2547 คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและตรวจสอบกรณีปัญหาเหมืองแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดทำรายงานการศึกษาข้อมูล กรณีปัญหาเหมืองแร่โดยระบุว่า


 


"ที่ผ่านมาการพัฒนาทรัพยากรแร่และทรัพยากรธรณีอื่น ๆ ของประเทศไทย พัฒนาจากฐานคิดของภาครัฐ ที่เอื้อให้นายทุนภาคเอกชนทำกิจการเพื่อประโยชน์ของตัวเองและจ่ายค่าการเอื้อประโยชน์จากรัฐในรูปค่าภาคหลวง โดยอ้างประโยชน์ในการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนที่มีความเกี่ยวข้อง โดยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของทรัพยากรของชุมชน ทำให้เกิดปัญหา การละเมิดและลิดรอนสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต คุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ของชุมชนตลอดมา"


 


คณะอนุกรรมการศึกษาและตรวจสอบกรณีปัญหาเหมืองแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับข้อร้องเรียนในกรณีปัญหาจากเหมืองแร่เป็นจำนวนมากจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย เช่น กรณีมลพิษจากเหมืองตะกั่ว คลิตี้-เคมโก้ จ.กาญจนบุรี  กรณีเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี  ที่รัฐแก้ไขาพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่อันเอื้อประโยชน์เฉพาะต่อกลุ่มทุน  กรณีการพัฒนาเหมืองหินที่มีความรุนแรงในการข่มขู่ คุกคามต่อประชาชนที่คัดค้าน จนถึงขั้นการลอบสังหารแกนนำ เช่น กรณีโรงโม่หิน ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก  และกรณีโรงโม่หินที่เขาชะอางกลางทุ่ง กิ่งอำเภอเขาชะเมา จ.ระยอง  ซึ่งเป็นเหตุต่อการลอบสังหาร นายพิทักษ์ โตนวุธ  และนายนรินทร์  โพธิ์แดง  ตามลำดับ  นอกจากนี้ยังมีกรณีที่อยู่ในระหว่างการขอประทานบัตร และการคัดค้านของชุมชน เช่น โครงการเหมืองแร่แคลไซต์ที่เขาบุ่งกะเซอร์ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี  เป็นต้น


 


กรณีโรงแต่งแร่ตะกั่วคลิตี้ ที่สร้างผลกระทบต่อเนื่องยาวนานก่อนให้ประชาชนเจ็บป่วย  และได้รับการพิสูจน์ว่าส่งผลถึงเขื่อนศรีนครินทร์และแม่น้ำแม่กลอง นับว่าส่งผลกระทบกว้างถึงระดับภูมิภาคลุ่มน้ำแม่กลอง  ในขณะเดียวกันโครงการทำเหมืองแร่ที่ต้องการผลผลิตในปริมาณมากก็ส่งผลถึงความวิตกกังวลต่อชุมชนในวงกว้าง ดังเห็นได้จากกรณีโครงการเหมืองแร่ใต้ดินแร่โพแทช จ.อุดรธานี หรือโครงการเหมืองถ่านหิน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่


 


ทั้งนี้เทคโนโลยีการทำเหมืองและการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในแทบทุกกรณีปัญหาต่าง ๆ มีความบกพร่องทั้งทางด้านเทคนิค  วิชาการ และความบกพร่องของผู้ประกอบการ รวมถึงการปล่อยปละละเลยของหน่วยงานดูแล ควบคุม และอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นสาเหตุหลักของการร้องเรียน


 


ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่และส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรแร่  นโยบายเหมืองแร่ในประเทศไทยที่ปรากฏตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 


ช่วงที่ 1  ระหว่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-5 (พ.ศ. 2504 - 2529) นโยบายช่วงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู 


 


ช่วงที่ 2 ระหว่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 - 8 (พ.ศ. 2530 - 2544) นโยบายช่วงปรับเปลี่ยนเป็นแร่อุตสาหกรรมและการปรับโครงสร้างการผลิตแร่ครั้งใหญ่ของไทยจนถึงช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 


 


ช่วงที่ 3 เป็นนโยบายตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 - 10 (พ.ศ. 2545 -ปัจจุบัน) ที่เน้นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู  การพัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้การใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ


 


