สุริยันต์ ทองหนูเอียด : "ต้นทางประชาธิปไตย" เริ่มต้นที่ไหน ปลายทางไปที่นั่น

สุริยันต์ ทองหนูเอียด

ผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม กลุ่มเพื่อนประชาชน

       





"อย่างในกรณี เช กูวารา เขาสามารถเข้าถึงประชาชนได้ ก็เพราะเขามีความรักในเพื่อนมนุษย์และมีความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง การที่เข้าถึงประชาชนได้ ทำให้เขาได้ลงมือทำงานจริง ๆ มิใช่รู้แต่ทฤษฏี และกลุ่มชนที่เขาปฏิบัติงานด้วยได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเขา และพวกนี้เองที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญ ในการทำงานร่วมกันการเสวนาช่วยให้ผู้นำ และประชาชนร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การปฏิวัติที่แท้จริง จะสร้างสรรค์ชีวิตที่เต็มไปด้วยความรัก"

เปาโล แฟร์

จากหนังสือเรื่อง "การศึกษาสำหรับผู้ถูกกดขี่"

 

 

หลังเหตุการณ์เมื่อคืนที่ 22 กรกฎาคม 2550 แล้ว ดูเหมือนว่า สังคมไทยได้รู้อะไรบางอย่างมากยิ่งขึ้น

 

"ปรากฏการณ์สนธิ"ก่อนที่เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรประชาธิปไตยจะเข้าร่วมอย่างเต็มตัวในคืนที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าฯ นั้น อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักก็ คือ โค่นล้มระบอบทักษิณ ด้วยการขุดค้น ตรวจสอบในนาม "เมืองไทยสัญจร"ภายใต้ธงนำ "ถวายพระราชอำนาจ" ดังปรากฏทั้งบนเวทีสวนลุ่มพินี และในทั่วทุกภูมิภาค

 

นั่นคือต้นทางของ "ปรากฏการณ์สนธิ" ซึ่งแม้ว่าเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะพยายามเปลี่ยนธงกลางสนามหลวง เพื่อนำไปสู่การเมืองภาคประชาชน รณรงค์จัดการศึกษาเคลื่อนไหวสังคม ในนาม "อารยะขัดขืน" อยู่พักใหญ่แล้ว ก็ตาม

 

หากแต่ความแตกต่างทางอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ และต้นทางการเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นที่ต่างกันสุดท้าย เขาก็ไม่อดทนพอที่สร้างประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนที่สันติอย่างยื้อเยื้ออีกต่อไป แต่นั่น ไม่ใช่เหตุผลหลักหรอกที่พวกเขาต้องประกาศขอใช้ "มาตรา 7 เพื่อขอรัฐบาลพระราชทาน"

 

การเคลื่อนไหวที่ตีบตันกับต่อสู้เพื่อโค่นล้มของรัฐบาลทุนนิยมต่างหาก แต่พวกเขายังไม่มีบทเรียนพอ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ คราวนั้นก็ได้สร้างบรรทัดฐานหลายเรื่องที่สาธารณชนได้เรียนรู้

 

1.การเคลื่อนไหวมวลชน ต้องสร้างชอบธรรมอย่างมีเหตุ มีผล กลุ่มผู้ชุมนุมต้องกำหนดกรอบ กติกาและเคารพกฎของระบบประชาธิปไตย ไม่สุ่มเสี่ยง ไม่รุนแรง ดังคำขวัญที่ว่า "เปลี่ยนผ่านอย่างสันติ"

 

2.แกนนำจะต้องไม่นำพามวลชนไปสู่การระเบิดทางอารมณ์ ปลุกมวลชน จนคุมสภาพไม่ได้

 

3.การจัดการการชุมนุมต้องมีระบบที่มีประสิทธิภาพและกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้าใจ รู้บทบาท ภาระหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย

 

อย่างไรก็ดี การนัดการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ ในวันที่ 20 กันยายน 2549 นั้น ย่อมไม่ใช่หนังสือหรือบัตรเชิญ ให้ทหารมาทำการรัฐประหาร ตามข้อกล่าวหาฝ่ายตรงกันข้ามไม่

 

ทั้งนี้ เพราะเหตุผลหลักตามคำประกาศในการทำรัฐประหารของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "คปค." ซึ่งเป็นคณะบุคคล อันประกอบด้วย กลุ่มทหาร ตำรวจ และ พลเรือน ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นก็คือ

 





"ด้วยเป็นที่ปรากฏความแน่ชัดว่าการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง

 

แม้หลายภาคส่วนสังคม จะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้

 

ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด

 

ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งเทิดทูนไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน"

 

 

คำประกาศเช่นนี้ ย่อมชัดเจนอยู่แล้วว่า นี่ไม่ใช่บัตรเชิญของพันธมิตรฯ เพื่อชวนคนมาชุมนุมใหญ่ แล้วก่อให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย จนเป็นเหตุทำให้ทหารต้องออกมารัฐประหารเพื่อรักษาความสงบ

ประวัติศาสตร์ประการนี้ ไม่ได้มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนประการใดๆ ทั้งนี้ เพราะการประกาศชุมนุมของพันธมิตรฯ หรือใครๆ ก็ย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว

 

เหตุผลหลัก 4 ประการข้างต้น ต่างหากเล่า คือ "ต้นทางของการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549"

และต้นทางแบบนี้แหละ...ที่ทักษิณยอมรับไม่ได้ และโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง

 