อย่างไรก็ตามทั้ง 3 ช่วงนโยบายจะเห็นได้ว่ามีแต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐผู้อนุญาตและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเหมืองแร่ต่าง ๆ  ในประเทศโดยไร้การมีส่วนร่วมของประชาชนแต่ประชาชนต้องรับชะตากรรมจากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม   ในหมู่นักสิ่งแวดล้อมและนักสุขภาพอุตสาหกรรมเหมือแร่คือ "ฆาตรกร"  ตัวร้ายที่เกิดขึ้นเพื่อคุกคาม  ขับไล่  ไปจนถึงเข่นฆ่าประชาชนในท้องถิ่นหากขวางทางสายการพัฒนาแหล่งแร่ 


  


การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายเหมืองแร่


ต่อกรณีเหมือแร่โปแตชในภาคอีสานเป็นกรณีปัญหาที่มีการถกเถียงกันมายาวนาน  นับแต่เริ่มความคิดที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมชนิดนี้  ทั้งนี้เพราะเกิดการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี  กระจายผลให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่องเหมืองแร่ชนิดนี้ไปอย่างกว้างขวางในหมู่คนอีสาน  และภาคส่วนต่างของสังคม  


 


ภายหลังได้ทราบข่าวการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการเปิดให้เอกชนเข้าสำรวจแร่โปแตชเพิ่มใน 6 พื้นที่ทั่วอีสานเกือบ7 แสนไร่นั้น  ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง  ๆ ที่ระบุตามมาตรา 6 ทวินั้นได้ประสานความร่วมมือกันในนามของคณะทำงานศึกษาและติดตามผลกระทบจากเหมืองแร่  ภาคอีสาน(คตร.อีสาน)  ขึ้น  โดยได้เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เรื่องขอให้คงมาตรา 6 ทวิเพื่อคุ้มครองพื้นที่ที่กำลังมีการยื่นขอสำรวจไว้ก่อน   เมื่อวันที่15 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา    ห้องประชุมชั้น 1 กรมทรัพยากรธรณี   โดยมีนายเสถียร สุคนธ์พงเผ่า รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  นายพิทักษ์  รัตนจารุรักษ์   ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี  นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง  ออกมารับหนังสือพร้อมด้วยเปิดห้องพูดคุยเจรจา 


 


ในหนังสือระบุเหตุผลว่า แร่โปแตชและเกลือหินเป็นทรัพย์สมบัติของชาติที่สามารถนำมาสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมให้กับประชาชนภายในชาติได้เป็นอย่างดี  และมีความเปราะบางเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมหากมีการนำขึ้นมาใช้ ซึ่งปัจจุบันประชาชนในหลายจังหวัดของภาคอีสานก็ได้ประสบกับปัญหาผลกระทบจากการทำนาเกลือและต้มเกลืออย่างรุนแรง จึงขอเรียกร้องมายังรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า


 


1) ขอให้คงมาตรา 6 ทวิ เอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน


 


2) ขอให้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ โดยกำหนดให้แร่โปแตชและเกลือหินเป็นแร่ยุทธศาสตร์ชาติที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนหรือความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเป็นหลัก สามารถเลือกพัฒนาแหล่งแร่โปแตชและเกลือหินให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประชาชนอีสานเป็นสำคัญ ไม่ใช่อนุญาตรายโครงการเต็มไปหมดทั่วผืนแผ่นดินอีสานเช่นนี้ ซึ่งจะนำมาซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างรุนแรง ซึ่งยากที่จะแก้ไข ฟื้นฟูและเยียวยาได้


 


3) ขอให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณาเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ ของกระทรวงฯ ด้วยมิใช่กำหนดเพียงฝ่ายราชการในการกำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งจะก่อความขัดแย้งกับประชาชนในภายหลัง


 


4) ขอเอกสารการประชุม และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เกี่ยวกับการพิจารณาเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ และการพัฒนาโครงการเหมืองแร่โปแตชทั้งหมดในภาคอีสาน


 


ด้านนายพิทักษ์  รัตนจารุรักษ์   ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี ตัวแทนของกรมทรัพยากรธรณี  กล่าวชี้แจงว่า  "ปัจจุบันนี้ได้มีการตั้ง คณะทำงานพิจารณาจัดทำร่างหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเปิดพื้นที่ให้สำรวจและผลิตแร่โปแตช ตามาตรา 6 ทวิของพรบ.แร่ปี 2510  ซึ่งประกอบด้วยข้างราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และได้จัดทำหลักเกณฑ์เสร็จแล้วแต่ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใดยังอยู่ในการพิจารณาของ รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และหาก รมต.เห็นชอบตามข้อเสนอของกรรมการ  ก็จะลงนามและประกาศในราชกิจานุเบกษาถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าว  หากเอกชนที่ยื่นสำรวจมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวก็จะพิจารณาเปิดพื้นที่ให้สำรวจต่อไป"


 


อย่างไรก็ตามนายพิทักษ์  กล่าวว่า  "หลักเกณฑ์มันก็เหมือนคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ยื่นคำขออนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่  เหมือนจะสมัครเข้าเรียนชั้นมัธยม  ก็ต้องมีคุณสมบัติว่า  ต้องจบประถมก่อน  ต้องสัญชาติไทย   ไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อ ฯลฯ ข้อเสนอของพี่น้องชาวอีสานเรื่องการเข้าร่วมเป็นกรรมการร่างหลักเกณฑ์การเปิดพื้นที่ให้อาชญาบัตรสำรวจนั้น  ตนและคณะในวันที่จะได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีต่อไป  และจะได้แจ้งความคืบหน้าต่อประชาชน  และส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องตามที่ร้องขอให้ คตร.ต่อไป"  


 


นายธีระวัฒน์  พืชผักหวาน  คณะทำงานฯ คตร. กล่าวว่า   "บัดนี้ล่วงเลยเวลามานานแล้วทางฝ่ายกรมทรัพยากรธรณียังไม่ได้ติดต่อกลับมายังคณะทำงานฯ แต่อย่างใด   ยังไม่ได้เอกสารชี้แจง  อย่างไรก็ตามการเรียกร้องครั้งนี้ของเครือข่ายพี่น้องชาวอีสาน  ก็เพื่อการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น  ก่อนที่จะมีความขัดแย้งเหมือนเกิดที่อุดรธานี  และเหมืองแร่อื่น ๆ  ในประเทศไทยหากหลักเกณฑ์ที่ว่ามันเป็นคุณสมบัติเพียงเล็กน้อยอย่างที่  ทางเจ้าหน้าที่  กรมทรัพยากรธรณีกล่าว  ทำไมการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้าไปเป็นกรรมการพิจารณาหรือร่างหลักเกณฑ์ถึงเป็นไปไม่ได้และซับซ้อน  เพียงแค่ข้อมูลโครงการ  การยื่นสำรวจทำไมจึงตอบหนังสือสักฉบับมาถึงเราไม่ได้  อันนี้นับเป็นข้อเรียกร้องเพื่อการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรแร่ของประชาชนจากชุมชนถ้องถิ่นที่ถูกครอบงำโดย  รัฐ มาโดยตลอดและจะเป็นข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งว่าจะมีที่ยืนสำหรับประชาชนหรือไม่  หรือจะไล่ต้อนให้พวกเราเข้าไปชูธงสู้รบกับนโยบายกันบนถนน" 


 


สรุปข่าวประจำฉบับ


เตะถ่วงประเมินยุทธศาสต์เหมืองโปแตชเอื้ออิตัลไทย


กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เดินทางเข้าพบนายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เมื่อ15 พ.ค. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้เร่งศึกษายุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตชของประเทศ (Strategic Environmental Assessment ; SEA ) ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีและโครงการเหมืองแร่โปแตชอื่นๆ ในภาคอีสาน


 


นายสุพจน์  เลาวัณย์ศิริ  กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้ไปประสานกับหน่วยงานรับผิดชอบที่มีอำนาจตัดสินใจในส่วนกลาง เพราะที่ผ่านมา ปัญหานี้ผ่านผู้ว่าฯ มาแล้ว 3 คนปัญหายังวนเวียนไม่สามารถแก้ไขได้เพราะมีแต่การตั้งคณะกรรมการพูดคุยกันในระดับพื้นที่เท่านั้น


 


นายเลิศศักดิ์   คำคงศักดิ์  ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา  กล่าวว่า ขณะนี้มีเอกชนยื่นขอสำรวจและผลิตแร่โปแตชในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.ชัยภูมิ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ทั้งสิ้น 7 โครงการ รวมพื้นที่ ประมาณ 654,145 ไร่


 


ที่ผ่านมาเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชมีปัญหามาตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่จ.อุดรธานี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  จึงมีมติเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2549 และเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2549 และครม. มีมติ "รับทราบ" มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม


 


ระบุว่า "ให้ศึกษาประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์( Strategic Environmental Assesment ; SEA ) เพื่อการบริหารจัดการการด้านสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาแหล่งแร่โปแตช ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่พิจารณา และระบุว่าควรเพิ่มประเด็นในการพิจารณาความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรแร่ ในกรอบยุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตช และส่งเสริมให้ดำเนินการภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง"


 


นายเลิศศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า ที่ผ่านมาเกี่ยวกับ SEA เหมืองแร่โปแตช ไม่มีความคืบหน้าเพราะมีข้อติดขัด เช่น มีตัวแทนจากฝ่ายกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เห็นว่าไม่อาจดำเนินการได้เพราะขาดเทคโนโลยีและงบประมาณ


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน เมษายน 2550 ที่ผ่านมาทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้ดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ หรือ SEA โครงการเหมืองแร่โปแตชทั้งหมดในอีสาน และขณะนี้ สผ. ได้เริ่มขบวนการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยด้านเทคนิคอาจจะต้องใช้หลุมสำรวจที่มีอยู่เดิมประมาณ 200 หลุมในการศึกษาศักยภาพแหล่งแร่ และศึกษาให้เห็นชัดเจนว่ามีชุมชนอยู่ในเขตแหล่งแร่มากน้อยเพียงใด ขณะนี้เป็นเพียงการพูดคุยกันเบื้องต้นเท่านั้น


 


นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า การศึกษาประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์เหมืองแร่โปแตช ไม่คืบหน้าแม้จะมีมติกรรมการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นปี 2549 เนื่องจาก กพร. ระบุ


 


"จะเป็นไปได้ต้องให้บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นคนศึกษา โดยระบุเงื่อนไขว่าจะต้องอนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ให้บริษัทอิตาเลียนไทยก่อน เพราะการศึกษาดังกล่าวต้องลงทุนสูง  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา กพร. กระทรวงอุตสาหกรรม มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี  กพร.เข้าข้างบริษัทเร่งรัดการรังวัดปักหมุดโดยไม่มีการประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จนเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน 5 คน จากรณีการรังวัดปักหมุดที่ไม่ถูกขั้นตอน  และการต่อรองว่าต้องให้ประทานบัตรแก่บริษัทอิตาเลียนไทยก่อน แล้วให้บริษัทเป็นผู้ประเมินเชิงยุทธศาสตร์  มีเบื้องหลังอะไรหรือไม่จึงแตะถ่วงขบวนการศึกษา SEA โดยยึดมั่นเพียงแนวทางส่งเสริมหรือพยายามอย่างที่สุดเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์แก่บริษัทเอกชน  การประเมินแบบใดก็ตาม จะไม่มีประโยชน์หากมีธงอยู่แล้วว่าจะอนุมัติโครงการ


 


"หาก กพร.ยังไม่เปลี่ยนทิศทางยุทธศาตร์การพัฒนาเหมืองแร่ใหม่ เพื่อประชาชนแล้ว การพัฒนาเหมืองแร่โปแตชไปพร้อมกัน ก็จะเป็นอัตรายกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอีสาน หากมองว่าเกลือและแร่โปแตชเป็นแร่ยุทธศาสตร์ของชาติ เพราะมีอยู่มากในอีสาน ก็ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อภาคเกษตรกรรม คิดยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งให้เกษตรกรพ้นจากบ่วงหนี้สิน คำนึงถึงประชาชนในชาติมากกว่าจะมาต่อรองให้บริษัทเอกชน"


(ที่มา : http://www.manager.co.th/15/5/50)


 


ต้านโพแทชปฏิเสธเวทีสังคม


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ออกมารับหนังสือร้องเรียน และร่วมประชุมกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี หรือกลุ่มต้นเหมือนแร่โพแทน จำนวน 10 คน โดยการนำของนายบุญมี ราชพลแสน รองประธานกลุ่มฯ เรื่องโครงการเหมืองแร่โพแทช จ.อุดรธานี และปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งนายสุพจน์ฯรับปากจะแก้ปัญหาด้วยความสมานฉันท์ โดยยังคงยืนยันให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งตัวแทนเข้าร่วมคณะทำงาน 7 คน เพื่อจัดเวทีในเรื่องของ "สังคม"


 


นายบุญมี ระบุว่า ร่วมคัดค้านเหมืองโพแทชมากว่า 5 ปี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้ว 3 ท่าน มีการตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานขึ้นมาหลายชุด แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง แนวคิดผู้ว่าราชการจังหวัดถือเป็นเจตนาดี แต่กลุ่มเกรงว่าจะเป็นการไล่ต้อน ชาวบ้านเข้าร่วมกระบวนการรังวัด เพื่อออกประสานบัตร ไม่เคยให้ความสำคัญกับ ประเด็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นควรให้มีการศึกษา ยุทธศาสตร์การจัดการแร่โพแทชของประเทศ 3 ด้าน คือ ด้านพัฒนาเศรษฐกิจ ด้านจัดการสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม จึงมีมติไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมในคณะทำงาน


 


นายบุญมี ระบุอีกว่า บริษัทฯใช้วิธีการเดินสายเข้าคุยกับทุกภาคส่วน มีการว่าจ้าง เกณฑ์ชาวบ้านไปล้างสมอง หลอกเยาวชนเพื่อมาต่อสู้กับพ่อแม่ ประกบตัวผู้นำ เพื่อพาไปเลี้ยงข้างหรือซื้อรายหัว ละเลยเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ชาวอุดรธานี และยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในหมู่ราษฎร ด้วยการสร้างกระแสให้ชาวบ้านเกลียดชังกันเอง ล่าสุดจากกรณีงานบุญบั้งไฟ บ.โนนทรายฟอง ม.9 ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมบริษัทได้ใช้เงิน 10,000 บาท สนับสนุนขบวนแห่แต่เกิดการคัดค้าน ที่ประชุมหมู่บ้านมีมติให้งดการจัดขบวนแห่ กลับมีชาวบ้านอีกกลุ่มละเมิด จึงเกิดการยกพวกเข้ารุมทำร้ายชาวบ้านกลุ่มไม่เห็นด้วย ต่อหน้าต่อตาพนักงานกิ่งอำเภอ และผู้ใหญ่บ้าน


 


น.ส.ประพินพรรณ สุดชูเกียรติ ผจก.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บ.เอเชียแปรซิกฟิกโปแตส คอร์เปอร์เรชั่น จก. หรือ เอพีพีซี. ตอบข้อซักถามว่า วันเกิดเหตุไมได้อยู่ในพื้นที่ กลับมารับแจ้งว่า มีเหตุวิวาทของชาวบ้านจริง ขณะที่คนส่วนหนึ่งยู่ในอาการเมา แต่ความจริงจะเป็นอย่างไร ให้ไปสอบถามกับชาวบ้านเอง ในส่วนของบริษัทฯที่ผ่านมา ได้ยึดแนวทางตามข้อตกลง จะไม่เคลื่อนไหว หรือสนับสนุนกิจกรรมจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ชาวบ้านในพื้นที่รับทราบเรื่องนี้ ทำให้ไม่มีชาวบ้านกลุ่มใด มาขอรับการสนับสนุนตามที่ระบุ


 


น.ส.ประพินพรรณ กล่าวยอมรับว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ บริษัทจัดกิจกรรมงานสงกรานต์ ยึดหลักแนวทางประเพณีที่ ต.ห้วยสามพาด และ ต.หนองไผ่ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมของบริษัทเอง ไม่ได้ไปสนับสนุนหน่วยงาน จากนั้นมาก็ไม่มีกิจกรรมอีก


 


อย่างไรก็ตามทันทีที่ "อิตาเลี่ยนไทย" เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน เอพีพีซี. ได้ทำตามคำเรียกร้องฝ่ายคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกรังวัด การแก้ปัญหาคดีกับชาวบ้าน หรือการทำตามมติคณะทำงาน โดยล่าสุดบริษัทฯตัดสินใจ ยื่นเรื่องขอเข้ารังวัดแนวเขตเหมือนหาแล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของขอประทานบัตร


  


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ อาจจะเกิดการเผชิญหน้ากันอีก เพาะในวันที่ 19 พฤษภาคม จะมีงานที่วัดพิชัยพัฒนาราม ต.ห้วยสามพาด กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และวันที่ 28-29 พฤษภาคม จะมีงานที่วัดป่าห้วยน้ำออก ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ปาคม (ที่มา : www.udontoday.com;17/5/50 )


 


กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯเผาหุ่น"เปรมชัย"ต้านเหมืองโปแตช


กลุ่มชาวบ้านชมรมอนุรักษ์อุดรฯ จับมือสมัชชาประชาชนอุดรฯ รณรงค์ปลุกคนเมืองร่วมต้านโปแตช เผาหุ่น "เปรมชัย" ประกาศขับไล่บริษัทอิตเลียนไทย ย้ำ กพร. ต้องประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ภาพรวม 7 โครงการเหมืองโปแตชในอีสานก่อน


 


เวลาประมาณ 10.00 น. วานนี้ (19 พ.ค.50) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีประมาณ 600 คนมารวมตัวกันที่บริเวณลานทุ่งศรีเมืองเพื่อตั้งขบวนรณรงค์คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีผ่านห้าแยกน้ำพุซึ่งเป็นย่านธุรกิจของเมืองอุดร โดยได้มีกลุ่มเยาวชนคนฮักถิ่น ได้ออกเดินแจกใบปลิวข้อมูลปัญหาที่เกิดจากความเคลื่อนไหวรังวัดปักหมุดเขตเหมืองแร่ของฝ่ายบริษัทอิตาเลียนไทย


 


ทั้งนี้ได้มีกลุ่มแกนนำสมัชชาประชาชนจังหวัดอุดรธานีมาร่วมเดินและออกแถลงการณ์สนับสนุนการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชของกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีด้วย    


 


นายประจวบ แสนพงษ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเปิดเผยว่า กลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเข้าใจกับคนเมืองว่าขณะนี้ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้เข้าไปทำงานสร้างความแตกแยกให้กับประชาชนในพื้นที่


นายประจวบกล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทได้แถลงชัดว่าได้ยื่นขอเข้ารังวัดปักหมุดเหมืองแร่ และได้มีรองผู้ว่าฯ คือนายพิทยา สุนทรพิพาท ให้ความเห็นว่าให้ตั้งกรรมการฝ่ายอุตสาหกรรม เพื่อเข้ารังวัดปักหมุด และรองผู้ว่าคนเดี๋ยวกันนี่เองที่เคยได้ลงนามคำสั่งรังวัดปักหมุดครั้งก่อนเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องถูกแจ้งความดำเนินคดี 5 คนเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นศาล เมื่อผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามา กลุ่มฯ ได้เข้าพบให้ข้อมูลว่า เมื่อต้นปี 2549 ได้มี มติกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ศึกษาประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ก่อน หมายถึงศึกษาทุก ๆ พื้นที่ในภาคอีสานซึ่งกำลังมีการยื่นขอสำรวจรวมแล้วกว่า 650,000 ไร่


 


"แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ว่า กลุ่มจึงได้ทำหนังสือถึงกรมอุตสหากรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผ่านผู้ว่าคนใหม่คือ นายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ให้เร่งดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาตร์ของเหมืองแร่โปแตชทั้ง 7 แห่งใน 6 จังหวัดภาคอีสานตามมติกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ก่อนจะดำเนินรายโครงการ" นายประจวบกล่าว


 


ด้านนายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ ผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนอุดรธานี กล่าวว่า   "ผมในฐานะคนเมืองอุดรธานีก็รู้สึกว่าจะต้องออกมามีส่วนร่วม เพราะจะปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ลำพังก็เหมือนเป็นการกินแรงชาวบ้าน ผมและสมัชชาประชาชนฯ ในฐานะคนเมือง ก็เลยอยากมีส่วนร่วมสนับสนุน และคงจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ คนเมืองจะต้องรับรู้และสนับสนุนชาวบ้านให้มากขึ้น เพื่อข้อมูลเรื่องเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีจะได้เป็นที่รับรู้และเข้าใจในหมู่คนเมืองให้มากขึ้น จะไม่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เพราะเราเป็นคนอุดรฯ เหมือนกัน"


 


สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างคึกคัก คนเมืองออกมายืนดู รับเอกสารแถลงการณ์และปรบมือให้กำลังใจ เป็นระยะๆ ก่อนที่ขบวนจะเคลื่อนไปรวมตัวบริเวณห้าแยกอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรฯ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือศรัทธาของคนอุดรฯ เพื่อทำพิธีบวงสรวงบูชา โดยการจุดธูปเทียนบูชา และเป่าแคนบวงสรวง  หลังจากนั้น นายประจวบ แสนพงษ์ ได้นำอ่านคำประกาศจุดยืนในการคัดค้านเหมืองแร่โปแตช พร้อมกันนี้ได้มีนายเจิรญ หมู่ขจรพันธ์ ผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนอุดรธานี ร่วมอ่านแถลงการณ์ร่วมคัดค้านเหมือแร่โปแตช แล้วทำพิธีเผาหุ่นฟางนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานกรรมการบริหารของบริษัทอิตาเลียไทย และนายพิทยา สุนทร พิพาทรองผู้ว่าฯ จังหวัดอุดรธานี   พร้อมทั้งกล่าวสาปแช่งและโห่ร้องขับไล่บริษัทอิตาเลียนไทย ดังสนั่นท่ามกลางผู้คนที่ออกมายืนดู และรถราที่วิ่งกันขวักไขว่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ อปพร.อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น ก่อนจะสลายการชุมนุมในเวลาประมาณ 12.00 น.


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net