ทั้งนี้ เพราะเขาเชื่อมั่นว่า เงินตรา อำนาจและกลไกราชการทั้งหมด เขาคุมสถานการณ์ได้ และยังโชว์อำนาจและความมั่นใจชนิดนั้นผ่านการเดินทางไปยังต่างประเทศ ทั้งอเมริกาและยุโรป เสียด้วยซ้ำ

นี่กระมังที่ทักษิณเชื่อ เขาเชื่อกระทั่งว่า "สั่งผีให้โม่แป้งได้" เขาก็คิดว่าที่ผ่านมา เขาสั่งผีได้

 

ดังนั้น ต้นทางของความคับแค้นชนิดนี้ ก็คือ ต้นทางของการโค่นล้ม "คมช.และป๋าเปรม" ในนาม "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" หรือ นปก. ซึ่งก็คือ องค์กรต้นทางของความคับแค้นดังกล่าว

แหละนี่คือ ที่มาของบันทึกสีม่วงและการปิดล้อมสี่เสาเทเวศร์ ในคืนของวันที่ 22 กรกฎาคม 2550

 

แต่...การเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้น ดูเหมือนว่า นปก. ยังไม่ตอบคำถามแรกต่อเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 22 กรกฎาคม 2250 เลยว่า "ใครเป็นผู้ใช้ความรุนแรง...ก่อน" หรือนี่คือ "วิถีแห่งอาริยะขัดขืน" ชนิดใหม่

เรา, ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในสถานการณ์จริง จึงตอบตรงๆ แบบนั้นไม่ได้

 

แต่คำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือว่า แกนนำ นปก. ก็รู้อยู่แล้ว การเคลื่อนไหวลักษณะสุ่มเสี่ยง เอาหัวเข้าชนฝาชนิดนี้ ย่อมนำไปสู่ความรุนแรงที่มีแต่ความสูญเสียและเพิ่มวิกฤติที่เป็นอยู่ให้หนักมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

และนอกจากนั้น แกนนำทั้งหลาย ต้องตอบสังคมว่า ต้องการให้เกิดอะไร อีกทั้งยังต้องบอกว่า...พวกท่านได้แสดงความรับผิดชอบต่อมวลชนกับเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นอย่างไร เว้นแต่ว่าพวกท่านประสงค์จะให้เป็นอย่างนั้น

 

เรา,ยังสงสัยไม่หายว่า ทำไม แกนนำ นปก. โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวบางท่าน ต้องการสร้างสถานการณ์เช่นนี้ เพื่ออะไร อะไรคือตัวตนที่แท้จริงของ กลุ่มแนวร่วม การจัดตั้งองค์กรต่อสู้เคลื่อนไหว หรือวิธีการทำงานแบบไหน หรือแค่ระเบิดอารมณ์ไปสู่ต้นทางความขัดแย้งเกลียดชัง แค่นั้นก็พอแล้ว

 

เพราะการทำแบบนี้ เรา ยังไม่รู้ว่า...ประชาชนจะได้เรียนรู้อะไรการเคลื่อนไหวครั้งนี้เลย

 

และที่สำคัญ มันกลับทำให้คุณค่าการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนที่สะสมมานานหลายสิบปีจะต้องกลับไปทำความเข้าใจกับสาธารณชน และอาริยะประเทศกันใหม่เสียด้วยซ้ำว่า

 

การเสนอข้อเรียกร้องชอบธรรม อะไรคือวิธีการเคลื่อนไหวแล้วชอบธรรมด้วย

 

อะไร...เป็นการยกระดับบรรทัดฐานสังคม อะไรคือสันติวิธี และอะไร คือ..ความไม่รุนแรง

ทั้งนี้ เรา, ผู้เขียน ยังต้องขอเตือนไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องด้วยว่า พวกท่าน อย่าผสมโรง อย่าตีโง่ หรือ อย่าตบตาประชาชน หรือ แอบเตี้ยม อะไรกัน และห้ามใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยเด็ดขาด

 

เราเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับข้อเสนอของหลายองค์กรที่ให้รัฐดึงกลไกภาคสังคม เข้ามามีตรวจสอบมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยเฉพาะนักวิชาการทั้งหลายจะต้องทำให้ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยครั้งนี้ได้รับการบันทึกอย่างถูกต้องโปร่งใส อย่าลืมว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยังไม่เคยถูกชำระอย่างชัดแจ้ง

 

เรา ไม่อยากเห็นสังคมไทย เดินไปสู่ปลายทางแห่งหายะ บนความสะใจของใครบางคน

ใครบางคน...ที่เป็นต้นทางของความคับแค้นชนิดนี้ อีกทั้ง เรายังต้องชวนภาคประชาสังคม พูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อข้ามพ้นความขัดแย้งจากต้นทางชนิดนี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างสันติ การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 สร้างเงื่อนไขอะไรได้บ้าง

 

หน้าที่อีกประการหนึ่งของภาคประชาสังคม ก็คือ เราต้องส่งกลับทหารเข้ากรมกองโดยสวัสดิภาพ

ทั้งนี้ เราคงไม่ต้องให้เกิด "รัฐประหารผลัดสอง" ออกมาครอบงำการเมืองไทยอีกรอบเป็นแน่แท้

 

และขณะเดียวกัน เราก็ไม่กลับไปขอใช้มาตรา 7 เหมือนเช่นที่ผ่านมา เช่นกัน

 

และนั่น คือ คำถามสำคัญที่ว่า พวกเราทั้งหลายจะตั้งคำถามกับสังคมว่า "ต้นทางประชาธิปไตยใหม่" แบบไหนที่ทำให้ ปลายทาง ให้ "อำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน" อย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท